“…เราจะมีคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติ โดยใช้กติกา พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่จะตรวจสูงขึ้นไป 2-3 ชั้นว่า เป็นคนไทยถือหุ้นเกิน 50% หรือไม่ เช่น กรณี บมจ.ไทยคม ถ้าเขาจะมายื่นประมูล เราจะต้องไปตรวจสอบว่า บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.ไทยคม เป็นคนไทยเกิน 50% หรือไม่…”
......................
เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน
ก่อนที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเปิดให้บริษัทเอกชนประสงค์ขอรับอนุญาตยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อเข้าประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) จำนวน 4 ชุดใบอนุญาต ราคาขั้นต่ำรวม 1,801 ล้านบาท ในวันที่ 5 ก.ค.นี้
อย่างไรก็ดี การเปิดประมูลใบอนุญาตดาวเทียมครั้งนี้ ค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากมีบริษัทเอกชนเพียง 2 รายเท่านั้น ที่เข้ารับเอกสารการคัดเลือกฯ และมีสิทธิยื่นขอรับใบอนุญาต นั่นก็คือ บมจ.ไทยคม และบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (อ่านประกอบ : วงเสวนาชำแหละ! ประมูลไลเซ่นส์ดาวเทียม ส่อมีเจ้าเดียว-ห่วงนอมินี)
“ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะก่อนหน้านี้ บริษัทที่มีประสบการณ์เรื่องดาวเทียมอยู่แล้วและบอกว่าสนใจเข้าประมูล อันแรก คือ ไทยคม ซึ่งเรารู้อยู่แล้ว อันสอง คือ กสท โทรคมนาคม ที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น NT (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) เดิมเขาให้บริการดาวเทียมในส่วนภาคพื้นดินอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ทำไม NT จึงไม่เข้าร่วมประมูล
อันที่สาม คือ มิว สเปซ (บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด) แม้เป็นบริษัทใหม่ แต่ได้รับใบประกอบกิจการดาวเทียมมาหลายปีแล้ว เพียงแต่เขาไม่มีดาวเทียมของตัวเอง ซึ่งการประมูลคราวนี้เป็นจังหวะที่เขาจะมาประมูลวงโคจรและยิงดาวเทียมใช้ได้เอง” นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
@ดีอีเอสเบรกประมูลใบอนุญาต-ให้เป็นหน้าที่ กสทช.ชุดใหม่
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่เปิดประมูลใบอนุญาตดาวเทียมครั้งนี้ จะมีผู้เข้าแข่งขันร่วมประมูลน้อยรายเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าเส้นทางการเปิดประมูลที่กำหนดไว้ คือ ให้มีการเคาะราคาในวันที่ 24 ก.ค.นี้ อาจไม่สะดวกราบรื่นมากนัก
เพราะล่าสุด ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ทำหนังสือถึง กสทช. โดยขอให้ชะลอการประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมออกไปก่อน เพราะเห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของ กสทช. ชุดใหม่ ที่อยู่ระหว่างการสรรหา และคาดว่าจะได้ กสทช.ชุดใหม่ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ขณะที่ก่อนหน้านี้ บมจ.ไทยคม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้ารับเอกสารการคัดเลือก มีหนังสือถึง รมว.ดีอีเอส โดยขอให้ไปกระทรวงดีอีเอสเข้าหารือกับ กสทช. ทบทวนการนำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมสำหรับตำแหน่งที่ วงโคจรดาวเทียม 78.5 องศาตะวันออก และ 119.5 องศาตะวันออก ออกมาเปิดประมูล
เพราะตำแหน่งวงโคจรดังกล่าว มีดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ให้บริการอยู่แล้ว และเมื่อสิ้นสุดสัมปทาน วันที่ 10 ก.ย.2564 ดาวเทียมทั้ง 2 ดวง ซึ่งยังใช้งานอยู่ จะตกเป็นทรัพย์สินของดีอีเอส โดยมี บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้บริหาร (อ่านประกอบ :กระทบดาวเทียมเก่า! ‘ไทยคม’ ร้อง ‘ดีอีเอส’ ถก ‘กสทช.’ ทบทวนเปิดประมูลสิทธิ 2 วงโคจร)
ส่วนท่าทีของล่าสุด กสทช. นั้น เบื้องต้นยังยืนยันว่า การเปิดประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิม ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 7 ก.ค.นี้ กสทช. จะหยิบยกข้อเสนอของ รมว.ดีอีเอส ขึ้นมาหารือ
“ที่เราต้องประมูลล่วงหน้า เพราะกว่าจะยิงดาวเทียมขึ้นไปได้ ต้องใช้เวลาสร้าง ต้องจองสล็อตการยิง ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยต้องใช้เวลา 2 ปี ถ้าปล่อยให้หมดอายุทางวิศวกรรมแล้วไปประมูล อย่างนั้นจะไม่ทัน…” นพ.ประวิทย์ย้ำ (อ่านประกอบ : ยิงดาวเทียมต้องใช้เวลา 2 ปี! ‘กสทช.’ ยันเดินหน้าเคาะประมูลใบอนุญาตฯ 24 ก.ค.นี้)
@ตรวจเข้มคุณสมบัติคนไทยต้องถือหุ้นเกิน 50%-สร้างดาวเทียมเอง
นพ.ประวิทย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมกรณีคุณสมบัติของบริษัทเอกชนที่มีสิทธิเข้าร่วมประมูลฯ ว่า ต้องเป็นบริษัทที่พิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าเป็นบริษัทที่คนไทยถือหุ้นเกิน 50% พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และจะมีการตรวจสอบขึ้นไป 2-3 ชั้นว่า บริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทที่ประมูลเหนือขึ้นไปนั้น มีคนไทยถือหุ้นเกิน 50% หรือไม่
“เราจะมีคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติ โดยใช้กติกา พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่จะตรวจสูงขึ้นไป 2-3 ชั้นว่า เป็นคนไทยถือหุ้นเกิน 50% หรือไม่ เช่น กรณี บมจ.ไทยคม ถ้าเขาจะมายื่นประมูล เราจะต้องไปตรวจสอบว่า บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.ไทยคม เป็นคนไทยเกิน 50% หรือไม่” นพ.ประวิทย์ ระบุ
นพ.ประวิทย์ ให้ความเห็นกรณีที่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ตั้งโต๊ะรับซื้อ (Tender Offer) หุ้น INTUCH ในช่วงการเปิดประมูลใบอนุญาตฯ ว่า“บริษัทไหนจะไล่ซื้อหุ้นใคร ถ้าสุดท้ายยังเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ก็ไม่เป็นปัญหา และเราเองไม่ให้ความสำคัญว่า เอกชนรายใดเป็นเจ้าของ เพียงแต่ว่าต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น”
นพ.ประวิทย์ ระบุด้วยว่า เงื่อนไขสำคัญของการประมูลใบอนุญาตดาวเทียมครั้งนี้ กสทช. กำหนดเงื่อนไขว่า บริษัทที่ได้ใบอนุญาตฯ จะต้องเป็นเจ้าของดาวเทียม เพื่อให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีต คือ มีการลากดาวเทียมของประเทศอื่นมารักษาสิทธิในวงโคจร ทำให้ต้องมีการใช้ดาวเทียมร่วมกัน และเป็นปัญหาอยู่จนถึงวันนี้
“ถ้าเป็นธุรกิจอื่นก็ไม่มีปัญหา แต่ธุรกิจดาวเทียมเป็นเรื่องของความมั่นคง การเป็นเจ้าของ เราจึงออกกติกาประมูลว่า เขาต้องเป็นเจ้าของดาวเทียมเอง ต้องมีสิทธิในการควบคุมดาวเทียมทั้งหมด” นพ.ประวิทย์ ระบุ
(นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา)
@แนะเดินหน้าประมูล-หวั่นสรรหา กสทช. ชุดใหม่เกิดอุบัติเหตุ
ด้าน สืบศักดิ์ สืบภักดี เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว การเปิดประมูลใบอนุญาตดาวเทียม ควรเป็นหน้าที่ของ กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ และได้รับทราบมาว่า กรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบัน บางคน ก็อยากให้เป็นหน้าที่ของ กสทช.ชุดใหม่
แต่หากย้อนกลับไปดูบริบทการสรรหา กรรมการ กสทช. ในอดีตจะพบว่า มีการสรรหามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้เป็นการสรรหาครั้งที่ 3 ซึ่งสุดท้ายไม่รู้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุอะไรอีกหรือไม่ ในขณะที่การประมูลดาวเทียม หรือกิจการดาวเทียม มีความสำคัญต่อประเทศ และสัมปทานดาวเทียมในปัจจุบันกำลังจะหมดอายุแล้ว
“ครั้งนี้เราอาจได้ กสทช. อย่างที่เรารอกันก็ได้ หรืออาจมีอุบัติอะไรเกิดขึ้นอีกก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบหลัง ก็จะทำให้กระบวนการประมูลดาวเทียมช้าออกไป ทั้งๆที่เรื่องดาวเทียมเป็นสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน และดาวเทียมในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เรื่องดาวเทียมอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวกับบริการโทรคนนาคมอื่นๆด้วย จึงอยากเห็นการดำเนินการที่รวดเร็ว” สืบศักดิ์ ระบุ
@ผู้ซื้อซอง 2 รายไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย-เหตุธุรกิจเสี่ยงสูง
สืบศักดิ์ กล่าวถึงการประมูลใบอนุญาตดาวเทียมที่มีเอกชนซื้อซองเพียง 2 ราย คือ บมจ.ไทยคม และบริษัท มิว สเปซฯ ว่า ตนมองว่าไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะกิจการดาวเทียมต้องใช้เงินลงทุนสูง และมีเทคโนโลยีเฉพาะ (อ่านประกอบ :ท้าชิงไทยคมฯ ‘มิว สเปซ’ บ.ลูกชายอดีตหน.สนง.ทบ. จ่อร่วมประมูลใบอนุญาตดาวเทียม)
“ที่เข้ามาซื้อซอง 2 ราย คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ อาจคาดหวังว่าจะมีมากกว่านี้ แต่เรื่องดาวเทียมจะเอาไปเทียบเคียงกับบริการโทรคมนาคมอื่นๆ เช่น มือถือ หรืออินเตอร์เน็ต คงไม่ได้ เพราะกิจการดาวเทียมเป็นกิจการที่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง มีเทคนิคและเทคโนโลยีที่เป็นอุตสาหกรรมเฉพาะ
ถ้าไม่นับ ไทยคม ซึ่งทำดาวเทียมบนสัมปทานเก่า และมีประสบการณ์อุตสาหกรรมดาวเทียมในต่างประเทศ หรือ มิว สเปซ ที่เปิดตัวชัดเจนว่าเป็นผู้ประกอบการ และเป็นสตาร์ทอัพที่แสดงความสนใจในธุรกิจดาวเทียมมาโดยตลอดแล้ว ดังนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์หรือโนฮาวเกี่ยวกับดาวเทียม ก็จะไม่กล้าเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้” สืบศักดิ์กล่าว
(สืบศักดิ์ สืบภักดี)
สืบศักดิ์ ประเมินถึงสาเหตุที่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ไม่เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตฯครั้งนี้ ว่า บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติอาจคิดว่าลงทุนแล้วไม่คุ้ม เพราะในอดีตเคยมีการศึกษาของ กสท โทรคมนาคม ว่า ควรเข้าดำเนินธุรกิจดาวเทียมต่อหรือไม่ และรูปแบบใด โดยผลการศึกษาสรุปในทำนองว่า ลงทุนแล้วได้ผลประกอบการไม่คุ้ม ซึ่งจะต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วม
สืบศักดิ์ กล่าวต่อว่า เอกชนที่เข้าประมูลใบอนุญาตดาวเทียมรอบนี้ ทั้ง 2 ราย มีไพ่อยู่ในมือแล้วว่าจะทำธุรกิจดาวเทียมประเภทใด เพียงแต่ยังไม่เปิดเผยออกมา
แต่หากจะให้วิเคราะห์แล้ว ตนมองว่า บมจ.ไทยคม ซึ่งมาจากกลุ่มดาวเทียมค้างฟ้า (Geostationary Orbit) ที่ให้บริการรีเลย์สัญญาณ และให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์บ้าง แต่ในอนาคตของไทยคมน่าจะเน้นหาพันธมิตรเพิ่มขึ้น และให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมที่มีค่าบริการที่ถูกลง รวมทั้งให้สร้างบริการโทรคมนาคมรูปแบบใหม่ๆ
ส่วน มิว สเปซ ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพและเป็น new technology platforms นั้น นอกจากการยิงดาวเทียมไปในตำแหน่งในวงโคจรที่กำหนดแล้ว มิว สเปซ น่าจะใช้รูปแบบธุรกิจในลักษณะที่เป็นการหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ และมีการผสมผสานเทคโนโลยี ทั้งเทคโนโลยีดาวเทียมค้างฟ้า และเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit)
“อุตสาหกรรมดาวเทียมในยุคหน้า มีดาวเทียมดวงเดียว อยู่ตำแหน่งเดียว มันอยู่ไม่ได้ คนที่จะมาประมูลหรือกระโดดเข้ามาและอยากจะหารายได้จากธุรกิจดาวเทียม ต้องมีพาร์ทเนอร์ และสร้างบริการที่รองรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแบบใหม่ๆ ที่มีการเปิดน่านฟ้าดาวเทียม รวมถึงมีการเชื่อมโยงกับโครงข่ายภาคพื้นดินด้วย” สืบศักดิ์ กล่าว
สืบศักดิ์ ยังระบุว่า นอกจากการลงทุนในกิจการดาวเทียมจะใช้เงินลงทุนสูงหลักหมื่นบาทต่อการสร้างและยิงดาวเทียมขึ้นไป 1 ดาว แล้ว กิจการดาวเทียมยังมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนไปมากและมีผู้เล่นจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขัน เช่น สตาร์ลิงค์ ของ SpaceX ซึ่งให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม
“เราอาจไม่ได้เห็นการห้ำหั่นกัน และสำหรับผมแล้ว แค่ขอให้มีผู้ประกอบการเอกชนมารับใบอนุญาตไป น่าจะเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมทั้งหมดแล้ว ไม่อยากให้การประมูลล้มเหลวหรือราคาสูงเกินไป เพราะจะไม่เป็นผลดีทั้งประเทศ ผู้ใช้บริการเสียโอกาส หรืออีกหน่อยเราจะไม่มีผู้ให้บริการที่เป็นคนไทย” สืบศักดิ์ กล่าว
จากนี้จึงต้องติดตามต่อไปว่า การประมูลใบอนุญาตดาวเทียมจะเป็นไปตามกำหนดเดิมหรือไม่!
อ่านประกอบ :
ยิงดาวเทียมต้องใช้เวลา 2 ปี! ‘กสทช.’ ยันเดินหน้าเคาะประมูลใบอนุญาตฯ 24 ก.ค.นี้
กระทบดาวเทียมเก่า! ‘ไทยคม’ ร้อง ‘ดีอีเอส’ ถก ‘กสทช.’ ทบทวนเปิดประมูลสิทธิ 2 วงโคจร
วงเสวนาชำแหละ! ประมูลไลเซ่นส์ดาวเทียม ส่อมีเจ้าเดียว-ห่วงนอมินี
‘กสทช.’ เปิดฟังความเห็นร่างประกาศประมูล 'ใบอนุญาตดาวเทียม' 4 ชุด 2.2 พันล้าน
แบ่งใบอนุญาตเป็น 4 ชุด! กสทช.เดินหน้าคัดเลือกผู้รับสิทธิใช้ 'วงโคจรดาวเทียม' ปลายปีนี้
ท้าชิงไทยคมฯ ‘มิว สเปซ’ บ.ลูกชายอดีตหน.สนง.ทบ. จ่อร่วมประมูลใบอนุญาตดาวเทียม
บอร์ดกสทช.ไฟเขียวร่างประกาศกิจการดาวเทียม 3 ฉบับ
กางพิมพ์เขียวเปิดเสรี‘ดาวเทียมไทย’ กสทช..ประชาพิจารณ์21ต.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/