ที่ประชุมรัฐสภา เริ่มอภิปรายร่างแก้ไข รธน. 13 ฉบับ ‘ไพบูลย์’ รับปากกลางสภา ไม่แก้ ม.144 - ม.185 ‘สมพงษ์’ แจง 4 ร่างแก้ รธน.ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ด้าน ภท.ชงแก้ รธน.กำหนดหน้าที่รัฐแจกเงินสดคนยากจน ขณะที่ 'จุรินทร์' ลั่น ปชป.พร้อมยกมือหนุนการแก้ไขทั้ง 13 ร่าง
---------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 เวลา 09.30 น. ที่ประชุมรัฐสภา มีระเบียบวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. รวม 13 ฉบับ แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ เสนอ 1 ฉบับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ
@ ‘ไพบูลย์’ รับปากกลางสภา ไม่แก้ ม.144 - ม.185
เวลา 10.55 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างแก้ไข รธน.ของพรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ ระบุว่า ร่างแก้ไข รธน.ฉบับนี้ลงนามโดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 110 คน โดยร่าง รธน.ที่เสนอมานี้ เพื่อแสดงถึงความจริงใจและจริงจังของพรรค ในการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อให้เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มักถูกกล่าวหาว่าร่วมกันขัดขวางการแก้ไข รธน. เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่จริง
นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับร่างแก้ไข รธน. มี 5 ประเด็น 13 มาตรา ได้แก่ 1.การแก้ไขเพื่อเพิ่มการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน อาทิ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การประกันตัว การช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐในการฟ้องหน่วยงานรัฐ 2.การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้แก่ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน พรรคใดที่ส่ง ส.ส.เขตไม่น้อยกว่า 100 คน ให้มีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ พรรคใดจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องได้คะแนนบัญชีรายชื่อไม่ต่ำกว่า 1% ป้องกันปัญหาการเกิดขึ้นของ ส.ส.ปัดเศษ
“ระบบนี้ได้มีการจัดการเลือกตั้งในไทยมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2544 ประชาชนมีความคุ้นเคย พอใจในการใช้สิทธิเลือกตั้งบัตร 2 ใบมากกว่า ดังนั้นเพื่อคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน จึงเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งตาม รธน.ปี 2540” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็น 2 และ 3 เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 144 ตัดบทลงโทษ ส.ส -ส.ว.และ กมธ.ที่แทรกแซงการแปรญัตติงบประมาณไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม และมาตรา 185 เรื่องการยกเลิกการห้าม ส.ส.-ส.ว.เข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการ ทั้ง 2 ประเด็นนี้ ส.ว.มีความเห็นทักท้วงจะทำให้หลักการตรวจสอบการพิจารณากฎหมายงบประมาณเสียสาระสำคัญของการตรวจสอบไป และได้รับปากกับ ส.ว.เหล่านั้นว่า หากร่าง รธน.รับหลักการในวาระ 1 ในชั้นการพิจารณาวาระ 2 ชั้นกรรมาธิการ ตนและพรรคพลังประชารัฐ จะเสนอแก้ไข มาตรา 144 ให้คงหลักการเข้มข้นตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไว้ตามเดิม เช่นเดียวกับมาตรา 185 ก็จะผลักดันให้คงหลักการไว้ตามเดิม แต่อาจจะเพิ่มเติมให้มีขอบเขตชัดเจน ให้ยกเว้นกรณี ส.ส.-ส.ว.ต้องไปติดต่อหน่วยงานรัฐ ข้าราชการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน อาจจะขอให้ว่าไม่ถือเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการ
นายไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนประเด็นที่ 5 คือการเสนอให้ยกเลิกมาตรา 270 ขอเปลี่ยนแปลงอำนาจวุฒิสภาในการเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ มาเป็นให้อำนาจ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันติดตาม เสนอแนะเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เรื่องนี้ ส.ว.เป็นผู้เสนอเอง อยากให้ ส.ส.มาร่วมติดตามการปฏิรูปประเทศ
@ ‘สมพงษ์’ แจง 4 ร่างแก้ รธน.ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ด้าน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้แจงหลักการและเหตุผลร่างแก้ไข รธน. 4 ฉบับ ว่า ร่างที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยเพิ่มความเป็นวรรค 5 ของมาตรา 25 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 เพิ่มสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมเป็นมาตรา 29 / 1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 45 และมาตรา 47 เพิ่มสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นมาตรา 49 / 1 และเพิ่มอำนาจของคณะกรรมาธิการที่จะเรียกเอกสารหรือเรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129
ร่างที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 91 และมาตรา 92 และยกเลิกมาตรา 93 และมาตรา 94
ร่างที่ 3 (1) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี และ (2) ยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรี
และร่างที่ 4 แก้ไขเพิ่มเติม (1) หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ โดยยกเลิกมาตรา 65 เกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (2) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 152 และมาตรา 162 โดยตัดคำว่ายุทธศาสตร์ชาติออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกมาตรา 65 (3) ยกเลิกมาตรา 270 มาตรา 271 และมาตรา 275 เพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกมาตรา 65 และเป็นการยกเลิกอำนาจของวุฒิสภาบางเรื่อง และ (4) ยกเลิกมาตรา 279
“การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับข้างต้นนั้น สืบเนื่องจากการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการเพิ่มหมวด 15/1 ไม่ได้รับการบรรจุ จนทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะฝ่ายกฎหมายรัฐสภาอ้างว่าติดขัดข้อกฎหมาย ดังนั้นเพื่อหาทางให้ประเทศแม้จะมีเพียงบางส่วน ก็จำเป็นต้องทำ ผมจึงหวังว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 4 ฉบับจะได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมของรัฐสภาต่อไป” นายสมพงษ์ กล่าว
@ ภท.ชงแก้ รธน.กำหนดหน้าที่รัฐให้เงินสดคนยากจน
นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เสนอร่างแก้ไข รธน. 3 ฉบับ ได้แก่ การแก้ไข มาตรา 55 เพิ่มมาตรา 55/1 ให้ประชาชนมีรายได้พื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐจัดให้ประชาชนมีรายได้ถ้วนหน้า ให้เงินสดกับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 2,763 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็นการแก้ปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง
“รัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยแจกบัตรคนจน แต่ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนจะทำอย่างไร รวมถึงในอดีตหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ จบปริญญาตรีได้เงินเดือนขั้นต่ำ 18,000 บาท แต่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง พรรคภูมิใจไทยเห็นว่ามาตรการยูบีไอคือการให้เงินสดแก่ประชาชน หลักประกันรายได้ถ้วนหน้าแก่ประชากรผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าเส้นความยากจน น่าจะแก้ปัญหายากจนได้อย่างแท้จริง” นายศุภชัย กล่าว
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า สำหรับหลักประกันถ้วนหน้า รักษาโรคในอดีตถูกวิจารณ์ว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน เกิดขึ้นไม่ได้ แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นจริงและทำได้ และเห็นว่าสมควรทำเรื่องนี้โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐช่วยเหลือเหมือน 30 บาทรักษาทุกโรค ส่วนร่างแก้ไข รธน.ฉบับที่ 2 คือ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ที่เห็นว่าการกำหนดเวลา 20 ปีไม่เหมาะสม จึงสมควรแก้มาตรา 65 ให้ยุทธศาสตร์ชาติแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ และร่างแก้ไข รธน.ฉบับที่ 3 ซึ่งมีหลักการเหมือนพรรคประชาธิปัตย์ คือการแก้ไขมาตรา 159 ที่มานายกรัฐมนตรี และยกเลิกมาตรา 272 การให้อำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
@ ปชป.พร้อมยกมือหนุนทั้ง 13 ร่าง
ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลในภาพรวมในการเสอนญัตติแก้ไข รธน.ของพรรค รวม 6 ฉบับ ว่า ร่างที่ 1 นั้น เป็นการแก้ไขที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะถึงสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยง่าย สะดวก รวดเร็ว สิทธิการได้รับช่วยเหลือทางคดีจากทนายความและการได้รับการประกันตัว รวมทั้งขยายสิทธิชุมชน ร่างที่ 2 เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจสู่การปกครองท้องถิ่น โดยผู้บริหารหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบจ. , เทศบาล อบต. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเท่านั้น จะมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม เช่นให้สมาชิกสภาจังหวัดไปเลือกนายก อบจ. แทนประชาชนไม่ได้ เป็นต้น
ร่างที่ 3 ก็คือ เป็นเรื่องของการแก้ไขในเรื่องการตรวจสอบการทุจริตของคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น หากพบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดประพฤติมิชอบ จะมีการเข้าชื่อยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งไปให้ประธานศาลฎีกาตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระได้
ร่างที่ 4 คือการแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยวิธีการแก้ไข รธน. ซึ่งปัจจุบันกำหนดขั้นตอน เงื่อนไขไว้ซับซ้อนมากมาย จนเกือบจะเรียกว่าแก้ไขไม่ได้เลย และสุดท้ายอาจจะนำไปเป็นเงื่อนไขในการฉีก รธน.ต่อไปได้ในอนาคต เป็นสิ่งที่เชื่อว่าไม่มีใครประสงค์จะให้เกิดขึ้น ทั้งนี้การแก้ไขนั้นกำหนดไว้แต่เพียงว่าใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง หรือเกินกว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภาแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกหลายประการ
ร่างที่ 5 เป็นเรื่องของการแก้ไขระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว เป็นบัตร 2 ใบ เหตุผลมิใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใด แต่เพื่อให้ประชาชนได้มีเสรีภาพในการเลือก ส.ส. มาก และร่างที่ 6 ที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในประเด็นว่า ควรจะปิดสวิตช์ ส.ว.หรือไม่ จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อเรื่องนี้ก็คือ พรรคยังเห็ฯว่า ส.ว.มีความจำเป็น และประเทศไทยควรเป็นระบบรัฐสภาแบบ 2 สภา ไม่ใช่สภาเดียว แต่เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงควรให้มีอำนาจจำกัดเฉพาะการทำหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายและการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น ไม่ควรมีอำนาจเลยไปถึงการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
“ประชาธิปัตย์จึงมีมติสนับสนุนทั้ง 13 ร่าง เพราะมีหลักการใกล้เคียงกันกับร่างของพรรค ส่วนประเด็นรายละเอียดที่ยังเห็นแย้งก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ในชั้นแปรญัตติ และขอย้ำว่าการลงคะแนนเห็นชอบกับทั้ง 13 ร่าง ไม่ใช่เรื่องการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่เป็นการแสวงหาความร่วมมือและความเห็นพ้องโดยไม่ขัดจุดยืน เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้จริง ตามจุดยืนที่พรรคประชาธิปัตย์ได้กำหนดไว้” นายจุรินทร์ กล่าว
@ ฝ่ายค้านคาใจไม่บรรจุร่างแก้ ม.256
ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ซักถามถึงเหตุผลที่ไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่าง รธน.ฉบับใหม่ เนื่องจากฝ่ายกฎหมายรัฐสภาเห็นว่า ญัตติดังกล่าวเป็นการยกเลิก รธน.ฉบับปัจจุบัน ทั้งนี้ นพ.ชลน่านเห็นว่า ร่างที่เสนอนั้นไม่ใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา ขอให้ทบทวนความเห็นและบรรจุร่างแก้ไข รธน. มาตรา 256 หากรัฐสภาเห็นชอบก็นำไปสู่การจัดทำประชามติ โดย รธน.ปี 2560 ยังไม่ถูกยกเลิก อย่างไรก็ตาม การไม่บรรจุญัตติ เท่ากับห้ามแก้ รธน.ฉบับใหม่โดยสิ้นเชิง จึงไม่อยากให้มีการตีความเกินคำวินิจฉัย
ด้านนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ยังมีร่างแก้ไข รธน. อีกฉบับ ที่อยู่ระหว่างการล่ารายชื่อของประชาชนจากโครงการขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ ที่มี 40,000 กว่ารายชื่อและใกล้ครบ 50,000 รายชื่อแล้ว จึงอยากถามประธานรัฐสภาว่า หากภาคประชาชนล่ารายชื่อได้ครบตามจำนวน โดยที่การพิจารณาแก้ไข รธน.ยังไม่จบวาระ 3 ในส่วนร่างแก้ไขของภาคประชาชนจะถูกพิจารณาหรือไม่อย่างไร
@ ‘ชวน’ยกคำวินิจฉัยศาลแจง ย้ำทำประชามติก่อน จึงเสนอแก้ไขได้
ต่อมา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า กระบวนการพิจารณาญัตติมีเจ้าหน้าที่รัฐสภาดูแลอยู่แล้ว ยกเว้นเรื่องสำคัญที่จะมีที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายรัฐสภามาช่วยพิจารณา กรณีญัตติของพรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขมาตรา 256 เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่า บรรจุไม่ได้ จึงได้ส่งให้ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายรัฐสภามาช่วยพิจารณา และมีความเห็นตรงกันว่าบรรจุไม่ได้ จากนั้นจึงส่งเรื่องมาให้ตนพิจารณา ตนก็พิจารณาด้วยความรอบคอบ เหตุที่ไม่บรรจุญัตติดังกล่าว เพราะมีมาตรา 15/1 เรื่องการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ จากการตรวจดูพบว่า หลักการและเหตุผลของญัตติ มีสาระสำคัญเหมือนร่าง รธน. ฉบับที่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไปแล้ว ที่ให้ไปทำประชามติก่อนว่าประชาชนประสงค์ให้มี รธน.ฉบับใหม่หรือไม่ ดังนั้นจึงมีความเห็นไม่บรรจุ ส่วนร่างแก้ไข รธน. ภาคประชาชน ถ้าส่งมาเมื่อใดก็จะพิจารณาและบรรจุให้ทันที ไม่มีลับลมคมใน ถ้าไปท้าทายคำวินิจฉัยด้วยการบรรจุญัตติก็เท่ากับตนทำผิดรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่า 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครมาสั่งประธานได้ นายกรัฐมนตรีไม่เคยมายุ่ง ขอให้มั่นใจว่า การวินิจฉัยเป็นไปด้วยความสุจริต ยึดมั่นกฎหมาย ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ
“ถ้าผมบรรจุร่างแก้ไขมาตรา 256 เท่ากับผมไม่ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีความผูกพันทุกองค์กร และแน่นอนว่าผมจะต้องทำผิดศาลรัฐธรรมนูญแน่ ขอให้เชื่อว่าผมตัดสินโดยยึดความถูกต้องเป็นหลัก” นายชวน กล่าว
ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอยืนยันว่าฝ่ายค้านไม่มีใครคิดแต่ต้นว่า ประธานรัฐสภาจะวินิจฉัยโดยมีอคติ แต่เชื่อแต่ต้นว่าได้ดำเนินการโดยยึดตามข้อปฏิบัติต่างๆ แต่เราเชื่อว่าประธานรัฐสภาอาจวินิจฉัยผิดโดยบริสุทธิ์ใจ ทั้งนี้ เมื่อวินิจฉัยว่าไม่บรรจุร่างแก้ไข มาตรา 256 สถานะของร่างแก้ไขฉบับนี้จะเป็นอย่างไร ถือว่าตกหรือไม่ตกอย่างไร และถ้าไม่ตกจะเดินอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านเห็นว่าการยื่นร่างแก้ไขมาตรานี้ เพราะหวังจะให้เป็นต้นเรื่องในการทำประชามติ
ทำให้ นายชวน ชี้แจงกลับว่า ได้มีหารืออย่างไม่เป็นทางการว่ากระบวนการลงประชาติต้องทำอย่างไร พบว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรา 9 ที่มีการแก้ไข มีกระบวนการเปิดช่องไว้ ประกอบกับข้อสังเกต กมธ.เห็นว่าไม่สามารถเปิดประชุมร่วมรัฐสภาได้ อาจจะต้องประชุมทีละสภา เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันต่อไป เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป และเห็นว่าต้องหารือกันทุกฝ่าย ต้องปฏิบัติเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่คำวินิจฉัยไม่เปลี่ยนแปลง ต้องได้รับเสียงความเห็นชอบประชามติจากประชาชนก่อน ถึงจะเสนอกฎหมายนี้ได้ เป็นสิ่งที่ต้องถือปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ เมื่อ เวลา 10.45 น. นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ในการอภิปรายครั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน และ ฝ่ายรัฐบาล จะได้เวลาฝ่ายละ 6 ชั่วโมง โดยการอภิปรายจะสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 16.00 น.ของวันที่ 24 มิ.ย.2564 เพื่อเข้าสู่กระบวนการลงมติทั้งร่างแก้ไขทั้ง 13 ฉบับ ต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage