"… ทำไมเราต้องรอให้เกิดเหตุก่อนแล่วค่อยยับยั้ง เราควรจะการป้องกันไว้ก่อนเหมือนกับการป้องกันอาชญากรรม ความรุนแรงในครอบครัว ก็คืออาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง ที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ เหยื่อ คนร้าย และโอกาส คนร้ายเราไม่อาจรู้ได้แต่พอประเมินได้คร่าวๆ แต่หากเราตัดโอกาสและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ความรุนแรงจะลดลงได้…"
………………………………………….
สถานการณ์โควิดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น โดยนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เคยให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดเข้ามา ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นมากขึ้น โดยมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงยื่นเรื่องมายังมูลนิธิฯเพิ่มกว่า 20% เช่นเดียวกับสถิติความรุนแรงในครอบครัวที่ปรากฏบนหน้าสื่อเพียงครึ่งปี 2563 พุ่งสูงถึง 201 ชิ้น ขณะที่ปี 2555-2561 มีรายงานข่าวความรุนแรงในครอบครัวอยู่ที่ 333 - 623 ชิ้นต่อปี
(อ่านข่าวประกอบ: ‘วิกฤติโควิด'ปัจจัยเสี่ยงความรุนแรงในครอบครัว ทำสถิติปี 64 พุ่งกว่า 1.4 พันราย)
ล่าสุดกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเปิดเผยสถิติเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวผ่านสื่อระหว่างวันที่ 1-15 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา พบมีรายงายความรุนแรงในครอบครัวน้อยลงจากช่วงครึ่งเดือน ก.ค.2564 เหลือ 9 เหตุการณ์ แต่มีผู้เสียชีวิตถึง 6 ราย โดยสถิติครึ่งเดือน ส.ค.นี้ มีรายงานผู้ถูกกระทำ 12 ราย แบ่งเป็น หญิง 4 ราย เด็กชาย 3 ราย ชาย 2 ราย ผู้สูงอายุชาย 2 ราย และผู้สูงอายุหญิง 1 ราย ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นมาจากภาวะผู้หญิงถูกกดดันจนต้องฆ่า (Battered Woman Syndrome) ความเครียดสะสม ความหึงหวง ความโกรธ และสุรา
ครึ่งเดือน ส.ค.นี้แม้สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวจะลดลง แต่กลับมีผู้เสียชีวิตสูง ดังนั้นหากชุมชนสามารถขับเคลื่อนกลไกการป้องกันความรุนแรงเชิงรุก อาจลดการสูญเสียได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เจ้าหน้าที่รัฐขณะนี้ก็เข้าถึงชุมชนได้ยากในช่วงการแพร่ระบาดหนักของโควิด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้สัมภาษณ์ผู้ริเริ่มภารกิจ ‘อัมพวาโมเดล’ เพื่อถอดบทเรียนในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเชิงรุก มีเรื่องราวที่น่าสนใจดังนี้
‘อัมพวาโมเดล’ เป็นหนึ่งในภารกิจที่ตำรวจ อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเชิงรุก เดินเข้าหาประชาชน แทนการนั่งรอรับแจ้งความ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียอย่างไม่คาดคิดได้
พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการสร้างอัมพวาโมเดลขึ้นมาว่า ในช่วงต้นปี 2563 ขณะนั้นตนเองได้รับแจ้งความจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมาจากปัญหาภายในครอบครัว อาทิ อดีตสามีภรรยายิงกันเสียชีวิต หรือพี่เขยแทงน้องภรรยา ขณะเดียวกันปัญหาเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศก็เยอะ ทำให้ตนเองที่มีความคิดอยากสร้างระบบการป้องกันความรุนแรงในครอบครัวเชิงรุกอยู่แล้ว อยากผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนมาร่วมบูรณาการกัน จึงได้เชิญกระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ (พม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเข้ามาร่วมมือกัน
“ผมคิดว่าทำไมเราต้องรอให้เกิดเหตุก่อนแล่วค่อยยับยั้ง เราควรจะการป้องกันไว้ก่อนเหมือนกับการป้องกันอาชญากรรม ความรุนแรงในครอบครัว ก็คืออาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง ที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ เหยื่อ คนร้าย และโอกาส คนร้ายเราไม่อาจรู้ได้ แต่พอประเมินได้คร่าวๆ แต่หากเราตัดโอกาสและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ความรุนแรงจะลดลงได้” พ.ต.อ.เผด็จ กล่าว
(พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอัมพวา จ.สมุทรสงคราม)
@ ตั้งเป้าดูแล 4 กลุ่ม ลดความรุนแรงในครอบครัวชุมชน ‘อัมพวา’
พ.ต.อ.เผด็จ กล่าวอีกว่า อัมพวาโมเดลเรากำหนดจุดมุ่งหมายในการดูแล 4 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย 1. เด็กพิเศษ คือ เด็กมีความอ่อนไหว และไม่สามารถป้องกันตนเองได้ 2. เด็กทั่วไป แต่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ อยู่ในช่วงวัยรุ่น หรืออยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคาม 3. เด็กเสี่ยงก่อความรุนแรง คือ เด็กใช้สารเสพติด เด็กแว้น และ 4. ครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสามีกระทำต่อภรรยา พ่อกระทำต่อลูก พี่น้องกระทำความรุนแรง เป็นต้น
ในช่วงแรกเรายกเคสมาหารือการทำงานของแต่ละหน่วยงาน ว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง และจะส่งต่อไปอย่างไร แล้วนำมาถอดบทเรียนเพื่อให้สามารถรับมือได้ทันทีอย่างเป็นระบบเมื่อเจอเคสลักษณะนี้อีก โดยเคสแรกๆ ที่เราเริ่มทำนั้น คือ เคสครอบครัวหนึ่งมีลูกสาวคนโตเป็นเด็กพิเศษ มีความพิการซ้ำซ้อนและอยู่ในช่วงวัยรุ่นย่างเข้าอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงถูกคุกคามสูง ทีมตำรวจและหลายหน่วยงานจึงลงพื้นที่เพื่อวางแผนเฝ้าระวัง
แต่ด้วยความบังเอิญในวันที่ปฏิบัติภารกิจ พ่อกับแม่ทะเลาะกัน จนแม่ออกจากบ้าน ขณะเดียวกันพ่อเป็นห่วงลูกสาวคนโต ซึ่งขณะนั้นก็อยู่ในช่วงโควิด จึงให้ลูกสาวคนโตไปที่ทำงานด้วยกัน แต่ให้นั่งรออยู่ในรถเปิดแอร์ เราจึงแบ่งหน้าที่กันให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ ตามหาแม่ สอบถามทำความเข้าใจครอบครัว นัดให้พ่อและแม่มีการเจรจาไกล่เกลี่ย และหาสถานที่รองรับเด็กระหว่างที่ผู้ปกครองออกไปทำงาน ซึ่งตอนนี้พ่อและแม่ เขายังรักกันอยู่ ปัจจุบันก็กลับมาอยู่ร่วมกัน และตำรวจรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ต่างแวะเวียนกันเข้าไปดู ช่วยกันเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
และยังมีอีกหลายเคสที่เราได้ดำเนินการ แต่ล่าสุด คือ เคสแม่วัย 80 ปี เป็นอัลไซเมอร์ อาศัยอยู่กับลูกชายวัย 40 กว่าปี เป็นผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งเป็นเคสด่วนที่ได้รับรายงานว่าทำร้ายแม่ ทีมตำรวจและหลายหน่วยงานได้ลงพื้นที่ไป พบว่าผู้ป่วยจิตเวชขาดยา และถูกหลานสาวที่อาศัยอยู่ด้วยบุกรุกไปในพื้นที่ Safe Zone ของเขา จึงก่อเหตุดังกล่าว ตำรวจและหน่วยงานต่างๆ จึงระดมความร่วมมือประสานผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอยาให้กับผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงให้การบำบัด ด้านมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัวเองก็ให้ทุนซื้อสีมาให้ผู้ป่วยจิตเวช หลังพบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวมีฝีมือด้านศิลปกรรมและผู้ป่วยต้องการทาสีบ้านใหม่ ซึ่งล่าสุดตนเองได้กลับไปเยี่ยมบ้านอีกครั้งพบว่าบ้านครอบครัวนี้นั้น สะอาดขึ้นมาก บ้านถูกจัดระเบียบอย่างสวยงาม แตกต่างจากครั้งแรกที่ได้เข้าไปสัมผัส และผู้ป่วยจิตเวชรายดังกล่าวมีการรับรู้ที่ดีขึ้น
“ในส่วนของตำรวจเอง ผมให้นโยบายผู้ใต้บังคับบัญชาเลยว่า หากเจอเหตุทะเลาะวิวาท ไม่ว่าจะเป็นเคสบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือเคสใดก็ตาม หลังจากไกล่เกลี่ยให้เรียบร้อย จะต้องเก็บข้อมูลเพื่อลงพื้นที่ไปตรวจสอบอีกครั้งในอีก 2-3 วัน เพื่อให้เขารู้ว่าเราเฝ้ามองอยู่นะ เป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก” พ.ต.อ.เผด็จ กล่าว
@ ก้าวต่อไปดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวเป็นเพียงเสต็ปแรกเท่านั้น ก้าวต่อไปที่เราจะทำ คือ การดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม สร้าง ‘วัฒนธรรมเผือก’ ขึ้นมา กล่าวคือสร้างการตระหนักรู้ของคนในชุมชนว่าความรุนแรงในครอบครัว เป็นเรื่องที่ไม่ควรเพิกเฉย ไม่ใช่แค่เรื่องของเขา แต่คือเรื่องของเรา โดยเราจะให้คนในชุมชนช่วยกันสอดส่อง บ้านไหนทะเลาะกัน ขอให้แจ้งเข้ามา จากนั้นเราจะตั้งศาลชุมชนขึ้นมาให้คนในชุมชนช่วยกันพิพากษาตามมาตรการทางสังคม (Social Sanction) และตำรวจจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งหากเราทำสเต็ปที่ 2 ได้สำเร็จ ตนเองเชื่อว่าความรุนแรงในครอบครัวพื้นที่อัมพวาจะลดลงอย่างแน่นอน นอกจากนั้นยังช่วยสร้างชุมชนให้อยู่กันแบบพี่น้องมากขึ้นด้วย
(นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว)
@ ‘อัมพวาโมเดล’ เกิดขึ้นภายใต้ความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มช่วงโควิด
ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายภาคประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการลดความรุนแรงในครอบครัวพื้นที่อัมพวา กล่าวด้วยว่า อัมพวาโมเดล เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์จริงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่มีสถิติความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากพิษทางเศรษฐกิจ หลายคนต้องกลับภูมิลำเนา กลับไปอาศัยภายในบ้านหลังเดียวกัน และเด็ก รวมถึงเยาวชนหลายคนหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือต้องเผชิญกับการเรียนออนไลน์ที่โรงเรียนหรือครูเองไม่ได้ออกแบบการสอนมาเพื่อสิ่งนี้ ขณะเดียวกันผู้ปกครองบางคนต้องคอยกำกับดูแลลูกในการเรียนออนไลน์ด้วย เกิดเป็นความเครียดสะสมทั้งในตัวผู้ใหญ่ ผู้ปกครองและเด็ก
เมื่อพูดถึงความรุนแรงในครอบครัว ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงเคสของผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะคู่สามีภรรยา แต่ขณะนี้ยังลามไปถึงเด็กด้วย ซึ่งพบว่ามีทั้งเคสที่เด็กเป็นผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ
“โควิดเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้แต่ผู้ใหญ่ยังต้องอาศัยความนิ่งและความเข้าใจสถานการณ์ สำหรับเด็กจึงกลายเป็นเรื่องยาก เพราะปกติเขาจะต้องไปโรงเรียน แต่ปัจจุบันมันเขาไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ออกไปเล่นกับเพื่อนก็ไม่ได้ ทุกอย่างในชีวิตเขาจึงยากไปหมด ก็กลายเป็นปัญหา” นายชูวิทย์ กล่าว
ดังนั้นการมี ‘อัมพวาโมเดล’ เข้ามาจึงตอบโจทย์ในการลดความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น และความรุนแรงภายในครอบครัวเพิ่มขึ้น
@ เฝ้าระวัง-ตั้งกรุ๊ปไลน์ ป้องปรามความรุนแรงก่อนเกิดเหตุ
นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเราจะเห็นการทำงานเพื่อปกป้องผู้ถูกคุกคามในครอบครัว เมื่อไปไกล่เกลี่ยและดำเนินคดีภายหลังจากเกิดเหตุ แต่อัมพวาโมเดลคือจุดเปลี่ยนที่เราจะเข้าไปป้องปรามก่อนเกิดเหตุ โดย พ.ต.อ.เผด็จ และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราได้มานั่งหารือกัน แม้จะไม่ได้มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ทุกหน่วยงานต่างพร้อมใจกันช่วย ช่วยกันกางแผนที่กันว่าบ้านหลังไหนมีความเสี่ยงบ้าง และหน่วยงานไหนจะทำหน้าที่อย่างไรบ้าง จากนั้นจะระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง
“ตำรวจในพื้นที่อัมพวา แทนที่จะวิ่งไปร้านทองหรือพื้นที่สำคัญๆ แต่ยังมีหน้าที่เดินเวียนไปยังพื้นที่เฝ้าระวังต่างๆด้วย นอกจากนี้ยังมีการตั้งกลุ่มไลน์เอาไว้ เผื่อมีปัญหาอะไร ตำรวจจะสามาถเข้าไปในพื้นที่ได้เร็วมาก หรือแม้แต่กระทั่งเด็กปิดเทอมจากผลกระทบของโควิด เด็กบางคนขาดหม้อหุง หรือเครื่องปั่นอาหารเหลว เราที่มีหน้าที่ระดมสรรพกำลัง ระดมของต่างๆ ก็จะมาคิดกันว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อช่วยเหลือชุมชนได้อย่างตอบโจทย์” นายชูวิทย์ กล่าว
ไม่เพียงแต่การลดความรุนแรงในครอบครัวเท่านั้น นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า ทางมูลนิธิฯและพ.ต.อ.เผด็จ ยังพูดคุยถึงแผนลดความรุนแรงสำหรับกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรง หรือ ‘กลุ่มเหวี่ยง’ ที่อยู่ในวัยอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย อยากรู้อยากลองในช่วงวัยรุ่นด้วย ให้มีเวทีเป็นของตัวเองในการแสดงออกที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอัมพวา ใครอยากเล่นสเก็ตบอร์ด ดนตรี หรือโชว์การแต่งรถ สามารถทำได้หมด เราอยากให้เขาได้รับการยอมรับ เมื่อเด็กได้เห็นคุณค่าในตัวเอง จะช่วยให้เขารู้และคิดได้ด้วยตนเองว่าการสร้างปัญหา สุดท้ายจะเกิดผลเสียต่อเขาและสังคมโดยรวม ซึ่งจะช่วยให้คิดได้เองมากกว่าการสั่งห้าม
(นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล)
@ จุดแข็งอยู่ที่ตำรวจเป็นศูนย์กลาง ดึงสหวิชาชีพทั้งรัฐ-เอกชนร่วมมือ
สำหรับมุมมองของเครือข่ายภาคประชาชนต่อ ‘อัมพวาโมเดล’ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า โมเดลนี้มีประโยชน์มาก เพราะเป็นการบูรณาการด้วยตำรวจ ตำรวจเป็นศูนย์กลางในการดึงสหวิชาชีพต่างๆเข้ามา และตำรวจมีจุดแข็งคือเขาเป็นผู้ดูแลกฎหมายเป็นเครื่องมืออยู่แล้ว จะทำให้การคุ้มครองช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาความรุนแรง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เพราะคนจะเกรงขามตำรวจเองด้วย นอกจากนี้ยังช่วยเติมเต็มจากที่หน่วยงานของรัฐถูกชะลอการให้ความช่วยเหลือ และยังช่วยแก้ปัญหาสังคมด้านอื่นๆ จากผลกระทบวิกฤตซ้อนวิกฤตในช่วงโควิดได้ด้วย
“ตอนนี้โควิดทำให้เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต ถ้าเราจะแก้ปัญหาโควิดเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ หากเราไม่แก้ทั้งปัญหาสังคมและโควิด ปัญหาเดิมจะเกิดขึ้นอีกบางคนเครียด อาจนำไปสู่การหาทางออกด้วยการเล่นพนัน ดื่มเหล้า หรือเสพยา ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นทั้งโควิด และปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” นายจะเด็จ กล่าว
นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตอนนี้ไม่ได้ลงลึกเฉพาะสามีภรรยาเท่านั้น แต่เริ่มมาอยู่ที่เด็กแล้ว เพราะการเรียนผ่านออนไลน์ยังขาดประสิทธิภาพ พ่อกับแม่ต้องคอยสอน หรือเด็กบางคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยเหตุพ่อแม่ไม่มีรายได้ สถานการณ์โควิดเกิดขึ้นมานานกว่า 1 ปีแล้ว ความรุนแรงจึงสะสม ภาวะความเครียดจากพ่อแม่จึงตกสู่ลูก นำไปสู่ปัญหาซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว หากเด็กเลือกหาทางออกด้วยการเล่นพนันเพื่อหวังเป็นรายได้ หรือหันไปเกี่ยวพันกับยาเสพติด
ด้วยเหตุนี้ ตนเองคิดว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรสนับสนุนโมเดลนี้ให้ขยายออกไปยังชุมชนอื่นให้มากขึ้น การให้ตำรวจทำงานเชิงรุกจะมีประโยชน์มาก จึงอยากสนับสนุน สิ่งที่เราห่วงคือเราไม่อยากให้ผลงานนี้หายไป อยากให้สนับสนุนต่อไป ไม่อยากให้อัมพวาโมเดลกลายเป็นเพียงตำนาน
ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิฯ เราได้ไปสนับสนุนอัมพวาโมเดลในการให้ข้อมูลความรู้ หรือหากมีสื่ออะไรบางอย่างที่น่าสนใจเราก็จะบอกต่อ เพื่อให้การลดความรุนแรงในครอบครัวมีการบูรณาการได้สมบูรณ์มากขึ้น
“ปัจจุบันอัมพวาโมเดลเรายังใช้เฉพาะพื้นที่อัมพวา โดยที่อื่นอาจมีโรงพยาบาล หรือชุมชนเป็นศูนย์กลาง แต่ที่นี่มีจุดแข็งที่ตำรวจเป็นศูนย์กลาง ที่เขาเป็นตัวเชื่อมหน่วยงานต่างๆมาทำงานร่วมกัน ซึ่งโมเดลนี้ยังมีน้อย ต้องกระจายออกไป ซึ่งเราพร้อมสนับสนุน อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะโมเดลที่มีโรงพยาบาลหรือชุมชนเป็นศูนย์กลาง หากหน่วยงานรัฐและเครือข่ายภาคประชาชน ได้มาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าโมเดลไหน ผมเชื่อว่าเราจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหมด” นายจะเด็จ กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนจากอัมพวาโมเดลเพื่อช่วยลดความรุนแรงในครอบครัว ที่มีตำรวจเป็นศูนย์กลางในการดึงสหวิชาชีพต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือในการป้องกันความรุนแรงเชิงรุก ซึ่งจะเป็นทางแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
อ่านข่าวประกอบ:
'วิกฤติโควิด'ปัจจัยเสี่ยงความรุนแรงในครอบครัว ทำสถิติปี 64 พุ่งกว่า 1.4 พันราย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/