"...สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ของสหรัฐอเมริกา ได้รายงานข่าวว่า มีบริษัทสัญชาติจีนจำนวน 2 แห่งได้แก่ AllTest Biotech และบริษัท Wondfo Biotech ได้เสนอขายเครื่องตรวจแบบง่ายซึ่งใช้การตรวจหาให้กับทางรัฐบาลอังกฤษจำนวนถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 649 ล้านบาท แต่ผลจากการทดสอบของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่อังกฤษพบว่าชุดตรวจดังกล่าวใช้งานไม่ได้ จึงทำให้ทางอังกฤษไม่ได้ใช้ชุดตรวจที่ซื้อมาจากประเทศจีนอย่างใด ..."
ชุดตรวจอย่าง (Rapid Test) สำหรับโควิด 19 ยี่ห้อ SARS-CoV-2 Antibody Test (Lateral Flow-Method) ที่ผลิตโดยบริษัท Guangzhou Wondfo Biotech Co.Ltd จากประเทศจีน ที่ผ่านการรับรองจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไปเมื่อเร็วๆ นี้
ถูกกล่าวอ้างผลการทดสอบในสื่อต่างประเทศชื่อดังอย่าง นิวยอร์กไทม์ของสหรัฐอเมริกา ว่า อาจมีปัญหาไม่สามารถใช้งานได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดเผยรายชื่อ ผลิตภัณฑ์ชุดตรวจอย่างง่าย (Rapid Test) สำหรับโควิด 19 และผู้ผลิต ที่ผ่านการประเมิน ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ SARS-CoV-2 Antibody Test (Lateral Flow-Method) ที่ผลิตโดยบริษัท Guangzhou Wondfo Biotech Co.Ltd จากประเทศจีน รวมอยู่ด้วย
โดยบริษัทที่ยื่นประเมินเครื่องตรวจยี่ห้อดังกล่าว คือ 1.บริษัท เฟิร์มเมอร์ จำกัด 2.บริษัท ปารมี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด และ 3. บริษัทแอตแลนต้า เมดดิดแคร์ จำกัด (ดูภาพประกอบ)
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ของสหรัฐอเมริกา ได้รายงานข่าวว่า มีบริษัทสัญชาติจีนจำนวน 2 แห่งได้แก่ AllTest Biotech และบริษัท Wondfo Biotech ได้เสนอขายเครื่องตรวจแบบง่ายซึ่งใช้การตรวจหาให้กับทางรัฐบาลอังกฤษจำนวนถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 649 ล้านบาท
แต่ผลจากการทดสอบของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่อังกฤษพบว่าชุดตรวจดังกล่าวใช้งานไม่ได้ จึงทำให้ทางอังกฤษไม่ได้ใช้ชุดตรวจที่ซื้อมาจากประเทศจีนอย่างใด
(อ้างอิงจาก: https://www.nytimes.com/2020/04/16/world/europe/coronavirus-antibody-test-uk.html)
ซึ่งภายหลังจากรับทราบผลการทดสอบที่อังกฤษ ทางด้านรัฐบาลอินเดียก็ได้ออกคำสั่งยุติการจัดซื้อเครื่องตรวจโควิดแบบง่ายจากประเทศจีนจำนวนกว่า 5 แสนชุดโดยทันที
โดยเครื่องตรวจที่ทางรัฐบาลอินเดียได้สั่งให้ยุติการจัดซื้อนั้นเป็นเครื่องตรวจหาแอนติบอดี ที่อ้างว่าสามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัท Guanzhou Wondfo Biotech และบริษัท Zhuhai Livzon Diagnostics
ขณะที่บริษัท Guangzhou Wondfo Biotech Co. Ltd ได้ออกมาชี้แจงว่าชุดตรวจของบริษัทนั้นมีคุณภาพตามมาตรฐานการส่งออกของรัฐบาลจีน อีกทั้งยังมีการส่งออกไปยัง 70 ประเทศทั่วโลก
(อ้างอิงจาก: https://www.marketwatch.com/press-release/chinese-companies-confirm-quality-of-exported-testing-kits-to-india-2020-04-25?mod=mw_more_headlines&tesla=y)
สำหรับข้อมูลอื่นๆ ของบริษัท Guanzhou Wondfo Biotech นั้น จากการตรวจสอบพบว่า เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีที่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 8 ถนน Lizhishan , Science City, เขต Luogang
Guangzhou, Guangdong
ประธานบริษัทและตัวแทนฝ่ายกฎหมายคือนาย Jihua Wang
แจ้งข้อมูลมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 387.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12,523,033,000 บาท) ได้กำไรจากการประกอบธุรกิจในปี 2562 ทั้งสิ้น 298.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (9,642,196,000 บาท) มีพนักงานทั้งสิ้น 2,476 ราย
(อ้างอิงจาก: https://www.dnb.com/business-directory/company-profiles.guangzhou_wondfo_biotech_co_ltd.680e608ffd6f1754cd9d48d820269aa3.html#financials-anchor)
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตรวจหาโควิดอย่างง่ายซึ่งมีการโฆษณาบนเว็บไซต์ของบริษัท Guanzhou Wondfo Biotech
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้
นพ.โอภาส ระบุว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดข่าวดังกล่าว แต่ตามหลักการในขณะนั้น (ช่วงต้นเดือน เม.ย. 2563 ที่ประกาศรายชื่อเอกชนผ่านการประเมินชุดตรวจอย่างง่าย) คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้ตรวจสอบเอกสารจากบริษัทเอกชนที่ขอนำเข้าผลิตภัณฑ์ โดยดูว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผลการศึกษาเป็นอย่างไร มีงานวิจัยรองรับหรือไม่ เป็นต้น เนื่องจากขณะนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไม่มีห้องแล็บที่ตรวจอย่างเป็นทางการ และไม่ใช่แค่ที่ไทย แต่ทั่วโลกขณะนั้นยังไม่มีห้องแล็บให้ตรวจ
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีอำนาจในการตรวจสอบเรื่องกฎหมาย เช่น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการขายจริงหรือไม่ ได้มาตรฐานจากหน่วยงานตรวจสอบของประเทศนั้น ๆ หรือไม่ เป็นต้น ดังนั้นเรื่องผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ คงต้องถามรายละเอียดกับ อย. หรือหาก อย. จะส่งผลิตภัณฑ์มาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบอีกครั้งก็ได้
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหาช่องทางติดต่อ เอกชนไทย 3 ราย ที่ปรากฎชื่อเป็นผู้ยื่นประเมินเครื่องตรวจยี่ห้อดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ หากได้รับคำชี้แจงเพิ่มเติม จะรีบนำมาเสนอต่อสาธารณชนทันที
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage