"...ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลใหม่ ว่า บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด เคยปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญาชุดวินิจฉัยเชื้ออีโบลาอัตโนมัติด้วยวิธี Real-time RT-PCR ให้กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาแล้ว 1 สัญญา ในช่วงปี 2557 มาแล้ว มูลค่าสินค้าเป็นวงเงิน 5,500,000 บาท ตามสัญญาเลขที่ 1/2558 ลงนามเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2557 ..."
ประเด็นตรวจสอบการประเมินชุดตรวจอย่างง่าย (Rapid Test) สำหรับโรคโควิด-19 ให้กับบริษัทเอกชน ของ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
มีความเคลื่อนไหวสำคัญที่ต้องจับตามอง เมื่อ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการประเมินชุดตรวจอย่างง่าย (Rapid Test) สำหรับโควิด-19 ที่มีข้อกล่าวหาเรื่องมาตรฐานการประเมินจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรณีบริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด หนึ่งในบริษัทยื่นประเมินชุดตรวจอย่างง่าย (Rapid Test) ยี่ห้อ Bioeasy ซึ่งผลิตโดย Shenzhen Bioeasy Technology จำกัด ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แจ้งขอยกเลิกใบอนุญาตการนำสินค้าเข้า เพราะรัฐบาลสเปนแถลงข่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวใช้งานไม่ได้ผล
เป็นความเคลื่อนไหว ของกลุ่ม ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เพิ่งมีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ไปไม่นานนัก
หากพิจารณาข้อกล่าวหา ที่ กลุ่ม ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. จะพบว่า มี 2 ประเด็นหลักคือ 1. กระบวนการพิจารณาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ 2. ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเอกชนบางแห่งกับนักการเมือง
โดยนาย ศุภชัย ใจสมุทร ระบุว่า หลังจากที่ผู้อนุมัติให้นำเข้าได้แถลงว่าชุดตรวจฯที่ตนเองนำเข้าเป็นชุดเดียวกันกับที่ประเทศสเปน และสหภาพยุโรปได้ตรวจพบว่าการแปรผลมีปัญหาและได้ยกเลิกการนำเข้าชุดตรวจฯดังกล่าว ตนในฐานะ ส.ส. เห็นว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการอนุมัติ ทั้งที่ต้องมีหลักทางวิทยาศาสตร์หรือหลักทางการแพทย์ที่ชัดเจนในการตรวจสอบก่อนที่จะอนุมัติสิ่งเหล่านี้ให้เข้ามาเพื่อการใช้ตรวจสอบได้ และเมื่อมีการตรวจสอบจากข่าวก็พบว่าประธานคณะกรรมการที่อนุมัติการนำเข้าได้ระบุว่าการอนุมัติใช้วิธีการตรวจสอบทางเอกสาร ซึ่งก็ทำให้รู้สึกน่าตกใจ ที่สถานการณ์เป็นเช่นนี้ และเป็นสิ่งจำเป็นที่หน่วยงานราชการผู้อนุมัติควรจะต้องมีหลักที่ชัดเจน หรือมีความไม่ชอบมาพากลที่ทำให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น มีเรื่องการกล่าวหามากมาย จึงขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบว่าเรื่องนี้มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการทุจริต มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนสามารถที่จะทำให้มีการนำเข้า อนุมัติ โดยไม่มีหลักวิชาการที่จะตรวจสอบ จนทำให้เกิดผลกระทบและความเสียหายหรืออย่างไร
"จากข่าวที่ออกมายังพบว่ามีบางบริษัทเป็นของนักการเมือง จึงอยากให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบให้ชัด เพราะถ้ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็ขอให้ตรวจให้ชัดว่าเป็นการดำเนินการด้วยตัวเองเพื่อหาผลประโยชน์ หรือมีผู้ที่สั่งการซึ่งใหญ่กว่าข้าราชการเป็นผู้สั่ง จนทำให้ข้าราชการไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จนต้องปฏิบัติตามผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ยังพบว่า 1 ใน 2 บริษัทได้มีการยกเลิกขอนำเข้าชุดตรวจดังกล่าวไปเอง ก่อนที่คณะกรรมการฯจะมีคำสั่งยกเลิก และการที่คณะกรรมการฯสั่งยกเลิกหลังอนุญาตเพียง 4 วัน แปลว่ามันมีความไม่ชอบมาพากล ทำไมถึงอนุญาตง่าย พอเห็นว่าที่สเปนและสหภาพยุโรปมีปัญหา ก็มาสั่งยกเลิกภายใน 4 วัน แสดงว่าการทดสอบของคณะกรรมการฯดำเนินการและอนุมัติโดยเร็วไปหรือไม่ โดยไม่มีอะไรมารองรับผลการตรวจสอบ"
(อ่านประกอบ : กังขา! ภูมิใจไทยร้อง ป.ป.ช.สอบปมชุดตรวจโควิดฯทั้งที่สเปนใช้ไม่ได้, เปิดตัว 3 เอกชน ผ่านประเมินชุดตรวจโควิดอย่างง่าย-มี บ.'ปรีชา' อดีต รมต.ด้วย)
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ แท้จริงเป็นอย่างไร คงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะต้องติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกต่อไป
อย่างไรก็ดี ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลใหม่ ว่า บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด เคยปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญาชุดวินิจฉัยเชื้ออีโบลาอัตโนมัติด้วยวิธี Real-time RT-PCR ให้กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาแล้ว 1 สัญญา ในช่วงปี 2557 มาแล้ว
มูลค่าสัญญาวงเงิน 5,500,000 บาท ตามสัญญาเลขที่ 1/2558 ลงนามเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2557
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ ในฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแล้ว แต่ยังไม่พบรายละเอียด
สำหรับข้อมูล บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด เคยตรวจสอบไปแล้วว่า จดทะเบียนจัดตั้ง 8 พฤษภาคม 2551 ทุน 5,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 168/24-25 ถนนนาคนิวาส แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจนำเข้า จำหน่าย ซ่อมแซมเครื่องมือทางการแพทย์ปรากฎชื่อ นางสาว นทพร บุญบุบผา นาย ฤทธิชัย ศรีวิจารย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เมษายน 2562 นางสาว นทพร บุญบุบผา ถือหุ้นใหญ่สุด 50.0020% มูลค่า 2,500,100 บาท นาย ฤทธิชัย ศรีวิจารย์ 49.9960% 2,499,800 บาท นางสาว บุญโฮม บุญบุบผา 0.0020% 100 บาท
นำส่งงบการเงินล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2561 แจ้งว่า มีรายได้รวม 541,079,697.40 บาท รวมรายจ่าย 502,313,599.67 บาท กำไรสุทธิ 25,647,267.58 บาท
ส่วนข้อมูลข่าวเกี่ยวกับการตรวจเชื้อไวรัสอีโบลา ด้วยวิธี Real-time PCR นั้น ในช่วงเดือนส.ค.2557 นพ.อภิชัย มงคล ที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในขณะนั้น เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จากการระบาดของโรคไวรัสอีโบลาในกลุ่มประเทศแอฟริกา 3 ประเทศกับ 1 เมือง คือ กินี เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย และลากอส ประเทศไนจีเรีย ทำให้หลายประเทศเตรียมพร้อม เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันเชื้อแพร่ระบาด ซึ่งประเทศไทยก็เช่นกัน
โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็เตรียมพร้อมในการตรวจวิเคราะห์เพื่อยืนยันเชื้อ ดังนี้
1.ชุดตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสอีโบลา ด้วยวิธี ชีวโมเลกุล หรือ Polymerase Chain Reaction (PCR) โดยมีชุดตรวจ 3 ชนิด เพื่อเปรียบเทียบผลการตรวจ ทั้งนี้ ชุดตรวจ 3 ชุด ชุดละ 300,000 บาท รวมเป็น 900,000 บาท โดย 1 ชุดจะตรวจได้ 100 ตัวอย่าง และสั่งซื้อจาก 3 ประเทศ คือ เยอรมนี จีน และญี่ปุ่น
2.ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 BIOSAFETY LEVEL (BSL3) LABORATORY การตรวจเชื้อไวรัสอีโบลา ด้วยวิธี PCR สามารถดำเนินการตรวจวิเคราะห์ภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ตามข้อแนะนำขององค์กรอนามัยโลก (WHO) เป็นห้องที่ออกแบบมาเฉพาะ ดังนี้ คือ ห้องมีความพร้อมในการปฏิบัติงานกับเชื้อกลุ่มเสี่ยงที่มีความรุนแรง มีระบบอากาศที่ควบคุมทิศทางการไหลของอากาศเป็นทิศทางเดียว (Directional inward airflow) อยู่ภายใต้ความดันอากาศที่เป็นลบ (Negative air pressure) เป็นระบบความดันอากาศ ที่ดึงดูดให้อากาศเข้ามาในพื้นที่ห้องตลอดเวลา ไม่ให้ไหลออกไปสู่ภายนอก มีประตู 2 ชั้น
3.อุปกรณ์เครื่องมือ ประกอบด้วย เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอ (RNA) อัตโนมัติ เครื่อง Real-time PCR
นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการตรวจเชื้อไวรัสอีโบลา ด้วยวิธี Real-time PCR มีดังนี้ เลือด จากนั้นปั่นแยกพลาสมา และสกัดสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ก่อนนำไปเพิ่มสารพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 2 โดยชุดตรวจดังกล่าวจะมีน้ำยาพิเศษในการตรวจหาเชื้ออีโบลา ซึ่งใช้เวลาในการยืนยันผล 5-8 ชั่วโมง และผลแม่นยำกว่าร้อยละ 90 ที่สำคัญการตรวจยืนยันจะทำการตรวจในชุดตรวจทั้ง 3 ชนิด เพื่อให้เกิดความแม่นยำสูงสุด ที่สำคัญในการตรวจเชื้อไวรัสอีโบลาจะดำเนินการตรวจวิเคราะห์ภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 หรือห้องบีเอสแอล 3 (BSL 3) จึงไม่ต้องกังวลว่า การตรวจเชื้อจะเล็ดลอดออกมาภายนอก เนื่องจากมีระบบในการป้องกันอย่างดี
ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณการจัดหาชุดทดสอบไวรัสอีโบลาใช้งบประมาณของกรมฯ ดำเนินการก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างของบกลาง เพื่อชดเชยที่จ่ายไปก่อนหน้านั้น และยังได้เสนอ สธ.พิจารณาของบประมาณ 57 ล้านบาท เพื่อจัดสร้างอาคารสำหรับห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด และประเทศไทยยังไม่มี เนื่องจากห้องระดับ 4 ต้องมีการก่อสร้างอาคารจำเพาะ เพราะเป็นห้องที่สามารถเพาะเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ที่สำคัญยังไม่มียาหรือวัคซีนในการป้องกันโรคด้วย
อย่างไรก็ตาม หากรัฐเห็นด้วยกับการก่อสร้าง ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องมีการประชาพิจารณ์ สอบถามความคิดเห็นจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้าง เนื่องจากเรื่องนี้บางกลุ่มก็อาจไม่เห็นด้วย โดยการก่อสร้างจะต้องมีพื้นที่ภาพรวม 100 ตารางวา เป็นอาคาร 50 ตารางวา อีก 50 ตารางวา เป็นพื้นที่รอบนอก ซึ่งอาคารจะมีระบบความปลอดภัยสูง หากเกิดอุบัติเหตุ จะมีระบบป้องกันและทำลายตัวเองเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสเล็ดลอด ซึ่งไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนควรต้องมี เพราะหากเกิดการระบาดขึ้นจริง และต้องการเพาะเชื้อหรือยืนยันผลอย่างรวดเร็ว จะได้ทันการณ์ เพราะหากเป็นเชื้อที่รุนแรง จะยากมากหากจะส่งไปตรวจยืนยันในต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีสายการบินยอมขนส่ง (อ้างอิงข้อมูลข่าวและภาพประกอบส่วนนี้จาก ไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/content/445910)
อ่านประกอบ :
กังขา! ภูมิใจไทยร้อง ป.ป.ช.สอบปมชุดตรวจโควิดฯทั้งที่สเปนใช้ไม่ได้
อ้าง'สเปน' ใช้งานผิดวิธี! เปิดตัว บ.จีน ผลิตชุดตรวจโควิด ก่อน 'อนุทิน' สั่งสอบนำเข้าไทย
กรมวิทย์ฯ - อย. แจง การประเมินชุด Rapid Test หลังสเปนสั่งซื้อแล้วเจอปัญหา
รบ.สเปนยันใช้ไม่ได้ผล! ‘อนุทิน’สั่งสอบปมเอกชนยกเลิกนำเข้าชุดตรวจโควิดฯอย่างง่าย
เปิดตัว 3 เอกชน ผ่านประเมินชุดตรวจโควิดอย่างง่าย-มี บ.'ปรีชา' อดีต รมต.ด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/