“… ยอดรายงานผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวพบว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2564 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว 1,492 ราย ซึ่งสูงกว่าในช่วงเดือน ต.ค.-ก.พ.2563 ที่มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว 919 ราย สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การระบาดของโควิดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น”
………………………………….…………………..
ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า ‘สถิติความรุนแรงในครอบครัว’ ปีงบประมาณ 2564 ระหว่างเดือน ต.ค.2563 – พ.ค.2564 มีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 1,492 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 81% แบ่งเป็น ความสัมพันธ์สามี-ภรรยา 39% วัยกลางคน 32.4% และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 32.1% ซึ่งมักไม่ดำเนินคดีสูงถึง 78%
ปัญหาที่พบ เป็นการทำร้ายร่างกายมากที่สุดถึง 64.5% รองลงมาคือ จิตใจ 31.4% และเรื่องเพศ 3.6% ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้น คือ ยาเสพติด สุรา อาการหึงหวง การมีโทสะ การรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจมากกว่า การมีปัญหาสุขภาพทางจิต และความเครียดทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้สถานที่เกิดเหตุมักเกิดภายในบ้านของตนเอง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นับว่ามีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาก สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิดที่เกิดการระบาดหนักอีกครั้งในระลอกที่ 2 และ 3
สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิดหรือไม่? หากเกี่ยวข้อง เราจะสามารถรับมืออย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สัมภาษณ์ นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถึงความรุนแรงในครอบครัวช่วงวิกฤติโควิด
นางจินตนา กล่าวว่า สถานการณ์โควิดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น ด้วยมาตรการปิดสถานที่หรืองดกิจกรรมรวมกลุ่ม ทำให้ครอบครัวมีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น ประกอบกับการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และความเครียดที่ถาโถมเข้ามา แต่ไม่สามารถออกไปผ่อนคลายความเครียดได้เหมือเดิม ความเครียดจึงสะสม เมื่อหาทางออกด้วยการดื่มสุรา หรือเสพยาเสพติด ยิ่งทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวบานปลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น สถิติเป็นเครื่องเตือนให้เราทุกคนตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและเป็นแรงกระตุ้นให้มาร่วมมือกันลดปัญหาความรุนแรงนี้ โดยในเชิงป้องกัน อาจหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เสี่ยงให้เกิดความรุนแรง เช่น การงดดื่มสุรา ไม่เสพยาเสพติด การใช้คำพูดดีๆต่อกัน การหากิจกรรมทำร่วมกัน และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เป็นต้น
แต่หากความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ขอให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้พบเห็นรีบแจ้งแจ้งตำรวจหรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่หมายรวมถึงทุกคน เพราะหากปล่อยไว้ อาจเกิดความรุนแรงมากขึ้นตามมาได้ ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ได้ระบุมาตรา 6 ไว้อย่างครอบคลุมแล้วว่าผู้พบเห็นสามารถแจ้งได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าเป็นเรื่องของครอบครัวอื่น เราไม่สามารถแจ้งได้
(นางจินตนา จันทร์บำรุง)
@ สัญญาณเตือนภัยความรุนแรง
สำหรับสัญญาณเตือนภัยความรุนแรงในครอบครัว ที่ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ สามารถสังเกตได้ มีดังนี้ คือ สำหรับสามีภรรยา ให้สังเกตว่ามีพฤติกรรมผิดจากปกติหรือไม่ เช่น ความเครียด กลัวอีกฝ่ายโกรธ ขัดแย้งกัน ความคิดเห็นไม่ตรงกัน พูดเยาะเย้ยถากถาง ตรวจสอบว่าทำอะไรกับใครบ้าง บังคับมีเพศสัมพันธ์ มีการบังคับข่มขู่ หึงหวง ทำให้รู้สึกผิด ขู่จะฆ่าตัวตายหรือฆ่าให้ตาย ถ้าจะเลิกกัน
สำหรับเด็ก ให้สังเกต 4 ด้าน ได้แก่ 1. ทางกาย เช่น รอยฟกช้ำ แผลไหม้ น้ำร้อนลวก แผลที่ฟาดด้วยวัตถุ กระดูกหัก หรืออวัยวะเลือดออก 2. ทางเพศ เช่น มีตั้งครรภ์ มีโรคติดต่อทางเพศ พูดหรือแสดงออกพฤติกรรมทางเพศเกินวัยหรือ หวาดกลัวผู้ชายในครอบครัว 3. ทางจิตใจ เช่น หวาดกลัว ระแวงไม่ไว้ใจผู้อื่น ขาดความเชื่อมั่น ก้าวร้าว เรียกร้องความสนใจ แยกตัว ตื่นกลัว และ 4.การละเลย ทอดทิ้ง เช่น ขาดอาหาร ขาดเสื้อผ้า เจ็บป่วยบ่อย มีร่างกายสกปรก มักไม่ได้ไปโรงเรียน ต้องทำงานหารายได้ ใช้สารเสพติด
สำหรับผู้สูงอายุ ให้สังเกต 4 ด้านเช่นเดียวกัน ได้แก่ 1. ทางกาย เช่น รอยฟกช้ำ แผลเป็น บริเวณลำตัวกระดูกหัก แว่นตาหัก คนในบ้านไม่ให้เข้าไปพบผู้สูงอายุ 2. ทางเพศ เช่น พบรอยพกช้ำรอบหน้าอก อวัยวะเพศหรือทวารหนักมีเลือดออกหรือติดเชื้อ เสื้อผ้าหรือกางเกงชั้นในฉีกขาด หรือเปื้อนเลือด 3. ทางจิตใจ เช่น ซึมเศร้า บ่นพึมพำ เหม่อลอย ร้องไห้ เนื่องจากคนดูแลข่มขู่ดูถูกดูแคลน ขัดแย้งกับลูกหลานหรือคนดูแล โมโหฉุนเฉียวง่าย หงุดหงิด ซึมเศร้า และ 4.การละเลย ทอดทิ้ง เช่น น้ำหนักลด ขาดสารอาหาร มีแผลกดทับ ความเป็นอยู่ไม่ถูกสุขลักษณะ ร่างกายสกปรก มีกลิ่นเหม็นของสิ่งปฏิกูล
@ สค.เปิด ‘เพื่อนครอบครัว’ แก้วิกฤติความรุนแรงช่วงโควิด
นอกจากการแจ้งเจ้าหน้าที่แล้ว ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ทำให้การดำเนินงานมีข้อจำกัด จึงทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่าประชาชนอยากให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มีการนำเสนอองค์ความรู้ด้านครอบครัวขึ้นมา จึงได้เปิดเว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว หรือ LINE Official @Linefamily ให้ข้อมูลความรู้สำหรับการสร้างครอบครัวและการดูแลลูก รวมถึงการบริการคำปรึกษาทางครอบครัวในทุกๆด้าน ซึ่งรวมถึงการให้คำปรึกษากรณีถูกกระทำความรุนแรงภายในครอบครัวด้วย ที่จะแยกหมวดหมู่ในการสนทนาหรือรับคำปรึกษาแบบพิเศษได้แบบตัวต่อตัว ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยสร้างความอบอุ่น และความเข้มแข็งให้ครอบครัวได้
“แพลตฟอร์มนี้มีการแบ่งบทสนทนาเป็นหมวดหมู่เพื่อสะดวกในการให้คำปรึกษา เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว การเลี้ยงลูกหรือการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในภาวะวิกฤต การให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายครอบครัว และให้คำปรึกษาด้านสิทธิและสวัสดิการครอบครัว เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด การคุกคามทางเพศ การถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และอื่น ๆ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพมาให้คำปรึกษา ได้แก่ นักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำ นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานหลัก ทั้งกรมสุขภาพจิต กรมอนามัย และศูนย์ช่วยเหลือสังคม คอยให้ความรู้หรือคลายข้อสงสัย ที่ต้องการค้นหาได้อย่างสะดวก” นางจินตนา กล่าว
ขณะเดียวกันได้จัดกิจกรรมกรรมผ่านทางเฟซบุ๊ก กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้ประชาชนได้เข้าไปเรียนรู้ด้านวิชาชีพ ด้านการทำอาหาร หรือการจัดกิจกรรมโครงการดนตรี ความรัก และครอบครัว เป็นต้น เพื่อสร้างการทำกิจกรรมร่วมกัน เชื่อมความสัมพันธ์กันในครอบครัว แก้วิฤตความรุนแรงในช่วงโควิด
@ สถิติการฆ่ากันในครอบครัว เพียงครึ่งปี 2563 สูงถึง 57.4%
ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวด้วยว่า ความรุนแรงในครอบครัว มักเริ่มต้นมาจากการทะเลาะเบาะแว้งกันมาก่อนด้วยวาจา ก่อนจะสะสมและพัฒนาความรุนแรงมากขึ้น ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย หรือฆ่ากันตายในท้ายที่สุด เช่น สามีภรรยาที่แต่งงานคู่หนึ่ง สามีเป็นคนที่มีสังคมเพื่อน หลังเลิกงานมักจะไปเจอเพื่อน เพื่อดื่มสังสรรค์ หรือเล่นการพนัน ซึ่งธรรมชาติของผู้ชายส่วนหนึ่งเมื่อมีสังคมเพื่อน เขาจะยังปฏิบัติต่อกลุ่มเพื่อนเหมือนเดิม แม้ว่าจะมีครอบครัวแล้วก็ตาม ดังนั้นเมื่อภรรยาเริ่มพูดว่าอย่าไปเลย ดื่มสังสรรค์มากๆ ไม่ดี แม้ว่าในความรู้สึกจริงๆแล้วไม่ได้ว่าอะไร แต่ฝ่ายชายมักจะรับไม่ได้
“เมื่อเจอการโต้แย้งของผู้หญิงดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ฝ่ายชายจะเริ่มไม่พอใจ จนนำไปสู่การลงไม้ลงมือ อย่างไรก็ตามความรุนแรงในครอบครัวอาจไม่ได้จบด้วยการทำร้ายร่างกายเสมอไป แต่อาจเป็นการทำร้ายจิตใจ เช่น การมีผู้หญิงอื่นนอกจากคู่สมรส หรือการแสดงความหึงหวงจนไม่ให้อีกฝ่ายเดินทางไปไหน อันนี้ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง” นายจะเด็จ กล่าว
ทั้งนี้ จากการรวบรวมสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2555 – 2563 พบว่าความรุนแรงในครอบครัวที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2555 มีข่าวความรุนแรง จำนวน 333 ชิ้น ปี 2557 มีข่าวความรุนแรง จำนวน 368 ชิ้น ปี 2559 มีข่าวความรุนแรง 466 ชิ้น ปี 2561 มีข่าวความรุนแรงจำนวน 623 ชิ้น และครึ่งปีแรก 2563 มีข่าวความรุนแรงสูงถึง 201 ชิ้น
ซึ่งข่าวความรุนแรงในครอบครัว แบ่งออกได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่ การฆ่ากัน การฆ่าตัวตาย การทำร้ายกัน การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในครอบครัวอื่นๆ โดยความรุนแรงในครอบครัวที่พบมากที่สุด คือ ‘การฆ่ากัน’ โดยในปี 2555 พบการก่อเหตุ 197 ครั้ง คิดเป็น 59.1% ในปี 2557 พบการก่อเหตุ 230 ครั้ง คิดเป็น 62.5% ในปี 2559 พบการก่อเหตุ 226 ครั้ง คิดเป็น 48.5% ในปี 2561 พบการก่อเหตุ 384 ครั้ง คิดเป็น 61.6% และในครึ่งปี 2563 พบการก่อเหตุ 201 ครั้ง คิดเป็น 57.4% หากคำนวณเปอร์เซ็นต์เป็นค่าเฉลี่ยรวมระหว่างปี 2555 – 2563 จะได้ 57.82% ส่วนประเภทอื่นๆ นั้น มีเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่า 25%
@ โควิดทำปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นกว่า 20%
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนั้น เป็นปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งผู้กระทำความรุนแรง มักเป็นผู้ชายถึง 97% โดยมีรากฐานมาจาก ‘ทัศนคติชายเป็นใหญ่’ ที่ทำให้ผู้ชายมักคิดว่าเขามีอำนาจเหนือผู้หญิง เมื่อผู้หญิงห่วงใยตักเตือน จะยิ่งทำให้โมโห รวมถึงด้วยความที่ไม่ได้ถูกฝึกให้ทำงานบ้าน เมื่อมีครอบครัว จะให้ผู้หญิงทำงานบ้าน เลี้ยงลูกโดยตลอด
“ดังนั้นเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเข้ามา ทำให้มีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น ได้เห็นมิติปัญหาต่างๆ ของกันและกันที่หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับการมีมาตรการปิดสถานบันเทิงและบ่อนการพนัน ที่ผู้ชายมักออกไปผ่อนคลายสังสรรค์กัน และปัญหาทางเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามา ยิ่งทำให้เกิดความเครียด สะสมจนนำไปสู่การทะเลาะ และการใช้ความรุนแรงในท้ายที่สุด ซึ่งในช่วงปี 2563 ที่มีการล็อกดาวน์ คุมเข้มมาตรการช่วงแรก พบมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวยื่นเรื่องเข้ามายังมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเพิ่มขึ้นกว่า 20%” นายจะเด็จ กล่าว
อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ของโควิดที่ยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานรัฐ และตำรวจต้องทุ่มกำลังไปการแก้ไขสถานการณ์ของโควิดก่อน ขณะเดียวกันคนภายในสังคมจากเดิมที่คอยเฝ้าระวัง ตอนนี้กลับมีการเฝ้าระวังลดลง เพราะผลกระทบจากโควิด ทำให้หลายปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยังไม่ได้รับการเยียวยาหรือความช่วยเหลือ
“ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยังถูกละเลยอยู่ ถ้าสังคมไม่แก้ เราจะต้องสูญเสียทั้งชีวิตคน ทรัพยากรแรงงาน และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่อปีเราต้องสูญเสียจากเรื่องนี้ไปไม่น้อย เพราะคนส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตต่างก็อยู่ในวัยทำงาน ส่วนผู้ที่ได้รับความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ต่างก็ไม่สามารถทำงานได้ ต้องลางานอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เขาไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้อย่างเต็มที่ สิ่งนี้ก็เป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย” นายจะเด็จ กล่าว
ทั้งนี้ นายจะเด็จ กล่าวด้วยว่า หากปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ยังถูกละเลยต่อไป สถานการณ์ความรุนแรงภายในครอบครัวอาจรุนแรงขึ้น จนนำไปสู่การฆ่ากันได้ นอกจากนี้ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้หญิงเท่านั้น แต่อาจลามไปถึงเด็กด้วย ทั้งในด้านทางกาย ทางใจ หรือทางเพศ ดังนั้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจำเป็นต้องเร่งปรับอย่างเร่งด่วน
(จะเด็จ เชาวน์วิไล)
@ ปรับเรื่องครอบครัวให้เป็นเรื่องของพ่อ-แม่ ทางแก้ความรุนแรงช่วงโควิด
สำหรับวิธีการป้องกันความรุนแรงเมื่อต้องอยู่ร่วมกันในสถานการณ์โควิด นายจะเด็จ กล่าวด้วยว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยที่จะรื้อสร้างวิธีคิดใหม่ โดยจะต้องปรับตัวให้เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องของทั้งพ่อและแม่ ทั้งการเลี้ยงลูก การทำงานบ้าน ต้องมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาความเครียดสามารถพูดคุยหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“โดยผู้ชายอาจต้องปรับตัวเป็นหลัก เพราะอาจไม่เคยได้ทำงานบ้านมาก่อน ส่วนผู้หญิงอาจเป็นผู้สนับสนุนสอนให้ผู้ชายเรียนรู้วิธีการทำงานบ้านได้ แต่ขอเน้นว่าการสนับสนุนนี้ไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะต้องเอาอกเอาใจ เพียงแต่เป็นการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกัน ถ้าหากไม่สามารถปรับได้ อาจต้องแจ้งความ เพื่อยุติความรุนแรงไม่ให้เพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามหลายคนอาจไม่กล้าแจ้งความ แต่อยากขอให้มองว่าปัญหานี้อาจไม่ใช่แค่เรื่องลิ้นกับฟัน แต่เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกาย หากไม่รีบหยุดยั้ง อาจนำไปสู่การสูญเสียได้” นายจะเด็จ กล่าว
ส่วนทางออกของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจะสำเร็จได้อย่างดีที่สุด จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายฝ่าย ได้แก่ 1. หน่วยงานภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรีบแจ้งเมื่อเห็นการใช้ความรุนแรง อย่าปล่อยให้มีการทำร้ายกัน และเร่งเข้าช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้หากลงพื้นที่ไปสำรวจปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับโควิด อาจใช้โอกาสนี้ในการสำรวจถึงปัญหาทางครอบครัวด้วย รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความรุนแรงใช้ความรุนแรงอีก
2. เน้นย้ำให้ตำรวจต้องรับแจ้งความปัญหาความรุนแรงในครอบครัวด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีบางส่วนเห็นว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว จึงไม่รับแจ้งความ และ 3. ปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อคนในสังคม โดยไม่ให้มองว่าความรุนแรงภายในครอบครัวที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องส่วนตัว หรือเป็นเรื่องภายในในครอบครัวเขา เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที
ทั้งหมดนี้เป็นทางแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น จะต้องปรับ ‘ทัศนคติชายเป็นใหญ่’ ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศผ่านหลักสูตรการเรียนการสอน และสื่อต่างๆ จะต้องปลูกฝังความเท่าเทียมทางเพศอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการนำเสนอฉากความรุนแรง ขณะเดียวกันองค์กรสาธารณะประโยชน์จะต้องร่วมกันช่วยเหลือและรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมกันทางสังคม ลดแนวคิดชายเป็นใหญ่ด้วย
แม้วิกฤตโควิดจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น แต่หากทุกคนร่วมมือกันปรับตัวให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม คอยสนับสนุนกันด้วยคำพูดที่ดี และไม่ละเลยเมื่อพบเห็นการใช้ความรุนแรง เชื่อว่าสังคมไทยจะปลอดความรุนแรง ลดการสูญเสียบุคลากร และทรัพยากรได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage