เปิดตัว กก.-ผู้ถือหุ้น บ.แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่นฯ 1 ใน 3 เอกชนผู้ยื่นประเมินผลชุดตรวจโควิด-19 อย่างง่าย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่ใช่แค่ ‘ปรีชา เลาหพงษ์ชนะ’ ยังมี 2 คนสกุล ‘เฉลิมวุฒินันท์’ เครือญาติยักษ์ใหญ่ บ.ค้าข้าว มีคนสกุลเดียว ‘บิ๊กชาติไทยพัฒนา-เลขาฯ รมต.’ ด้วย
ประเด็นตรวจสอบการรับรองมาตรฐาน ชุดตรวจโควิด-19 อย่างง่าย (Rapid Test) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด หนึ่งในบริษัทยื่นประเมินชุดตรวจอย่างง่าย (Rapid Test) ยี่ห้อ Bioeasy ซึ่งผลิตโดย Shenzhen Bioeasy Technology จำกัด ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แจ้งขอยกเลิกใบอนุญาตการนำสินค้าเข้า เพราะรัฐบาลสเปนแถลงข่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวใช้งานไม่ได้ผล
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น ส่วน ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ก็ไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ให้เข้ามาตรวจสอบเป็นทางการ
(อ่านประกอบ : กังขา! ภูมิใจไทยร้อง ป.ป.ช.สอบปมชุดตรวจโควิดฯทั้งที่สเปนใช้ไม่ได้)
ข้อมูลในส่วน บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด นั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องไปแล้ว
(อ่านประกอบ : เจาะธุรกิจเครือ‘เอ็มพีกรุ๊ป’ 6 บริษัท ก่อน บ.ลูกถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมเลิกขายชุดตรวจโควิดฯ, ก่อนเลิกขายชุดตรวจโควิด! บ.เอ็มพีฯ เคยได้งานชุดวินิจฉัยอีโบลา กรมวิทย์ฯแพทย์ 5.5 ล. ปี 57, เปิดไทม์ไลน์ บ.เอ็มพีฯ แจงปมยกเลิกนำเข้าชุดตรวจโควิดฯ ก่อน ส.ส.ภูมิใจไทยยื่นป.ป.ช.สอบ)
คราวนี้มาดูข้อมูลในส่วน ของ บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด ที่ยื่นประเมินผลชุดตรวจโควิด-19 อย่างง่าย (Rapid Test) ยี่ห้อ Bioeasy ซึ่งผลิตโดย Shenzhen Bioeasy Technology จำกัด ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่นเดียวกับ บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด กันบ้าง ?
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด จดทะเบียน 11 กันยายน 2560 ทุน 30,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 3689 ถนนพระรามที่ 4 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจกิจกรรมของห้องปฏิบัติกรทางการแพทย์
ปรากฎชื่อนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ นายสมชาย ประพันจิตร และนายธฤต อุดมเจริญชัยกิจ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 มีบริษัท บีจีไอ เทค โซลูชั่น (ฮ่องกง) จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 49% มูลค่า 14,700,000 บาท นาย ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ 16.6667% 5,000,000 บาท หุ้นที่เหลือกระจายอยู่ในชื่อ นายพงศ์พชร ธนบุณยวัฒน์ นายรัชพล อัศวินวิจิตร นางสาวกรชนก เฉลิมวุฒินันท์ นายอภิเชษฐ์ เฉลิมวุฒินันท์ บริษัท ไชยสุพงษ์ จำกัด นายธฤต อุดมเจริญชัยกิจ และนายสมชาย ประพันจิตร
นำส่งงบการเงินล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2561 แจ้งว่า มีรายได้รวม 71,138,697.89 บาท รวมรายจ่าย 84,892,631.05 บาท ขาดทุนสุทธิ 13,753,933.16 บาท
รายชื่อผู้ถือหุ้นที่น่าสนใจ นอกเหนือจากนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ กรรมการและผู้ถือหุ้น ที่เป็นอดีตนักการเมืองชื่อดัง และอดีตรัฐมนตรีหลายสมัยยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย รวมถึงเป็นประธานบริษัท กรุงไทย แลนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด แล้ว
สำนักข่าวอิศรา ยังพบว่า นายธกฤต อุดมเจริญชัยกิจ เป็นนักธุรกิจชื่อดัง เคยเป็นกรรมการบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ ยังมีคนสกุล ‘เฉลิมวุฒินันท์’ เป็นผู้ถือหุ้นด้วยอย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ น.ส.กรชนก และนายอภิเชษฐ์ ซึ่งเป็นนามสกุลเดียวกันกับนายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเชีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด ยักษ์ใหญ่วงการค้าข้าวไทย
รายของ น.ส.กรชนก เฉลิมวุฒินันท์ พบว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.โรงสีสินอุดมมงคล จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2535 ทุนปัจจุบัน 27 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจโรงสีข้าว ตั้งอยู่ที่ 136/2 ม.3 ต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี แจ้งงบการเงินล่าสุดปี 2561 มีรายได้รวม 680,208,508 บาท รายจ่ายรวม 662,751,677 บาท เสียภาษีเงินได้ 2,094,997 บาท กำไรสุทธิ 8,237,218 บาท
ขณะที่นายพงศ์พชร ธนบุณยวัฒน์ มีนามสกุลเดียวกับนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ กรรมการบริหารพรรคชาติไทยพัฒนา และเลขานุการนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนปัจจุบัน
ส่วนนายรัชพล อัศวินวิจิตร และบริษัท ไชยสุพงษ์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไทยบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีคนสกุล ‘อัศวินวิจิตร’ ถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยบริษัท ไชยสุพงษ์ จำกัด ถือหุ้น 6.13% และนายรัชพลถือ 3.41%
บริษัท ไชยสุพงษ์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2533 ทุนปัจจุบัน 5.5 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจจัดหา รับเช่า เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง ปรับปรุงใช้ และจัดการโดยประการอื่น ๆ ตั้งอยู่ที่ 92/56-57 บี อาคารสาธรธานี 2 ชั้น 19 ถ.สาธรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม.
ปรากฏชื่อนายศุภพงศ์ อัศวินวิจิตร และนายธีระพล มะลิกุล เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 6,122,683 บาท รายจ่ายรวม 5,818,800 บาท เสียภาษีเงินได้ 33,782 บาท กำไรสุทธิ 213,829 บาท
ข้อมูลจากเว็บไซด์ https://www.bangkokgenomics.com/ ระบุว่า บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด เป็นหนึ่งในเครือของ BGI Genomics ในประเทศไทย โดยก่อตั้งในปี 2560 เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางโครโมโซมของทารกในครรภ์ หรือ นิฟตี้ และยังสามารถให้บริการการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดอื่น ๆ (อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.bangkokgenomics.com/about/?lang=th)
(ชุดตรวจ ชนิด Rapid test ที่ผลิตจาก บริษัท Shenzhen Bioeasy Technology)
ส่วนการประเมินผลชุดตรวจโควิด-19 อย่างง่าย (Rapid Test) ยี่ห้อ Bioeasy นั้น
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา บริษัทแห่งนี้ เผยแพร่คำชี้แจงรายละเอียดหน้าเว็บไซต์ เกี่ยวกับการขออนุญาตนำเข้าและการยกเลิกใบอนุญาตนำเข้าชุดตรวจชนิด Rapid test ที่ผลิตจาก บริษัท Shenzhen Bioeasy Technology จำกัด
มีรายละเอียดดังนี้
บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์ อินโนเวชั่น จำกัด ได้ยื่นประเมินเอกสารเกี่ยวกับชุดตรวจ COVID-19 ชนิด Rapid test กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากบริษัทผู้ผลิตจำนวน 2 บริษัท ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563 และได้ผ่านการประเมินเอกสารจำนวน 3 รายการ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจาก บริษัท Shenzhen Bioeasy Technology จำกัด ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับหนังสือรับรองการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 แต่เนื่องจากเกิดมีข่าวจากสื่อต่างประเทศออกมาเกี่ยวกับการใช้งานของชุดทดสอบชนิด Antigen ที่ประเทศสเปน ทางบริษัทฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ขอข้อมูลจากผู้ผลิตรายดังกล่าว หลังจากได้เอกสารชี้แจงจากทางผู้ผลิต ทางบริษัทฯ ได้มีการชี้แจงรายละเอียดของข่าว และส่งรายละเอียดคำชี้แจงของบริษัทผู้ผลิตไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 และได้ทำการยกเลิกใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วในวันเดียวกัน จำนวน 2 รายการ และสืบเนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และข่าวนี้อาจจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัทแบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ยื่นประเมินเอกสารและขออนุญาตนำเข้า ทางคณะผู้บริหารทั้งฝ่ายไทยและต่างประเทศมีความเห็นให้ยกเลิกใบอนุญาตการนำเข้าชุดตรวจอย่างง่าย (Rapid Test) ที่เหลือทั้งหมด ที่ผลิตจากบริษัทเดียวกันนี้ ทั้งนี้ขอเรียนให้ท่านทราบว่า ทางบริษัทฯ ยังไม่ได้นำชุดตรวจดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร และยังไม่มีการจัดจำหน่ายให้กับสถานพยาบาลใด ๆ
บริษัทฯ ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาสอบถามรายละเอียดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขออภัยในความไม่สะดวก และขอให้มั่นใจว่า ทางบริษัทฯ จะสรรหาสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อรักษามาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อคนไทยได้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
หากท่านพบเห็นหรือได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการจัดจำหน่าย Rapid test (BIOEASY) ที่ผลิตจากบริษัทดังกล่าวข้างต้น และแอบอ้างชื่อบริษัทแบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด ขอความกรุณาท่านแจ้งกลับมาที่บริษัทฯ เพื่อทางบริษัทฯ จักดำเนินคดีกับผู้แอบอ้างต่อไป
ทั้งหมดคือโพรไฟล์โดยสังเขปของกรรมการ และผู้ถือหุ้นบริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด 1 ใน 3 เอกชนผู้ยื่นประเมินผลชุดตรวจโควิด-19 อย่างง่าย (Rapid Test) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กำลังถูกตรวจสอบในขณะนี้
อ่านประกอบ :
เจาะธุรกิจเครือ‘เอ็มพีกรุ๊ป’ 6 บริษัท ก่อน บ.ลูกถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมเลิกขายชุดตรวจโควิดฯ
ก่อนเลิกขายชุดตรวจโควิด! บ.เอ็มพีฯ เคยได้งานชุดวินิจฉัยอีโบลา กรมวิทย์ฯแพทย์ 5.5 ล. ปี 57
กังขา! ภูมิใจไทยร้อง ป.ป.ช.สอบปมชุดตรวจโควิดฯทั้งที่สเปนใช้ไม่ได้
อ้าง'สเปน' ใช้งานผิดวิธี! เปิดตัว บ.จีน ผลิตชุดตรวจโควิด ก่อน 'อนุทิน' สั่งสอบนำเข้าไทย
กรมวิทย์ฯ - อย. แจง การประเมินชุด Rapid Test หลังสเปนสั่งซื้อแล้วเจอปัญหา
รบ.สเปนยันใช้ไม่ได้ผล! ‘อนุทิน’สั่งสอบปมเอกชนยกเลิกนำเข้าชุดตรวจโควิดฯอย่างง่าย
เปิดตัว 3 เอกชน ผ่านประเมินชุดตรวจโควิดอย่างง่าย-มี บ.'ปรีชา' อดีต รมต.ด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/