รัฐสภาเริ่มลงมติ ร่างแก้ไข รธน. 13 ฉบับ 'ไพบูลย์' รับปากอีกรอบ ไม่แตะ ม.144 - ม.185 ยืนยันเสนอแก้ไขด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่คิดเสนออะไรที่โกงชาติ ขณะที่ 'จิรายุ' หนุนแก้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 'พิธา' ชวนเปิดประตูบานแรก โหวตปิดสวิตซ์ ส.ว. ระหว่างรอทำประชามติแก้ รธน.ทั้งฉบับ 'เสรี' ยืนยันไม่หวงอำนาจ แต่ค้านแก้ ม.272
------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2564 วันที่สองของการประชุมรัฐสภา มีระเบียบวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. รวม 13 ฉบับ แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ เสนอ 1 ฉบับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ
โดยเมื่อเวลา 16.55 น.หลังจากสมาชิกรัฐสภาอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมเริ่มลงมติด้วยกระบวนการ ขานชื่อเป็นรายบุคคลและออกเสียงลงมติร่างแก้ไขทั้ง 13 ฉบับ
@ 'ไพบูลย์'ยันอีกรอบไม่แตะ ม.144-ม.185
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 16.25 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสรุปการเสนอร่างแก้ไข รธน.ฉบับพรรคพลังประชารัฐ ว่า ร่างแก้ไขที่พรรคเสนอ ใช้หลักแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างของเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะให้การแก้ไข รธน.จึงได้นำร่างที่พูดคุยกันในกรรมาธิการมายกเป็นร่างแก้ไข 5 ประเด็น 13 มาตรา โดยปรากฏทั้งการแก้ไขเพื่อให้ครอบคลุมถึงการเพิ่มสิทธิเสรีภาพ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ระบบเลือกตั้งที่พรรคถูกกล่าวหาว่าได้ประโยชน์จาก รธน.2560 ดังนั้นเพื่อแสดงความจริงใจและจริงจัง จึงได้ปรับเป็นบัตร 2 ใบตามระบบเลือกตั้งตามแบบปี 2540 และเมื่อไปสอบถามประชาชนก็พบว่าเขาพอใจที่ได้สิทธิมากขึ้น มากกว่าบังคับให้ใช้บัตรใบเดียว ถ้าได้บัตร 3 ใบยิ่งดี แต่มันไม่มีระบบเลือกตั้งบัตร 3 ใบ ทั้งนี้ตนผิดหวัง เมื่อเห็นการอภิปรายของ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง อภิปรายอย่างกับรู้เรื่องการเลือกตั้งดีเหลือเกิน บางครั้งฟังแล้วก็ไม่สบายใจทั้งที่ตนเคยเป็น ส.ว.ที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งมาเหมือนกัน
“เรื่องบัตรเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐสนับสนุบัตร 2 ใบ ส่วนการคิดคะแนน คิดให้ชัด บัตรใบแรกผู้สมัครชอบคนไหนก็เลือก บัตรใบที่สองชอบพรรคไหนก็เลือก เมื่อประชาชนชอบพรรคไหนได้คะแนนมาแล้วคำนวณได้ ส.ส.เท่าไรก็แยกกันไป เขตเท่าไรก็แยกกันไปก็ถูกต้องแล้ว อย่าใช้วิธีบัตร 2 ใบแล้วใช้ MMP (จัดสรรปันส่วนผสม) คำนวณสัดส่วนอะไรต่างๆ ผมเคยเป็นกรรมาธิการในสมัยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ขนาดผมยังคำนวณไม่ถูกเลย เอาเข้ามายิ่งสร้างปัญหาไปใหญ่ อย่าไปคิดอะไรที่ได้แต่คิด ต้องคิดถึงการปฏิบัติด้วย” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการแก้ไขมาตรา 144 ก็เสนอโดยบริสุทธิ์ใจ เจ้าหน้าที่งบประมาณบอกมีปัญหามาก ท่านลองเป็นผู้ถูกบังคับโดย รธน.ที่เขียนดูแล้วจะรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ไม่มีใครเขาจะไปโกงอะไรอย่างนั้น ตนไม่เคยเป็นกรรมาธิการงบประมาณ แต่เคยเป็นสมัย ส.ว. เห็นกฎหมายในฐานะนักกฎหมาย ก็เห็นว่าเกินไป จึงได้เสนอแก้ให้มันถูกต้อง และไม่ได้คิดว่าจะไปโกงใคร แต่มีใครที่มาพูดอะไรกันมากมาย โดยเฉพาะเพื่อนสมาชิกซีก ส.ว. ตนเป็น ส.ว.ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริต เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม 40 ส.ว. ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เสนอเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับโกงชาติ แต่ตนจริงใจ จริงจัง เสนอด้วยความบริสุทธิ์ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ ส.ส.ในการพิจารณางบประมาณ แต่ท่านพูดเอาดีเข้าตัวมากเกินไป ฟังแล้วไม่สบายใจ แต่อย่างไรก็ต้องขอบคุณท่าน พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ที่ท่านกรุณาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่าท่านเข้าใจว่าร่างที่เสนอแก้ไข มาตรา 144 และ มาตรา 185 อาจมีปัญหาเรื่องความรู้สึกของ ส.ว. จึงอยากให้ปรับปรุง
“ผมก็รับปากที่ประชุมแล้วว่าจะแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งทำได้อยู่แล้ว และจากนี้มีทั้งชั้นกรรมาธิการ ชั้นโหวตในสภาวาระที่ 2 และ 3 หากไม่แก้ไข ท่านก็ทำให้ร่างที่มาตราที่ท่านตั้งข้อรังเกียจนั้นไม่ต้องผ่านสภาก็ได้ แต่ท่านก็บอกว่าไม่ได้ รับไม่ได้ ผมว่า ถ้าท่านดีขนาดนี้ ผมเลวขนาดนั้น มันไปกันไม่ได้หรอกครับ ดังนั้นความตั้งใจจริงของผม คือมีอะไรก็อยากจะแก้ไข ท่านเป็น ส.ว.ก็ฟังเราบ้าง แต่หากคิดว่า ส.ว.มีแต่สถานะต้องเป็นผู้มีแต่ความถูกต้อง ส.ส.มีความไม่ถูกต้อง มันจะไปกันไม่ได้ครับในอนาคต” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่า ในประเด็นสุดท้าย อยากจะเรียนว่า การอภิปรายปิดในครั้งนี้ เพื่อที่จะบอกว่าความถูกต้อง หลักการการตรวจสอบ ส.ส.เราเป็นห่วงเหมือนกัน อยากจะทำ การแกไข รธน.ก็อยากแก้ในสิ่งที่เป็นอุปสรรคให้เป็นประเทศเดินหน้า ไม่มีใครมีเจตนาร้ายต่อประเทศชาติ ดังนั้นขอกราบเรียนว่า เรามีศักดิ์มีศรี มีความรักชาติ เรามีความผูกพันกับประชาชนทั้งแผ่นดิน เรายังตั้งใจที่จะทำหน้าที่ การแก้ไข รธน.ให้ได้ความถูกต้อง ให้ได้ความยุติธรรม ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ได้มีเฉพาะซีก ส.ว.เท่านั้น ส.ส.ก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน
@ 'จิรายุหนุนแก้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
โดย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนการแก้ไขระบบเลือกตั้ง กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มี ส.ส. จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แม้หลายฝ่ายมองว่าการแก้ไขระบบเลือกตั้งจะทำให้พรรคการเมืองบางพรรคชนะเลือกตั้ง แต่ส่วนตัวมองว่าหากยังไม่ได้หลับ อย่าเพิ่งฝัน เพราะจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งปี 2550 ปี 2554 และ ปี 2560 พบว่าฝั่งของพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชาชน เป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดที่พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่ง แต่พรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายที่รวบรวมเสียงข้างมากได้ก่อน
"บัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้นปิดกั้นเสรีภาพประชาชน ทำให้เจอปัญหาบัตรเขย่งและส.ส.ปัดเศษ การเปลี่ยนให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ พรรคเล็กยังไม่ได้นอนก็อย่าคิดว่าจะฝันร้าย พรรคเล็กอาจได้คะแนนมากขึ้น และเป็นการเปิดทางเลือกให้กับประชาชน และ ผลการแข่งขันยังมาไม่ถึง ไม่มีใครได้ใครเสีย เพราะเรายังไม่รู้อนาคตเป็นอย่างไร” นายจิรายุ กล่าว
@ ‘พิธา’ชวนเปิดประตูบานแรกโหวต ปิดสวิตซ์ ส.ว.
ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนและพรรคก้าวไกลเสนอให้รัฐสภาเร่งเดินหน้าจัดทำประชามติเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งแบับ ให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้แสวงหาฉันทามติร่วมกันว่าระบบการเมืองแบบไหนที่ยอมรับที่จะอยู่ร่วมกัน แม้จะมีความคิด ความฝันหรืออุดมการณ์ไปคนละแบบ อย่างไรก็ตาม ในการลงมติเฉพาะหน้าวันนี้ จะขอเชิญชวนให้สมาชิกรัฐสภา ช่วยกันโหวตเพื่อปิดสวิตซ์ ส.ว. เปิดประตูบานแรกในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนให้ได้ หากเราไม่สามารถปิดสวิตซ์ ส.ว.ได้ การแก้ไข รธน.รอบนี้จะไม่มีความหมาย เป็นเพียงละครตบตาประชาชนฉาดใหญ่
“ผมขออวยพรผ่านไปยังผู้มีอำนาจทุกท่านที่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถเหนี่ยวรั้งเข็มนาฬิกาไว้ได้ ผมขออวยพรให้ท่านมีอายุยืนเพียงพอที่จะเห็นความพยายามของท่านล่มสลายไม่มีชิ้นดี เห็นความต้องการของท่านถูกบดขยี้ด้วยกงล้อของเวลาที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และได้มีโอกาสรับรู้กับตาตัวเองว่า ผู้คนและยุคสมัยจะตราหน้าพวกท่านว่าอย่างไรในประวัติศาสตร์ของชาติเรา” นายพิธา กล่าว
@ 'เสรี'ค้านแก้ ม.272 ปัดหวงอำนาจ ส.ว.
ด้านนาย เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ในการแก้ไข รธน.ที่มี 13 ฉบับทำให้เห็นอะไรบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ รธน. และต่างคนต่างเสนอ ความเห็นจึงมีข้อแตกต่างตามไปด้วย เกิดอาการความเห็นไม่ตรงกัน และบานปลายไปสู่สาธารณชนข้างนอก หากประเด็นแห่งข้อเสนอประชาชนไม่เอาหรือไม่เห็นชอบก็กลายเป็นจุดด่างดำของ รธน. และการรับหลักการในวาระที่ 1 ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน ดังนั้นข้อพิจารณาเหล่านี้ ส.ว.จึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งของการตัดสินใจว่าร่าง รธน.ที่เสนอมานี้จะผ่านวาระที่ 1 หรือไม่ และเราจะพิจารณากันด้วยเหตุผล ดูว่าข้อเสนอขอแก้ไขได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร
“นี่คือส่วนสำคัญยิ่งว่าวุฒิสภาชุดนี้ ชุดที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาชน ชุดที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นจุดด่างพร้อยของการได้มาซึ่ง ส.ว. เมื่อวานเรานั่งฟัง แต่เราอดทน ส.ส.บางท่านพูดด้วยเหตุผล มีหลักเกณฑ์ น่าเคารพ น่าเชื่อถือ แต่ ส.ส.บางคนยังพูดอยู่ในเนื้อหาของประเด็นที่พิจารณา แต่แฝงไปด้วยถ้อยคำที่กระแนะกระแหน เสียดสี กล่าวหา ให้ร้าย เราก็ทนฟัง เพราะถือว่าอยู่ในกติกาที่เป็นประเด็นในการอภิปราย แต่เราก็ตั้งใจว่าจะต้องตัดสินปัญหาด้วยความถูกต้องเหมาะสม ไม่อคติ ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวหรือความเกลียดชังของผู้กล่าวถ้อยคำให้ร้ายพวกเรามาตัดสินปัญหาเหล่านี้” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวย้ำว่า ส.ว.ชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ถูกกล่าวหามาตลอดว่าสืบทอดอำนาจ มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นความจริงที่แต่งตั้ง ส.ว.ชุดนี้ เพราะมาจาก รธน.ฉบับที่ท่านตำหนิติติงตลอดเวลาว่าเป็นฉบับเผด็จการ แต่เสียงประชาชนทำประชามติมาให้ คสช.ทำหน้าที่เลือก ส.ว. ทำให้เราก็มาตาม รธน.อย่างไรก็ตาม ตนมีโอกาสเข้ามาเพราะ คสช.จริงๆ แต่เรื่องน่าจะจบลงไปแล้ว หลังจากเราทำหน้าที่แล้ว มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว
นายเสรี กล่าวอีกว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นหัวหน้า คสช. แล้วมาตั้ง ส.ว. ไม่ได้เกิดจากการกำหนดได้เลย ข้อด่างพร้อยที่ว่าจะตัดอำนาจ ส.ว.ไม่ให้เลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่เกิดภายหลัง หลังจากเลือกตั้ง ส.ส.ไปแล้ว และการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นข้อตกลงของ ส.ส. ที่ไปรวบรวมเสียงของสมาชิกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ขอเรียนว่า การยกเลิกมาตรา 272 ไม่ได้มีเหตุผลอะไรเลย แต่สิ่งสำคัญก็คือ มาตรา 272 ที่พูดกันอยู่ พูดกันแต่วรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้พูดว่า การที่ ส.ว.เข้ามาในตำแหน่ง เกิดจากวิกฤตปัญหาบ้านเมือง ที่ทำให้เกิดสภาวะวิกฤตไม่สามารถเลือกหรือหานายกรัฐมนตรีได้ในขณะนั้น ฉะนั้น รธน.จึงได้ออกแบบให้ ส.ว.เข้ามาทำหน้าที่ในการแก้ปัญหาในวรรค 2 ของมาตรรา 272 นี่คือหน้าที่ของ ส.ว.มาทำหน้าที่ว่า หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้แจ้งไว้ ให้รัฐสภาแก้ปัญหาวิกฤต คือยกเลิกเงื่อนไขเหล่านี้ แล้วให้บุคคลอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ใช่ว่าเราให้ความสำคัญว่าบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็น ส.ส.ก็มาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่มันเกิดจากวิกฤตที่หานายกรัฐมนตรีไม่ได้ เขาก็เลยเขียนให้ ส.ว.มาทำหน้าที่สำคัญตรงนี้
“สิ่งที่เราบอกว่าไม่อยากให้แก้ ไม่ใช่เราหวงอำนาจ หรือสืบทอดอำนาจ แต่ ส.ว.ทุกคนรู้ภารกิจหน้าที่ว่าเข้ามาทำหน้าที่ในห้วง 5 ปีนี้ เพราะ รธน.มาตรา 272 เขียนเอาไว้ ให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ ฉะนั้นถ้าหากเราไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ต้องการปิดสวิตซ์ ส.ว. เราก็มีเหตุผลว่า สิ่งที่เราอยู่ เราอยู่ด้วยด้วยความรับผิดชอบ อยู่ด้วยภารกิจที่ รธน.เขียนไว้ เราจึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการตัด” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สำหรับร่างแก้ไข รธน.ของพรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอการแก้ไขมาในฉบับเดียวกัน ต่างจากพรรคอื่นที่แยกประเด็นมา เราเข้าใจข้อเสนอในการแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 ที่ต้องการให้การทำหน้าที่ของ ส.ส.ง่ายขึ้น ไม่อยู่ในขอบเขตกฎหมายที่คอยแต่เอาผิดเอาโทษจนทำหน้าที ไม่ได้ แต่ก็เกิดประเด็นว่าจะเปิดช่องให้ ส.ส.หรือ ส.ว. เข้าไปแทรกแซงเจ้าหน้าที่ เข้าไปใช้งบประมาณได้ ประเด็นเหล่านี้สาธารณชนไม่ยอมรับ เป็นประเด็นสำคัญ วุฒิสภาจึงต้องไตร่ตรองให้หนัก หากร่างนี้ผ่านไป จะกระทบอะไรกับประชาชน ส่วนของพรรคอื่น หากหันหน้ามาคุยกัน ไม่กระแนะกระแหน ให้เกียรติกัน ก็น่าจะเดินไปด้วยกันได้ในการแก้ไข รธน.ที่เห็นร่วมกัน ดังนั้นข้อเสนอของทุกพรรคที่เสนอมา ต้องกราบเรียนว่า เราจะพิจารณาด้วยเหตุผล อันไหนสมควรผ่านก็จะผ่าน อันไหนไม่สมควรจะผ่าน เดี๋ยวไปนั่ง ไปตกลง ไปหาทางออกร่วมกัน ตามเจตนารมณ์ของ รธน.ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 256 ต่อไป
ข่าวประกอบ
แก้รัฐธรรมนูญ : 'ไพบูลย์'รับปากไม่แตะ ม.144-ม.185 ปชป.ย้ำพร้อมยกมือหนุนทุกร่าง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/