เผยข้อสังเกตกรณี จนท.สำรวจไม้แซะ แต่ไปโค่นยางยักษ์11ต้น อ้างปัญหาแค่ระบุชนิดไม้ผิด อาจถูกมองเอื้อปย.ปมเรียกเก็บค่าภาคหลวงได้ เหตุราคาไม้สองชนิดแตกต่างกัน ไม้ยางเป็นของห่วงห้ามมีค่าตลาดต้องการสูง อัยการฯ ชี้หากทำรายงานเท็จมีโทษความผิดทางกม.เพียบ จี้ ป.ป.ช.สอบคดีเร็วอย่าปล่อยช้าหมดอายุความ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้ากรณีปรากฎข้อมูลว่า หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง จ.พังงา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ระบุชนิดต้นไม้ ในรายงานขอโค่นล้ม ริมถนนทางหลวงหมายเลข 402 ตอนโคกลอย - หมากปรก อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เป็นต้นไม้แซะ จำนวน 11 ต้น แต่กลับไปตัดโค่นต้นไม้ยางนายักษ์แทน ซึ่งถูกนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กำหนดระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน (อ่านประกอบ : อธิบดีป่าไม้ ขีดเส้น15วัน สางปมลักไก่โค่นไม้ยางยักษ์พังงา- จี้ ออป.แจงจ้างลูกช่วงตัดแทน, เพจต้านทุจริตใต้โชว์คลิปมัด โค่นยางยักษ์สภาพดีเพียบ! ไฉนรายงานอธิบดีป่าไม้ สมบูรณ์ต้นเดียว, เปิดชื่อ4ตัวแทน สำรวจไม้แซะ ก่อนโค่นยางยักษ์11ต้น! แจงเหตุจนท.ดูชนิดไม้ผิด-ปัดเอื้อปย.ใคร)
ล่าสุดได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวในหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง จ.พังงา ว่า ไม้ที่เป็นประเด็นเป็นปัญหาในขณะนี้ มีความผิดปกติในขั้นตอนการดำเนินการหลายประเด็น ประเด็นแรก คณะกรรมการสำรวจไม้ ที่ได้สำรวจตีตราต้นไม้ ระบุว่าเป็นไม้กระยาเลย ทั้งเนื้อไม้ สภาพไม้ สภาพกายภาพที่เห็นทั้ง 11 ต้น เป็นชนิดไม้เดียวกัน และไม้ที่ถูกระบุว่าเป็น แซะ กับ ยาง มีความต่างกันทั้งรูปทรงของต้นไม้ และ เนื้อไม้
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผู้ที่กำหนดตรวจสอบเป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงต้องมีความรู้เฉพาะด้านป่าไม้อย่างน้อย 3 หน่วย คือ 1. หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง 2. เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3. เจ้าหน้าที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) การที่ระบุชนิดไม้ผิดชนิดซึ่งมีผลต่อการเก็บค่าภาคหลวงไม้ด้วย
"ไม้แซะเสียค่าภาคหลวง 22 บาท แต่ถ้าหากเป็นไม้ยาง ต้องเสียค่าภาคหลวง 83 บาท ต่อเนื้อไม้ 1 ลูกบาศก์เมตร หากร่วมเนื้อไม้ทั้ง11 เป็นปริมาณเนื้อไม้หลายลูกบาศก์เมตร เมื่อถึงขั้นตอนของการขายไม้ ออป.จะกำหนดราคากลางที่ต่างกันระหว่าง ไม้แซะ ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน แต่ไม้ยางเป็นไม้ห่วงห้ามที่มีค่า ตลาดต้องการสูง ราคาต่างกันต่อลูกบาศก์เมตร น่าจะมากกว่า 1,000 บาท ฉะนั้นความผิดปกตินี้ จึงทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีใครเจตนาจงใจเปลี่ยนชนิดไม้ เพื่อประโยชน์อื่นใดหรือไม่ แต่ขณะนี้รัฐเสียหายแน่นอน อย่างน้อยก็ความแตกต่างของค่าภาคหลวง" แหล่งข่าวระบุ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากการโทรศัพท์สอบถามราคากลางในการกำลังราคาก่อนขายไม้ของสำนักงาน ออป.ภาคใต้สุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ ออป.ว่าราคากลางไม้ทอนระหว่างไม้เนื้ออ่อนและไม้ยาง ราคาต่างกันมาก
ขณะที่ แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการคดีปราบปรามทุจริตภาค 8 จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในการเปลี่ยนชนิดไม้ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาจจะเข้าข่ายรายงานเท็จเป็นความผิดอาญามาตรา 162 ได้ ถ้าหากเจตนาทุจริต ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นปฎิบัติหน้าที่ เข้าข่ายอาญามาตรา 157 แต่ถ้าหากเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลและจงใจกระทำความผิดก็น่าจะเข้ามาตรา 151 ซึ่งมีโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต
“เรื่องนี้หากมีการร้องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) อยากจะร้องขอว่าให้มีการสอบสวนสอบสวนโดยเร็ว อย่าปล่อยให้อายุความขาด” แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการคดีปราบปรามทุจริตภาค 8 ระบุ
อ่านประกอบ :
แฉรายงานไม่ตรงข้อเท็จจริง! อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งสอบด่วน จนท.ปิดถนนโค่นไม้ยางพังงา
โชว์หลักฐานขอโค่นไม้แซะ11ต้น ก่อนลักไก่ตัดไม้ยางยักษ์-อธิบดีกรมป่าไม้ ยันสั่งสอบแล้ว
อธิบดีป่าไม้ ขีดเส้น15วัน สางปมลักไก่โค่นไม้ยางยักษ์พังงา- จี้ ออป.แจงจ้างลูกช่วงตัดแทน
เพจต้านทุจริตใต้โชว์คลิปมัด โค่นยางยักษ์สภาพดีเพียบ! ไฉนรายงานอธิบดีป่าไม้ สมบูรณ์ต้นเดียว
เปิดชื่อ4ตัวแทน สำรวจไม้แซะ ก่อนโค่นยางยักษ์11ต้น! แจงเหตุจนท.ดูชนิดไม้ผิด-ปัดเอื้อปย.ใคร
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/