"...จากการตรวจสอบพบว่า ครู และบุคลากร กศน. ต้นแบบที่ได้รับการอบรมยังไม่สามารถเป็นวิทยากรแกนนำได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยครู และบุคลากร กศน. ต้นแบบที่สัมภาษณ์จำนวน 18 คน มีเพียง 6 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33ของครู และบุคลากร กศน. ที่สัมภาษณ์ ที่สามารถขยายผลโดยถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบ Communicative Language Teaching (CLT) ได้ ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 80 ขณะที่ครู และบุคลากร กศน. จำนวน 12คน คิดเป็นร้อยละ 66.67ของครู และบุคลากร กศน. ที่สัมภาษณ์ยังไม่ได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติการขยายผล..."
..............................
การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาตามโครงการพัฒนาทักษะครู ต้นแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และการพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาตามโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการ และสารสนเทศทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ของ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดการเรียนการสอนหลายประการที่ทำให้การดำเนินงานโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด พร้อมมีการแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริหารหน่วยงานรีบหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานจัดการเรียนการสอนของ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ระบุว่า สำนักงาน กศน. เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีภารกิจสำคัญในการจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสมทุกช่วงวัย รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และประสานภาคีเครือข่าย ในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมของศูนย์การเรียนและแหล่งการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเลือกตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 -2562 ภายใต้แผนงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ยุทธศาสตร์ที่ 3ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค ตลอดจนข้อจำกัด เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงและการพัฒนางานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบมีประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกตสำคัญ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาตามโครงการพัฒนาทักษะครู กศน. ต้นแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
โครงการพัฒนาทักษะครู กศน. ต้นแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เป็นโครงการที่สำคัญตามแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
จากการตรวจสอบพบว่า ครู และบุคลากร กศน. ต้นแบบที่ได้รับการอบรมยังไม่สามารถเป็นวิทยากรแกนนำได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
โดยครู และบุคลากร กศน. ต้นแบบที่สัมภาษณ์จำนวน 18 คน มีเพียง 6 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33ของครู และบุคลากร กศน. ที่สัมภาษณ์ ที่สามารถขยายผลโดยถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบ Communicative Language Teaching (CLT) ได้ ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 80
ขณะที่ครู และบุคลากร กศน. จำนวน 12คน คิดเป็นร้อยละ 66.67ของครู และบุคลากร กศน. ที่สัมภาษณ์ยังไม่ได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติการขยายผล
นอกจากนี้ ครู และบุคลากร กศน. ต้นแบบยังไม่ได้นำเทคนิคการสอนตามแนวทางภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่ได้รับการอบรมมาใช้ในการจัดทำแผนการเรียนรู้สาระวิชาภาษาอังกฤษ มีเพียงการนำความรู้จากการอบรมมาใช้ก่อนการนำเข้าสู่บทเรียนการที่ครู และบุคลากร กศน. ต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการไม่สามารถเป็นวิทยากรแกนนำในการขยายผลหรือนำความรู้มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ส่งผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของครู และบุคลากร กศน. รวมทั้งทำให้นักศึกษากศน.ขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับที่สื่อสารได้โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ สำนักงาน กศน. ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินศักยภาพของผู้เข้ารับการอบรมในการเป็นวิทยากรแกนนำ ไม่มีแนวทาง การปฏิบัติการขยายผล หรือการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และขาดการนิเทศ ติดตามครู และบุคลากร กศน. ที่ผ่านการพัฒนา รวมทั้งการรายงานผลการดำเนินงานในเชิงคุณภาพ
ข้อตรวจพบที่ 2 การปรับปรุงระบบการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนด
การดำเนินงานตามแนวทางการปรับปรุงระบบการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล เพื่อให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีทักษะ ในการคิดวิเคราะห์ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงตอบสนองความต้องการของคนทุกช่วงวัย ภายใต้ ยุทธศาสตร์ที่ 3ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบสภาพปัญหาสำคัญ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 2.1 การดำเนินงานโครงการภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้านอาชีพไม่เป็นไป ตามเป้าหมายที่กำหนด
สำนักงาน กศน. ได้จัดทำโครงการภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้านอาชีพ โดยให้สถานศึกษาจัดอบรม ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้านอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ จากการตรวจสอบ โดยการสัมภาษณ์ประชาชนที่เข้ารับการอบรมในสถานศึกษาที่สุ่มตรวจสอบ 5 แห่งจำนวน 100 คน พบว่า ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ในแต่ละสถานศึกษา ได้นำความรู้ภาษาอังกฤษที่ได้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพหรือพัฒนางาน ต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 80โดยมีประชาชนที่เข้ารับการอบรมและได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ในการประกอบอาชีพและพัฒนางานได้ ใน กศน. อำเภอ 5 แห่งที่สุ่มตรวจสอบ คิดเป็นร้อยละ 26.67 16.00 55.00 25.00 และ 65.00ของประชาชนที่สัมภาษณ์ ตามลำดับ การที่ประชาชนที่เข้ารับการอบรมไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพหรือพัฒนางาน ส่งผลให้ การพัฒนาศักยภาพของประชาชนยังไม่เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ที่ต้องการให้มีการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเป็นโอกาสต่อการพัฒนางานหรืออาชีพในระดับที่สูงขึ้น
โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ การกำหนดหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้านอาชีพตามแนวทางการดำเนินงานขึ้นอยู่กับดุลพินิจ ของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติและยังไม่มีการสำรวจความต้องการของประชาชน ทำให้หลักสูตรที่จัดอบรม มีความหลากหลายและไม่สอดคล้องกับการนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งยังไม่มีหลักเกณฑ์ การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการระบุอาชีพและพื้นฐานภาษาอังกฤษให้ตรงกับหลักสูตรที่จัดอบรม นอกจากนี้การติดตามผลการดำเนินงานมีเพียงการติดตามผลโครงการในภาพรวม แต่ยังไม่มีการรายงานผล ด้านการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ทำให้ขาดข้อมูลในการประเมินผลสัมฤทธิ์เชิงคุณภาพ และทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค เพื่อการปรับปรุงแก้ไขหรือกำหนดแนวทางการดำเนินงาน
ข้อตรวจพบที่ 2.2 การดำเนินงานโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
สำนักงาน กศน. ได้กำหนดภารกิจในการเพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชน เพื่อเข้าสู่การแข่งขันของประเทศผ่านการดำเนินงานโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน โดยให้สถานศึกษาเป็นฐาน การจัดการศึกษาต่อเนื่องด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกอบรมอาชีพ จากการตรวจสอบ โดยการสัมภาษณ์ ประชาชนที่ผ่านการอบรม จำนวน 200คน ปรากฏว่า มีเพียง 37คน คิดเป็นร้อยละ 18.50ของประชาชน ที่สัมภาษณ์นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ขณะที่ประชาชนจำนวน 163คน หรือคิดเป็นร้อยละ 81.50ของประชาชนที่สัมภาษณ์ยังไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
จากการที่ผู้เข้าอบรมฝึกอาชีพยังไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์จึงส่งผลต่อการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพเพื่อมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังส่งผลต่อความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
ในการดำเนินงานโครงการตลอดจนการบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพผู้เรียนเพื่อเข้าสู่การแข่งขันของประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน มีสาเหตุสำคัญ คือ การคัดเลือกประชาชนเพื่อเข้ารับการอบรมในแต่ละหลักสูตรยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจน ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ อาชีพ เป้าหมายในการอบรม และความสามารถในการนำความรู้ไปประกอบอาชีพเสริมหรือต่อยอดอาชีพ นอกจากนี้ประชาชนที่ผ่านการอบรมไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ และวัตถุดิบที่เหมาะสมไม่มีช่องทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้าหรือช่องทางการประกอบอาชีพตามที่ได้รับการอบรม ทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจในการนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพ
ข้อตรวจพบที่ 2.3 การดำเนินงานกิจกรรมจัดสร้างแหล่งการเรียนรู้ในระดับตำบลไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
สำนักงาน กศน.ได้จัดทำกิจกรรมจัดสร้างแหล่งการเรียนรู้ในระดับตำบล โดยการพัฒนา กศน.ตำบล/แขวงให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพและทั่วถึงสำหรับประชาชน
จากการตรวจสอบ พบว่า การดำเนินกิจกรรมในการเป็นแหล่งการเรียนรู้ในระดับตำบลไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยกศน. ตำบล ที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 15 แห่ง ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ครบถ้วนตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะการเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารของชุมชน โดยยังไม่สามารถพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศระดับชุมชน ไม่มีการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพ กศน.ตำบล และงานนำเสนอความรู้ข้อมูลข่าวสารสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และการเป็นศูนย์สร้างโอกาสการเรียนรู้โดยยังไม่มีการจัดทำเว็บไซต์ที่เป็นของ กศน.ตำบล
การที่ กศน. ตำบล ยังไม่สามารถดำเนินการเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารของชุมชน และศูนย์สร้างโอกาสการเรียนรู้ ส่งผลให้ กศน.ตำบลไม่สามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้ประชาชนได้รับการศึกษาตลอดชีวิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน กศน.ตำบลและสูญเสียโอกาสการเข้าถึงบริการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่หลากหลาย และสอดคล้องกับความต้องการ โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ ครู กศน.ตำบลที่รับผิดชอบการดำเนินงานของ กศน.ตำบลยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนา กศน. ตำบล ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ แนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานกศน.ตำบล พ.ศ. 2554 อาจไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และสำนักงาน กศน. ไม่ได้กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการติดตามและรายงานผลการดำเนินการของ กศน.ตำบล ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
ข้อตรวจพบที่ 2.4 การส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนสอนแบบสะเต็มศึกษา (STEM Education)ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
ตามนโยบายปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพ โดยส่งเสริมการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ ภายใต้แนวคิดบูรณาการการศึกษาที่เรียกว่า สะเต็มศึกษา (STEM Education)
จากการตรวจสอบพบว่า การส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนสอนแบบสะเต็มศึกษา ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดกล่าวคือ
1. การดำเนินการส่งเสริมการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษาด้วยการอบรมครูทางไกล ตามโครงการบูรณาการสะเต็มศึกษา ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากการสัมภาษณ์ ครู กศน.ตำบลที่เข้ารับการอบรม จำนวน 93 คน พบว่า ครู กศน.ตำบลส่วนใหญ่จำนวน 86คน คิดเป็นร้อยละ 92.47 ของครู กศน. ตำบลที่สัมภาษณ์ยังไม่สามารถบูรณาการการศึกษาโดยจัดกิจกรรมหรือจัดการเรียนการสอนตามแนวทางสะเต็มศึกษาได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
2. การดำเนินการส่งเสริมการเรียนการสอนแบบสะเต็มของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จากการตรวจสอบการดำเนินงานส่งเสริมการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษาของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จำนวน 5 แห่ง พบว่า มีศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาเพียง 2แห่ง ที่ได้ดำเนินการจัดโครงการหรือกิจกรรม เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษาด้วยการจัดอบรมให้แก่ครู กศน. ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ ครู กศน. จำนวน 30 คน ที่เข้ารับการอบรมในโครงการหรือกิจกรรมซึ่งจัดโดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 2 แห่ง ปรากฏว่า ครู กศน.ตำบล จำนวน 26คน คิดเป็นร้อยละ 86.67ของครูที่เข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรม ยังไม่สามารถ บูรณาการการศึกษาโดยจัดกิจกรรมหรือจัดการเรียนการสอนตามแนวทางสะเต็มศึกษาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้ การส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนสอนแบบสะเต็มศึกษา (STEM Education)ที่ยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ที่กำหนดส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษา กศน. เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุ เป้าหมาย/สาระวิชาและการนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพหรือการดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ ครูผู้สอนที่เข้ารับการอบรมยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน แบบสะเต็มศึกษา และขาดความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการจัดกิจกรรมหรือการจัดการเรียนการสอน แบบสะเต็มศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทการเรียนการสอนของ กศน.รวมถึงครู กศน.ตำบล ส่วนใหญ่ไม่ได้จบการศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้ง สำนักงาน กศน. ยังไม่มีหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้กระบวนการ “สะเต็มศึกษา” (STEM Education) ให้เป็นไปตามนโยบาย และจุดเน้นที่กำหนด
ข้อตรวจพบที่ 3 การพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาตามโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการ และสารสนเทศทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยไม่เป็นไปตาม เป้าหมายที่กำหนด
การดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา เพื่อให้มีฐานข้อมูลรายบุคคล ด้านการศึกษาของประเทศที่เป็นปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน สำนักงาน กศน. ได้จัดทำโครงการพัฒนา ระบบบริหารจัดการและสารสนเทศทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จากการตรวจสอบ พบว่า ระบบบริหารจัดการและสารสนเทศทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยไม่สามารถใช้งานตามเป้าหมาย โดยมีการเปิดให้ใช้งานยังไม่ครบถ้วนทุกระบบ โดยมีระบบที่เปิดให้ใช้งานเพียง 2ระบบ คือระบบบริหารจัดการ ข้อมูลนักศึกษาแบบออนไลน์และระบบสารสนเทศทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยแบบออนไลน์ สำหรับระบบที่ยังไม่เปิดให้ใช้งาน ได้แก่
(1) ระบบบริหารจัดการข้อมูลครูและบุคลากรทางการศึกษาแบบออนไลน์ และ (2) ระบบบริหารจัดการข้อมูลหน่วยงานและสถานศึกษา เนื่องจากทั้ง 2 ระบบ ยังไม่มีการนำข้อมูล เข้าสู่ระบบ นอกจากนี้ระบบบริหารจัดการและสารสนเทศทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่เปิดให้ใช้งานทั้ง 2 ระบบ ยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยพบว่าข้อมูลจำนวนรายวิชาของนักศึกษา ที่กำลังจะจบการศึกษาในระบบมีความแตกต่างกับข้อมูลในโปรแกรมทะเบียนนักศึกษาสายสามัญ หลักสูตร การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 หรือโปรแกรม ITW51และการบันทึกข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ยังไม่ถูกต้องหรือเกิดข้อผิดพลาด รวมทั้ง ช่วงเวลาของการบันทึกข้อมูลเกิดปัญหาคอขวดส่งผลให้ไม่สามารถ บันทึกข้อมูลได้หรือบันทึกแล้วไม่ปรากฏข้อมูลในระบบ นอกจากนี้ สำนักงาน กศน. ยังขาดความพร้อมเกี่ยวกับ สถานที่สำหรับการติดตั้งและการบำรุงรักษา ภายหลังการรับมอบจากบริษัทผู้รับจ้าง การที่ระบบบริหารจัดการและสารสนเทศทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยยังไม่สามารถ ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ สำนักงาน กศน. ขาดข้อมูลสำหรับการวางแผน การบริหารจัดการ การติดตาม ประเมินและรายงานผลเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย ตลอดจนอ้างอิงและใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลรายบุคคล ด้านการศึกษาของประเทศที่เป็นปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ซึ่งสาเหตุ ที่ระบบงาน 2 ระบบยังไม่เปิดใช้งาน เกิดจากการรอการนำเข้าข้อมูลบุคลากรและพิจารณากำหนดสิทธิ์การเข้าถึง ข้อมูลบุคลากรจากกลุ่มการเจ้าหน้าที่ การรอการพิจารณาและกำหนดกรอบเวลาการนำเข้าข้อมูลทะเบียนทรัพย์สิน สำหรับระบบที่เปิดใช้งานแต่ข้อมูลบางส่วนผิดพลาดเกิดจากขาดการสอบทานความถูกต้องของการบันทึกข้อมูล และยังไม่มีการอบรมตามคู่มือ แนวทางการปฏิบัติงาน สำหรับผู้ใช้งาน รวมทั้ง ยังไม่มีการกำหนดแผนจัดเตรียม พื้นที่รองรับการติดตั้งและแผนการบำรุงรักษาระบบภายหลังการรับมอบจากบริษัทผู้รับจ้าง
เบื้องต้น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งหมดโดยด่วนแล้ว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage