“...ศาลรัฐธรรมนูญอาจเห็นว่า การเสียบบัตรแทนกัน อาจส่งผลให้การตราร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ถูกต้อง หรือขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นอันตกไป เหมือนกับกรณีของร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... หรือที่เรียกกันว่าร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ 2 ล้านล้านบาท ในปี 2556 และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ในปี 2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. นั้น ถือเป็นการทุจริต และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี 2550 ขณะนั้น) จึงให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นอันตกไป…”
“กรณีนี้ต่างกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 และ 2557 แต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดว่า หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาให้ความเห็นชอบ ที่เขียนไว้เช่นนั้น เพราะกลัวสภาแช่ไว้ แปรญัตติกันไปมา จึงเขียนว่าถ้าไม่เสร็จให้ถือว่าเสร็จ ดังนั้นจึงเป็นความต่าง แต่หากศาลบอกว่าไม่ต่างก็แล้วแต่ศาล เพียงแต่ที่ยื่นเพื่อชี้ประเด็นให้เห็นว่าไม่เหมือนกัน หากมาตรา 143 ใช้ได้กับเรื่องนี้ มันจะกลับไปสู่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่เสนอในวาระที่ 1”
เป็นคำยืนยันบางส่วนจาก ‘ศรีธนญชัยรอดช่อง’ ฉายาที่สื่อประจำทำเนียบรัฐบาลตั้งให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อถูกจ่อไมค์ถามประเด็น 4 ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน ระหว่างที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 (อ้างอิงข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)
อย่างไรก็ดีมีกูรูกฎหมาย และนักรัฐศาสตร์ หลายรายวิพากษ์วิจารณ์ว่า คำกล่าวอ้างของนายวิษณุที่ให้ ‘ใช้ช่อง’ มาตรา 143 แห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ‘ได้ไปต่อ’ อาจไม่สามารถกระทำได้
อย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กางรัฐธรรมนูญปี 2560 ไล่เรียงระหว่างบรรทัดในมาตราที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
มาตรา 143 ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มาถึงสภาผู้แทนราษฎร
ถ้าสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นั้นไม่แล้วเสร็จ ภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.นั้น และให้เสนอร่างดังกล่าวต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา
ในการพิจารณาของวุฒิสภา จะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่ที่ร่าง พ.ร.บ.นั้นมาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ มิได้ ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.นั้น ในกรณีเช่นนี้ และในกรณีวุฒิสภาให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 81
ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้นำความในมาตรา 138 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สภาผู้แทนราษฎรยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง และวรรคสาม มิให้นับรวมระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามมาตรา 144 วรรคสาม
หากพิจารณาจากมาตรา 143 แห่งรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่า มาตรานี้เปิดช่องให้เฉพาะในช่วงมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า ‘ช่วงแปรญัตติ’ คือให้ ส.ส. ที่ถูกตั้งเป็น กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาว่าควรปลับลดเพิ่มแต่งงบในส่วนใดบ้าง ก่อนจะให้ความเห็นชอบ ซึ่งมาตรา 143 กำหนดให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวาระที่ 1 (รับหลักการ) วาระที่ 2 (แปรญัตติ) และวาระที่ 3 (ผ่านร่าง) ภายใน 105 วัน ก่อนส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณา
มิใช่ให้เวลา 105 วันในกระบวนการทั้งหมดทั้งในสภาล่าง และสภาสูง ?
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้คือ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2563 สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯไปแล้ว และส่งให้วุฒิสภา โดยเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 วุฒิสภาเสียงข้างมาก ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯไปแล้วเช่นกัน ด้วยกระบวนการเช่นนี้ทำให้มาตรา 143 ไม่สามารถถูกนำมาเป็น ‘ช่องทาง’ เอาตัวรอดกรณีนี้ได้
แล้วปัจจุบันสถานะของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ อยู่ตรงไหน ?
รัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ระบุว่า หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
วรรคหนึ่ง (2) ระบุว่า หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า
วรรคสอง ระบุว่า ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้
วรรคสาม ระบุว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.นั้น มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญให้ร่าง พ.ร.บ.นั้น เป็นอันตกไป
วรรคสี่ ระบุว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.นั้น มีข้อความหรือขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มิใช่กรณีตามวรรคสาม ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป และให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการต่อตามมาตรา 81 (นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้)
ดังนั้นสถานะของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น จึงยังไม่มีผลบังคับใช้อะไร และไม่สามารถทำอะไรได้ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาแล้วเสร็จ
หากพิจารณาจากมาตรา 148 แล้ว แนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นไปได้ 3 กรณี
หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอาจเห็นว่า การเสียบบัตรแทนกัน อาจส่งผลให้การตราร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ถูกต้อง หรือขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ตามวรรคสาม ให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นอันตกไป
เหมือนกับกรณีของร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... หรือที่เรียกกันว่าร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ 2 ล้านล้านบาท ในปี 2556 และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ในปี 2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. นั้น ถือเป็นการทุจริต และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี 2550 ขณะนั้น) จึงให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นอันตกไป
สอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจเห็นว่า การกระทำดังกล่าว (เสียบบัตรแทนกัน) เข้าตามวรรคสี่ คือ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มิใช่กรณีตามวรรคสาม (ตีตกทั้งฉบับ) ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นตกไป และให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้
อธิบายให้ง่ายคือ การเสียบบัตรแทนกันดังกล่าว หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า มีการเสียบบัตรแทนกันจริง แต่มิใช่มาตราที่เป็นสาระสำคัญ อาจให้มีการลงมติใหม่ในมาตราที่เสียบบัตรแทนกัน ก่อนจะให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯต่อไป
สาม ศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่รับคำร้องจากประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยอาจระบุเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใด
นี่คือ 3 แนวทางเบื้องต้นที่คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้พิจารณา โดยขณะนี้ศาลได้รับคำร้องดังกล่าวไว้แล้ว !
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.แจงกรอบสอบ 4 ส.ส.เสียบบัตรเบื้องต้น 180 วัน-ตุลาการศาล รธน.เริ่มประชุมแล้ว
ส่อทุจริต-ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง! ‘ศรีสุวรรณ’ยื่น ป.ป.ช.สอบ 4 ส.ส.ปมเสียบบัตรแทนกัน
อีกคดี!ปมเสียบบัตรแทนแก้ที่มา ส.ว. ปี 56-ศาล รธน.สั่งโมฆะ วัดบรรทัดฐานการเมืองไทย?
‘ศรีสุวรรณ’ร้อง ป.ป.ช.สอบ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน อาจเข้าข่ายทุจริต-ขัดกันแห่งผล ปย.
คำร้อง ปธ.สภาฯถึงศาล รธน.แล้ว! ขอให้วินิจฉัยปม 4 ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน
เทียบยุคก่อนไม่ได้! ปธ.ป.ป.ช.ชี้ปมเสียบบัตรแทนข้อเท็จจริงอาจต่างกัน-แบะท่ารอรับคำร้อง
90 ส.ส.ชง ปธ.สภาฯส่งศาล รธน.วินิจฉัยปมเสียบบัตรแทนกันตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ
ล้วงคำวินิจฉัยศาล รธน.ปม ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน-ผ่าน 7 ปีเกิดขึ้นซ้ำรอดูบรรทัดฐาน?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/