"...สำหรับการเพิ่มหมวด 15/1 ที่เป็นหัวข้อเกี่ยวกับการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีสมาชิกจำนวน 200 คน โดยมีที่มาจาก 5 ส่วน 1.จำนวน 150 คน มาจากเลือกตั้งโดยตรงของแต่ละจังหวัด และอีก 50 คนมาจากกระบวนการคัดเลือกในอีก 3 วิธี..."
------------------------------------------------
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคร่วมรัฐบาลเพียงฉบับเดียว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตัดสินใจไม่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาล และเปิดทางให้แต่ละพรรคการเมืองต่างคนต่างเสนอร่งารัฐธรรมนูญของตนเอง
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กลับไปจัดทำรายละเอียดที่พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอเพียงฉบับเดียว จากนั้นให้นำกลับมาให้ที่ประชุมพิจารณาในวันที่ 31 ส.ค. และคาดว่าจะยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 1 ก.ย.นี้
อย่างไรก็ตามในการประชุมก่อนหน้านี้ ได้มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับให้ที่ประชุมพิจารณา และร่างหนึ่งที่มีการเสนอให้วิปรัฐบาลพิจารณานั้น ได้มีการเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 256 ที่จะส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ง่ายขึ้น ดังนี้
@ลดเงื่อนไขใช้เสียง ส.ว.แก้ รธน.
ในการออกเสียงลงคะแนน ทั้งในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ และ วาระที่สามขั้นสุดท้าย ได้ปรับจำนวนเสียงที่ต้องใช้ จากเดิม “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา” เป็น “3 ใน 5 ของรัฐสภา”
ทั้งนี้ได้ตัดเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากเดิมที่กำหนดให้การออกเสียงลงคะแนนต้องใช้เสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 อยู่ในนั้นด้วย
นอกจากนั้น มาตรา 256 (6) เกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ยังได้ตัดเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อกำหนด ที่ต้องมีเสียง ส.ส. จากพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ประธานสภาหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ออกไปด้วย
@เพิ่มหมวด 15/1 จัดทำ รธน.ฉบับใหม่ - ใช้ สสร.200 คน
สำหรับการเพิ่มหมวด 15/1 ที่เป็นหัวข้อเกี่ยวกับการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีสมาชิกจำนวน 200 คน โดยมีที่มาจาก 5 ส่วน ดังนี้
1.จำนวน 150 คน มาจากเลือกตั้งโดยตรงของแต่ละจังหวัด
2.จำนวน 30 คน มาจากบุคคลตามมาตรา 256/7 โดยแบ่งเป็น 1) ส.ส.เลือก 20 คน ซึ่งเป็นบุคคลจากรายชื่อที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ โดยบัญชีรายชื่อนี้มาจากการจัดทำของพรรคการเมือง และ 2) ส.ว.แต่งตั้ง 10 คน จากบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ในการร่าง รธน.
3.จำนวน 10 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เลือกผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ หรือผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ
4.จำนวน 10 คนจากการเลือกนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา โดยสมาชิกรัฐสภา
@ 240 วันทำร่าง รธน. - ห้ามแตะหมวด 1 และ 2
มาตรา 256/13 กำหนดให้ สสร.จัดทำร่าง รธน.ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับตั้งตั้งแต่วันที่มีการประชุมครั้งแรก ที่จะต้องจัดให้มีขึ้นไม่ช้ากว่า 30 วันนับตั้งแต่มี สสร.ครบทุกประเภทในจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 โดยอายุของ ส.ส. หรือหากมีการยุบสภา ไม่เป็นเหตุกระทบเทือนการทำหน้าที่ของ สสร.
ทั้งนี้กำหนดให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ สสร.จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง และจัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหาสาระและความคืบหน้าในการร่าง รธน.ผ่านสื่อมวลชนและเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ
อย่างไรก็ตามห้ามการจัดทำร่าง รธน.ที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
@ส่งรัฐสภาพิจารณา ร่าง รธน. หากไม่ผ่านให้ทำประชามติซ้ำ
มาตรา 256/15 เมื่อ สสร.จัดทำร่าง รธน.เสร็จแล้ว ให้เสนอต่อรัฐสภาพิจารณา เพื่อให้ความเห็นชอบร่าง รธน.ทั้งฉบับ โดยไม่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม
การลงมติให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
อย่างไรก็ตาม กรณีรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบร่าง รธน. ดังกล่าว ให้ดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ประชาชนลงคะแนนว่าจะเห็นชอบหรือไม่กับร่าง รธน.ที่ สสร.นำเสนอ
ทั้งนี้ การออกเสียงประชามติ ให้ สสร. ส่งร่าง รธน.ไปยัง กกต.ภายใน 7 วัน จากนั้นให้กำหนดวันออกเสียงประชามติไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่าง รธน.จากรัฐสภา
เมื่อการออกเสียงประชามติเสร็จสิ้น ให้ กกต.ประกาศผลภายใน 15 วัน
หากสุดท้ายการออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบกับร่าง รธน. หรือผู้มีออกมาใช้สิทธิไม่ถึง 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ให้ถือว่า ร่าง รธน.เป็นอันตกไป
นอกจากนั้น กรณีที่ร่าง รธน.ที่จัดทำขึ้นตกไปแล้ว ให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ รัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 มีสิทธิเสนอญัตติ เพื่อให้มีการจัดทำร่าง รธน.ฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา
ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการแก้ไข รธน.ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล ที่สุดท้ายจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดระหว่างนี้ ก่อนที่จะเสนอญัตติขอแก้ไข รธน.ในวันที่ 1 ก.ย.นี้
(ภาพจาก : วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และ แนวหน้า)
ข่าวประกอบ :
เปิดห้องประชุมอนุ กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ค้นแนวคิดตั้ง 'สสร.' ก่อนคลอด 3 แนวทางแก้ รธน.
อนุ กมธ.ชุด 'ไพบูลย์' เปิด 3 สูตรแก้รัฐธรรมนูญมีตั้งแต่ดูรายมาตรา-ตั้ง สสร.รื้อทั้งฉบับ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage