อุทกภัยภาคใต้ตอนล่างส่งก่อนเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 67 ทั้งสถานการณ์จริงและภาพที่ออกมา สร้างความตระหนกตกใจไปทั่วประเทศ เพราะภาพรวมของน้ำท่วมใต้รอบนี้ หนักหนาสาหัสจริงๆ
หลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะตัวเมืองยะลา กล่าวกันว่าเป็นน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 40 ปีเลยทีเดียว ไม่ใช่ 20 ปีเหมือนที่พูดกันวันแรกๆ
คำถามคือปัญหามาจากไหน เกิดจากอะไรกันแน่ “ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมข้อมูลจากคนในพื้นที่ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน “จิตอาสา” ที่กระจายกันช่วยชาวบ้าน จึงรับรู้รับทราบสถานการณ์เป็นอย่างดี
1.ฝนตกหนัก และตกติดต่อกันหลายวันไม่หยุดพัก หลายพื้่นที่วัดปริมาณน้ำฝนที่ตกต่อเนื่องได้กว่า 500 มิลลิเมตร
2.น้ำในแม่น้ำสายหลักรับน้ำจากป่าเขาจนล้นตลิ่งทุกสาย ทั้ังแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำโก-ลก แม่น้ำบางนรา ส่งผลให้น้ำหลากเข้าท่วมชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมในวงกว้าง และรวดเร็ว
3.อำเภอเมืองยะลา และปัตตานี จะรับสถานการณ์หนัก เนื่องจากต้องรับน้ำจากนราธิวาส
4.มีความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ จากเมื่อก่อนฝนตกต่อเนื่องนานเป็นสัปดาห์ น้ำจึงจะท่วม แม้แต่ จ.ยะลาที่ไม่ติดทะเล แต่มีเขื่อนบางลางคอยบรรเทา แต่ปัจจุบันฝนตกเพียงไม่กี่ชั่วโมงน้ำก็ท่วมแล้ว เพราะปริมาณฝนแต่ละครั้งที่ตก มากกว่าอดีต
5.เมืองใหญ่ขึ้น พัฒนาขึ้น มีการก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ ทั้งถนนหนทาง และอาคารบ้านเรือน ตลอดจนชุมชน
@@ 7 เหตุชาวบ้านติดน้ำ ช่วยไม่ทัน ขาดการติดต่อ
ส่วนปัญหาการให้ความช่วยเหลือที่ปรากฏจนถึงขณะนี้ ท่ามกลางเสียงบ่นและร้องขอดังระงม เกิดจากเหตุปัจจัยดังนี้
1.เรือมีไม่พอ (สำหรับอพยพผู้ประสบภัย และแจกอาหาร-น้ำดื่ม)
2.เฉพาะเรือยนต์เท่านั้นที่เข้าพื้นที่ได้ เพราะน้ำแรงและลึกมาก
3.การประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ยังไม่ดีพอ แต่ละหน่วยยังรวมศูนย์ ไม่กระจายงาน กระจายงบ กระจายอำนาจ
4.ขาดแคลนอาหารแห้ง
5.ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่อยู่แล้ว เมื่อน้ำท่วมฉับพลันทำให้ไม่มีอะไรดำรงชีพ
6.หน่วยงานรัฐหลายหน่วยยังขับเคลื่อนล่าช้า ขณะที่จิตอาสามีพลัง มีคน มีความตั้งใจ แต่ไม่มีอุปกรณ์และงบประมาณ
7.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยทหารเองก็ถูกน้ำท่วม ทำให้การบัญชาการช่วยเหลือประชาชนมีอุปสรรค (ผู้รับผิดชอบบางรายออกตัวว่า รอบนี้ทหารยังเอาตัวไม่รอด ประชาชนต้องช่วยตัวเองไปพลางก่อน แต่ไม่ยอมพูดเป็นข่าว)
@@ นายกฯสั่ง “บิ๊กเล็ก” ลงพื้นที่ ระดม ท.ทหาร ช่วยชาวบ้าน
จากสภาพการณ์และปัญหาทั้งหมด รัฐบาลในส่วนกลาง และผู้รับผิดชอบในระดับพื้นที่ ได้เร่งแก้ไขและบริหารจัดการอย่างด่วนที่สุด
เริ่มจากส่วนกลาง นายกฯแพทองธาร ชินวัตร สั่งการด่วนก่อนการประชุม ครม.สัญจร ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พ.ย.ให้เร่งแก้ไขปัญหาอุทกภัยใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยข้อสั่งของนายกฯแพทองธาร ประกอบด้วย
1.ให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ลงพื้นที่ทันที เพราะต้องใช้กลไกของฝ่ายทหารเข้าพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน
ล่าสุด พล.อ.ณัฐพล หรือ “บิ๊กเล็ก” ได้ลงพื้นที่แล้ว และได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทหาร และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ทันที โดยประชุมที่ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และได้สั่งการให้ระดมความช่วยเหลือ โดยเฉพาะหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 4 หรือ นพค.4 ซึ่งมีเครื่องจักรกลหนัก และรถยกสูงจำนวนมาก
2.ให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ลงพื้นที่ในวันศุกร์ที่ 29 พ.ย.
@@ เร่งส่งเรือ-ตั้งโรงครัว ช่วยผู้ประสบภัย
3.สั่งการให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ระดมความช่วยเหลือลงพื้นที่ โดยเฉพาะเรือท้องแบนที่มีเครื่องยนต์ เนื่องจากขาดแคลนเรือในการอพยพผู้ประสบภัย และนำอาหาร กับน้ำดื่มเข้าไปแจกจ่ายอย่างมาก
4.สั่งการให้ตั้งโรงครัวเพื่อผลิตอาหารปรุงสุกให้มากที่สุด แล้วนำไปกระจายพร้อมกับน้ำดื่ม ให้ถึงมือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ตามบ้านเรือน หอพัก สถานประกอบการ โรงงาน หรือแม้แต่โรงเรียน
@@ “ทวี” สั่ง สส.ประชาชาติตั้งเต็นท์ประสานงาน
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งมี สส.ในพื้นที่ชายแดนใต้มากที่สุด กล่าวว่า ได้สั่งการให้ สส.ของพรรคทุกคนออกช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ตั้งเต็นท์ประสานงาน นำเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกจ่าย โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเมืองยะลาที่มีประชาชนติดอยู่ตามสถานที่ต่างๆ จำนวนมาก ต้องเร่งช่วยเหลือออกมาให้เร็วที่สุด หรือนำอาหารกับน้ำดื่มเข้าไปแจกจ่าย
ขณะเดียวกันก็ได้ระดมสรรพกำลังของเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม ทุกกรม ทุกหน่วยงานในสังกัด ออกช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด
ส่วนปัญหาการขาดแคลนเรือยนต์ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือนำอาหารไปแจกจ่ายนั้น พ.ต.อ.ทวี บอกว่า ได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ในส่วนกลาง และจังหวัดใกล้เคียงพื้นที่ประสบภัย ให้ส่งเรือเข้าไปโดยด่วน ขณะนี้ประสานได้มากกว่า 20 ลำแล้ว คาดว่าในวันที่ 29 พ.ย. สถานการณ์การช่วยเหลือจะเข้าถึงมากขึ้นกว่าปัจจุบัน
@@ “นายกอ๋า” ถกเครียดผู้ว่าฯ หาทางกู้ยะลา
ด้านความเคลื่อนไหวในพื้นที่ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ประชุมร่วมกับ นายอำพล พงษ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อเร่งแก้ปัญหาวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ ที่จวนผู้ว่าฯ
นายสุไลมาน บือแนปีแน สส.ยะลา พรรคประชาชาติ กล่าวว่า จุดที่วิกฤต ประกอบด้วย ในเขตเทศบาล, ตำบลสะเตงนอก, ตำบลยุโป และตำบลตาเซะ
ปัญหาที่พบมากที่สุดขณะนี้ คือ เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็ว ประชาชนไม่ทันตั้งตัว แต่เมื่อตั้งตัวได้ ต้องการอพยพ กลับออกไม่ได้ เพราะน้ำท่วมสูง แจ้งหน่วยงานรัฐก็ไปช่วยไม่ได้ เพราะขาดแคลนเรือ เนื่องจากผู้ประสบภัยเยอะเกินคาด จะเข้าไปส่งน้ำ ส่งอาหาร ก็ไม่มียานพาหนะ ถือเป็นวิกฤตที่หนักกว่าทุกครั้ง
@@ เลขาฯ ศอ.บต. แจกอาหาร-น้ำ ผู้ประสบภัยยะลา
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำทีมเจ้าหน้าที่ และน้องๆ ครัวลูกเหรียง ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมนำอาหารและน้ำดื่มไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยบริเวณชุมชนตลาดเก่า มัสยิดกลางจังหวัดยะลา จำนวน 300 ชุด และในพื้นที่ ต.ท่าสาป อ.เมืองยะลา จำนวน 300 ชุด รวมทั้งสิ้น 600 ชุด
ในสถานการณ์ที่น้ำยังคงท่วมสูงขึ้นและฝนตกไม่หยัด ศอ.บต.จึงได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่ไม่มีที่จอดรถ ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ นำรถไปจอดได้ที่ลานจอดรถของอาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (โรงแรมชางลีเดิม)
พร้อมกันนี้ได้ตั้งจุดรับบริจาค น้ำดื่ม อาหารแห้ง ยารักษาโรค ผ้าอ้อมเด็ก-ผู้ใหญ่ เสื้อผ้า ชุดชั้นใน หรือสิ่งของที่จำเป็นในนาม "ชมรมครอบครัว ศอ.บต." ที่สำนักงาน ศอ.บต. และศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือบริจาคเป็นเงินผ่านทางหมายเลขบัญชี 020-44345-4077 ธนาคารออมสิน สาขายะลา
@@ เบตงดินสไลด์ทับเส้นทาง - บ้านเรือนชาวบ้าน
ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา เกิดเหตุดินสไลด์ทับเส้นทางหลายจุด โดยเฉพาะทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 ยะลา-เบตงในพื้นที่ ต.อัยเยอร์เวง และ ต.ตาเนาะแมเรา
นอกจากนี้ยังเกิดเหตุดินสไลด์จนห้เสาไฟฟ้าล้มขวางถนนปิดกั้นเส้นทาง และต้นไม้ขนาดใหญ่หักโค่น ล้มทับหลังคาบ้านของของชาวบ้าน หมู่ 4 ต.ตาเนาะแมเราะ ได้รับความเสียหายหลายครัวเรือน
ส่วนในเขตเทศบาลเมืองเบตง และ ต.ยะรม อ.เบตง ก็มีเหตุการณ์ดินสไลด์อีกหลายจุดเช่นกัน
@@ 13 อำเภอนราฯ “เขตภัยพิบัติ” เสริมพนังมูโนะหวั่นแตกซ้ำ
จ.นราธิวาส ว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินจากสภาวะน้ำท่วมแล้วทั้ง 13 อำเภอ สถานการณ์หนักที่สุดขณะนี้ยังเป็น อ.สุไหงโก-ลก
โดยผู้ว่าฯได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบกำแพงกั้นแม่น้ำโก-ลก ที่หมู่ 1 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก ด้วย เพราะเคยเกิดเหตุพนังแตกจนน้ำทะลักเข้าท่วมชุมชนอย่างรุนแรงมาแล้ว ปรากฏว่าล่าสุดระดับน้ำเหลืออีกประมาณ 10 เซนติเมตรจะล้นขอบพนัง และพบรอยรั่วบางจุดที่ยังซ่อมแซมไม่เสร็จ จึงเร่งระดมเสริมกระสอบทรายขนาดใหญ่ (บิ๊กแบ๊ค) เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ขณะที่ นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก ประกาศแจ้งให้ประชาชนในชุมชนรีบอพยพออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย เพราะน้ำยังคงท่วมสูงต่อเนื่อง ล่าสุดเกือบ 2 เมตรแล้ว
@@เขตภัยพิบัติยกสงขลา - หาดใหญ่เตือน “ธงแดง”
จ.สงขลา นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติทั้ง 16 อำเภอของจังหวัด โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 93 ตำบล 671 หมู่บ้าน 28 ชุมชน ประชาชน 48,947 ครัวเรือน รวม 95,221 ราย
จังหวัดสงขลาได้จัดตั้งศูนย์อพยพ 29 แห่ง รองรับผู้ประสบภัย 123 ครัวเรือน รวม 390 คน พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือเต็มพิกัด โดยเฉพาะเรือ 93 ลำ
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือ อ.นาทวี มีประชาชนเดือดร้อนกว่า 13,873 ครัวเรือน รองลงมาคือ อ.หาดใหญ่ 6,640 ครัวเรือน อ.คลองหอยโข่ง 6,547 ครัวเรือน
เทศบาลนครหาดใหญ่ ได้ประกาศเตือนสถานการณ์น้ำเป็น “สถานะธงแดง” คือ ระดับน้ำจะท่วมภายใน 6-30 ชั่วโมงข้างหน้า ในพื้นที่จำนวน 13 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนหาดใหญ่ใน, ชุมชนเทศาพัฒนา, ชุมชนจันทร์วิโรจน์, ชุมชนคลอง ร.1, ชุมชนจันทร์ประทีป, ชุมชนภาสว่าง, ชุมชนศาลาลุงทอง, ชุมชนจันทร์นิเวศน์, ชุมชนหน้าค่ายเสนาณรงค์, ชุมชนตลาดพ่อพรหม, ชุมชนรัตนวิบูลย์, ชุมชน อู่ ท.ส. และชุมชนกลางนา
จึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเตรียมอพยพไปอาศัยในที่ปลอดภัย