วันพฤหัสบดีที่ 28 พ.ย.67 สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะยังคงมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่
อย่างในพื้นที่ จ.นราธิวาส ฝนแพร่กระจายปกคลุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ส่งผลทำให้แม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก มีมวลน้ำล้นตลิ่งและไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและบ้านเรือนของประชาชนทั้ง 13 อำเภอ จำนวน 76 ตำบล 511 หมู่บ้าน 38 ชุมชน มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 42,285 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 154,535 คน
นอกจากนี้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทั้ง 3 เขต ได้ประกาศปิดการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราวแล้ว จำนวน 68 โรง เนื่องจากสถานศึกษาบางแห่งมีน้ำท่วมขังสูง และบ้านของนักเรียนประสบปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งถนนบางสายถูกตัดขาด ส่งผลให้รถตู้โดยสารประจำทางประกาศงดให้บริการวิ่จากพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ไปยังปลายทาง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนเส้นทางแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาสในพื้นที่ 3 อำเภอ ของจ.นราธิวาส คือ อ.ระแงะ แว้ง และเมืองนราธิวาส เกิดน้ำท่วมสูงและยานพาหนะทุกชนิดไม่สามารถแล่นผ่านได้ มีด้วยกัน 6 สาย คือ
1. ถนนสายศูนย์ราชการ อ.เมืองนราธิวาส มีน้ำท่วมขังสูง 40-50 เซนติเมตร
2. ถนนสายบ้านบาโงสะโต อ.ระแงะ มีน้ำท่วมขังสูง 90 เซนติเมตร
3. ถนนสายรอยต่อระหว่างบ้านมะนังตายอกับ อ.เมืองนราธิวาส มีน้ำท่วมขังสูง 100 เซนติเมตร
4. ถนนสายบ้านป่าไผ่ อ.ระแงะ มีน้ำท่วมขังสูง 100 เซนติเมตร
5. ถนนสายบ้านตันหยงมัส อ.ระแงะ มีน้ำท่วมขังสูง 50 เซนติเมตร
6. ถนนสายบ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง มีน้ำท่วมขังสูง 60 เซนติเมตร
สำหรับพื้นที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบหนักสุดของ จ.นราธิวาส อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.ระแงะ รือเสาะ แว้ง และสุไหงโก-ลก ที่ยังคงมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงอย่างต่อเนื่องจากผลพวงของแม่น้ำสายหลักที่รองรับมวลน้ำป่าจากเทือกเขาสันกาลาคีรี
ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก บริเวณ 8 ชุมชนที่บ้านเรือนของประชาชนปลูกสร้างอยู่ตลอดแนวริมตลิ่งของแม่น้ำโก-ลก คือ ชุมชนหัวสะพาน ชุมชนโปฮงยามู ชุมชนท่าประปา ชุมชนกือดาบารู ชุมชนเสาสัญญาณ ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนท่าโรงเลื่อย และชุมชนบือเร็ง มีน้ำท่วมขังสูงถึง 190 เซนติเมตร สูงขึ้นจากวันก่อนหน้า 20 เซนติเมตร
เจ้าหน้าที่ทหารสังกัด กองร้อย 151 พัน 2 ค่ายกัลยาณิวัฒนา ต้องเดินฝ่ากระแสน้ำท่วมขังสูงเข้าไปช่วยเหลือประชาชน และมีการอพยพเด็กเล็ก หญิงชราไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยชั่วคราว โรงเรียนเทศบาล 4 บ้านทรายทอง จำนวน 182 คน
เช่นเดียวกับที่ หมู่ 1 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ 3 กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำนราธิวาส ได้นำกำลังพลพร้อมเรือยางเดินลุยน้ำที่มีน้ำท่วมขังสูง 170 เซนติเมตร เข้าไปในพื้นที่ ให้การช่วยเหลืออพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างเร่งด่วน
@@ “ซาบีดา” บินด่วนให้กำลังใจผู้ประสบภัยนราฯ
เมื่อช่วงค่ำของวันพุธที่ 27 พ.ย. นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย บินด่วนพร้อมคณะลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัย ภายในศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ ศูนย์จัดการภัยพิบัติชุมชนท่าเรือ เทศบาลตำบลรือเสาะ อ.รือเสาะ พร้อมมอบสิ่งของอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม จำนวน 3,000 ขวด ทั้งยังไปเยี่ยมครัวประกอบอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน เพื่อนำแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยด้วย
จากนั้น นางสาวซาบีดา ได้เดินทางต่อไปยัง อ.ระแงะ เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยที่พักพิงภายในศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบภัย เทศบาลตำบลตันหยงมัส อ.ระแงะ
โดย รมช.มหาดไทย ได้พูดคุยให้กำลังใจกับผู้ประสบภัยพื้นที อย่างเป็นกันเอง พร้อมนำความห่วงใยของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปบอกกับชาวบ้านว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและพร้อมช่วยเหลือดูแลประชาชนผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะอยู่ภูมิภาคใด เหนือสุด หรือใต้สุดของประเทศ รัฐบาลเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยทุกคนอย่างเท่าเทียม
@@ ปัตตานีอ่วม จ่อประกาศพื้นที่ภัยพิบัติทุกอำเภอ
ส่วนในพื้นที่ จ.ปัตตานี ทั้ง 12 อำเภอ ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ส่งผลให้มีปริมานน้ำฝนสะสม รวมถึงน้ำป่าไหลหลากทะลักล้นจากแม่น้ำทั้ง 2 สาย ทั้งแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี หลากเข้าท่วมบ้านเรือนได้รับความเดือนร้อนอย่างหนัก ทำให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทกจากอุทกภัยแล้ว 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ทุ่งยางแดง อ.หนองจิก อ.มายอ อ.แม่ลาน อ.ไม้แก่น และ อ.โคกโพธิ์ มีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 8,452 ครัวเรือน
นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ทั้ง 12 อำเภอของจังหวัดปัตตานีมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ปริมาณฝนเฉลี่ยแต่ละอำเภออยู่ที่ 200 มิลลิเมตร และอำเภอที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดคือ อ.ยะรัง อยู่ที่ 519 มิลลิเมตร
“ขณะนี้ได้ออกประกาศเป็นพื้นที่วิกฤต พร้อมประกาศพื้นที่ศูนย์อพยพของประชาชน เนื่องจากปีนี้มีปริมาณน้ำฝนมาก รวมถึงสถานการณ์น้ำจากจังหวัดยะลาและนราธิวาสที่ไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานีทั้งหมด และอำเภอล่าสุดที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ คือ อ.มายอ และ อ.ทุ่งยางแดง และวันนี้จะประกาศเพิ่มรวมเป็น 12 อำเภอ”
@@ น้ำท่วมยะลายังหนัก - เรือไม่พอขนย้ายผู้ประสบภัย
มีรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การช่วยเหลือขนย้ายประชาชนออกจากจุดน้ำท่วมส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้เรือ ขณะที่เรือของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมืองยะลา มีประชาชนร้องขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1880 ศอ.บต. แต่ก็ยังไม่มีเรือไปรับประชาชนได้
นายอัตฟาน อาบู ชาวบ้านในพื้นที่เมืองยะลา กล่าวว่า ตอนนี้มีชาวบ้านและเจ้าหน้าที่โรงงานติดอยู่ในโรงงานซีแพค ตลาดชินวร อำเภอเมืองยะลา ตั้งแต่ตอนเย็นวันพุธที่ 27 พ.ย. จนถึงวันพฤหัสฯ ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปช่วยเหลือ โดยน้ำกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ต้องหนีไปอยู่บนลังคารถแบคโฮในโรงงานแล้ว
ขณะที่ชาวบ้านอีกรายในพื้นที่ กล่าวว่า ตอนนี้หน่วยภาครัฐในพื้นที่บอกว่าเรือมีจำนวนจำกัด ต้องรอคิวในการช่วยเหลือ การขนย้ายคนออกจากพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เข้าใจว่าทุกพื้นที่เดือดร้อน แต่คิดว่ารัฐบาลควรมีวิธีการช่วยเหลือประชาชนให้ดีกว่านี้
@@ ศอ.บต.ประสานขอเรือเพิ่ม
ด้าน พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวยืนยันว่า ตอนนี้ติดปัญหาในการเข้าออกพื้นที่ คือ เรือมีไม่พอ หลายจุดยังไม่สามารถเข้าไปได้ ในเบื้องต้นหน่วยในพื้นที่ได้ขอเรือมาเพิ่มเพื่อเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแล้ว
@@ น้ำท่วมสงขลา 15 อำเภอ 99 ตำบล
ด้านสถานการณ์ฝนตกหนักใน จ.สงขลา ตั้งเเต่วันที่ 26-27 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดอุทกภัยเป็นวงกว้างในพื้นที่ 15 อำเภอ 99 ตำบล 580 หมู่บ้าน 26 ชุมชน มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 23,181 ครัวเรือน รวม 50,250 คน มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บางส่วนได้รับผลกระทบจากพายุ ทำให้หลังคาบ้านเรือนประชาชนเสียหาย ทุกอำเภอจึงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง
@@ ชุมชนริมคลองอู่ตะเภาน้ำท่วมสูง 2 เมตร
จากสถานการณ์ฝนที่ตกถล่มลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ของ จ.สงขลา โดยเฉพาะชุมชนริมคลองอู่ตะเภา ที่บ้านทุ่งมะขาม หมู่ 1 ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านติดคลองอู่ตะเภา ถูกมวลน้ำจำนวนมากไหลทะลักล้นจากคลองเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม ชาวบ้านต้องขนย้ายทรัพย์สินหนีน้ำ โดยบางจุดน้ำสูงมากกว่า 2 เมตร ทั้งหมู่บ้านถูกน้ำท่วม 100 เปอร์เซ็นต์ การสัญจรในขณะนี้ อ.คลองหอยโข่ง สามารถเดินทางเข้ามาได้เพียงทางเดียวเท่านั้น ส่วนจุดที่เชื่อมต่อกับคลองอู่ตะเภา ทั้งในพื้นที่ ต.บ้านพรุ และ ต.พะตง อ.หาดใหญ่ ถูกตัดขาดจากระดับน้ำในคลองที่เอ่อเข้าท่วม
นายประสิทธิ์ แก้วมรกต นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง กล่าวว่า ขณะนี้ทั้งตำบลถูกน้ำเอ่อเข้าท่วมทั้งหมด เนื่องจากน้ำในคลองอู่ตะเภาล้นทะลักเข้าท่วมชุมชนริมคลอง ทางเทศบาลได้ช่วยอพยพประชาชนไปอยู่ที่ศูนย์อพยพตามจุดต่างๆ โดยประเมินว่ จะยังมีมวลน้ำจาก อ.สะเดา และน้ำจาก ต.พะตง ไหลเข้าสมทบอีก จึงต้องเตรียมรับมือแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบสถานการณ์
@@ หาดใหญ่ธงเหลือง เตือนเฝ้าระวัง
ล่าสุดเมื่อเวลา 08.10 น.วันพฤหัสบดีที่ 28 พ.ย. เทศบาลนครหาดใหญ่ได้ประกาศเตือนภัย “สภาวะธงเหลือง” เนื่องจากระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งน้อยกว่า 1.5 เมตร จำนวน 9 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนหาดใหญ่ใน, ชุมชนคลอง ร.1, ชุมชนศาลาลุงทอง, ชุมชนตลาดพ่อพรหม, ชุมชนเทศาพัฒนา, ชุมชนจันทร์ประทีป, ชุมชนจันทร์นิเวศน์, ชุมชนรัตนวิบูลย์ และชุมชนจันทร์วิโรจน์
ส่วนสถานการณ์โดยรวมในพื้นที่ จ.สงขลา ขณะนี้มีน้ำท่วมครอบคลุมทั้ง 16 อำเภอ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประเมินสถานการณ์ เพื่อดำเนินการระบายน้ำออกสู่ทะเลสาบสงขลาให้ได้โดยเร็วที่สุด
@@ "อนุทิน" เตรียมลงพื้นที่ติดตามน้ำท่วม
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยสถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างว่า ล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด 50 อำเภอ 321 ตำบล 1,884 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 136,219 ครัวเรือน ได้แก่
- จ.สุราษฎร์ธานี 2 อำเภอ คือ กาญจนดิษฐ์ และ ดอนสัก รวม 91 ครัวเรือน
- จ.นครศรีธรรมราช 8 อำเภอ คือ ชะอวด เฉลิมพระเกียรติ พระพรหม เมืองนครศรีธรรมราช ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ ปากพนัง พรหมคีรี รวม 34,513 ครัวเรือน
- จ.สงขลา 15 อำเภอ คือ ปากพนัง พรหมคีรี ระโนด สะเดา หาดใหญ่ สิงหนคร เทพา บางกล่ำ สะบ้าย้อย นาทวี จะนะ รัตภูมิ เมืองสงขลา นาหม่อม กระแสสินธุ์ ควนเนียง คลองหอยโข่ง รวม 23,181 ครัวเรือน
- จ.ปัตตานี 8 อำเภอ คือ มายอ ทุ่งยางแดง หนองจิก แม่ลาน ไม้แก่น โคกโพธิ์ รวม 8,442 ครัวเรือน
- จ.ยะลา 5 อำเภอ คือ บันนังสตา อ.เมืองยะลา ยะหา รามัน กาบัง รวม 27,425 ครัวเรือน
- จ.นราธิวาส 13 อำเภอ คือ บาเจาะ แว้ง รือเสาะ เจาะไอร้อง สุคิริน ยี่งอ ระแงะ ตากใบ จะแนะ ศรีสาคร สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี เมืองนราธิวาส รวม 42,294 ครัวเรือน
- จ.สตูล 1 อำเภอ คือ ควนโดน 273 ครัวเรือน
นอกจากนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย มอบหมายให้ น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ยะลา พร้อมกำชับ ปภ. ระดมทรัพยากรทั้งเครื่องจักรสาธารณภัยและกำลังคนให้พร้อมสนับสนุนเหตุอุทกภัยภาคใต้ ซึ่ง ล่าสุด ปภ. เขตต่างๆ ได้ทยอยแจ้งสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัย พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าไปยังพื้นที่แล้ว
มีรายงานว่า วันศุกร์ที่ 29 พ.ย. นายอนุทิน มีกำหนดเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิดด้วย
@@ ผบ.ทบ. - แม่ทัพ 4 สั่งหน่วยทหารร่วมมือจิตอาสาฯ ช่วยผู้ประสบภัย
ด้าน พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพบก ได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 บูรณาการความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานภาค 4 เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในทันที พร้อมเตรียมการรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจขยายวงกว้างในพื้นที่อื่นๆ
ในส่วนของ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่ดำเนินการตามแผนช่วยเหลือประชาชนที่ได้เตรียมไว้ ร่วมกับส่วนราชการและกำลังจิตอาสาในพื้นที่อย่างเร่งด่วน พร้อมเปิดสายด่วนสำหรับประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ ให้สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยทหารในพื้นที่
-ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มทบ.41 จ.นครศรีธรรมราช โทร 075-383434
-ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มทบ.42 จ.สงขลา โทร 074-586685
-ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มทบ.43 จ.นครศรีธรรมราช โทร 075-495074 ต่อ 45032
-ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มทบ.44 จ.ชุมพร และ จ.ระนอง โทร 077-596739
-ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มทบ.45 จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.พังงา โทร 077-285161-3 ต่อ 45620
-ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มทบ.46 จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส โทร 073-340141-4
@@ “รมว.นฤมล” สั่งกรมชลฯ ระดมเครื่องจักรช่วยน้ำท่วมใต้
ขณะที่ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้สั่งการให้กรมชลประทานติดตั้งเครื่องจักร-เครื่องมือก่อนเกิดภัย รวมทั้งระดมเครื่องจักร-เครื่องมือจากพื้นที่ที่ไม่มีอุกทภัย เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือง ภาคกลาง ลงสู่พื้นที่ภาคใต้ และมอบหมายเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการติดตั้งในพื้นที่จุดเสี่ยงอุทกภัยต่างๆ ในการพร้อมลดปัญหาที่เกิดอุทกภัยและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง ตลอด 24 ชั่วโมง
โดยกำชับว่า จะต้องติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำในลำน้ำ น้ำท่วมขังในพื้นที่ เพื่อดำเนินการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ในช่วงน้ำทะเลลง ให้เร่งระบายน้ำผ่านอาคารชลประทาน และประตูระบายน้ำลงสู่ทะเล ส่วนในช่วงน้ำทะเลหนุน ให้ดำเนินการปิดประตูระบายน้ำ และเร่งสูบน้ำออกอย่างต่อเนื่อง
@@ “ธนกร” ขอรัฐบาล-กองทัพ เร่งช่วยผู้ป่วยติดเตียง เด็ก-คนแก่
ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รองหัวหน้าพรรค และสส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะที่สถานการณ์หนักสุดน่าจะเป็นที่จ.นราธิวาส จ.ยะลา ที่ท่วมหนักสุดในรอบ 40-50 ปี บางจุดพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำสูงจนขึ้นถึงบริเวณชั้น 2 เกือบมิดหลังคาบ้านแล้ว ที่ตนเป็นห่วงคือผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
“ฝากท่านนายกฯและ มท.1 ระดมกองทัพและเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งให้การช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงเด็กและผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ออกจากบ้านที่น้ำท่วมสูงและมีความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตออกมาโดยเร็ว พร้อมกันนี้รัฐบาลต้องมีการวางแผนแก้ปัญหาอุทกภัยในระยะยาว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่มีสภาพแวดล้อมแปรปรวน เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนในทุกจังหวัดให้เกิดความปลอดภัย” นายธนกร กล่าว