คลัสเตอร์ใหม่นราธิวาส "โรงงานยางปักษ์ใต้" ตรวจคนงาน 90 ราย ติดเชื้อ 34 ราย เตรียมใช้ Bubble and Seal ควบคุมไม่ให้ขยายวง ด้านยะลารับผู้ป่วยโควิดกลับแล้ว 2 ราย อยู่ระหว่างประสานอีก 6 ราย ส่วน ศปก.อัยเยอร์เวง เบตง ปรับ "โรงเรียนบ้านใหม่" เป็น CIC แยกผู้ติดเชื้อจากชุมชน
วันอาทิตย์ที่ 25 ก.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ยังคงวิกฤติ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักร้อยคนต่อวันต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวันแล้ว หนำซ้ำยังมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นอีก
โดยล่าสุดมีรายงานว่า คลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่เป็นกลุ่มแรงงานในโรงงานของ บริษัท ยางไทยปักษ์ใต้ จำกัด สาขานราธิวาส ตั้งอยู่เลขที่ 101/2 หมู่ 11 ถนนสาธารณะประโยชน์ ต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เข้าทำการตรวจหาเชื้อแล้วเบื้องต้นจำนวน 90 ราย พบเชื้อจำนวน 34 ราย ทำให้เจ้าหน้าที่สั่งปิดโรงงาน เพื่อทำการสอบสวนโรคอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างการประสานกับเจ้าของบริษัทว่า จะใช้สถานที่ของโรงงานเป็นสถานที่กักตัว ที่เรียกว่า Community Quarantine หรือจะตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามหรือไม่อย่างไร รวมทั้งอาจจะต้องใช้มาตรการ Bubble and Seal เหมือนเรือนจำจังหวัดนราธิวาสที่ผ่านมา ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเป็นการจำกัดและควบคุมการเคลื่อนย้าย แยกกลุ่มเสี่ยงออกมาดูแลเฉพาะ ไม่ให้ปะปนกับผู้อื่น
จากการเดินทางลงพื้นที่ของ "ทีมข่าวอิศรา" เพื่อสังเกตการณ์ พบว่าประตูด้านหน้าโรงงานถูกปิดไว้ มีเพียงพนักงานรักษาความปลอดภัย 1 คนที่นั่งเฝ้าอยู่ภายในป้อมยาม โดยไม่มีบุคคลอื่นผ่านเข้าออก บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา
นอกจากนั้น บริเวณบ้านพักคนงานที่อยู่ห่างจากที่ตั้งของโรงงานไปประมาณ 200 เมตร เป็นบ้านปูนประมาณ 20 หลัง ประตูบ้านทุกหลังถูกปิดไว้ มีรั้วลวดหนามกั้นไว้ภายนอก อีกทั้งมีการแขวนป้ายห้ามบุคคลภายนอกเข้าบริเวณรั้วอาคารบ้านพักของโรงงานด้วย
@@ ยะลารับผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนาแล้ว 2 ราย
หลังจากกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดระบบรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องอยู่ในเกณฑ์อาการสีเขียวหรือไม่มีอาการ สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ และไม่มีค่าใช้จ่ายนั้น
นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า ในส่วนของ จ.ยะลา ซึ่งเป็นจังหวัดปลายทาง ยินดีรับผู้ติดเชื้อโควิดกลับมาเข้าระบบการรักษาที่จังหวัด ตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด “คนยะลาไม่ทิ้งกัน” ทั้งนี้ จ.ยะลา มีความพร้อมในส่วนของระบบการรักษา โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลสนาม ยังมีเตียงรองรับผู้ป่วย มีเวชภัณฑ์ ร่วมถึงมีทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่คอยดูแลผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อจากกรุงเทพฯเดินทางกลับมาและเข้าสู่ระบบนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม แล้ว 2 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการประสาน อีก 6 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ค. 64)
สำหรับผู้ติดเชื้อที่ประสงค์จะเดินทางกลับภูมิลำเนา สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช.1330 กด 15 หรือทางเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th/ หรือการสแกนคิวอาร์โคด บันทึกข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน และในส่วนของศูนย์ประสานงานจังหวัดยะลา “คนยะลาไม่ทิ้งกัน” ติดต่อเบอร์ โทรศัพท์ 09-3651-8820 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.
@@ เบตงส่งนักรบชุดขาวช่วยงานโรงพยาบาลสนามนนทบุรี
นายแพทย์สวรรค์ กาญจนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง กล่าวว่า ตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัมให้เป็นโรงพยาบาลสนาม จ.นนทบุรี สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิค-19 กลุ่มที่มีอาการรุนแรงปานกลางจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในกำกับของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ขอสนับสนุนบุคลากรด้านการแพทย์จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แห่งละ 1 ทีม มาปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลบุษราคัม เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์
ทางโรงพยาบาลเบตง ได้คัดเลือกทีมแพทย์-พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่มีความสมัครใจและมีความพร้อมทางด้านร่างกายจิตใจ รวมถึงได้รับการฉีดวัคซีนครบจำนวน 2 เข็มแล้ว เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลบุษราคัม จ.นนทบุรี ในระหว่างวันที่ 26 ก.ค.64 - 8 ส.ค.64 จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย 1.น.ส.เสาวภา พงศ์จันทร์เสถียร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ 2.น.ส.ฟิรดาว ดือราฮิง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ 3.นายขวัญชัย จันทร์ภาคภูมิ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ และ 4.นายศักดิ์ดาพร สอนเวียง พนักงานขับรถ
@@ อัยเยอร์เวงปรับโรงเรียนเป็น CIC แยกผู้ป่วยจากชุมชน
นายณัฐวุฒิ เจ๊ะหามะ ประธานศูนย์ปฏิบัติการตำบลอัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ได้นำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. ช่วยกันเร่งจัดสถานที่โรงเรียนบ้านใหม่ (วันครู 2503) เพื่อจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือ "ศูนย์พักคอยในชุมชน" (Community Isolation Center : CIC) ของ ต.อัยเยอร์เวง เพื่อรองรับผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจาก จ.ปัตตานี ในช่วงเทศกาลฮารีรายอฮารีรายออีดิ้ลอัฎฮาที่ผ่านมา โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อัยเยอร์เวง เตรียมสนับสนุนอาหารตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
นายธีรวิทช์ โรจนานิติวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านใหม่ (วันครู 2503) กล่าวว่า พร้อมจัดโรงเรียนเป็นศูนย์พักคอยในชุมชน เพื่อเป็นสถานที่ให้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงให้ได้รับการดูแลเบื้องต้น รอการจัดหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลักในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยแยกตัวผู้ติดเชื้อออกจากบ้านพักอาศัยและชุมชน ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตและป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ที่ให้โรงเรียนใช้อาคารสถานที่ที่ไม่ได้ใช้ในการจัดการเรียนการสอน มาจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนามได้
@@ โรงพยาบาลหลักนราธิวาสเตียงขาดอื้อ
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 25 ก.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 853 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 830 เตียง คงเหลือ 23 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,280 เตียง ใช้ไป 1,836 เตียง คงเหลือ 1,444 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:131
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 601 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 539 เตียง คงเหลือ 62 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,835 เตียง ใช้ไป 1,447 เตียง คงเหลือ 388 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:13
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 594 เตียง คงเหลือ 197 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 1,075 เตียง คงเหลือ 13 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:153
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 593 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 608 เตียง คงเหลือ -15 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,289 เตียง ใช้ไป 679 เตียง คงเหลือ 610 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:136
@@ ยะลาติดเชื้อใหม่ 221 ราย - ปัตตานี เสียชีวิต 4 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันอาทิตย์ที่ 25 ก.ค.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 214 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 7,701 ราย รักษาหายแล้ว 4,397 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 95 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 176 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 796 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 701 ราย โรงพยาบาลชุมชน 475 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 39 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 188 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 828 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 6 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 2,502 ราย, อ.หนองจิก 1,112 ราย, อ.โคกโพธิ์ 456 ราย, อ.ยะหริ่ง 926 ราย, อ.สายบุรี 361 ราย, อ.ไม้แก่น 108 ราย, อ.แม่ลาน 180 ราย, อ.ยะรัง 650 ราย, อ.ปะนาเระ 327 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 180 ราย, อ.มายอ 711 ราย และ อ.กะพ้อ 109 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 221 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 6,060 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,573 ราย รักษาหายแล้ว 3,439 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 48 ราย อยู่ระหว่างรอผล 1,973 ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 2,434 ราย, อ.กรงปินัง 603 ราย, อ.เบตง 336 ราย, อ.รามัน 490 ราย, อ.บันนังสตา 1,024 ราย, อ.กาบัง 218 ราย อ.ธารโต 453 ราย และ อ.ยะหา 502 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,573 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 170 ราย โรงพยาบาลเบตง 44 ราย รพช.6 แห่ง 384 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 57 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 741 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 10 ราย โรงพยาบาลสนามรามัน 2 แห่ง 211 ราย โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 123 ราย โรงพยาบาลสนามธารโต 10 ราย Bubble & Seal (3 แห่ง) 237 ราย รักษาตัวที่บ้าน/ปฏิเสธการรักษา 68 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 518 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 109 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 19 ราย, อ.ตากใบ 2 ราย, อ.ยี่งอ 15 ราย, อ.จะแนะ 5 ราย, อ.แว้ง 8 ราย, อ.สุคิริน 2 ราย, อ.รือเสาะ 1 ราย, อ.ระแงะ 52 ราย, อ.ศรีสาคร 1 ราย, อ.เจาะไอร้อง 3 รายและ อ.สุไหงโก-ลก 1 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 4,987 ราย รักษาหายสะสม 3,563 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 49 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 1,162 ราย, อ.ระแงะ 580 ราย, อ.รือเสาะ 249 ราย, อ.บาเจาะ 372 ราย, อ.จะแนะ 306 ราย, อ.ยี่งอ 242 ราย, อ.ตากใบ 761 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 221 ราย, อ.สุไหงปาดี 234 ราย, อ.ศรีสาคร 237 ราย, อ.แว้ง 214 ราย, อ.สุคิริน 173 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 237 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 202 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ 120 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 27 ราย กลุ่มรอสอบสวนโรค 14 ราย และกลุ่มสัมผัสเสี่ยงอื่นๆ 41 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 10,487 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 10,464 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,666 ราย รักษาหายแล้ว 7,765 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 56 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 541 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 2,638 ราย, อ.เมืองสงขลา 1,775 ราย, อ.จะนะ 1,298 ราย, อ.สิงหนคร 751 ราย, อ.เทพา 682 ราย, อ.สะเดา 550 ราย, อ.สะบ้าย้อย 420 ราย, สทิงพระ 297 ราย, อ.บางกล่ำ 238 ราย, อ.นาทวี 177 ราย, อ.นาหม่อม 155 ราย, อ.รัตภูมิ 114 ราย, อ.ระโนด 85 ราย, ควนเนียง 61 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 42 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 12 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,101 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 68 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย