"...สรุปชัดๆ คือ แม้ว่า พฤติการณ์ นางศรีกัญญา ยังฟังไม่ได้ว่า เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ แต่การแจ้งข้อมูลการถือครองทรัพย์สินของปลอมหรือเป็นของเลียนแบบ ยังต้องถูกกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป..."
กรณี นางศรีกัญญา ยาทิพย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สวมใส่ นาฬิกาหรูหลายเรือน และกระเป๋าแบรนด์เนม ต่อสาธารณะ แต่ไม่ปรากฏข้อมูลในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้ยุติการตรวจสอบนาฬิกาหรู และกระเป๋าแบรนด์เนม ของ นางศรีกัญญา ยาทิพย์ ไปแล้ว
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นางศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาฯ กบข. ได้ชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ของ ป.ป.ช. ว่า นาฬิกาหรู และกระเป๋าแบรนด์เนม ที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น ทั้งหมดไม่ใช่ของแท้ แต่เป็นของเลียนแบบหรือก๊อบปี้ โดยมีการนำของเหล่านี้มาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งไม่มีหมายเลขผลิตภัณฑ์ หรือ Serial Number อยู่
ขณะที่ ป.ป.ช.ได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาช่วยตรวจสอบ และได้รับการยืนยันว่า เป็นของปลอม ซึ่งไม่เข้าข่ายทรัพย์สินมูลค่าเกินสองแสนบาท ที่จะต้องแจ้งแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. และได้มีการรายงานสรุปผลการตรวจสอบเบื้องต้นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ยุติเรื่องสอบต่อตามขั้นตอนไปแล้ว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการสอบสวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช.ว่า มีการตั้งประเด็นการตรวจสอบไว้ 2 กรณี คือ
1. ประเด็นการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
2. ประเด็นร่ำรวยผิดปกติ
@ ประเด็นการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
จุดเริ่มต้นการตรวจสอบกรณีนี้ มาจากการนำเสนอข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่า นางศรีกัญญา ยาทิพย์ มีการถ่ายภาพลงสื่อต่างๆ โดยมีการโพสต์รูปที่สวมใส่นาฬิกาหรู จำนวน 5 เรือน และเป๋าบรนด์เนม จำนวน 1 ใบ แต่ไม่ปรากฏในการแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ ในประเด็นการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน นั้น เบื้องต้น นางศรีกัญญา ชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ว่า นาฬิกา จำนวน 5 เรือน เป็นทรัพย์สินที่ตนเองเคยครอบครอง และได้มอบให้ลูกสาว ไปเมื่อต้นปี 2563
การปรากฏภาพตนเองสวมใส่นาฬิกาเรือนต่าง ๆ นั้น เกิดจากการนำนาฬิกาของลูกสาว มาใช้เพื่อเป็นเครื่องประดับสำหรับถ่ายภาพเก็บไว้ในกิจกรรมประชาสัมพันธ์
ส่วนกระเป๋าแบรนด์เนม จำนวน 1 ใบ นางศรีกัญญา ชี้แจงว่า เป็นกระเป๋าที่ซื้อให้ลูกสาว
ขณะที่จากการตรวจสอบเอกสารประกอบคำชี้แจงของ นางศรีกัญญา เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. พบว่านาฬิกา จำนวน 1 เรือน นางศรีกัญญา ซื้อมาประมาณปี 2546 -2547 และนาฬิกา จำนวน 4 เรือน ซื้อมาประมาณปี 2561 - 2562
สำหรับกระเป๋า จำนวน 1 ใบ นางศรีกัญญา ได้ซื้อให้ลูกสาว ก่อนวันที่ 12 ส.ค.2563 ปรากฏหลักฐานเป็นภาพถ่ายที่ นางศรีกัญญา ได้ลง Facebook ส่วนตัว ภาพถ่ายลงนิตยสาร และภาพเพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจการทำงานของ กบข.
ดังนั้น ทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ เป็นทรัพย์สินที่นางศรีกัญญา และลูกสาว ได้มาก่อนมีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2564
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ นางศรีกัญญา ไม่แสดงรายการทรัพย์สินอื่น ได้แก่ นาฬิกาจำนวน 5 เรือน และกระเป๋า จำนวน 1 ใบ กรณีเข้ารับตำแหน่งเลขาฯ กบข. เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2564 โดยชี้แจงว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของลูกสาว ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
คำชี้แจงดังกล่าวรับฟังได้ เนื่องจากมารดามีสิทธิที่จะยกทรัพย์สินของตนหรือซื้อทรัพย์สินให้บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ และ นางศรีกัญญา มีบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว จำนวน 2 คน เป็นบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 1 คน
การที่นางศรีกัญญา ได้ยกนาฬิกาสำหรับผู้หญิง จำนวน 5 เรือน และซื้อกระเป๋าสำหรับผู้หญิง จำนวน 1 ใบ ให้ลูกสาว จึงไม่ผิดปกติแต่อย่างใด ประกอบกับนางศรีกัญญา ได้ยกทรัพย์สินดังกล่าวให้บุตรก่อนมีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ข. ดังนั้น บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่ต้องแสดงรายการทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และนางศรีกัญญา ไม่ต้องแสดงทรัพย์สินอื่นดังกล่าว เนื่องจากเป็นของบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
จึงยังฟังไมได้ว่านางศรีกัญญา จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินนั้น
@ ประเด็นร่ำรวยผิดปกติ
ส่วน ประเด็นร่ำรวยผิดปกติ นั้น ผลการตรวจสอบข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอกรณีนางศรีกัญญา ไม่แสดงนาฬิกา จำนวน 5 เรือน และกระเป๋า จำนวน 1 ใบ ได้แก่
1.) นาฬิกา ยี่ห้อ Patek Philippe รุ่น 5711/1R ราคา ประมาณ 1,816,500 บาท
2.) นาฬิกา ยี่ห้อ Cartier ราคาประมาณ 117,530 บาท
3.) นาฬิกา ยี่ห้อ Franck Muller square ladies original ราคาประมาณ 1,336,484 บาท
4.) นาฬิกา ยี่ห้อ Rolex Datejust ราคาประมาณ 2,652,820 บาท
5.) นาฬิกา ยี่ห้อ Patek Philippe 5267/200A ราคาประมาณ 617,700 บาท
6.) กระเป๋า ยี่ห้อ Hermes Constance 18 cm Orange Epsom ราคาประมาณ
524,694 บาท
มูลค่ารวมของทรัพย์สิน จำนวน 6 รายการ ประมาณ 7,065,728 บาท
ในการตรวจสอบข้อมูลเอกสารประกอบคำชี้แจงของนางศรีกัญญา เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. พบว่า นางศรีกัญญา ได้ซื้อนาฬิกา จำนวน 2 เรือน ยี่ห้อ Patek Philippe จากนางสาว ร. รวม 6 เรือน ราคา ประมาณ 7,000 บาท
โดย นางสาว ร. ได้ขายให้นางศรีกัญญา ในราคาไม่แพง เนื่องจากเป็นลูกค้าที่ซื้อเสื้อผ้าที่ร้านบ่อย และได้ต่อรองราคาร่วมกับสินค้ารายการอื่น
สำหรับนาฬิกา จำนวน 3 เรือน นางศรีกัญญา ได้ซื้อจากร้านขายนาฬิกามือสอง ห้างมาบุญครอง ปัจจุบันไม่มีร้านดังกล่าวแล้ว ได้แก่
1.) นาฬิกา ยี่ห้อ Franck Muller รุ่น Master square 6002 MQZ REL RD 1R ราคาประมาณ 20,000 บาท
2.) นาฬิกา ยี่ห้อ Rolex รุ่น Oyster Perpetual Date Just ราคาประมาณ 20,000 บาท และ
3) นาฬิกา ยี่ห้อ Patek Philippe ราคา ประมาณ 18,000 บาท
4.) ส่วนกระเป๋า จำนวน 1 ใบ ยี่ห้อ Hermes รุ่น Constance ผู้ยื่นบัญชีฯ ได้ซื้อมาจากร้านขายกระเป๋ามือสอง ห้างมาบุญครอง ในราคา 60,000 บาท
รวมราคาทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ ประมาณ 125,000 บาท
ผลการตรวจสอบความถูกต้องและมีอยู่จริงของนาฬิกา จำนวน 5 เรือน และกระเป๋าจำนวน 1 ใบ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. พบว่า นางศรีกัญญา มีทรัพย์สินถูกต้องและมีอยู่จริงตามที่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมภาพถ่ายประกอบด้วยนาฬิกา ยี่ห้อ Patek Philippe จำนวน 3 เรือน ด้านหลังไม่ปรากฏจรุ่น, นาฬิกา ยี่ห้อ Franck Muller รุ่น Master square 6002 MQZ REL RD 1R จำนวน 1 เรือน, นาฬิกา ยี่ห้อ Rolex รุ่น Oyster Perpetual Date Just จำนวน 1 เรือน และกระเป้า ยี่ห้อ Hermes รุ่น Constance จำนวน 1 ใบ
ทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ มีสภาพเก่า ผ่านการใช้งาน มีรอยขูดข่วน
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักข่าวอิศราที่นำเสนอและข้อมูลจาก นางศรีกัญญา เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. พบว่า มีความคลาดเคลื่อนของนาฬิกา จำนวน 1 เรือน โดยสำนักข่าวอิศรานำเสนอภาพเป็นนาฬิกา ยี่ห้อ Cartier ราคาประมาณ 117,530 บาท
แต่ นางศรีกัญญา ได้ชี้แจงพร้อมนำนาฬิกามาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบว่าเป็นนาฬิกายี่ห้อ Patek Philippe ราคาประมาณ 3,000 บาท เห็นว่านาฬิกาเรือนดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนได้เนื่องจากภาพที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอนั้น ไม่ปรากฎยี่ห้อหรือรุ่นที่ชัดเจน เป็นภาพที่ผู้ยื่นบัญชีฯ สวมใส่ถ่ายภาพลงนิตยสาร Forbes เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563
พิจารณาจากข้อเท็จจริงของมูลค่าราคาทรัพย์สิน จำนวน 6 รายการ ที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอ ราคารวมประมาณ 7,065,728 บาท และมูลค่าราคาทรัพย์สินที่ นางศรีกัญญา ชี้แจงข้อเท็จจริงจำนวน 6 รายการ ราคารวมประมาณ 125,000 บาท
นางศรีกัญญา ได้ชี้แจงว่าเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินดังกล่าวเมื่อปี 2546 - 2547 จำนวน 1 รายการ และได้ซื้อมาระหว่างปี 2561 - 2563 รวม 5 รายการ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายได้ตามแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ นางศรีกัญญา ได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อปี 2556 - 2562 และได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 ระยะเวลา 8 ปี มีรายได้รวมประมาณ 54,452,113 บาท
เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่า นางศรีกัญญา มีเงินได้ที่จะซื้อทรัพย์สินดังกล่าวได้ ไม่ปรากฏว่าผู้ยื่นบัญชีฯ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า จากการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของนางศรีกัญญา กรณีเข้ารับตำแหน่ง ในประเด็นที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอข้อมูลภาพถ่ายของ นางศรีกัญญา ที่มีนาฬิกา จำนวน 5 เรือน และกระเป๋าถือ จำนวน 1 ใบ ซึ่งแต่ละรายการเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง
ปรากฎว่า นางศรีกัญญา ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ ว่าได้มาโดยซื้อสินค้ามือสองหรือซื้อต่อจากบุคคลอื่นในราคาที่ไม่แพง
จึงมีมติให้ตรวจสอบเพิ่มเติม โดยให้ตรวจสอบข้อมูลจากผู้จำหน่ายสินค้า ว่า นาฬิกาและกระเป๋าตามยี่ห้อและรุ่นในแต่ละรายการจำนวน 6 รายการ นั้น นางศรีกัญญา เป็นผู้ซื้อสินค้าจริงหรือไม่ ประการใด ในราคาเท่าใด
จากนั้น ในช่วงเดือน ม.ค.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการพิจารณารายงานผลการตรวจสอบกรณี นางศรีกัญญา อีกครั้ง
โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า จากการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของนางศรีกัญญา
กรณีเข้ารับตำแหน่ง รายการทรัพย์สินและหนี้สินถูกต้องและมีอยู่จริงตามที่แสดง
ส่วนกรณีที่นางศรีกัญญา มิได้แสดงรายการทรัพย์สินอื่น ได้แก่ นาฬิกา จำนวน 5 เรือน และกระเป๋า จำนวน 1 ใบ
พฤติการณ์ยังฟังไม่ได้ว่า เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 114 ผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ไม่ปรากฏว่า ผิดปกติ
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้แจ้งข้อมูลการถือครองทรัพย์สินซึ่งมิใช่ของแท้ หรือเป็นของเลียนแบบให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
จากข้อมูลทั้งหมด ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบ สรุปชัดๆ คือ แม้ว่า พฤติการณ์ นางศรีกัญญา ยังฟังไม่ได้ว่า เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ
แต่การแจ้งข้อมูลการถือครองทรัพย์สินของปลอมหรือเป็นของเลียนแบบ ยังต้องถูกกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นางศรีกัญญา จะถูกดำเนินการอะไรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ บ้าง?
ติดตามดูกันต่อไป
อ่านข่าวในหมวดเดียวกันประกอบ :
- เลขา กบข.ถ่ายภาพใส่นาฬิกาหรู-กระเป๋าแบรนด์เนม ไม่มีในบัญชีทรัพย์สิน-แจงของลูกสาว
- เจออีก 3 เรือน! เลขา กบข.ใส่นาฬิกาหรูออกสื่อไม่มีในบัญชีทรัพย์สิน ก่อนแจงของลูกสาววัย 25
- ลุ้นที่ประชุม กบข.ซักเลขาฯ ปมนาฬิกาหรู-เจ้าตัวตอบไลน์สมาชิก 'ของลูก’ทำธุรกิจแฟชั่นมิลาน
- ดูที่มารายได้ลูก-เอาเงินจากไหนซื้อ! เลขาฯ ป.ป.ช. สั่งตรวจสอบข่าวปม 'นาฬิกาหรู' เลขา กบข.
- ขมวด 5 คำถาม! ปมทรัพย์สิน เลขา กบข.'ลูก'ให้แม่ยืมนาฬิกาหรู 5 เรือน-กระเป๋า1ใบ จริงหรือ?
- ตามคุ้ยรายได้ลูกสาวตั้งแต่ปี 62! ป.ป.ช.สาวลึกที่มา 'นาฬิกาหรู-กระเป๋า' เลขา กบข. 7 ล.
- ส่อง LinkedIn ลูกสาวเลขา กบข. ทำงานที่ไหนบ้าง? ก่อนซื้อ 'นาฬิกาหรู-กระเป๋า' 7 ล. แม่ยืมใส่
- Crowdsourcing 'อิศรา' : เบาะแส เลขา กบข.ใส่ซ้ำ 'นาฬิกาหรู' - ข้อสังเกตราคาชุดเครื่องเพชร?
- ป.ป.ช.สรุปสำนวนคดีถุงมือยางแสนล้าน อคส.แล้ว - ปมนาฬิกาหรู เลขาฯ กบข.เร่งสอบรายได้ลูกสาว
- เป็นของก๊อบปี้! เลขา กบข.แจงคดีนาฬิกาหรู รอบใหม่-ป.ป.ช.เล็งเชิญผู้เชี่ยวชาญช่วยพิสูจน์
- น่าเชื่อเลขาฯ กบข.ใส่ของปลอม! ป.ป.ช.จ่อชงยุติเรื่องสอบคดีนาฬิกาหรู-กระเป๋าแบรนด์เนม
- ให้เทียบของปลอม-ภาพถ่าย! ป.ป.ช.สั่งสอบเพิ่มคดีนาฬิกาหรูเลขาฯ กบข.-ปมยืมลูกสาวใช้ด้วย