ลุ้นที่ประชุม กบข. 28 ธ.ค.นี้ ซักถามเลขาฯ ปม ถ่ายรูปใส่นาฬิกาหรู-กระเป๋าแบรนด์เนม ออกสื่อไม่มีในบัญชีทรัพย์สิน เผยสมาชิก ส่งไลน์ถามเจ้าตัวได้รับคำยืนยัน 'ของลูกสาว' ทำธุรกิจด้านแฟชั่นที่มิลานอิตาลี เพิ่งกลับมาทำธุระครอบครัว
แหล่งข่าวจากสำนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่าภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวข้อสังเกตการแจ้งข้อมูลบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของ นางศรีกัญญา ยาทิพย์ กรณีเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 และล่าสุดวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา กรณี นางศรีกัญญา ยาทิพย์ ระบุว่า มีทรัพย์สินอื่น จำนวน 2 รายการ คือ ชุดเพชร (แหวน สร้อยข้อมือ สร้อยคอ) 1 ชุด มูลค่า 200,000 บาท และกระเป๋า Bottega Veneta 1 ใบ มูลค่า 350,000 บาท
ขณะที่การปรากฏตัวของ นางศรีกัญญา ยาทิพย์ ต่อสาธารณะ ผ่านรูปถ่ายในเฟซบุ๊กส่วนตัว รวมไปถึงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน มีการสวมใส่เครื่องประทับราคาแพง เช่น นาฬิกาหรู กระเป๋าแบรนด์เนม อยู่บ่อยครั้ง แต่ทรัพย์สินเหล่านี้กลับไม่ปรากฏอยู่ในการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่สมาชิก กบข. ถึงที่มาของ นาฬิกาหรู กระเป๋าแบรนด์เนม เป็นอย่างมาก ว่าทรัพย์สินเหล่านี้เป็นของใคร เบื้องต้นทราบว่า มีสมาชิก กบข.บางรายได้ส่งไลน์ไปสอบถามเลขาฯ กบข. ในเรื่องดังกล่าว เลขาฯ ชี้แจงว่า เป็นของลูกสาวตามที่เป็นข่าวไป พร้อมระบุว่า ลูกสาวทำธุรกิจด้านแฟชั่น อยู่ที่มิลาน ประเทศอิตาลี ช่วงที่ผ่านมากลับมาทำธุระครอบครัว แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ต่อสาธารณะเป็นทางการ
"สมาชิก กบข.จำนวนมากกำลังจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่อาจส่งผลกระทบความน่าเชื่อถือในการบริหารงานกองทุน ที่มีสินทรัพย์เป็นล้านล้าน ซึ่งในการประชุมกรรมการ กบข. ทางออนไลน์ วันที่ 28 ธันวาคม 2564 เวลา 17.00 น. มีการลุ้นกันว่า จะมีกรรมการคนไหน กล้าที่สอบถามเรื่องนี้โดยตรงกับเลขา กบข. เป็นทางการหรือไม่" แหล่งข่าวระบุ
อนึ่ง สำหรับ กบข. เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ ไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เป็นระบบเสริมระบบบำเหน็จบำนาญเดิมมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก ณ ปี 2563 มีสินทรัพย์ในความดูแลเป็นจำนวนกว่า 1,036,939 ล้านบาท
@ คณะกรรมการ กบข.