เผยมติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ สสส. ตรวจสอบชดใช้ความเสียหายโครงการอนุมัติทุน ผอ. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เรียนต่อ ป.เอก แคนาดาไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หลังตีตกข้อกล่าวหา 'สุปรีดา อดุลยานนท์' อดีตผู้อำนวยการสำนัก สสส.-พวก อนุมัติโครงการฯ ดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ตีตกคดีกล่าวหา นายสุปรีดา อดุลยานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับพวก อนุมัติโครงการให้ทุนผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุราไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศแคนาดา โดยไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหา 3 ราย คือ นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, นายสุภกร บัวสาย ขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ นายบัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า ร่วมกันกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีอนุมัติโครงการให้ทุนกับนายบัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุราไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศแคนาดา โดยไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เป็นเหตุให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพใช้งบประมาณสนับสนุนโครงการดังกล่าว
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะฟังได้ว่า นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายสุภกร บัวสาย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนายบัณฑิต ศรไพศาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
อย่างไรก็ดี จากการไต่สวนเบื้องต้นปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพได้อนุมัติโครงการให้ทุนกับ นายบัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศแคนาดา โดยไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 เป็นเหตุให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพดำเนินการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป