ผมขอใช้พื้นที่ “คุยกับบรรณาธิการ” ซึ่งเป็นคอลัมน์ ไม่ใช่ข่าว ในการสื่อสารเรื่องสำนวนคดีตากใบ
เพราะข้อมูลที่ผมจะนำมาเล่า เป็นข้อมูลผสมความเห็นและข้อสังเกต ไม่ใช่ข้อมูลข่าวทั้งหมด เนื่องจากเป็นข่าวเก่าที่เกิดมากว่า 10 ปีแล้ว
ประเด็นที่อยากร่วมสื่อสารก็คือ ข่าวจากวงประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการให้ข่าวภายหลังการประชุมทำนองว่าว่า สำนวนคดีตากใบสูญหาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาไม่เจอ ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ก่อเหตุได้
(เข้าใจว่า หมายถึงผู้ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต 78 ศพ จากกระบวนการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม หรืออาจหมายถึง 85 ศพที่รวมผู้เสียชีวิตจากการปะทะระหว่างการชุมนุมอีก 7 ศพด้วย)
โดยความจำเป็นเร่งด่วนของเรื่องนี้ตามที่มีการให้ข่าวก็คือ คดีตากใบกำลังจะขาดอายุความในปีหน้า เหลือเวลาอีกราวๆ 10 เดือนเท่านั้น เพราะจะครบ 20 ปีซึ่งเป็นอายุความตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว
กมธ.ให้เวลาผู้แทนสำนักงานอัยการภาค 9 และตำรวจภูธรภาค 9 ทั้งสิ้น 30 วัน เพื่อแจ้งความคืบหน้า พูดง่ายๆ คือ ให้กลับมาตอบว่าสำนวนหายไปไหน หาสำนวนเจอหรือไม่
จากนั้นก็มีการให้ข่าวจากผู้เกี่ยวข้องกับการประชุม กมธ.ครั้งนี้อีกหลายท่าน หลายวาระ ทำนองว่า “รับไม่ได้” กับคำตอบของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องว่า หาสำนวนไม่เจอ ไม่รู้อยู่ที่ไหน ทำให้ประชาชนและครอบครัวผู้สูญเสีย 78 หรือ 85 ชีวิต ไม่ได้รับความเป็นธรรม
นี่คือสาระสำคัญของข่าวนี้...
ประเด็นที่ผมจะขอหยิบมาพิจารณาเพื่อร่วมหาคำตอบก็คือ
หนึ่ง สำนวนคดีหายหรือไม่ - เรื่องนี้ตอบไม่ได้ เพราะผมไม่ได้มีหน้าที่เก็บสำนวน และไม่เคยทราบข่าวเรื่องสำนวนหายมาก่อน
สอง สถานะของคดีตากใบ ในส่วนที่ดำเนินการโดยรัฐ หรือหน่วยงานรัฐ มีกี่คดีกันแน่ และผลของคดี เป็นอย่างไรบ้าง
ข้อนี้น่าหาคำตอบเพิ่มเติม เพราะจะนำไปสู่คำตอบของข้อ 1 ได้ว่า สำนวนคดีหายหรือเปล่า และผู้แทนหน่วยงานที่เข้าชี้แจง กมธ.นั้น จริงๆ แล้วเขามีหน้าที่ต้องรู้หรือไม่ว่าสำนวนคดีตากใบอยู่ที่ไหน
ผมไปย้อนดูข่าวใน “ศูนย์ข่าวอิศรา” พบข้อมูลข่าวเกี่ยวกับคดีตากใบ เป็นข่าวเมื่อปี พ.ศ.2555 นำเสนอในวาระครบรอบ 8 ปีตากใบพอดี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555
หัวข้อข่าวคือ “8 ปีตากใบ (1) เมื่อการเยียวยาไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นธรรม” ข่าวนี้รายงานโดย คุณนาซือเราะ เจะฮะ ผู้สื่อข่าวของศูนย์ข่าวอิศรา ปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่อยู่
ท้ายข่าวนี้มีข้อมูลน่าสนใจ คือ ประเด็นข่าวที่ว่า “พลิกปูมคดีตากใบทั้งแพ่ง-อาญา” เนื้อหาที่นำเสนอมีดังนี้
พลิกปูมคดีตากใบทั้งแพ่ง-อาญา
1.พนักงานอัยการถอนฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน (ต่อมาเสียชีวิต 1 คน) ที่ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดียั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย โดยถอนฟ้องเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2549 (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์) โดยให้เหตุผลต่อสาธารณะว่า "...การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะและอาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ"
2.คดีแพ่งที่ญาติผู้เสียชีวิต ตลอดจนผู้บาดเจ็บและทุพพลภาพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อเรียกค่าเสียหายในกรณีเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ตากใบ มีจำนวน 7 สำนวน ระหว่างปี 2548-2549 ต่อมาได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงยอมรับค่าเสียหายทางแพ่ง
3.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จำนวน 7 คน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากอยู่ในช่วงเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างการชุมนุม จึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งให้งดการสอบสวน
4.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิต 78 คนจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมนับพันคนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งไต่สวนการตาย เนื่องจากเป็นกรณีการเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ หรือเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด
นี่คือรายละเอียดของคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ น่าจะครบทั้งหมด ณ เวลานั้น
ผมสอบถามไปยังคุณนาซือเราะ ผู้สื่อข่าว ว่าจำได้หรือไม่ว่านำข้อมูลนี้มาจากแหล่งใด คุณนาซือเราะตอบว่าจำไม่ได้ และหาต้นทางของข้อมูลไม่ได้แล้ว เนื่องจากเป็นข่าวเก่ามากกว่า 10 ปี แต่เข้าใจว่าข้อมูลนี้น่าจะมาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
ผมอ่านดูสำนวนการเขียนของเนื้อข่าวส่วนนี้ น่าจะสรุปมาจากเอกสารของทางราชการ ไม่ใช่การเขียนข่าวขึ้นเอง
คดีตากใบที่ กมธ.ใหัข่าวว่าสำนวนหาย หรือหาไม่เจอนั้น น่าจะเป็นคดีในข้อ 4 ซึ่งตามข้อมูลนี้ แปลว่า “คดีถึงที่สุดแล้ว” จบแล้ว ในส่วนที่เป็นการดำเนินการของภาครัฐ
สาเหตุที่ผมเชื่อว่าข้อมูลนี้มาจากเอกสารของทางราชการ ไม่ใช่นักข่าวเขียนขึ้นเอง หรือมีคนบอกเล่า ก็เพราะว่าขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ที่ว่าเมื่ออัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี โดยเห็นพ้องกับพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ต้องส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (ฝ่ายปกครอง) ชี้ขาด เพื่อถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรมนั้น ขั้นตอนนี้เป็นไปตามกฎหมายเก่า ซึ่งปัจจุบันแก้ไขแล้ว และนักข่าวทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษากฎหมาย ไม่น่าจะเข้าใจกระบวนการขั้นตอนนี้อย่างถ่องแท้
ประกอบกับห้วงเวลาของการเสนอข่าวนี้ เป็นช่วงเดียวกับที่มีการ “จ่ายเงินเยียวยาครั้งใหญ่” ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายภาคใต้ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งรวมถึงครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบด้วย โดยจ่ายสูงสุดถึง 7,500,000 บาท
การจ่ายเยียวยาดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีเลขาธิการ ศอ.บต.ชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
การที่รัฐบาลตัดสินใจจ่ายเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้ได้รับผลกระทบทุกรายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเหตุการณ์ตากใบด้วย และจ่ายสูงสุดถึง 7,500,000 บาทนั้น แปลว่าสถานะทางคดีน่าจะต้อง “ถึงที่สุดแล้ว” อย่างน้อยก็ในส่วนที่ดำเนินการโดยรัฐ จึงมีการจ่ายชดเชยเยียวยาได้
(ดูจากสถานะของคดีอื่นๆ อีก 3 คดีที่เหลือ โดยเฉพาะคดีที่ 1 ที่อัยการยอมถอนฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน กระบวนการนี้เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็จะเห็นได้ว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มาในอดีต และหน่วยงานภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับการอำนวยความเป็นธรรมอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่เมินเฉย ละเลยกับเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมอย่างสิ้นเชิง เหมือนกับที่มีบางคนพยายามโจมตี)
ผมจึงเชื่อว่าคดีตากใบ ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำให้เกิดการตาย 78 ราย ระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจากหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นั้น น่าจะ “ถึงที่สุดแล้ว”
แต่เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับ “ความเป็นธรรม” หรือ “ความอยุติธรรม” นะครับ ผมพูดเฉพาะสถานะของคดี
เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว การไปสอบถามว่าสำนวนคดีอยู่ที่ไหน กับตำรวจท้องที่ หรืออัยการระดับภาค จึงไม่แน่ชัดว่าเป็นการ “ถามถูกคน” หรือไม่ เพราะต้องไปย้อนดูว่า กระบวนการเก็บสำนวนคดีที่ “ถึงที่สุดแล้ว” ใครหรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดเก็บ โดยเฉพาะคดีที่ “มีความเห็นเด็ดขาด ไม่ฟ้อง”
สาม ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ผมขอยกขึ้นมาคุยในตอนท้ายนี้ ก็คือ คดีตากใบจะเอาอย่างไรกันต่อ
คำตอบต้องยึดตามสถานะของคดี หากข้อมูลที่ผมยกมาเป็นความจริง นั่นก็คือ “คดีถึงที่สุดแล้ว” (ตรวจสอบล่าสุดจากสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันข้อมูลตรงกัน) แนวทางที่จะดำเนินการได้มี 2 แนวทาง กล่าวคือ
1.พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) มีพยานหลักฐานใหม่ ก็สามารถรื้อคดีขึ้นมาสอบสวนและฟ้องใหม่ได้
ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ที่บัญญัติว่า เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้
2.ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ตากใบ หรือทายาท หากมีพยานหลักฐานใหม่ ก็สามารถนำไปร้องต่ออัยการ หรือยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ แต่จะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง
นี่คือช่องทางตามกฎหมายเท่าที่มีอยู่ และผู้เกี่ยวข้องใน กมธ. ซึ่งหลายท่านก็เป็นนักกฎหมาย เป็นทนาย น่าจะรีบดำเนินการ ก่อนคดีจะขาดอายุความในปีหน้า ตามที่ท่านห่วงกังวล
เพราะการมุ่งให้ข่าว แต่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ชาวบ้าน หรือครอบครัวผู้สูญเสียเลย ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเจ้าหน้าที่รัฐบางคน บางหน่วยที่ท่านกำลังโจมตีต่อว่านั่นแหละ ว่าละเลย ไม่พยายามให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน