สส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ เปิดประเด็นวิกฤติรุมอ่าวปัตตานีกลางที่ประชุมสภา ทั้งปัญหาระบบนิเวศเปลี่ยน ประมงพื้นบ้านล้มละลาย จับสัตว์น้ำได้ลดลง 80% จ่อทิ้งเรือ ทิ้งอวน ไปขายแรงงานมาเลย์ อีกด้านชายฝั่งถูกกัดเซาะพัง ทำหาดท่องเที่ยวดังเงียบเหงา กลายเป็นหาดร้าง
นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ส.ส.ปัตตานี เขต 5 พรรคประชาชาติ ลุกขึ้นอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงปรึกษาหารือปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยระบุตอนหนึ่งว่า มี 2 ประเด็นที่ขอฝากผ่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ตรงจุด
เรื่องที่ 1 ปัญหาวิกฤติอ่าวปัตตานี ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติแห่งเดียว เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากผู้คนรอบอ่าวปัตตานี มากกว่า 50,000 คน ครอบคลุมพื้นที่ 9 ตำบล 2 อำเภอ คือ อำเภอเมือง และอำเภอยะหริ่ง ปัจจุบันมีความเสื่อมโทรมจนถึงขั้นวิกฤติที่สร้างผลกระทบเป็นห่วงโซ่แก่พี่น้องประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี
จากการลงพื้นที่รับทราบปัญหาด้วยตนเองและจากข้อมูลวิจัยของของ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม และคณะ ที่ติดตามปัญหาอ่าวปัตตานีมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัจจุบันพี่น้องประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี มีรายได้จากการทำประมงบริเวณอ่าวปัตตานีตอนในลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 129 ล้านบาท ในปี 2542 ลดลงเหลือเพียง 25 ล้านบาท ในปี 2563 หรือลดลง ร้อยละ 80 เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต
นั่นหมายความว่า ถ้าหากในอดีตพี่น้องประมงพื้นบ้านสามารถจับสัตว์น้ำได้เงิน 1,000 บาท มาวันนี้ชาวบ้านสามารถจับสัตว์น้ำได้เพียง 200 บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ภายใต้ค่าครองชีพที่สูงในปัจจุบัน บางครอบครัวต้องให้ลูกหลานออกจากการศึกษากลางคัน ไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย หรือแม้กระทั่งสลับกันไปเรียนระหว่างพี่กับน้อง เพราะพ่อแม่ไม่สามารถหาเงินจากการทำประมงเหมือนอดีตได้
ดังนั้นจากประเด็นปัญหาดังกล่าว เครือข่ายชุมชนประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมเจ้าท่า, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งรวมถึงป่าชายเลน และกรมประมง ทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว คือ
1. ทำการขุดลอกร่องน้ำชุมชนที่มีความตื่นเขินในหลายร่องน้ำ จนทำให้กระแสน้ำเค็มไม่สามารถเข้าไปหมุนเวียนและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนได้
2. ทำการศึกษาวิธีการเปิดปากอ่าวปัตตานีที่ปลายแหลมตาชีให้คงสภาพเช่นเดิม เหมือนอดีตที่ปากอ่าวมีความกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร ปัจจุบันปากอ่าวปัตตานีมีความกว้างเพียง 1.9 กิโลเมตรเท่านั้น ส่งผลให้ระบบการไหลเวียนของกระแสน้ำขึ้น-น้ำลง การดันกระแสน้ำเค็มไปยังก้นอ่าว ไปไม่ถึง เกิดภาวะความเค็มของน้ำลดลง จนผักตบชวาขึ้นตรงปากร่องน้ำตำบลบางปู
จากปัญหาดังกล่าว ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาล่าช้า อาจหมายถึงการที่ชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีจำเป็นต้องทิ้งอาชีพประมง ต้องขายเรือ ขายอวน แล้วอพยพไปเป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ทิ้งคนแก่ไว้ข้างหลัง
เรื่องที่ 2 ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรง ตั้งแต่พื้นที่ตำบลตะโละกาโปร์ จนถึงตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มีการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี และเป็นปีที่ 3 แล้วที่ชาวบ้านกำลังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และกรรมาธิการการกัดเซาะฯ สภาผู้แทนรราษฎร ลงมารับทราบปัญหา แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมที่ชาวบ้านสามารถจับต้องได้ เพราะทุกวันนี้ชายหาดตะโละกาโปร์ ชายหาดตะโละสมีแล ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดปัตตานี มีแต่ซากปรักหักพังของต้นไม้ที่ล้ม ซากถนนที่ถูกกัดเซาะ บ้านเรือนชาวบ้านที่พังทั้งทลาย ความเงียบเหงาของนักท่องเที่ยว เพราะชายหาดที่สวยงามในอดีต มาวันนี้มีแต่ขยะซากปรักหักพังที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะที่รุนแรง
ดังนั้น ตนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอหารือผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณและดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยยึดหลักความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้งในการแก้ไขปัญหา