สมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตอาสา ม.อ. ลุยทำ “เอ็มโอยู” การรับมือและฟื้นฟูผลกระทบจากภัยพิบัติโรคระบาด ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข ท้องถิ่น และผู้นำศาสนา อ.แว้ง จ.นราธิวาส เลือก “บ้านกรือซง” เป็นชุมชนต้นแบบจัดการโควิด
เมื่อเร็วๆนี้ ทางสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตอาสา ม.อ. (สศ.มอ.) ได้จัดทำ “เอ็มโอยู” หรือ “บันทึกความเข้าใจ” ด้านการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบจากภัยพิบัติโรคระบาดโควิด-19 และภัยพิบัติอื่นๆ ของพื้นที่ ในโครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย ร่วมกับสาธารณสุขอำเภอแว้ง จ.นราธิวาส องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แว้ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านกรือซอ เครือข่ายภัยพิบัติชุมชนบ้านกรือซอ จ.นราธิวาส ที่ห้องประชุมสำนักงาน รพ.สต.บ้านกรือซอ อ.แว้ง
ผู้ร่วมลงนามในเอ็มโอยู ก็คือ นายสุวัฒน์ ทองเล็ก ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอแว้ง เป็นประธาน พร้อมด้วย นางไอยชะห์ พรหมปลัด รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านกรือซอ, น.ส.จุฑามณี หามะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง, นายบาฮารูดีน ลอแม โต๊ะอิหม่าม หมู่ 4 บ้านกรือซอ, นายอานัติ หวังกุหลำ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตอาสา ม.อ. และ ว่าที่ร้อยตรี อิสมาแอ มาหะ ผู้จัดการโครงการฯ
น.ส.จุฑามณี กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดี ทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการโควิด มีส่วนช่วยให้ชาวบ้านได้เข้าถึงการบริการด้านต่างๆ และทำให้พื้นที่สามารถจัดการตัวเองได้ดีเยี่ยม
ขณะที่ นายบาฮารูดีน โต๊ะอิหม่าม ในฐานะประธานเครือข่ายรับมือภัยพิบัติบ้านกรือซอ กล่าวว่า การทำงานกับคนในชุมชนนั้นไม่ยาก ชาวบ้านเข้าใจ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แม้ช่วงแรกๆ ที่โควิด-19 ระบาดหนักจนต้องปิดหมู่บ้านก็ตาม แต่เมื่อมีการสื่อสารด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และหยิบเรื่องประกาศจากทางสำนักจุฬาราชมนตรีมาอธิบายประกอบ ทำให้ชาวบ้านเปิดใจและให้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานเพื่อชุมชนเป็นอย่างดี
“การได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ในฐานะผู้นำศาสนาได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ได้ความรู้ใหม่ๆ ชาวบ้านเกิดความตื่นตัว ถือเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดโควิดในช่วงแรกๆ จนต้องปิดหมู่บ้าน แต่หลังจากได้ทำประชาสัมพันธ์เรื่องโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านให้ความร่วมมือและฉีดวัคซีนมากขึ้น”
ว่าที่ร้อยตรี อิสมาแอ มาหะ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า หัวใจของการทำเอ็มโอยูร่วมกัน มี 4 ข้อ คือ
1.การผลักดันเชิงนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน เพื่อรับมือและฟื้นฟูผลกระทบจากภัยพิบัติ
2.การจัดวางงบประมาณให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กลุ่มเครือข่ายที่มีอยู่ในชุมชน
3.การจัดวางคนที่จะทำหน้าที่ในการประสานงานร่วมกับเครือข่ายภัยพิบัติ
4.การให้การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่
“เราเลือกพื้นที่ ‘บ้านกรือซอ’ เพราะที่นี่มีต้นทุนการทำงานเครือข่าย มีผู้นำศาสนาที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้นำมัสยิดในชุมชนที่มีการทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชน ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักๆ ที่เราอยากทำงานร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการเลือกพื้นที่ตรงนี้” ว่าที่ร้อยตรี อิสมาแอ ระบุ