“...อีกกระแสหนึ่งว่ากันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคฝ่ายค้าน ไม่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลรายอื่นนั้น มี ‘นักการเมืองใหญ่’ จากพรรคร่วมรัฐบาลบางราย ยื่นข้อเสนอ ‘ก้อนโต’ บ้างว่ากันว่าเป็น ‘เมกะโปรเจ็ค’ บางโครงการ วงเงินหลัก 900-1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนแก่ ‘นักการเมืองใหญ่’ จากฝ่ายค้าน…”
แม้จะแค่เดือน ก.พ. แต่อุณหภูมิทางการเมืองยังร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง!
โดยเฉพาะประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2) ที่ฝ่ายค้าน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ยื่นญัตติซักฟอกรัฐมนตรี 6 ราย ในรัฐบาลชุดนี้ ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ (อ่านประกอบ : เป็นทางการ! เคาะแล้ว 6 รมต.ถูกซักฟอกมี'บิ๊กป้อม'ด้วย-เศรษฐกิจใหม่ถอนตัวฝ่ายค้าน)
ปัจจุบันการยื่นญัตติดังกล่าวกำลังถูกตรวจสอบอยู่จากวิปฝ่ายรัฐบาล โดยเห็นว่า การยื่นซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่สามารถทำได้ เพราะขณะนี้ผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 มาแล้ว ทุกพรรคทุกฝ่ายล้วนผ่านกระบวนการประชาธิปไตยมาด้วยกันทั้งหมด
อย่างไรก็ดีซีกฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เห็นตรงกันในเรื่องกำหนดเวลาซักฟอกคือประมาณ 3 วัน แต่กำหนดวันแตกต่างกัน โดยซีกฝ่ายค้านเห็นว่าควรเริ่มระหว่างวันที่ 19-21 ก.พ. 2563 ส่วนฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าควรเริ่มระหว่างวันที่ 25-27 ก.พ. 2563 โดยทั้งสองฝ่ายต้องไปหารือตกลงเรื่องวันกันต่อไป เพื่อให้ตรงกัน
แต่ประเด็นที่น่าสนใจในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้คือ รายชื่อรัฐมนตรีทั้ง 6 ราย ล้วนแต่เป็นบุคคลที่มาจากยุครัฐบาล คสช. เดิมทั้งสิ้น ไม่มีรัฐมนตรีรายใดที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เช่น พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ แม้แต่รายเดียว ?
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
(นายสมพงษ์ พร้อมแกนนำฝ่ายค้าน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อนายชวน หลีกภัย, ภาพจาก https://s.isanook.com/)
หนึ่ง หากมองการเมืองอย่าง ‘สวยหรู’ อาจเป็นไปได้ว่าฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคใหญ่ มี ส.ส. ลำดับ 1 ในสภาฯ เล็งเห็นว่า การเลือกอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะรัฐมนตรีที่มาจากยุค คสช. เดิม ถือเป็นการ ‘ดิสเครดิต’ รัฐบาลที่ถูกมองว่า ‘สืบทอดอำนาจ’ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้เดิมของกลุ่มฝ่ายค้านมาตั้งแต่ยุค คสช. ยึดอำนาจระหว่างกลางปี 2557-ต้นปี 2562
แผนการนี้ที่ผ่านมาค่อย ๆ ประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อย ๆ มีบุคคล โดยเฉพาะเยาวชนจำนวนมากที่เติบโตขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ไม่ยอมรับอำนาจของ คสช. เห็นได้จากในปัจจุบันที่มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นอยู่ตลอดหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 เรียกประชาชนมาเป็นพวกได้จำนวนไม่น้อย
อย่างไรก็ดีว่ากันว่าแผนการนี้หวังผล ‘มากไปกว่านั้น’ คือต้องการปล่อยให้กลุ่มอำนาจ คสช. เดิม ‘โดดเดี่ยว’ โดยไม่มีพรรคพันธมิตรในทางการเมือง ?
โดยเฉพาะพันธมิตรสำคัญที่ขาดไม่ได้อย่าง พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ หากขาด 2 พรรคนี้ไป พรรคพลังประชารัฐแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่เป็นแขนขาของ คสช.เดิม จะกลายเป็น ‘ง่อย’ ในทันที
แม้ประวัติศาสตร์การเมืองจะเคยบันทึกไว้ว่าพรรคภูมิใจไทย ‘แตกหัก’ กับพรรคเพื่อไทย มาตั้งแต่ปลายปี 2551 ที่ถูกพรรคประชาธิปัตย์ ‘ดีลลับ’ ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทยขณะนั้น หล่นวาทะในตำนานอย่าง “มันจบแล้วครับนาย” หรือพรรคประชาธิปัตย์ที่จุดยืนชัดเจนว่าอยู่ตรงข้ามกับ ‘ระบอบทักษิณ’ มาโดยตลอดก็ตาม
แต่อย่างที่รู้กันว่าในแวดวงการเมือง ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร ?
ด้วยรัฐธรรมนูญที่ถูก ‘ดีไซน์’ ออกมาในรูปแบบนี้ การพลิกขั้ว-ย้ายข้าง เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิมมาก มี ‘งูเห่า’ สารพัดพรรคที่เกิดขึ้นในสภาฯตลอดเวลา กรณีล่าสุดคือ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ส.ส. อย่างน้อย 5 รายถอนตัวจากฝ่ายค้านไปแล้ว เหลือแต่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รายเดียวที่ยัง ‘ล่มหัวจมท้าย’ อยู่
ก่อนหน้านี้ในช่วงฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลเมื่อกลางปี 2562 การแย่งชิงพรรคร่วมระหว่าง พรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส. ลำดับที่ 1 และพรรคพลังประชารัฐที่มีเสียงมหาชน (ป๊อปปูลาร์โหวต) ลำดับที่ 1 นั้น ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด มีข่าวลวงข่าวปล่อยเกิดขึ้นตลอดเวลา
โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญ 2 พรรคใหญ่คือ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกปล่อยข่าวว่า วันนี้ไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย อีกวันไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น แม้ว่าท้ายที่สุด 2 พรรคนี้จะไปร่วมสังฆกรรมกับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มี ส.ว. 250 เสียงโหวตหนุน ‘บิ๊กตู่’ นั่งนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ไม่มีพรรคใดจะไปทัดทานได้ก็ตาม
แต่อำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. มีเพียง 5 ปีเท่านั้น และปัจจุบันสภาฯตั้ง กมธ.พิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันอยู่ โดยเฉพาะการตัดอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.
ดังนั้นการที่พรรคเพื่อไทยใช้แผน ‘โดดเดี่ยว’ คสช. โดยไม่โจมตีรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลรายอื่น จึงอาจเล็งเห็นผลในอนาคต ‘อันใกล้’ ว่า ท้ายที่สุดอาจมีโอกาสมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ‘ขั้วใหม่’ ก็เป็นไปได้ ?
(แกนนำ 7 พรรคร่วมจับมือกันต้าน คสช.สืบทอดอำนาจ, ภาพจาก www.posttoday.com)
สอง อีกกระแสหนึ่งว่ากันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคฝ่ายค้าน ไม่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลรายอื่นนั้น มี ‘นักการเมืองใหญ่’ จากพรรคร่วมรัฐบาลบางราย ยื่นข้อเสนอ ‘ก้อนโต’ บ้างว่ากันว่าเป็น ‘เมกะโปรเจ็ค’ บางโครงการ วงเงินหลัก 900-1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนแก่ ‘นักการเมืองใหญ่’ จากฝ่ายค้าน
ก่อนหน้านี้ในการประชุมร่วมพรรคฝ่ายค้าน มีรัฐมนตรีอย่างน้อย 5 รายที่เป็นตัวยืนอยู่แล้ว ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ นายวิษณุ นายดอน และ ร.อ.ธรรมนัส ขณะที่ตัวสอดแทรกเพิ่มเติมมี 2 ราย ได้แก่ พล.อ.ประวิตร และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
โดยระหว่างที่เคาะชื่อนั้น มีรายงานข่าวหลุดมาจากวงประชุมว่า อาจมีการยื่นซักฟอกรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 2 ราย และตัดชื่อนายสมคิดออกไป คงเหลือตัวสอดแทรกแค่ พล.อ.ประวิตร
ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดว่า ‘นักการเมืองใหญ่’ บางรายยื่นข้อเสนอ ‘เมกะโปรเจ็ค’ ข้างต้นให้ ‘บิ๊กฝ่ายค้าน’ ตัดชื่อออก ท้ายที่สุดในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างเป็นทางการ จะเหลือแค่รัฐมนตรี 6 รายข้างต้นเท่านั้น
ว่ากันว่าประเด็นนี้ทำให้เกิดรอยร้าวขึ้นภายในฝ่ายค้าน เพราะเห็นว่า รัฐมนตรีที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลบางราย สมควรถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่กลับถูกตัดชื่อออกไปในการเคาะวันสุดท้าย ?
ทั้งหมดคือ 2 เหตุผลเบื้องลึก-ฉากหลังว่า ทำไมพรรคฝ่ายค้าน จึงยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีแค่ 6 ราย โดยที่ไม่มีรายชื่อรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลรายอื่นเลย
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร ต้องรอดูวันอภิปรายไม่ไว้วางใจกันต่อไป !
อ่านประกอบ :
เช็คสถานะ รบ.-เดิมพันสุดท้าย ‘มิ่งขวัญ’ยืนข้างฝ่ายค้านซักฟอก‘บิ๊กตู่’ ลิ่วหรือร่วง?
ล่มหัวจมท้ายฝ่ายค้าน! ‘มิ่งขวัญ’แถลงแยกทางพรรคเศรษฐกิจใหม่ แต่ไม่ไขก๊อก ส.ส.
เป็นทางการ! เคาะแล้ว 6 รมต.ถูกซักฟอกมี'บิ๊กป้อม'ด้วย-เศรษฐกิจใหม่ถอนตัวฝ่ายค้าน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/