คลัสเตอร์ใหม่โผล่ โรงเรียนเอกชนเอกชนสอนศาสนาปัตตานี นักเรียนแยกย้ายกลับบ้านกระจายหลายจังหวัดใต้ ล่าสุดอุสตาสป่วยโควิดดับแล้ว 1 ราย ด้านตัวเลขติดเชื้อใหม่วันเดียว 195 เสียชีวิต 5 ดันยอดตายสะสมพุ่ง 48 ราย ขณะที่สาธารณสุขยะลาเร่งตรวจเชิงรุกชุมชมรอยต่อมัรกัส
วันอังคารที่ 13 ก.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นทีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังมีเพิ่มใหม่ทุกวันและผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัด ส่วนใหญ่การแพร่ระบาดเกิดจากผู้ติดเชื้อต้นทางจะไปรับเชื้อมาจากคลัสเตอร์ใหญ่ อย่างคลัสเตอร์มัรกัสหรือคลัสเตอร์โรงเรียนสอนศาสนา
ล่าสุดได้เกิดคลัสเตอร์แห่งใหม่จากในพื้นที่ จ.ปัตตานี และได้เกิดการแพร่ระบาดไปยังในหลายจังหวัดของทางภาคใต้ คือ คลัสเตอร์โรงเรียนจงรักสัตย์วิทยา ต.ตันหยงลูโล๊ะ อ.เมือง จ.ปัตตานี หลังจากที่มีนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ ได้เดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาของตัวเอง จนทำให้มีผู้ติดเชื้อหลายรายในหลายจังหวัดของทางภาคใต้
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า โรงเรียนแห่งนี้ เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสอนระดับอนุบาล – มัธยมศึกษา มีนักเรียนกว่า 2,800 คน และโรงเรียนได้มีการปิดการเรียนการสอนมาตลอดโดยให้เรียนออนไลน์ มีเพียงเฉพาะครูเท่านั้นที่เดินทางมาทำงานสลับกันในแต่ละวัน ซึ่งในช่วงเปิดเทอมได้มีนักเรียนประจำและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ได้เดินทางมาเพื่อจะเรียนตามปกติ แต่ต้องเลื่อนเปิดเรียนตามนโยบายของทางจังหวัด ทำให้เด็กเหล่านี้ ซึ่งมีประมาณ 46 คน ต้องอยู่ในหอของโรงเรียน เพื่อกักตัวตามนโยบาย 14 วัน ซึ่งสาเหตุของเด็กและครูที่ติดเชื้อยังไม่สามารถระบุที่มาของต้นทางของการติดเชื้อได้
สำหรับการเดินทางกลับภูมิลำเนาของนักเรียน เนื่องจากหลายคนทราบว่า จะมีการล็อกดาวน์พื้นที่และประกาศใช้เคอร์ฟิวส์ จึงทำให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ ต่างรีบเดินทางกลับบ้านกันก่อน โดยไม่มีการแจ้งขออนุญาตทางจังหวัด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในหลายจังหวัด ซึ่งล่าสุดเมื่อวานนี้ มีรายงานว่า มีอุสตาส อายุ 60 ปีของโรงเรียนแห่งนี้ เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เมื่อวานที่ผ่านมา
ว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการกำชับให้ทางโรงเรียนที่มีนักเรียนอยู่ประจำ ห้ามเคลื่อนย้ายนักเรียนเหล่านี้ออกนอกพื้นที่โดยเด็ดขาด ยกเว้นผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางกลับบ้าน ต้องได้รับการอนุญาตจากทางจังหวัดเสียก่อน เพื่อทำการมีการตรวจหาเชื้ออย่างละเอียดและป้องกันการแพร่ระบาด โดยการเดินทางกลับบ้านของเด็กนักเรียนเหล่านี้ ทางจังหวัดไม่ทราบเรื่อง มาทราบอีกทีก็มีการระบาดของคลัสเตอร์แล้ว ในเรื่องนี้จะมีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงอีกครั้ง พร้อมทั้งได้ประกาศไปยังโรงเรียนที่มีนักเรียนประจำอยู่ ห้ามเคลื่อนย้ายนักเรียนโดยเด็ดขาดและให้ปฏิบัติตามาตรการของจังหวัดอย่างเคร่งครัด
@@เร่งตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนเขตรอยต่อมัรกัสยะลา
ในวันเดียวกันนี้( 13 ก.ค.64) ที่ย่านชุมชนตลาดเก่า เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งเป็นเขตรอยต่อใกล้กับ หมู่ที่ 3 บ้านเปาะยานิ ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา จ.ยะลา (คลัสเตอร์ศูนย์มัรกัสยะลา) ได้มีเจ้าหน้าสาธารณสุขเทศบาลนครยะลา และ สาธารณสุขอำเภอเมืองยะลา ได้ตั้งจุดตรวจเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 3 จุด คือที่บริเวณสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยะลาและในฝั่งตลาดเก่าของเทศบาลนครยะลา , บริเวณสะพานดำ และบริเวณชุมชนหลังโรงเรียนเทศบาล 5 ตลาดเก่า เพื่อตรวจเชิงรุกให้กับผู้มีความเสี่ยง ด้วยวิธี Rapid Antigen Test 3 เดือน เฉพาะประชาชนในเขตเทศบาล โดยสามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ประชาชนได้วันละประมาน 1,000 ราย
ด้านทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ประชาชนที่มาตรวจหาเชื้อ คือ ผู้ที่เสี่ยงสูง โดยให้ผู้นำชุมชนพยายามเดินตามบ้านให้ทุกครอบครัวที่เสี่ยงสูงออกมา swab ถ้าเกิดผลเป็นบวก จะได้คุมเป็นโซนไว้ ผู้เสี่ยงสูงจะให้กักตัว 14 วัน โดยจะมีทาง อสม.เข้าไปช่วยดูแล
@@รพ.สนามนราฯ แห่งที่ 7 รับบริจาคเครื่องใช้หลายรายการ
ส่วนที่ จ.นราธิวาส หลังจากที่ยังคงมีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เนื่องจากการสอบสวนโรคยังพบสาเหตุของการแพร่ระบาด ของโควิด-19 ใน จ.นราธิวาส ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง จึงทำให้ทางจังหวัดต้องเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเป็นแห่งที่ 7 แต่ยังคงขาดข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นอีกจำนวนมาก
ทำให้ได้มีการเปิดขอรับบริจาคสิ่งของ เครื่องใช้ เพื่อรองรับการเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 7 โดยมีรายการสิ่งของเครื่องใช้ที่ยังขาดแคลนอยู่ดังนี้ เสื่อน้ำมัน 100 ม้วน ,พัดลมตั้งพื้นขนาด 12 × 16 นิ้ว 200 ตัว ,ผ้าเช็ดตัวขนาด 70 × 140 ซม.600 ผืน ,ที่นอนขนาด 3.5 ฟุต 200 ผืน ,ปลอกและปลอกหมอน 200 ชุด ,ผ้าห่ม 200 ผืน ,กล่องพลาสติกอเนกประสงค์มีฝาปิด 200 กล่อง, ถังใส่น้ำพร้อมขันน้ำ 200 ชุด , สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน 200 ชุด รวมไปถึงชุด PPE ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลสนามแต่ละแห่งในจังหวัด ที่มีใช้อย่างจำกัด
@@ตร.เมืองปัตตานี ปรุงอาหารแจกช่วยชาวบ้านวันละ 600 ชุด
ที่ลานสุขภาพ ตรงข้าม สภ.เมืองปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ทางพ.ต.อ.ญาณพงศ์ อุบลบาน ผกก.สภ.เมืองปัตตานี พร้อมข้าราชการตำรวจ สภ.เมืองปัตตานี ชุดจิตอาสาชุมชนสัมพันธ์ สภ.เมืองปัตตานี ร่วมกันแจกปรุงอาหารฮาลาลแจกฟรีแก่พี่น้องประชาชนในเขตเมืองปัตตานี โดยเริ่มแจกอาหารมาตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. วันละ 600 ชุดทุกวัน เวลา 15.00 น. เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนช่วงสถานการณ์โควิด โดยเป็นการช่วยกันของพี่น้องข้าราชการ พ่อค้าประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันบริจาคเงิน ข้าวสาร น้ำ เพื่อมาประกอบอาหารแจกจ่ายให้ประชาชน ซึ่งจะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายหรือดีขึ้น
ส่วนที่ ศูนย์กักตัวในศูนย์ LQ ชุมชนบ้านเจาะกลาดี ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา พ.อ.รณชัย เวียงวงษ์ ผบ.นพค.42 สนภ.4 นทพ. เดินทางมามอบสิ่งของและเครื่องดื่มให้กับศูนย์กักตัว ประกอบด้วยนมผงสำหรับทารกแรกเกิดจำนวน 3 ลัง เนื่องจากมีเด็ก 2 รายที่พ่อแม่ติดโควิดและต้องไปรับการรักษา พร้อมทั้งมอบนมกล่อง ขนม และกาแฟ อีกจำนวนหนึ่งให้กับทางศูนย์กักตัว ชุมชนบ้านเจาะกลาดี
ด้านนายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง ได้มอบยาฟ้าทะลายโจรให้กับหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา และประชาชนในพื้นที่ พร้อมใช้เป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยร่วมกับการรักษาการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยยาฟ้าทะลายโจร เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาหลักแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะสนับสนุนให้โรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศไทย ได้นำยาฟ้าทะลายโจรไปใช้เสริมในการรักษาผู้ป่วยโควิด เพื่อลดความรุนแรงในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย
@@รพ.หลัก ชายแดนใต้ เตียงเหลือน้อย
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 13 ก.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 773 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 773 เตียง ไม่เหลือเตียงว่างเลย ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,163 เตียง ใช้ไป 2,101 เตียง คงเหลือ 62 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:150
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 426 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 404 เตียง คงเหลือ 22 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,835 เตียง ใช้ไป 1,319 เตียง คงเหลือ 516 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:14
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 591 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 576 เตียง คงเหลือ 15 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 960 เตียง ใช้ไป 661 เตียง คงเหลือ 299 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:94
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 410 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 428 เตียง คงเหลือ - 18 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 900 เตียง ใช้ไป 342 เตียง คงเหลือ 558 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:68
@@ปัตตานีติดเชื้อใหม่ 195 เสียชีวิต 5 ตายสะสมพุ่ง 48 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันอังคารที่ 13 ก.ค.64 มีดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 112 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 3,867 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,732 ราย รักษาหายแล้ว 2,100 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย มำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 35 ราย อยู่ระหว่างรอผล 2,807 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 1,635 ราย, อ.กรงปินัง 423 ราย, อ.เบตง 292 ราย, อ.รามัน 240 ราย, อ.บันนังสตา 619 ราย, อ.กาบัง 161 ราย อ.ธารโต 263 ราย และ อ.ยะหา 234 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,732 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 163 ราย โรงพยาบาลเบตง 65 ราย รพช. 6 แห่ง 348 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 50 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง (อาคาร 1-5) 656 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 5 ราย โรงพยาบาลสนามรามัน 2 แห่ง 239 ราย Bubble & Seal 164 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 42 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 178 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.ระแงะ 52 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 6 ราย,อ.เจาะไอร้อง 17 ราย, อ.เมือง 17 ราย, อ.สุไหงปาดี 9 ราย, อ.ศรีสาคร 3 ราย, อ.ตากใบ 12 ราย, อ.ยี่งอ 1 ราย, อ.จะแนะ 20 ราย, อ.แว้ง 4 ราย, อ.รือเสาะ 6 ราย, อ.บาเจาะ 30 รายและ อ.สุคิริน 1 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 3,246 ราย รักษาหายสะสม 2,373 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 24 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 874 ราย, อ.ระแงะ 311 ราย, อ.รือเสาะ 143 ราย, อ.บาเจาะ 298 ราย, อ.จะแนะ 228 ราย, อ.ยี่งอ 138 ราย, อ.ตากใบ 537 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 100 ราย, อ.สุไหงปาดี 135 ราย, อ.ศรีสาคร 172 ราย, อ.แว้ง 87 ราย, อ.สุคิริน 82 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 128 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 195 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 4,783 ราย รักษาหายแล้ว 2,562 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 5 ราย ทำให้ผู้เสียชีวิตสะสม 48 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 152 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 778 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 545 ราย โรงพยาบาลชุมชน 361 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 39 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 153 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 137ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 8 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,488 ราย, อ.หนองจิก 673 ราย, อ.โคกโพธิ์ 329 ราย, อ.ยะหริ่ง 555 ราย, อ.สายบุรี 208 ราย, อ.ไม้แก่น 93 ราย, อ.แม่ลาน 103 ราย, อ.ยะรัง 384 ราย, อ.ปะนาเระ 187 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 133 ราย, อ.มายอ 487 ราย และ อ.กะพ้อ 95 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 150 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ 88 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 14 ราย กลุ่มรอสอบสวนโรค 12 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงอื่นๆ 36 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 8,208 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 8,185 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,902 ราย รักษาหายแล้ว 5,273 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 33 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,355 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 1,992 ราย, อ.เมืองสงขลา 1,392 ราย, อ.จะนะ 972 ราย, อ.เทพา 603 ราย, อ.สิงหนคร 519 ราย, อ.สะเดา 416 ราย, สทิงพระ 269 ราย, อ.สะบ้าย้อย 241 ราย, อ.บางกล่ำ 195 ราย, อ.นาทวี 113 ราย, อ.รัตภูมิ 85 ราย, อ.ระโนด 81 ราย, อ.นาหม่อม 77 ราย, ควนเนียง 51 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 35 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 11 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,089 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 44 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย