การเปิดด่านพรมแดนทางบกเพื่อรับคนไทยกลับจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซีย เพื่อเดินทางกลับมาตุภูมินั้น ในส่วนของพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีการเปิดทั้งหมด 5 ด่าน คือ จ.สตูล 2 ด่าน สงขลา 1 ด่าน นราธิวาส 1 ด่าน และยะลา 1 ด่าน
แต่ภูมิลำเนาของบรรดาแรงงานที่กลับมา คาดว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นหลัก โดยเฉพาะปัตตานีน่าจะมากที่สุด
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี อธิบายเรื่องนี้ว่า ปัตตานีถือเป็นศูนย์กลางในการผ่านแดนของแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะการเดินทางทางบกโดยใช้รถยนต์ เพราะไมว่าจะไปนราธิวาส หรือยะลา ล้วนต้องผ่านปัตตานี ฉะนั้นจึงต้องมีจุดคัดกรองอย่างละเอียดที่สุด
สำหรับปัตตานีเองได้จัดสถานที่รองรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศเพื่อนบ้านได้วันละ 300 คน และได้เตรียมสถานีคัดกรองไว้ 3 จุด คือ 1. จุดคัดกรองที่มีการสอบสวนโรค สอบประวัติการเดินทางของแต่ละช่องทาง 2. ถ้าพบว่ามีไข้ จะนำตัวไปส่งโรงพยาบาลสนาม (เฉพาะปัตตานีมี 2 แห่ง) เพื่อกักตัวคัดกรองซ้ำอีก 14 วัน ถ้าพบกลุ่มเป้าหมายมีอาการป่วย ก็จะทำการรักษา และ 3. แม้ไม่มีไข้ ก็จะส่งเข้าสถานที่กักกัน 14 วัน
ยะลาฮือค้านใช้โรงแรมกักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิด
ส่วนที่จังหวัดยะลา ได้เตรียมสถานที่เอาไว้หลายแห่ง หลายระดับ ได้แก่ 1. วิทยาลัยสาธารณสุข รองรับได้ 200 คน 2. สถาบันภาษานานาชาติ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี รองรับได้ 130 คน 3. กองร้อย อส. ท่าสาป อ.เมืองยะลา รองรับได้ 80 คน อยู่ระหว่างการปรับปรุง 4. ศูนย์สังเกตอาการระดับอำเภอ มี 8 อำเภอ รองรับได้ประมาณ 300 คน และ 5. ปรับปรุงศูนย์ระดับตำบล 58 ตำบล เมื่อปรับปรุงเสร็จทั้งหมด จะรองรับได้อีกประมาณ 1,000 คน ปัจจุบันใช้ได้ประมาณครึ่งหนึ่ง
กรณีที่มีข่าวว่าจะใช้โรงแรมในพื้นที่เป็นสถานที่กักกัน โดยเฉพาะโรงแรมปาร์ควิว จ.ยะลา จนเกิดกระแสต้านจากชุมชนที่อยู่โดยรอบนั้น เรื่องนี้ นายวรเชษฐ พรหมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา บอกว่า การใช้โรงแรมเป็นสถานที่กักกันจะเป็นทางเลือกสุดท้าย กรณีที่ศูนย์ต่างๆ ไม่สามารถรองรับได้อีกแล้วเท่านั้น จึงค่อยพิจารณาโรงแรมที่สมัครใจ และไม่กระทบต่อชุมชน แต่เบื้องต้นสถานที่อื่นๆ ที่เตรียมไว้รองรับน่าจะเพียงพอ จึงขอให้ชุมชนรอบโรงแรมสบายใจได้
นราธิวาสเปิดสนามกีฬารองรับพวกกลับบ้านไม่ทัน
ที่ จ.นราธิวาส ได้ตั้งทีมคัดกรองขึ้นมา 3 จุด ได้แก่ จุดแรก เป็นจุดคัดกรองที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นการคัดกรองเบื้องต้น มีการวัดอุณหภูมิ จุดที่ 2 เป็นการสอบสวนโรคจากทีมสาธารณสุขโรงพยาบาลสุไหงโกลก ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ จากนั้นจะมายังจุดที่ 3 ลงทะเบียนประวัติเพื่อส่งศูนย์ Local Quarantine แต่ก่อนจะส่งศูนย์ฯ จะมีการคัดกรองอีกครั้ง โดยตรวจวัดอุณหภูมิก่อนขึ้นรถที่จัดให้ และเดินทางไปยังจุดคัดกรองเพื่อกักตัวสังเกตอาการในจังหวัดตามภูมิลำเนา จำนวน 14 วัน
นอกจากนั้นยังได้เตรียมอาคารสนามกีฬามหาราช อ.สุไหงโกลก ไว้เป็นสถานที่พักชั่วคราวสำหรับผู้เดินทางผ่านด่านศุลกากรสุไหงโกลก แต่ไม่สามารถเดินทางต่อไปยังจังหวัดภูมิลำเนา (ปัตตานี หรือยะลา) ได้ทันเวลา จะต้องพักค้างคืน ณ จุดนี้ คาดว่าสามารถรองรับผู้เข้าพักได้ประมาณ 60-70 คน แต่หากมีจำนวนของผู้เข้าพักต่ำกว่า 15 คน จะใช้พื้นที่ศูนย์โอทอปซึ่งอยู่ใกล้กับด่านศุลกากรสุไหงโกลกแทน จากนะนสำนักงานขนส่งจังหวัดนราธิวาสจะจัดรถมารับในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น เพื่อเดินทางไปยัง จ.ยะลา และปัตตานี ต่อไป
นายจักรกฤช อุเทนสุต นายด่านศุลกากรสุไหงโกลก กล่าวว่า ด่านจะเปิดเวลา 07.00–19.00 น. ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย โดยจะรับผู้ข้ามแดน 100 คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่ทางสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ส่งมาล่วงหน้า และรับไม่เกินเวลาเที่ยงเท่านั้น คนที่มีรายชื่อแต่มาเกินเที่ยงก็ไม่ให้เข้าตามหลักเกณฑ์ เพราะต้องมีการชะลอการเข้าประเทศของคนไทยในต่างแดน
แฉลอบเข้าไทยโดนปรับถูกกว่าทำใบรับรองข้ามแดน
สถานการณ์ตามแนวชายแดนภาคใต้ขณะนี้ แม้รัฐบาลจะผ่อนปรนด้วยการเปิด "ด่านทางบก" เพื่อรับคนไทยที่ตกค้างในมาเลเซียกลับประเทศ แต่ปรากฏว่าทางกลุ่มแรงงานตกค้าง โดยเฉพาะลูกจ้างร้านต้มยำกุ้ง (ร้านอาหารไทยในมาเลเซีย) เลือกใช้วิธีลักลอบกลับไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ โดยถ้าถูกจับก็ยอมเสียค่าปรับแทน เพราะราคาถูกกว่ากลับทางด่านศุลกากร
ช่วงนี้มีแรงงานไทยในมาเลเซียลักลอบข้ามแดนผ่านทางช่องทางธรรมชาติจำนวนมาก อย่างที่ อ.สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีช่องทางธรรมชาติริมแม่น้ำโกลก และมีท่าข้ามถึง 13 ท่า
นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโกลก บอกว่า มีรายงานแรงงานไทยหลบหนีเข้าเมืองต่อเนื่อง อย่างวันก่อนก็จับกุมได้ 94 คน และคุมตัวไปเปรียบเทียบปรับคนละ 800 บาท ก่อนประสานเข้ากระบวนการกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน
แต่ปัญหาก็คือ กลุ่มที่ข้ามแดนมาได้โดยไม่ถูกจับกุม หากมีเชื้อโควิด-19 ก็อาจนำไปแพร่ระบาดในครอบครัวและชุมชนที่เป็นภูมิลำเนาของแรงงานผู้นั้นได้ ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก
สำหรับสาเหตุที่แรงงานไทยในมาเลเซียเลือกที่จะลักลอบข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดนให้ข้อมูํลว่า เป็นเพราะการผ่านด่านศุลกากรที่รัฐบาลเปิดให้ มีชั้นตอนมาก ต้องมีเอกสารรับรองจากสถานทูตหรือสถานกงสุล และต้องมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสุขภาพดีพร้อมเดินทาง ซึ่งการเดินทางไปสถานทูต และการขอใบรับรองแพทย์ล้วนมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในมาเลเซีย ราคาค่อนข้างแรง รวมๆ แล้วก็หลายพันบาท คนเหล่านี้จึงเลือกเดินทางข้ามแดนผ่านทางช่องทางธรรมชาติ ซึ่งผิดกฎหมาย ถ้าถูกจับก็โดนปรับแค่ 800 บาทเท่านั้น ราคาถูกกว่าการขอใบรับรองแพทย์ และหากไม่ถูกจับ ก็จะไม่ถูกกักตัว 14 วันด้วย
เบตงตรวจเข้มแม้มีรั้วชายแดน
ที่ อ.เบตง จ.ยะลา พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ นายอำเภอเบตง ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ออกลาดตระเวนเส้นทางธรรมชาติตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย จากหลักเขตแดนที่ 52 A บ้านซาโห่ ต.ธารน้ำทิพย์ ถึงหลักเขตแดนที่ 54/100 บ้านสวนส้ม ต.ธารน้ำทิพย์ รวมระยะทาง11.5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันแรงงานไทยจากประเทศมาเลเซียหลบหนีเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ แม้ว่าแนวชายแดนด้านนี้จะมี "รั้วชายแดน" ด้วยก็ตาม
สำหรับวันที่ 18 เม.ย. เป็นวันแรกที่จะเปิดด่านรับแรงงานไทยจากประเทศมาเลเซียเดินทางกลับเข้าประเทศ ตั้งแต่เวลา 08.30 -12.00 น โดยในส่วนของด่านพรมแดนเบตง ก็เป็น 1 ใน 5 ด่านชายแดนใต้ที่เปิดรับเช่นกัน จำกัดจำนวนไม่เกิน 50 คนต่อวัน โดยมีผู้ลงทะเบียนขอรับหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยผ่านทางด่านเบตง ในวันที่ 18 เม.ย. จำนวน 18 คน, วันที่ 19 เม.ย. จำนวน 13 คน, วันที่ 20 เม.ย. จำนวน 6 คน วันที่ 23 เม.ย. จำนวน 1 คน และวันที่ 24 เม.ย. จำนวน 5 คน
------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
แรงงานต้มยำเจอมาตรการรัฐ มึนโดนสกัดเข้าประเทศ ต้องนอนริมถนน
3,000 ลูกจ้างร้านต้มยำตกค้างในมาเลย์ วอนรัฐช่วย-อยากกลับบ้าน
ปิดด่านยาว...แรงงานต้มยำนับแสนกระอัก มท.2 เร่งหาทางช่วย
มท.2 ระดมสมองช่วยแรงงานต้มยำกุ้ง จ่อแจกเงินยังชีพ
จ่อเปิด 5 ด่านชายแดนใต้รับ 350 คนไทย/วัน เปิด 67 ศูนย์รอกักกัน