ศูนย์ทนายมุสลิม จับมือมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมองค์กรเครือข่าย เป็นตัวแทนญาติผู้สูญเสีย เตรียมตะลุยฟ้องศาลนราธิวาส เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ 9 รายเกี่ยวข้องเหตุการณ์ตากใบ หวังแสวงหาความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายขึ้นรถยีเอ็มซี จนเกิดโศกนาฏกรรม 85 ศพ เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของปัญหาไฟใต้
“คดีตากใบ” กำลังจะขาดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.2567 หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้มาครบ 20 ปี คือเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547
ทีมทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ จึงเตรียมเดินทางไปศาลจังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 เม.ย.67 เพื่อยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 คน ที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากในระหว่างการขนย้ายหลังถูกจับกุมในเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 ต.ค.2547
ในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ 9 รายดังกล่าว ทีมทนายความได้ตั้งข้อหาว่า มีการหน่วงเหนี่ยวกักขัง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 และมาตรา 310 การฆ่าผู้อื่นและกระทำในลักษณะที่โหดร้าย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และ 289 (5) และยังเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
โดยมีผู้เสียหายและญาติผู้ตายส่วนหนึ่งได้ร่วมกันเป็นโจทก์ และมอบหมายให้ทีมทนายความทำคดี ซึ่งการฟ้องร้องดำเนินคดีครั้งนี้ เป็นการกระทำเพื่อจะแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้ตาย โดยไม่ได้หวังผลเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ
ก่อนหน้านี้ ทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีอันควรมี เนื่องมาจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบดังกล่าว และ กมธ.ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยการเรียกเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงแล้ว
อ่านประกอบ : 19 ปีตากใบ สำนวนคดี 85 ศพหาย! โอกาสสุดท้ายริบหรี่ก่อนขาดอายุความ
จากข้อมูลที่มีการชี้แจงต่อ กมธ. ปรากฏว่า ในสำนวนคดีไต่สวนการตาย พนักงานสอบสวนได้สรุปว่า ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด และไม่ทราบถึงสถานะและความมีอยู่ของสำนวนคดี ข้อเท็จจริงนี้ทำให้เห็นว่า เส้นทางการดำเนินคดีอาญาที่เพิ่งริเริ่มโดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เกิดขึ้น ในขณะที่อายุความของการเป็นคดีอาญากำลังจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่กำลังจะดำเนินการนี้ ครอบครัวผู้เสียหายและทีมทนายความเชื่อว่า การทำความจริงให้ปรากฏ และสร้างความยุติธรรมโดยอาศัยกระบวนการทางศาลเช่นว่านี้ จะส่งผลด้านดีอย่างมากต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความขัดแย้งยืดเยื้อมายาวนานถึง 20 ปี
@@ ทนายมุสลิมพบญาติเหยื่อตากใบ เตรียมเอกสารก่อนลุย
ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่ง มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และญาติเหตุการณ์ตากใบ ได้ร่วมกันพบปะ เตรียมเอกสารสำนวนคำฟ้อง เพื่อเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการฟ้องคดีอาญาต่อผู้ที่สั่งการในการสลายการชุมนุมีหน้า สภ.ตากใบ เมื่อปี 2547
โดยมูลนิธิฯ ได้นำเสนอข้อมูลและภาพถ่ายไว้ในหน้าเพจเฟซบุ๊ก เมื่อวันจันทร์ที่ 22 เม.ย. 2567
พร้อมระบุว่า เหตุการณ์ตากใบ เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
รายงานคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ระบุข้อมูลว่าทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตทันที 7 ศพ โดย 5 ศพถูกกระสุนปืนที่ศีรษะ 1,370 คน ถูกจับกุม นอนซ้อนทับกันหลังรถบรรทุกไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย
ศาลสงขลามีคำสั่งไต่สวนการตายในสำนวนว่าเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ และคดีนี้ยังไม่มีการสั่งฟ้องทางอาญาต่อผู้ที่กระทำความผิด ที่ทำให้คนเสียชีวิตมากมายขนาดนี้
และเหตุการณ์นี้จะครบ 20 ปี ในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะขาดอายุความในการฟ้องร้อง
@@ หากคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องหรือรื้อคดีต้องมีหลักฐานใหม่
อย่างไรก็ดี สำหรับคดีตากใบ “ทีมข่าวอิศรา” สืบค้นข้อมูลเอกสารพบว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งในสำนวนการไต่สวนการตาย ถึงสาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ ระบุว่า เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่
เมื่อสำนวนถึงอัยการ อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการคือ สั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด
จากข้อมูลนี้ ประกอบกับข้อมูลอื่นๆ ที่สืบค้นเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีแวดล้อมในเหตุการณ์เดียวกันทุกคดี น่าจะสรุปได้ว่า คดีตากใบถึงที่สุด และจบลงทั้งหมดแล้ว (ซึ่งเป็นข้อสรุปเกี่ยวกับขั้นตอนตามกฎหมาย ไม่ใช่ความยุติธรรม หรือเรื่องทางความรู้สึก)
อ่านประกอบ : คดีตากใบ...สำนวนหาย หาไม่เจอ หรือคดีถึงที่สุดไปแล้ว?
เมื่อสถานะของคดีตากใบถึงที่สุดแล้ว แนวทางในการที่จะดำเนินการทางกฎหมาย ก่อนที่คดีจะหมดอายุความนั้น มี 2 แนวทาง คือ
1.พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) มีพยานหลักฐานใหม่ ก็สามารถรื้อคดีขึ้นมาสอบสวนและฟ้องใหม่ได้
ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ที่บัญญัติว่า เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้
2.ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ตากใบ หรือทายาท หากมีพยานหลักฐานใหม่ ก็สามารถนำไปร้องต่ออัยการ หรือยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ แต่จะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง
กระบวนการที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และญาติของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบกำลังจะไปยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส อาจเป็นแนวทางที่ 2 ตามที่ระบุ จึงต้องรอดูผลว่าศาลจะพิจารณาอย่างไร
--------------------
ขอบคุณภาพประกอบจาก เพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม