"...มีข้อมูลยืนยันจากคนในวงการมวยว่า รายได้ผลประกอบการของบริษัทเอกชนที่บริหารจัดการสนามมวยในประเทศไทยนั้นถือว่ามีจำนวนน้อยมาก ถ้าหากนำไปเปรียบเทียบกับผลประโยชน์แอบแฝง ของบุคคลบางกลุ่ม ที่เข้ามาแสวงหาผลจากธุรกิจด้านนี้ทั้งในบริเวณสนามมวย และนอกสนามมวย โดยเฉพาะเรื่องการพนัน ที่สร้างผลตอบแทนสร้างรายได้จำนวนมหาศาล แบบคิดเป็น ยก ต่อ ยก เลยทีเดียว และนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำสนามมวย นับเป็นจุดที่มีการรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมาก หลากหลายอาชีพในสังคม และสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้.."
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ในไทยกำลังกลายเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะการบริหารจัดการของรัฐบาลที่บางฝ่ายบางกลุ่มตั้งข้อสังเกต และวิตกกังวลว่า รัฐบาลชุดนี้จะฝ่ามรสุมดังกล่าวไปได้หรือไม่ ?
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามประคับประคองแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 โดยออกมาตรการหลายส่วน สำคัญ ๆ เช่น การปิดสถานศึกษา (มหาวิทยาลัย โรงเรียน โรงเรียนกวดวิชา) ทุกแห่ง สถานบันเทิงทุกแห่ง รวมถึงสถานที่ที่อาจมีคนชุมนุมเกิน 50 คนขึ้นไป เช่น สนามมวย โรงภาพยนตร์ เป็นต้น
(อ่านประกอบ : ครม.คลอด 6 มาตรการรับมือโควิดฯ ปิดสถานศึกษา-สถานบันเทิงทุกแห่ง 14 วัน)
ประเด็น ‘สนามมวย’ น่าสนใจขึ้นมา จากกรณีของนายแมทธิว ดีน ดารานักแสดงชื่อดัง ถูกตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 จากการไปดูมวยที่สนามมวยราชดำเนิน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สนามมวยราชดำเนินออกแถลงการณ์ว่า คนที่เข้ามาชมมวยระหว่างวันที่ 6-12 มี.ค. 2563 เวทีมวยราชดำเนินประสานไปยังกองควบคุมโรคว่า สามารถไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ฟรี ที่สถาบันควบคุมโรคเขตเมืองบางเขน (ตรงข้ามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดหลักสี่) นอกจากนี้ยังปิดสนามมวยราชดำเนินระหว่างวันที่ 15-28 มี.ค. 2563 เพื่อเฝ้าระวังและทำความสะอาดสนามมวยด้วย
อีกแห่งสนามมวยลุมพินี ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน โดยกองทัพบก ออกมายืนยันว่า พล.ต.ราชิต อรุณวงษ์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวยลุมพินี ติดเชื้อด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษา และกองทัพบกมีคำสั่งกักตัว 1 ใน 5 เสือกองทัพบก 14 วันด้วย เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับ พล.ต.ราชิต ในวันดูมวยดังกล่าว ส่วนนักการเมืองชื่อดัง เช่น นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ที่ไปดูมวยวันดังกล่าวไปตรวจแล้วไม่พบเชื้อโควิด-19 แต่จะกักตัวดูอาการอยู่บ้าน 14 วัน (อ่านประกอบ : ทร.ระดมทหารแพทย์แก้โควิด! ทบ.รับเจ้ากรมสวัสดิการฯติดเชื้อ-กักตัว 1 ใน 5 เสือ ทบ., ‘ลูกเขยสุเทพ’ติดเชื้อโควิดฯ-‘ถาวร’ตรวจแล้วปลอดภัยหลังร่วมงานสนามมวย'แมทธิว ดีน)
ทั้งนี้ สนามมวยลุมพินีออกแถลงการณ์เช่นกันเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2563 ว่า ตัดสินใจปิดสนามมวยจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น นอกจากนี้ประสานเจ้าหน้าที่กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กทม. ทำการพ่นยาฆ่าเชื้อภายในและภายนอกสนามมวยแล้ว
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามคำสั่งประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) เช่น ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ตลาดนัด รวมถึงสนามมวยด้วย (อ่านประกอบ : กทม.สั่งปิด 'ห้าง-ตลาด' 22 มี.ค. -12 เม.ย. ยกเว้นซุปเปอร์ฯ-ร้านสะดวกซื้อ-แผงของสด)
ในมุมวัฒนธรรม หลายคนคงรู้จักว่า สนามมวยทั้ง 2 แห่ง ถือเป็นสนามมวยที่มีชื่อเสียงอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นที่รู้จักจากนานาประเทศในการเผยแพร่แม่ไม้มวยไทยไปทั่วโลก
มาในมุมธุรกิจกันบ้าง ?
(ภาพภายนอกเวทีมวยราชดำเนิน, ภาพจาก http://www.muaythai2000.com/)
สนามมวยราชดำเนิน ถูกก่อสร้างขึ้นเมื่อสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2488 ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ปัจจุบันสนามมวยแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท เวทีมวยราชดำเนิน จำกัด โดยเช่าช่วงต่อจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีนายเฉลิมพงษ์ เชี่ยวสกุล เป็นนายสนามมวย
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2563 พบว่า บริษัท เวทีมวยราชดำเนิน จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2496 ทุนปัจจุบัน 6,820,000 บาท สำนักงานตั้งอยู่ที่ 8 ถ.ราชดำเนินนอก แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. แจ้งประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าสถานที่และเครื่องปรับอากาศ
ปรากฏชื่อนายเฉลิมพงษ์ เชี่ยวสกุล พล.ต.ต.พาสน์ จักษุรักษ์ นายจอม เชี่ยวสกุล นายสุชาต เชี่ยวสกุล พล.ร.อ.อธิคม ฮุนตระกูล นายวิชา วรมาลี นายพศ อดิเรกสาร นายไพร ปัณยาลักษณ และนายจิต เชี่ยวสกุล เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 25,274,623 บาท รายจ่ายรวม 23,456,058 บาท เสียภาษีเงินได้ 695,624 บาท กำไรสุทธิ 1,122,939 บาท แจ้งงบสถานการเงินมีสินทรัพย์รวม 62,951,310 บาท หนี้สินรวม 28,489,539 บาท
ย้อนไปปี 2560 มีรายได้รวม 21,418,325 บาท รายจ่ายรวม 20,373,372 บาท เสียภาษีเงินได้ 358,207 บาท กำไรสุทธิ 686,746 บาท ปี 2559 มีรายได้รวม 21,335,384 บาท รายจ่ายรวม 19,831,339 บาท เสียภาษีเงินได้ 450,687 บาท กำไรสุทธิ 1,053,357 บาท
ส่วนสนามมวยลุมพินี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2499 โดย พล.ต.ประภาส จารุเสถียร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ยศ และตำแหน่งขณะนั้น) นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายธุรกิจของกองทัพบก ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกรมสวัสดิการทหารบก โดยตอนแรกตั้งอยู่ที่ ถ.พระราม 4 บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาสัญญาเช่าดังกล่าวหมดลง จึงย้ายไปเวทีแห่งใหม่บริเวณศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ถ.รามอินทรา โดยใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 380 ล้านบาท และเริ่มการแข่งขันชกมวยอย่างเป็นทางการในปี 2557
ข้อมูลจากกรมสวัสดิการทหารบก และสื่อมวลชนทั่วไป พบว่า สนามมวยลุมพินี มีบริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสื่อและวิดีทัศน์ชื่อดัง และบริษัท เวิร์ล สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้บริหารสิทธิประโยชน์ภายในสนามมวย ร่วมกับกรมสวัสดิการทหารบก
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2563 พบว่า บริษัท เวิร์ล สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2558 ทุนปัจจุบัน 40 ล้านบาท สำนักงานตั้งอยู่ที่ 19 ซ.รามคำแหง 22 (จิตตรานุเคราะห์) ถ.รามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. แจ้งประกอบธุรกิจบริหารสิทธิประโยชน์สนามมวยลุมพินี
ปรากฏชื่อนายสิทธิชัย เกษรสมบัติ และ น.ส.ธนภัทร ธรรมสุทธิ์ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 55,581,776 บาท รายจ่ายรวม 60,030,715 บาท ขาดทุนสุทธิ 5,567,939 บาท มีสินทรัพย์รวม 38,433,995 บาท หนี้สินรวม 52,610,762 บาท
ย้อนไปปี 2560 มีรายได้รวม 53,509,419 บาท รายจ่ายรวม 61,054,220 บาท ขาดทุนสุทธิ 8,699,082 บาท ปี 2559 มีรายได้รวม 48,261,229 บาท รายจ่ายรวม 68,808,090 บาท ขาดทุนสุทธิ 21,202,183 บาท
(พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ. ทำพิธีเปิดสนามมวยลุมพินีแห่งใหม่ ถ.รามอินทรา, ภาพจาก https://mgronline.com/)
ส่วนบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2554 ทุนปัจจุบัน 326,543,579 บาท แจ้งประกอบธุรกิจขายซีดี วีซีดี เพลง ภาพยนตร์ สื่อโทรทัศน์ และหนังสือ โฆษณาและผลิตภาพยนตร์ ตั้งอยู่ที่ 222/148-150 อาคารบ้านชุดสวนจตุจักร ซ.วิภาวดีรังสิต 17 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กทม.
ปรากฏชื่อ พล.ต.ต.ลัทธสัญญษ เพียรสมภาร นายสมชาย วงศ์ทรัพย์สิน นายสมเกียรติ ฉั่วศิริพัฒนา นายฉัฐภูมิ ขันติวิริยะ นายอริชัย รักธรรม นายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล นายปรวิชย์ โอภาส นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดปี 2562 (วันที่ 31 ธ.ค. 2562) มีรายได้รวม 40.31 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 15.77 ล้านบาท
ส่วนบริษัท มอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ชื่อเดิมบริษัท ดีเอ็นเอ เรฟโวลูชั่น จำกัด) ซึ่งถูกระบุว่าเป็นบริษัทลูกที่เข้าบริหารจัดการสนามมวยลุมพินี จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2554 ทุนปัจจุบัน 384 ล้านบาท (ตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน)) แจ้งประกอบธุรกิจผลิต จัดสร้าง จัดการโดยประการอื่นซึ่งสิทธิรายการวิทยุ รายการการแสดงต่าง ๆ
ปรากฏชื่อนายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล และนายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 50,712,668 บาท รายจ่ายรวม 6,713,686 บาท กำไรสุทธิ 52,140,914 บาท
ในส่วนของกรมสวัสดิการทหารบก ซึ่งเป็นผู้ดูแลสนามมวยลุมพินีนั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์สนามมวยลุมพินี ระบุว่ามี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. เป็นประธานอำนวยการสนามมวยเวทีลุมพินี พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก เป็นนายสนามมวยเวทีลุมพินี พ.อ.วสันต์ พึ่งสำเภา เป็นรองนายสนามมวยคนที่ 1 พ.อ.กฤษดา จินดาลัทธ เป็นรองนายสนามมวยคนที่ 2 ส่วนหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ที่เหลือเป็นนายทหารยศ ‘พันเอก’ ทั้งหมด (อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.lumpineemuaythai.com/)
ขณะที่ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2560 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานอ้างกรมสวัสดิการทหารบก ระบุถึงตัวเลขเม็ดเงินในการบริหารจัดการสนามมวยลุมพินี ระหว่างปี 2556-2559 ระบุว่า ปี 2556 มีผลประกอบการ 144,197,880 บาท ปี 2557 มีผลประกอบการ 152,521,470 บาท ปี 2558 มีผลประกอบการ 90,324,532 บาท และปี 2559 มีผลประกอบการ 76,725,950 บาท (อ้างอิงข้อมูลจาก : https://mgronline.com/politics/detail/9600000030679)
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลยืนยันจากคนในวงการมวยว่า รายได้ผลประกอบการของบริษัทเอกชนที่บริหารจัดการสนามมวยในประเทศไทยนั้นถือว่ามีจำนวนน้อยมาก ถ้าหากนำไปเปรียบเทียบกับผลประโยชน์แอบแฝง ของบุคคลบางกลุ่ม ที่เข้ามาแสวงหาผลจากธุรกิจด้านนี้ทั้งในบริเวณสนามมวย และนอกสนามมวย โดยเฉพาะเรื่องการพนัน ที่สร้างผลตอบแทนสร้างรายได้จำนวนมหาศาล แบบคิดเป็น ยก ต่อ ยก เลยทีเดียว และนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำสนามมวย นับเป็นจุดที่มีการรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมาก และสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้
ทั้งหมดคือภาพรวมเกี่ยวกับธุรกิจของสนามมวยชื่อดัง 2 แห่ง ‘ราชดำเนิน-ลุมพินี’ ที่ถูกตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างการดูมวย และออกแถลงการณ์ปิดการดำเนินการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ขณะที่ภาครัฐเองออกมาตรการป้องกัน และสั่งปิดสถานที่ผู้คนชุมนุมเกิน 50 คน รวมสนามมวยไปแล้ว
หมายเหตุ : ภาพประกอบสนามมวยราชดำเนินจาก https://img.wongnai.com/, ภาพสนามมวยลุมพินีจาก https://s.isanook.com/ และ https://www.thaiticketmajor.com/
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage