"...นายกรัฐมนตรีที่ได้จากการลงมติของสส.ทั้งสภาอย่างเป็นเอกฉันท์ เป็นผู้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เหนือการแบ่งแยกทุกชนิด จึงอยู่ในฐานะรวมคนในชาติ และมีอิสระในการสรรหาคนเก่ง คนดีมีสมรรถนะทางปัญญาสูง มาร่วมกันบริหารประเทศพาประเทศออกจากสภาวะวิกฤตได้..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เขียนบทความเรื่อง ‘เมื่อวิกฤตสุด วิธีได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่มีฐานการยอมรับกว้างและสมรรถนะทางปัญญาสูง’
1.วิกฤตการณ์ประเทศไทย
วิกฤตประเทศไทย 2563 เป็นวิกฤตใหญ่ที่วิกฤตทุกด้านเข้ามาบรรจบกันคือ (1) ความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่แก้ไม่ได้(2) วิกฤตเศรษฐกิจที่เชื่อมกับระบบเศรษฐกิจโลกที่พิกลพิการและผกผันอย่างรุนแรงรวดเร็ว (3) วิกฤตทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นความแห้งแล้งสลับกับน้ำท่วมซึ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาฝุ่นพิษปกคลุมประเทศ (4) วิกฤติการระบาดของโคโรนาไวรัส ซึ่งกระทบองคาพยพของประเทศทุกส่วนอย่างรุนแรง การระบาดทำนองนี้จะเกิด ซ้ำๆ อีก (5) ความขัดแย้งทางการเมืองและอารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจในการบริหารจัดการบ้านเมืองของมหาชนที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วการชุมนุมประท้วงของเยาวชนกำลังขยายตัวเป็นตัวอย่าง
ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันเป็นวิกฤตใหญ่ที่ซับซ้อนและยากอย่างยิ่ง ไม่มีรัฐบาลใดในแบบเดิมๆไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร หรือรัฐบาลลูกผสมโดยการเลือกตั้งแบบปัจจุบันจะแก้ไขได้ เพราะไม่ได้รับการยอมรับและมีสมรรถนะสูงพอที่จะเผชิญปัญหาที่ใหญ่และยากขนาดนี้ได้ แล้วจะทำอย่างไร ก่อนอื่นต้องเข้าใจสาเหตุ
2. สมุทัย- สังคมเชิงอำนาจกับการขาดสมรรถนะทางปัญญา
สังคมไทยเป็นสังคมที่คิดเชิงอำนาจ มีสัมพันธภาพและโครงสร้างเชิงอำนาจ สังคมเชิงอำนาจจะสนใจการเรียนรู้น้อย จึงขาดสมรรถนะทางปัญญา ในครั้งโบราณที่ปัญหาเข้าใจง่ายตรงไปตรงมา การใช้อำนาจอาจจะได้ผล แต่สังคมปัจจุบันต่างจากสังคมโบราณโดยสิ้นเชิง ที่เป็นระบบซับซ้อน (Complex system) หลายมิติ เข้าใจยาก แปรผันรวดเร็ว เกิดโกลาหลได้ง่าย จากปัจจัยทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ในสังคมชนิดนี้การใช้อำนาจไม่ได้ผลดังที่ฝรั่งก็พูดว่า “Power is less and less effective”แต่สังคมไทยก็ยังไม่รู้ตัวและปรับตัวไปใช้สมรรถนะทางปัญญาอย่าว่าแต่การใช้อำนาจจะไม่ได้ผลเลยแม้การใช้ความรู้สำเร็จรูปโดยไม่เรียนรู้ก็ไม่ได้ผล ดังที่คนอังกฤษชื่อ Robert Chamber ไปวิจัยว่าทำไมการพัฒนาในโลกจึงไม่ได้ผลแล้วสรุปว่า เป็นเพราะมีการใช้ความรู้โดยไม่เรียนรู้เราเห็นนักการเมืองของเราไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือนเป็นนักเรียนรู้มากน้อยเพียงใดและยังข้าราชการอีกด้วย ทั้งวัฒนธรรมทั้งกฎหมายล้วนเป็นปัจจัยให้คิดเชิงอำนาจและใช้อำนาจทั้งสิ้นจึงขาดสมรรถนะทางปัญญาโดยทั่วตลอดแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ปัญหาต่างๆ สะสมรุมเร้ามากขึ้นๆ จนวิกฤตใหญ่และออกจากสภาวะวิกฤตไม่ได้
3. การเมืองที่แตกแยกและมุ่งเอาชนะกันไม่มีสมรรถนะทางปัญญา
รัฐบาลทักษิณเมื่อเริ่มต้นได้รับการเลือกตั้งมาอย่างล้นหลามถ้าใช้สมรรถนะทางปัญญาก็จะเป็นโอกาสของบ้านเมือง แต่ก็มีกลุ่มความคิดเชิงโค่นล้มหรือคิดเชิงอำนาจผสมอยู่ด้วยทำให้เสียโอกาสเพราะฝ่ายตรงข้ามย่อมต้องพยายามทำลายนี่คือการเมืองเชิงต่อสู้ทำลายกันเพราะคิดในเชิงอำนาจ วิกฤตในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถ้าใช้สมรรถนะทางปัญญาก็มีทางออกในระบบรัฐสภาแต่การคิดเชิงอำนาจก็ทำให้มีการรัฐประหาร 2557 ซึ่งสร้างความแตกแยกทางการเมืองเรื่อยมาจนทุกวันนี้ ในช่วงรัฐบาลเผด็จการ คสช.5ปี ก็เป็นการเสียโอกาสที่ขาดการใช้สมรรถนะทางปัญญาทำให้บ้านเมืองเดินมาสู่จุดวิกฤตใหญ่ในวันนี้
4. รัฐมนตรีตามโควต้าพรรคไม่การันตีว่าจะมีสมรรถนะทางปัญญา
รัฐบาลที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและมีอำนาจต่อรองสูงที่จะสรรหาคนที่ดีและเก่งที่สุดมาเป็นคณะรัฐมนตรีย่อมมีสมรรถนะในการบริหารประเทศต่ำ
การได้รัฐมนตรีตามโควต้าพรรคไม่การันตีว่าจะได้คนดีและคนเก่งที่สุดมาบริหารบ้านเมือง คณะรัฐมนตรีที่มีสมรรถนะในการบริหารต่ำไม่สามารถพาประเทศฝ่าวิกฤตไปได้แต่จะซ้ำเติมให้ประเทศวิกฤตมากขึ้น
5. จะคิดเพียงล้มรัฐบาลเท่านั้นไม่ได้แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไร
จะมีรัฐบาลใหม่เป็นที่ยอมรับและมีสมรรถนะในการบริหารประเทศได้
การล้มรัฐบาลนั้นไม่ยากเท่ากับการจัดตั้งการปกครองประเทศที่ลงตัว หลังจากนั้นเรื่องนี้มีให้เห็นมากมายในประวัติศาสตร์ระยะใกล้และไกล ในทศวรรษที่แล้วโลกตะวันตกตื่นเต้นกันมากกับปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ที่ประชาชนในประเทศอาหรับหลายประเทศลุกฮือขับไล่รัฐบาลเผด็จการของตน แต่ไม่ช้าก็ผิดหวังอย่างเช่นที่อียิปต์ หลังโค่นล้มประธานาธิบดีมูบารัคลงได้ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีนายพลซิซีมาเป็นประธานาธิบดี หรือขบวนการ 14 ตุลาคมที่โค่นล้มรัฐบาลทหารได้ ก็ไม่สามารถจัดการปกครองได้ เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของผมคนหนึ่งต่อมาไปเรียนโรงเรียนนายร้อยขณะที่ดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.เขาบอกเพื่อนเก่าโรงเรียนเตรียมอุดมว่า “ยึดอำนาจไม่ยากแต่หลังจากยึด ยากฉิบหายอั๊วไม่ทำเด็ดขาด” หรือดร.เสกสรรค์ประเสริฐกุล ก็เคยพูดว่า “เมื่อพวกผมอยู่ในป่าก็คิดยึดอำนาจรัฐ แต่โชคดีที่ไม่สำเร็จ!” มีคนโชคดีหลายคนในประวัติศาสตร์
เมื่อบ้านเมืองวิกฤตและรัฐบาลไม่มีสมรรถนะในการบริหารเป็นธรรมดาที่จะมีประชาชนประท้วงหรือคิดโค่นล้มรัฐบาล อย่าลืมคิดกันล่วงหน้าว่าถึงเวลานั้นที่รัฐบาลเก่าลาออกหรือถูกขับไล่จะมีกระบวนการอย่างไรที่จะได้รัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและมีสมรรถนะทางปัญญาที่จะพาบ้านเมืองพ้นวิกฤต
6. ต้องผลิกวิธีคิดจึงจะได้รัฐบาลที่มีคุณสมบัติดังกล่าว
ถ้ายังคิดแบบเดิม ก็จะได้รัฐบาลซ้ำซากๆ แบบเดิม ไม่ว่าจะเผด็จการเต็มตัว ประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือประชาธิปไตยเต็มใบ คือรัฐบาลที่ขาดสมรรถนะทางปัญญาที่สามารถพาชาติพ้นวิกฤต
คิดแบบเดิมๆ คือการคิดแบบแยกส่วน แบ่งข้างแบ่งขั้ว แล้วก็คิดเชิงปฏิบัติต่อสู้กันไปมา ระหว่างขั้วที่ต่างกัน แทนที่จะรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ เสียเวลากับการต่อสู้ระหว่างกันเองเสียมากกว่าร่วมกันพัฒนาปัญญาฝ่าฟันสิ่งยาก ดังปรากฏในการปฏิบัติของสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน การที่แบ่งแยกเด็ดขาดเป็นฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านที่เราเอาตัวอย่างตะวันตกมาและเห็นว่าดีนั้น ที่แท้ไม่สอดคล้องกับความจริงตามธรรมชาติและกำลังก่อให้เกิดวิกฤติระบบการเมืองในประเทศตะวันตกทุกวันนี้ ที่การเมืองแบ่งขั้วสุดๆ (polarised) ที่ไม่ดำเนินตามความเป็นเหตุเป็นผลสุดแต่ว่าเป็นพวกใครมากกว่า อย่างเมื่อเร็วๆนี้ วุฒิสภาอเมริกาปฏิเสธที่จะรับฟังหลักฐาน รีบรุดลงมติว่าประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ผิด เพราะเป็นพวกเดียวกัน Steven Brill คนอเมริกันตั้งคำถามว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” ประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด บัดนี้มีความเหลื่อมล้ำสุดๆ มีการเมืองที่แบ่งขั้วสุดๆ และมี dysfunctional government หรือรัฐบาลที่พิการ อารยธรรมตะวันตกกำลังเสื่อมเพราะวิธีคิดที่ผิด เราไม่ควรจะเอาอย่างเขาเรื่อยไป
แล้ววิธีคิดที่ถูกคืออย่างไร
คือวิธีคิดที่สอดคล้องกับความจริงตามธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติ
ความจริงตามธรรมชาติคือความเป็นเหตุเป็นผลหรือความเป็นกระแสของเหตุปัจจัยที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า อิทัปปัจจยตาอิทะ แปลว่า นี้ ความหมายก็คือนี้ทำให้เกิดนี้ นี้ทำให้เกิดนี้ นี้ทำให้เกิดนี้เรื่อยมาและเรื่อยไป
หรือกระแสของความเป็นเหตุปัจจัยที่หนุนเนื่องไม่ขาดสาย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือทรงตัวอยู่อย่างเอกเทศโดยไม่สัมพันธ์กับเหตุและการก่อผลต่อไปไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดที่ตายตัว จึงไม่มีสภาวะสุดโต่ง (Extreme) แบ่งข้างแบ่งขั้วมีแต่ความเป็นเหตุเป็นผล
ท่านจึงเรียกว่าเป็น “ทางสายกลาง”หรือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายปัญญา เพราะเป็นทางแห่งความเป็นเหตุเป็นผลล้วนๆ ไม่แบ่งข้างแบ่งขั้ว ไม่มีสภาวะสุดโต่ง
ยามสงครามคนในชาติไม่ทะเลาะกันแต่รวมตัวเอาชนะศัตรู
วิกฤตใหญ่ประเทศไทย 2563 ใหญ่กว่าสงครามพม่ามากนักเพราะซับซ้อนและวิกฤตทุกมิติ การเมืองแบบแบ่งแยกและแตกแยกเอาชนะสงครามครั้งนี้ไม่ได้ต้องพลิกมาใช้ทางสายกลางทางการเมือง
นั่นคือใช้ปัญญาหรือความเป็นเหตุเป็นผลล้วนๆ โดยไม่แบ่งข้างแบ่งขั้ว
7. วิธีได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิถีทางสายกลางทางการเมือง
สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยวิจารณญาณที่ดีที่สุดของสมาชิกแต่ละท่านอย่างอิสระ ปราศจากอาณัติของการแบ่งข้างแบ่งขั้วใดๆ โดยรับฟังเสียงที่บริสุทธิ์และเชื่อถือได้ทางสังคมโดยคำนึงถึงผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการเป็นผู้มีจิตสำนึกสาธารณะ ความสุจริตมีสติปัญญาสูงรับฟังผู้อื่นและสามารถสื่อสารสาธารณะอย่างมีสาระและสุนทรียะการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีให้ทำเป็นการลับหลายๆ รอบจนได้มติเป็นเอกฉันท์ แบบสภาพระคาร์ดินัลเลือกพระสันตะปาปา ที่วิหารซิสทีนวังวาติกัน ที่บางครั้งใช้เวลาหลายวันกว่าจะบรรลุความเป็นเอกฉันท์ ประชาธิปไตยแบบเอกฉันท์ก็ใช้ในทางพุทธไม่ใช่มีแต่ประชาธิปไตยเสียงข้างมากซึ่งแม้ภายหลังลงมติก็ยังแตกแยกกันต่อไปวิถีทางปัญญาสู่ประชาธิปไตยเอกฉันท์ได้
นายกรัฐมนตรีที่ได้จากการลงมติของสส.ทั้งสภาอย่างเป็นเอกฉันท์ เป็นผู้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เหนือการแบ่งแยกทุกชนิด จึงอยู่ในฐานะรวมคนในชาติ และมีอิสระในการสรรหาคนเก่ง คนดีมีสมรรถนะทางปัญญาสูง มาร่วมกันบริหารประเทศพาประเทศออกจากสภาวะวิกฤตได้
8. วิถีทางสายกลางทางการเมือง จะพลิกสถานการณ์
จากร้ายกลายเป็นดีได้ในทุกด้านอย่างรวดเร็ว
อารยธรรมใดๆเกิดจากวิธีคิดเป็นพื้นฐานวิธีคิดที่ผิดในที่สุดจะพาอารยธรรมนั้นไปสู่สภาวะวิกฤต อารยธรรมตะวันตกที่ดูเสมือนดีเมื่อตั้งต้น บัดนี้กำลังวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆเพราะทำโลกเสียสมดุลในทุกมิติ วิธีคิดเบื้องหลังอารยธรรมตะวันตกคือ การคิดแบบแยกส่วนแบ่งข้างแบ่งขั้ว
พระพุทธองค์ทรงค้นพบกฎความจริงของธรรมชาติคือกระแสของความเป็นเหตุเป็นผลล้วนๆ ไม่ตายตัวไม่แยกส่วนไม่สุดโต่ง จึงมีชื่อเรียกว่า “ทางสายกลาง” หรือมัชฌิมาปฏิปทาคือการดำเนินบนเส้นทางสายปัญญาประกอบด้วยความเป็นเหตุเป็นผลล้วนโดยไม่แบ่งข้างเป็นขั้ว
เมื่อนําวิธีคิดแบบทางสายกลางมาใช้กับทางการเมืองนอกจากจะทำให้ได้รัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้าง เหนือการแบ่งแยกเป็นข้างเป็นขั้ว และอยู่ในฐานะจะมีสมรรถนะทางปัญญาสูง ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังนำไปสู่ BBD(Broad-Based Democracy) หรือประชาธิปไตยที่มีฐานกว้าง (ตามที่กล่าวถึงในบทความเรื่อง “การชุมนุมของนักเรียนและนักศึกษาแนวโน้มที่ดีสู่ BBD”ที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้แล้ว) อันจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนานโยบายสาธารณะอันเป็นกระบวนการที่ทรงพลังยิ่งในการพาประเทศไทยออกจากสภาวะวิกฤต
นอกจากนั้นเมื่อคนไทยทั้งชาติร่วมใจกันก้าวข้ามการแบ่งแยกทุกประเภทด้วยวิธีคิดทางสายกลางคนทั้งประเทศจะสามารถร่วมกันทำสงครามเบ็ดเสร็จเอาชนะความยากจน และการขาดความเป็นธรรม (ดูหนังสือโดยผู้เขียนชื่อ “แผนสงครามเบ็ดเสร็จเอาชนะความยากจนและการขาดความเป็นธรรม”โดยสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน)
เครื่องมือที่ใช้ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยแนวทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทาพัฒนาประเทศไทยคือ“การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning to action)ในสถานการณ์จริง”ซึ่งเป็นกระบวนการทางปัญญาที่ทรงพลังยิ่งไม่ใช่วิธีการใช้อำนาจแบบเดิมๆซึ่งไม่ได้ผลแล้ว
การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ในทุกมิติ ตั้งแต่จิตสำนึก ความรู้สึกนึกคิด และสัมพันธภาพ ตลอดจนการจัดองค์กร จนเรียกว่าเกิดอารยธรรมใหม่แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี สันติ สมดุล หรือประเทศไทยยุคศรีอาริยะทั้งนี้ด้วยแนวทางมัชฌิมาปฏิปทาพัฒนาประเทศไทยบนกฎทางสายกลางตามธรรมชาติที่ค้นพบโดยพระพุทธองค์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/