ป.ป.ช.ตีตกคดี 'มนัส สร้อยพลอย' ร่ำรวยผิดปกติ หลังสอบทรัพย์สิน เงินฝาก ซื้อรถยนต์ พบเจ้าตัว-ภรรยา มีฐานะรายได้เพียงพอ แถมไม่พบเส้นทางเงินเชื่อมคดีทุจริตระบายข้าว ไร้ธุรกรรมรับโอนเงินจากต่างประเทศ-ซื้อขายทองคำ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายมนัส สร้อยพลอย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ร่ำรวยผิดปกติ
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น ทรัพย์สินรายการต่าง ๆ ทั้งรายการเงินฝาก การซื้อรถยนต์ และการกู้ยืมเงิน ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ มีฐานะและรายได้เพียงพอที่จะมีทรัพย์สินได้ นอกจากนี้ยังไม่มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับผู้ถูกชี้มูลความผิดในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ข้อกล่าวหาไม่มีมูลเห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า สืบเนื่องจากการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหาคดีหมายเลขดำที่ 03-2-240/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ 007-2-5/2558 กรณีกล่าวหาการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 656 - 28/2558 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (1) มีมูลความผิดทางอาญา ฐานตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอราคาหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานรัฐ อันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณา หรือการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาครั้งนั้นมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น
นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ หรือกระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 มาตรา 10 และมาตรา 12 และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบกับต่อมาปรากฏข้อมูลข้อเท็จจริงที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ส่งมา มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ว่าร่ำรวยผิดปกติ
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ทรัพย์สินรายการต่าง ๆ ทั้งรายการเงินฝาก การซื้อรถยนต์ และการกู้ยืมเงิน รับฟังได้ว่าไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ และนายมนัส และนางดวงรัตน์ ภรรยา มีฐานะและรายได้เพียงพอที่จะมีทรัพย์สินได้
เมื่อตรวจสอบรายการทรัพย์สินและหนี้สินตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศโดยปรับปรุงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนแล้ว ผลการตรวจสอบเปรียบเทียบกรณีเข้ารับตำแหน่งกับกรณีพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจำนวน 2,385,074.36 บาท ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 2 ปี 5 เดือน มีรายได้รวมจำนวน 4,429,543.99 บาท และกรณีเข้ารับตำแหน่งกับกรณีพ้นจากตำแหน่งครบหนึ่งปีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจำนวน 4,981,048.80 บาท ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 3 ปี 5 เดือน มีรายได้รวมจำนวน 8,304,388.42 บาท ซึ่งทรัพย์สินไม่เพิ่มขึ้นผิดปกติ
ประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงว่านายมนัส และนางดวงรัตน์ ไม่มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับผู้ถูกชี้มูลความผิดในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว อีกทั้งไม่มีการทำธุรกรรมการรับโอนเงินจากต่างประเทศ การโอนเงินไปต่างประเทศ การเป็นผู้ส่งเงินหรือรับเงินในต่างประเทศ และการเปิดบัญชีฝากเงินตราต่างประทศ และไม่มีการซื้อขายทองคำ หรือสินค้าหรือบริการเกี่ยวกับทองคำแต่อย่างใด
ดังนั้น ข้อกล่าวหากรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายมนัส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ร่ำรวยผิดปกติ จึงไม่มีมูลเห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับนายมนัส เป็นหนึ่งในจำเลยคดีทุจริตระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล ถูกลงโทษไล่ออกราชการ คดีอาญาศาลฯ พิพากษาลงโทษจำคุก รวม 40 ปี ให้ชดใช้เงินค่าเสียหายหลายพันล้านบาท และยังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีระบายมันเส้นในสต็อกรัฐบาล 3 สำนวนด้วย
อ่านประกอบ :
- INFO:จำแนกครบ17จำเลย-โทษเรียงคนคดีทุจริตข้าวจีทูจีเจ๊งหมื่นล.ยกฟ้อง 8-ออกหมายจับ3
- เจาะสำนวนที่ 3 มติ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีมันฯจีทูจี 'บุญทรง-วีระวุฒิ-มนัส' โดน 'ชินวัตร' รอดหมด