อนุ กมธ.ศึกษาฯ ชุด 'ไพบูลย์' เสนอ 3 แนวแก้รัฐธรรมนูญ มีตั้งแต่ ดูรายมาตรา เลี่ยงทำประชามติ ตลอดจน ตั้ง สสร.รื้อร่างใหม่ทั้งฉบับ พร้อมชง 5 สูตรปลดล็อก ม.256 - ลดอำนาจ ส.ว. ด้วย
--------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ในส่วนของ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานกรรมาธิการ
ล่าสุดตรวจสอบพบว่า คณะอนุ กมธ. ศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้จัดทำรายงานผลการศึกษาเนื้อหาที่สมควรแก้ไขเพื่อเสนอให้ กมธ.รับทราบ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำรูปเล่ม และเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรในช่วงสิ้นเดือน ส.ค.นี้
สำหรับประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม คือ ประเด็นในหมวด 15 ที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (รธน.) คณะอนุ กมธ.ฯ เห็นว่า เงื่อนไขในการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ที่ต้องได้รับความเห็นพ้องต้องกันจากทุกฝ่าย อาจทำให้การแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ไม่ประสบความสำเร็จ และสิ้นเปลืองงบประมาณ นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบธรรมของที่มา รธน.ฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉันทามติจากประชาชน และเห็นว่าบทบัญญัติอื่นๆ ใน รธน.มีปัญหาหลายมาตรา โดยเฉพาะ ม.256 ทำให้การแก้ไขเพิ่มเติม รธน.แทบจะเป็นไปไม่ได้
@เสนอ 3 แนวทางแก้ไข รธน.
ทั้งนี้ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา 3 แนวทาง ดังนี้ 1.ควรแก้ไขเพิ่มเติม รธน.รายมาตรา ยกเว้นประเด็นที่จะต้องผ่านการลงประชามติ เนื่องจากการเสนอแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ไม่ว่าจะการแก้ไขมาตรา 256 หรือ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อกยกร่างทั้งฉบับ อาจมีอุปสรรคจากการจัดทำประชามติ หรือเลือกตั้ง สสร. ส่งผลให้เสียงบประมาณ 3,000 – 10,000 ล้านบาท แล้วแต่กรณี
2.แก้ไข รธน.ตามช่วงเวลา โดยแบ่งเป็นการแก้ไขในช่วงที่มีวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล ที่สามารถแก้ไขรายมาตราที่เห็นว่าเป็นปัญหาเร่งด่วน ส่วนที่เหลือสามารถแก้ไข และกำหนดให้มีผลหลังจากวันที่ 11 พ.ค.2567 ซึ่งเป็นเวลาที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ้นจากวาระการดำรงตำแหน่ง นอกจากนั้น อีกประเด็นคือการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ ส.ว.พ้นจากวาระไปแล้ว โดยเห็นว่า ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไร เมื่อแก้ไขแล้วต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรับฟังความเห็นจากประชาชนด้วย
3.จัดตั้ง สสร.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกสมาชิก สสร. และมีส่วนร่วมในการร่าง รธน. อย่างแท้จริง
@ปรับปรุง ม.256 - ลดอำนาจ ส.ว.
ส่วนประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการแก้ไขบทบัญญัติในมาตรา 256 เห็นว่า กระบวนการแก้ไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ทำให้การแก้ไข รธน.ทำได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย นอกจากนั้นยังเห็นว่ามีบางประเด็นที่ไม่เหมาะสมที่จะต้องนำไปผ่านการออกเสียงประชามติอีกด้วย ทั้งนี้ คณะอนุ กมธ.ฯ เสนอ 5 แนวทางในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
1.แก้ไข ม.256 ให้เหมือน รธน.ปี 2540 และ รธน.ปี 2550
2.ในช่วงที่ ส.ว.ยังเป็นวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลนั้น ควรตัดเงื่อนไขที่กำหนดให้เสียงที่ให้ความเห็นชอบร่าง รธน. ต้องมีมติให้ความเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่
3.กำหนดให้ ร่าง รธน.จะต้องได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยให้มีผลหลังจากวันที่ 11 พ.ค. 2567 ซึ่งเป็นวันที่ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง
4.แก้ไขมาตรา 256 (8) ที่กำหนดให้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ที่เกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. หน้าที่และอำนาจของศาล และองค์กรอิสระ หรือเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตาม รธน. ไม่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ
5.แก้ไขมาตรา 256 (8) ที่กำหนดให้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ที่เกี่ยวกับบททั่วไป พระมหากษัตริย์ หน้าที่และอำนาจของศาล และองค์กรอิสระ หรือเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำงตำแหน่งต่างๆ ตาม รธน. ไม่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ
@ยกเลิกนิรโทษ คสช.
ขณะที่ผลการพิจารณาศึกษา บทเฉพาะกาล มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล โดย คณะอนุ กมธฯ เห็นว่า เรื่องที่มาของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล ในทางปฏิบัติขาดความหลากหลาย อีกทั้งการคัดเลือกจากกรรมการสรรหาบางคน เกิดคำถามเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่กลับให้อำนาจค่อนข้างมาก และควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม
นอกจากนั้นยังเห็นว่า มาตรา 272 วรรคแรก ทำให้เห็นว่า ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลจะร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส. ถึง 2 สมัย เมื่อเทียบกับที่มาของ ส.ว.แล้ว ก็เกิดคำถามว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
ทั้งนี้ยังมีส่วนประเด็นเกี่ยวกับการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่รวมไปถึงกรณีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งการบัญญัติเช่นนี้มีลักษณะขัดต่อนิติธรรมเพราะส่งผลให้การกระทำของ คสช.ไม่ถูกตรวจสอบ จึงมีความเห็นให้ยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว