เดือนตุลาคมปีนี้ เป็นช่วงที่นักสังเกตการณ์การเมืองจับตากันว่า จะมีความชัดเจนบางอย่างเกิดขึ้น เพื่อยุติบรรยากาศอึมครึมจากข่าวความขัดแย้งภายในของ “กลุ่ม 3 ป.”
หนึ่งในความชัดเจนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ เรื่องพรรคการเมืองใหม่ เป็นพรรคการเมืองที่เตรียมแต่งตัวเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 1 สมัย
เป็นพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นท่ามกลางกระแสข่าว “ไม่สดใส” ของพรรคพลังประชารัฐที่ยังกุมบังเหียนโดย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้ที่ถูกนายกฯสั่งปลดจากเก้าอี้รัฐมนตรี
ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคใหม่ที่อาจจะมีการเปิดตัวในเร็ววันนี้ ถูกนิยามจากนักรัฐศาสตร์ว่าคือ “พรรคทหาร” เพราะตั้งขึ้นมาเพื่อต่อท่ออำนาจให้ผู้นำทางทหารที่เข้าสู่การเมืองด้วยวิธีการรัฐประหาร ได้อยู่บนเส้นทางของอำนาจต่อไป
โมเดล “พรรคทหาร” ไม่ได้มีขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ในบริบทการเมืองไทยเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในห้วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษของการช่วงขิงอำนาจทางการเมืองโดยมีผู้นำทางทหารเป็นหนึ่งใน “ผู้เล่นสำคัญ”
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความเรื่อง “พรรคทหารไม่สดใส!” บอกเล่าเรื่องราวของ “พรรคทหาร” ในบริบทการเมืองไทยเอาไว้อย่างน่าสนใจ รวมถึงข้อสังเกตเปรียบเทียบกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน
@@ พรรคทหารไม่สดใส
...หนึ่งในประเด็นสำคัญของการเมืองไทยปัจจุบันก็คือ พรรคทหารที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับต่อการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 คือ “พรรคพลังประชารัฐ” จะมีอนาคตอย่างไร หรือว่าที่จริงแล้ว พรรคทหารในการเมืองไทยล้วนมีจุดกำเนิดที่ไม่แตกต่างกัน และบางทีก็มีจุดจบที่ไม่แตกต่างกันด้วย!
หากเราย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ของพรรคทหารจากอดีตของการเมืองไทยแล้ว คงจะต้องยอมรับว่า พรรคทหารเกิดขึ้นหลังจากความสำเร็จของการยึดอำนาจของผู้นำทหาร และหลังจากอยู่ในอำนาจมาระยะหนึ่งแล้ว ก็แทบจะกลายเป็นสูตรตายตัวที่คณะรัฐประหารจะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมกับเปิดการเลือกตั้ง อันทำให้คณะทหารต้องจัดตั้งพรรคของตนเองขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้แข่งขันทางการเมือง เพื่อที่จะสามารถดำรงอำนาจต่อไป พร้อมกับเปลี่ยนรูปแบบของ “ระบอบทหาร” ให้มีสถานะเป็น “ระบอบกึ่งทหาร” อันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองใหม่ให้แก่ผู้นำทหาร
สภาวะเช่นนี้อธิบายในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ได้ว่า พรรคทหารเกิดเพื่อการสืบทอดอำนาจของผู้นำคณะรัฐประหาร และพร้อมกันนี้พรรคทหารทำหน้าที่ในการสร้าง “ระบอบกึ่งทหาร” ซึ่งด้านหนึ่งทำให้คณะทหารมีความชอบธรรมมากขึ้นด้วยการใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการอยู่ในอำนาจต่อไป และในอีกด้านหนึ่ง พรรคเช่นนี้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของการจัดตั้งรัฐบาลของผู้นำทหารในเวทีระหว่างประเทศ แม้จะรับรู้กันว่าการแข่งขันทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้ “กฎกติกา” ที่คณะรัฐประหารเป็นผู้จัดทำขึ้น ในเงื่อนไขเช่นนี้ โอกาสที่จะมีการเลือกตั้งที่ “เสรีและเป็นธรรม” ย่อมเป็นไปได้ยาก แต่การออกแบบเช่นนี้จะส่งผลโดยตรงให้พรรคทหารชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน
ว่าที่จริงแล้ว “พรรคทหาร” หรือที่ในทางรัฐศาสตร์เรียกว่า “พรรคของระบอบเดิม” นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองไทย ซึ่งเราอาจจะถือว่า จุดเริ่มต้นที่สำคัญของพรรคทหารเกิดขึ้นในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม คือ “พรรคเสรีมนังคศิลา” พรรคเกิดขึ้นเพื่อรองรับต่อความพยายามของรัฐบาลพิบูลสงครามที่จะสร้างภาพให้เห็นถึงกระบวนการประชาธิปไตยภายใต้การควบคุมของผู้นำทหารไทย ขณะเดียวกันก็ต้องการให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่ที่ จอมพล ป. จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
ด้วยผลของความแตกแยกของผู้นำทหารระหว่าง จอมพล ป. กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้ผู้นำทหารอีกฝ่ายจัดตั้ง “พรรคสหภูมิ” ขึ้นเป็นคู่แข่ง โดยมีน้องชายต่างมารดาของจอมพลสฤษดิ์ เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนพรรคทหารของรัฐบาลคือ “พรรคเสรีมนังคศิลา” มี จอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค และ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคนี้มีบทบาทอย่างสำคัญในกรณี “การเลือกตั้งสกปรก” ในปี 2500
แม้พรรคจะชนะการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 แต่ก็เป็นการชนะที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากมาย จนกลายเป็น “วิกฤตใหญ่” ของรัฐบาล อันนำไปสู่ความขัดแย้งขั้นแตกหักกับผู้นำทหารอีกฝ่ายหนึ่ง จนทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ตัดสินใจก่อการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2500
หลังจากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์แล้ว พรรคเสรีมนังคศิลาซึ่งเป็น “พรรคทหารยุคที่ 1” จึงค่อยๆ อ่อนแรง และสิ้นสภาพไปกับการยุติของ “ระบอบพิบูลสงคราม” พร้อมกับการลี้ภัยของท่านผู้นำ
ต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ตัดสินใจพาการเมืองไทยกลับสู่การเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2500 โดยใช้สูตรเดิมด้วยการจัดตั้งพรรคทหารใหม่ คือ “พรรคชาติสังคม” อันเป็น “พรรคทหารยุคที่ 2” และไม่มีความจำเป็นต้องปกปิดสถานะของพรรค เพราะพรรคนี้มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า พลโทถนอม กิตติขจร เป็นรองหัวหน้า (ยศในขณะนั้น) และมี พลโทประภาส จารุเสถียร เป็นเลขาธิการพรรค
พรรคชาติสังคมชนะการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาล โดยมี พลโทถนอม เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็น “นอมินี” ที่ชัดเจนของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งในเงื่อนไขเช่นนี้ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคของจอมพลสฤษดิ์จะไม่ชนะเลือกตั้ง
แต่หลังจากการรัฐประหารครั้งที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์ในเดือนตุลาคม 2501 แล้ว ผู้นำทหารไม่มีความจำเป็นต้องใช้พรรคทหารในแบบเดิม เพราะจอมพลสฤษดิ์จัดตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารเต็มรูป และไม่ได้พึ่งพาระบบการเลือกตั้งเช่นในช่วงหลังรัฐประหาร 2500 พรรคชาติสังคมจึงหมดบทบาทไปโดยปริยาย จนจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในต้นเดือนธันวาคม 2506
พลเอกถนอม ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พร้อมกับเลื่อนชั้นยศเป็น “จอมพล” และในที่สุด ผู้นำทหารได้ตัดสินใจเปิดให้การเมืองไทยกลับสู่การเลือกตั้งในปี 2512 สูตรเดิมของผู้นำทหารถูกนำกลับมาใช้ด้วยการจัดตั้ง “พรรคสหประชาไทย” ในฐานะ “พรรคทหารยุคที่ 3”
และไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำทหารจะต้องปิดบังทางการเมืองถึงสถานะของพรรค ดังจะเห็นได้ว่า พรรคนี้มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า และ พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาพรรค ซึ่งเมื่อมีประกาศผลการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคสหประชาไทยชนะการเลือกตั้ง แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็จำเป็นต้องอาศัยเสียงจาก สส. อิสระ ซึ่งมีจำนวนมาก
เป็นที่รับรู้กันดีว่า พรรคสหประชาไทยเป็นที่รวมของหลาย “มุ้ง” ที่มี ส.ส.อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำทหารแต่ละคน และพรรคมีปัญหาภายในอย่างมาก อีกทั้งการควบคุมการเมืองในสภาก็ประสบปัญหาด้วย อันทำให้รัฐบาลกึ่งทหารของจอมพลถนอมประสบปัญหาเสถียรภาพอย่างมาก จนสุดท้ายแล้ว จอมพลถนอมตัดสินใจในสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน คือ การยึดอำนาจรัฐบาลตัวเองในเดือนพฤศจิกายน 2514
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การหวนกลับสู่การจัดตั้งรัฐบาลทหาร คือหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การประท้วงใหญ่ของนิสิตนักศึกษาประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 อันไปสู่การสิ้นสุดของรัฐบาลทหาร และตามมาด้วยการลี้ภัยของผู้นำทหาร ผลสืบเนื่องอย่างชัดเจนคือ การสิ้นสุดของพรรคสหประชาไทย…พรรคทหารจบลงอีกครั้ง
หลังรัฐประหาร ตุลาคม 2520 และตามมาด้วยการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2522 นั้น ผู้นำทหารเช่น พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไม่ได้ใช้สูตรเก่าของการตั้งพรรคทหาร แต่พยายามเล่นการเมืองด้วยการเป็นผู้ควบคุมสภา และใช้พรรคการเมืองที่มีอยู่แต่เดิม
หลังรัฐประหาร กุมภาพันธ์ 2534 และมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 สูตรเก่าถูกนำมาใช้อีกครั้งด้วยการจัดตั้ง “พรรคสามัคคีธรรม” โดยมีนักการเมืองที่สนิทกับผู้นำรัฐประหารเข้ามารับบทบาทเป็นผู้ก่อตั้งพรรค แต่เมื่อเกิดการประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาลจากนิสิตนักศึกษาประชาชน จนกลายเป็นการนองเลือดอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2535 อันนำไปสู่การสิ้นสุดของรัฐบาลของ พลเอกสุจินดา คราประยูร แล้วพรรคสามัคคีธรรมก็จบชีวิตลงด้วย อันเป็นการจบของ “พรรคทหารยุคที่ 4” ซึ่งในขณะนั้น พรรคทหารถูกเปรียบว่าเป็น “พรรคมาร”
หลังรัฐประหาร พฤษภาคม 2557 และตามมาด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมการสืบทอดอำนาจด้วยการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งไม่ผิดคาดที่สูตรของการจัดตั้งพรรคทหารหวนกลับมาอีกครั้ง ได้แก่การจัดตั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” อันเป็นการมาของ “พรรคทหารยุคที่ 5” ซึ่งก็เผชิญกับความท้าทายอย่างมากไม่ต่างจากอดีต เช่น การควบคุม ส.ส.ในพรรค และการควบคุมการเมืองในสภา ตลอดรวมถึงการแข่งขันเชิงอำนาจของผู้นำทหารที่มีฐานะเป็น “กลุ่มก๊วน” ต่างๆ ในพรรครัฐบาล หรือเกิดปรากฎการณ์ “ร้อยเอก vs พลเอก” ซึ่งนำไปสู่สภาวะ “แก้วร้าว” ทางการเมืองทั้งในรัฐบาล และในพรรครัฐบาลด้วย
หากย้อนจากอดีตของพรรคทหารยุคที่ 1 จนถึงยุคที่ 5 จะเห็นได้ว่า พรรคทหารเป็น “องค์กรเฉพาะกิจ” ที่ผูกโยงอยู่กับตัวของผู้นำทหาร ไม่ใช่ผูกกับสถาบันกองทัพในแบบของพรรคทหารในอินโดนีเซีย หรือพรรคทหารในเมียนมา แต่พรรคทหารของไทยเป็นแบบยึดโยงกับตัวบุคคล และเกิดขึ้นเพื่อการสืบทอดอำนาจหลังรัฐประหาร จึงมักไม่ได้มีอายุยืนนานเพื่อการแข่งขันทางการเมืองในระยะยาว
ดังนั้น การสิ้นสุดของพรรคทหารจึงผูกติดอยู่กับการสิ้นอำนาจของผู้นำทหารโดยตรง…
เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้นำทหารที่ตั้งพรรคหมดอำนาจทางการเมืองลง พรรคทหารก็สลายตัวตามไปด้วย หรือถ้าผู้นำทหารอีกคนออกมาตั้งพรรคใหม่ ก็อาจเสมือนกับการเมืองไทยย้อนกลับสู่การแข่งขันในยุคก่อนปี 2500 ระหว่างพรรคเสรีมนังคศิลา ที่มี จอมพล ป. เป็นหัวหน้า กับ พรรคสหภูมิ ที่มีจอมพลสฤษดิ์ อยู่เบื้องหลัง
อนาคตพรรคทหารในยามนี้ไม่สดใสนัก…พรรคยืนอยู่บนความสัมพันธ์ที่เปราะบางของผู้นำทหาร จนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงอดีตของการแข่งขันระหว่าง จอมพล ป. กับ จอมพลสฤษดิ์!