"...การพนันในสนามมวยเป็นการพนันที่ไม่ต้องเสียค่านายหน้าหรือเสียค่าตัวแทน และนักการพนันทุกคนมี อํานาจในการเล่นภายใต้เงื่อนไขทางการเงินของแต่ละคนที่มีอยู่ ด้วยนักการพนันทุกคนมีในฐานะเป็นทั้งผู้เล่น และ เจ้ามือในคราวเดียวกัน ครั้นจะมีความแตกต่างกันบ้างก็แต่เฉพาะเรื่องจํานวนเงินในมือในการเล่นและต่อรองเท่านั้น ซึ่งวัฒนธรรมของการพนันมวยในสนามเป็นวัฒนธรรมเจ้าพ่อ-นักเลง กลไกของระบบจะสร้างความไว้เนื้อ เชื่อใจระหว่างนักการพนันด้วยกันเพราะ “มวยชกเสร็จ เคลียร์เงินทันที และจบเกมพนัน”..."
"วันนี้มีการทบทวนมาตรการต่าง ๆ หลังยังไม่พอใจกรณีพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปนี้ขอให้เข้มงวดกับมาตรการอยู่กับบ้าน อย่างที่ประเทศทั่วโลกทำกัน หลังพบ ช่วงเสาร์ อาทิตย์ยังมีปริมาณรถที่ออกมาท้องถนนมาก ซึ่งไม่ควรมีปริมาณมากขนาดนี้ อีกทั้งกิจกรรมสังสรรค์ที่ควรงดด้วย แต่พบว่า ยังทำกันอยู่ จึงขอร้องสถานีโทรทัศน์ อย่างน้อยช่วงเดือนเม.ย. ยกเลิกการถ่ายทอดการชกมวย เพราะการมีเวทีมวย แม้จะชกกันเอง แม้ไม่มีคนดู ก็ถือเป็นความเสี่ยงของผู้ชกมวย ความเสี่ยงของคนเชียร์ มีการรวมกลุ่มเชียร์มวยกัน จึงขอให้งดการถ่ายทอดชกมวย"
คือ หนึ่งในประเด็นสำคัญระหว่างการแถลงข่าวของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับความคืบหน้าการป้องกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด -19 ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : วิษณุ เล็งขอทีวีห้ามถ่ายทอดสดมวย ตั้งเเต่เม.ย. -โล๊ะสต๊อกหน้ากาก นับ 1 ใหม่)
นับเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า สนามมวย นับเป็นจุดแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิดในประเทศไทยที่สำคัญเป็นอย่างมาก
ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2563 ศูนย์ปฏิบัติการโควิด 19 จังหวัดนครปฐม ได้ทำอินโฟกราฟฟิก แสดงการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด ในจังหวัดนครปฐม ก็พบว่า สนามมวย ถือเป็นจุดสำคัญในการแพร่ระบาดของเชื้อโรคด้วย
ปัจจุบันยังไม่มีคำชี้แจงจากนายสนามมวยหลายแห่ง ที่ปรากฎชื่อว่ามีการจัดแข่งขันชกมวยรายการสำคัญ ในช่วงต้นเดือน มี.ค.2563 และปรากฎข้อมูลในภายหลังว่า มีกลุ่มแฟนมวย บุคคลที่มีชื่อเสียง ได้รับเชื้อจำนวนมาก ว่ามีแรงจูงใจอะไรถึงทำให้ต้องเดินหน้าจัดการแข่งขันชกมวยต่อไป ในช่วงเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดแบบนี้
ขณะที่สนามมวยหลายแห่งก็ถูกแจ้งเตือนปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิดก่อนแล้วด้วย
อย่างไรก็ดี สำหรับการจัดแข่งขันชกมวยของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา มักจะถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องการพนันมาโดยตลอด ยิ่งเป็นการจัดแข่งขันชกมวยรายการใหญ่ มูลค่าเม็ดเงินจากการพนันขันต่อ จะยิ่งสูงมากเป็นทวีคูณไปด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลฐานงานวิจัยของประเทศไทย พบว่า ในงานวิจัยเรื่องโครงสร้างและพฤติกรรมการพนันมวยไทย ของ ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เคยมีการศึกษาถึงรูปแบบและพฤติกรรมการพนันในวงการมวยไทย พบว่า มี 2 รูปแบบ คือ การพนันมวยไทยถูกกฎหมายและการพนันมวยไทยผิดกฎหมาย
โดยการพนันมวยไทยถูกกฎหมาย หมายถึง การพนันมวยไทยที่เล่นในสนามมวยมาตรฐานหรือสนามมวยชั่วคราวที่ทางราชการอนุญาตให้จัดชกและอนุญาตให้เล่นการพนันได้
การพนันแบบนี้ถือเป็นการพนันแบบเห็นหน้า (Face to Face) หรือเป็นแบบ Real Time กล่าวคือ ถึงแม้ก่อนชก เซียนมวยจะกําหนดเรต หรืออัตราต่อรองระหว่างนักมวยฝ่ายแดง กับฝ่ายน้ำเงินไว้ก็ตาม
แต่เมื่อนักมวยเริ่มชกและดําเนินไปตลอดทั้ง 5 ยกนั้น อัตราต่อรองก็จะวิ่งขึ้นลงตาม สถานการณ์จริงบนเวที และการพนันในเวที โดยส่วนใหญ่มักจะเล่นเดิมพันด้วยเงินสด และในวันนั้น นักพนันและ เซียนมวยจะมีสถานะทั้งเป็นผู้เล่นและเจ้ามือในเวลาเดียว
นักพนัน และเซียนมวยคนหนึ่งๆ อาจจะเป็นเจ้ามือรับ แทง และเล่นพนันด้วยกับอีกหลายๆ คนในคราวเดียวกัน ตลอดการชก 5 ยกของมวยคู่นั้น
งานวิจัยชิ้นนี้ ยังระบุว่า การพนันในสนามมวยเป็นการพนันที่ไม่ต้องเสียค่านายหน้าหรือเสียค่าตัวแทน และนักการพนันทุกคนมี อํานาจในการเล่นภายใต้เงื่อนไขทางการเงินของแต่ละคนที่มีอยู่ ด้วยนักการพนันทุกคนมีในฐานะเป็นทั้งผู้เล่น และ เจ้ามือในคราวเดียวกัน ครั้นจะมีความแตกต่างกันบ้างก็แต่เฉพาะเรื่องจํานวนเงินในมือในการเล่นและต่อรองเท่านั้น
ซึ่งวัฒนธรรมของการพนันมวยในสนามเป็นวัฒนธรรมเจ้าพ่อ-นักเลง กลไกของระบบจะสร้างความไว้เนื้อ เชื่อใจระหว่างนักการพนันด้วยกันเพราะ “มวยชกเสร็จ เคลียร์เงินทันที และจบเกมพนัน”
งานวิจัยชิ้นนี้ ยังระบุด้วยว่า ในวงการธุรกิจสีเทาที่เกี่ยวข้องกับการพนัน มักจะมีขาใหญ่ในวงการมาเกี่ยวข้อง ขาใหญ่มี อํานาจอย่างไม่เป็นทางการในการควบคุมและจัดการ (Control and Management) วงการมวยไทยให้เลื่อนไหล ไปได้จะคู่ขนานไปกับอํานาจที่เป็นทางการในแง่ผลประโยชน์ร่วม (Common Interest) ซึ่งคุณลักษณะของขาใหญ่ในวงการมวย มักจะเป็นบุคคลที่ผ่านการสะสมทุนในวงการมาก่อน เป็นผู้ที่มีอิทธิพล มีบารมีอํานาจ (ทั้งใน ระบบและนอกระบบ) และมีเครือข่ายกว้างขวางทั้งคนวงใน (In-group) เช่น นายสนามมวย โปรโมเตอร์ หัวหน้า ค่ายมวย และตัวนักมวย และคนวงนอก (Out-group) คือ กลุ่มข้าราชการ ทหาร ตํารวจ และนักการเมือง
ดังนั้นในวงการมวย ระบบกลไกความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ และระบบพวกพ้องยังคงเป็นพลังสําคัญ ด้านหนึ่ง ให้อุตสาหกรรมมวยไทย รวมทั้งการพนันในวงการมวยดํารงอยู่ได้ และระบบดังกล่าวยังมีผลต่อทิศทางการพัฒนา มวยไทยใหญ่ก้าวขึ้นสู่ระดับ “world sport world standard” อีกด้วย เพราะความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ความเชื่อถือ ในตัวบุคคล ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวบุคคลและผลประโยชน์ในเชิงปัจเจกจะมีมากกว่าตัวระบบ ซึ่งทําให้การบังคับ ใช้พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 จึงยังไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
สำหรับประมาณมูลค่าการพนันในวงการมวย งานวิจัยนี้ ระบุถึงข้อมูลการพนันมวยไทยแบบถูกกฎหมาย ที่เล่นในสนามมวยมาตรฐานหรือสนามมวยชั่วคราวที่ทางราชการอนุญาตให้จัด ชกและอนุญาตให้เล่นการพนันได้ ไว้ด้วย
โดยเน้นศึกษาข้อมูลจาก เวทีมวยมาตรฐานสองเวที คือ สนามมวยราชดําเนิน มีความจุประมาณ 6,000-7,000 คน และสนามมวยลุมพินีประมาณ 6,000 คน เป็นหลัก
ซึ่ง ในการประมาณการมูลค่าพนันมวยไทยถูกกฎหมาย มีเหตุผลและเงื่อนไขหลายประการ คือ
1) ความจุของคนดู สนามมวยราชดําเนินและลุมพินี
จากสัมภาษณ์ผู้บริหารทั้งสองสนามมวย ส่วนสนามอื่นๆ (ส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค) นั้นจากการสัมภาษณ์เชิงลึกเซียนมวย โปรโมเตอร์ หัวหน้าค่ายมวย โดย เฉลี่ยสนามมวยต่างจังหวัดจะจัดชกในแต่ละครั้งจะมีคนเข้าชมประมาณ 700-1,000 คนต่อนัด มีต้นทุนค่าใช้จ่าย ในการจัดต่อครั้งประมาณ 300,000-400,000 บาท และจะต้องขออนุญาตสํานักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย ประจําท้องที่นั้นๆ ก่อน และจะต้องขออนุญาตเล่นการพนันจากฝ่ายปกครองในพื้นที่นั้นๆ ด้วยเพื่อจัดชกมวยและ เล่นพนันได้ และหลายครั้งที่จัดชกในเวทีต่างจังหวัด จะคู่ขนาดไปกับการเล่นพนันมวยตู้ที่มีถ่ายทอดจากสนามมวย จากกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อเล่นการพนัน
2) ในการประมาณจํานวนนัดที่จัดในต่างจังหวัดนั้น
จากการสัมภาษณ์เชิงลึกเซียนมวย โปรโมเตอร์ หัวหน้าค่ายมวยพบว่า โปรโมเตอร์ หัวหน้าค่ายมวย และเซียนมวย จะเป็นเครือข่ายกลุ่มเดียวกัน จึงมีการหมุนเวียนจัดชกไปตามจังหวัดต่างๆ ทั้งภาคเหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ โดยเฉลี่ยในรอบสัปดาห์จะมีการจัดชกมวยภาค ละ 4-6 นัด ตัวอย่างเช่น จัดชกที่จังหวัดมหาสารคาม โปรโมเตอร์มวย หัวหน้าค่ายมวย และเซียนมวยในพื้นที่ จังหวัดใกล้เคียง เช่น อุบลราชธานี สุรินทร์ และศรีษะเกษ มาร่วมกันจะเป็นเครือข่ายจัดร่วมกันหรือสลับหมุนเวียน กันจัดไปเรื่อยๆ โดยนํานักมวยในสังกัดของตนมาชก และเล่นพนันกัน ซึ่งพื้นที่อื่นหรือภูมิภาคอื่นๆ ก็จะมีการสร้าง เครือข่ายแบบเดียวกันนี้เช่นกัน บางครั้งจะมีโปรโมเตอร์มวยชื่อดังจากสนามมวยกรุงเทพไปจัดชกในพื้นที่นั้นๆ โดย ร่วมกับโปรโมเตอร์ท้องถิ่นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์แบบเครือข่าย รวมทั้งยังเป็นถ่ายเทนักมวยในสังกัดจากค่ายภูธรสู่ค่ายเมืองหลวง เพื่อปั้นเป็นดาราในวงการมวยและแบ่งราคาค่าตัวนักมวยรายนั้นๆ ในสังกัดไปด้วย
3) วงเงินการพนันเฉลี่ยต่อรายการ
จากการสัมภาษณ์เชิงลึกเซียนมวย โปรโมเตอร์ หัวหน้าค่ายมวย ระบุ ว่า วงเงินการพนันเฉลี่ยต่อนัดจะมากน้อยจะขึ้นอยู่กับรายการมวยว่าจัดสูสีมากน้อยแค่ไหน โปรโมเตอร์ผู้จัด น่าเชื่อถือเพียงใด เช่น ศึกวันทรงชัย รัตนสุบรรณ มีการเล่นพนันแบบได้เสียคู่ละเป็นล้านบาท และคู่มวยที่ชก ระดับไหน เป็นต้น
จากประสบการณ์ของบุคคลเหล่านั้นระบุ จํานวนเงินเล่นพนันต่อรายการในสนามมวยราช ดําเนินและลุมพินีเฉลี่ย 35-40 ล้านบาท เหตุที่ผู้วิจัยให้วงเงินการพนันสนามมวยราชดําเนินสูงกว่าลุมพินีเพราะ จํานวนคนเข้าดูมากกว่า และสนามมวยตั้งอยู่ใจกลางเมืองเดินทางไปมาสะดวกไม่ว่าจะเป็นเซียนมวย นักการพนัน หรือคนดูทั่วไป ส่วนสนามมวยต่างจังหวัดจํานวนเงินเล่นพนันเฉลี่ยต่อรายการ 300,000-1,200,000 บาท ซึ่งคน เข้าสนามมวยจะมาเล่นการพนันในสัดส่วน 90:10 คือเล่นพนัน 90 % ไม่เล่น 10 % และเล่นพนันมวย 5 ยก ทั้งนี้ เซียนมวยและนักการพนันมักจะเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จะมีพฤติกรรมเดินสายเพื่อเล่น การพนันในสนามมวยและสนามม้า
4) วงเงินการพนันต่อปีคํานวณ
มีการระบุวงเงินการพนันเฉลี่ยต่อรายการของแต่ละสนามคูณด้วยจํานวนครั้งที่แต่ละสนามได้โควต้าจัดในรอบเดือนและในรอบปี
ตัวอย่างเช่น สนามมวยราชดําเนินวงเงินการพนัน 7,680 ล้านบาท 111 มาจากจํานวนเงินเล่นพนันต่อรายการ 40 ล้านบาท โควตาจัดสัปดาห์ละ 4 ครั้ง 1 เดือนมี 4 สัปดาห์คูณ 12 เดือน ส่วนสนามมวยลุมพินีและสนามอื่นๆ จะใชัหลักการเดียวกัน
ในงานวิจิยนี้ ยังมีการระบุว่า การพนันมวยไทยถูกกฎหมาย จากการประเมินของผู้วิจัย ด้วยเหตุผลและเงื่อนไขข้างต้น วงเงินการ พนันมวยไทยในส่วนนี้ จะมีมูลค่าประมาณ 13,152-14,448 ล้านบาทต่อปีซึ่งจํานวนดังกล่าวจะสอดคล้องกับการ ประเมินของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ในปี พ.ศ.2558 มีมูลค่าประมาณ 14,420 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลในรายงานวิจัยโครงสร้างและพฤติกรรมการพนันมวยไทย ที่มีการเผยแพร่เป็นทางการในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา
ก่อนที่สนามมวย จะถูกระบุว่า เป็นแหล่งสำคัญในการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิดดังที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้
(อ่านรายงานวิจัยฉบับเต็ม ที่นี่ http://www.gamblingstudy-th.org/imgadmins/research_file/ebook-60-01-Rattapong.pdf?fbclid=IwAR0WVGUt3nsJnBPla4Zpmr7zzEq0mE-pBGBxdus8Wr7IgkB8dzIDsclCMXc)
อ่านประกอบ :
เจาะมวยไทย 7สี จัดชก 8 มี.ค. ก่อน กกท. ร่อนหนังสือแจ้งเตือน โควิด 13, 16 มี.ค.
โชว์อีก 2 ฉบับ หนังสือ กกท.แจ้งระงับจัดแข่งมวย 5 สนาม มีช่อง 7-เวทีนานาชาติรังสิตด้วย
ผ่าโครงสร้างบอร์ดบริหาร-เอกชนดูแลสนามมวยลุมพินี ก่อนบิ๊กแดงสั่งสอบจัดชก 6 มี.ค.
โยก'เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก' ช่วยราชการ บก.ทบ.เปิดช่องสอบปมสนามมวยลุมพินีจัดแข่งชก
'ศรีสุวรรณ' จี้ บิ๊กตู่ สอบจริยธรรมผู้บริหารส.ลุมพินี ฝ่าฝืนคำสั่งปล่อยจัดชกมวย 6 มี.ค.
ชัดๆ ลำดับเหตุการณ์-ผู้เกี่ยวข้อง จัดมวยลุมพินี 6 มี.ค.หลังโดนเตือนโควิด -‘บิ๊กแดง’สั่งสอบ
แห่งที่ 3! เวทีอ้อมน้อย 'ดวง อยู่บำรุง' กกท. แจ้งเตือนโควิด 4 มี.ค.-เดินหน้าจัดชกต่อ 7 มี.ค.
เบื้องลึก! โควิดระบาดลุมพินี กกท.ใช้คำสั่ง'บิ๊กตู่' แจ้งเลื่อนชก-แต่ยังจัดบิ๊กแมตซ์ 6 มี.ค.
ไม่ใช่แค่ลุมพินี! ราชดำเนิน โดน กกท. แจ้งเตือนโควิด 4 มี.ค.-แต่ยังจัดชก 6 รายการรวด
นวพร เรืองสกุล : ถึงเวลาต้องเชือด!
เจาะธุรกิจ 2 สนามมวย ‘ราชดำเนิน -ลุมพินี’ ก่อนถูกรัฐสั่งปิด แหล่งแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage