"…หากไทยสามารถเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ได้เร็วเท่าใด ยิ่งดีเท่านั้น แต่หากได้เข้าร่วมโครงการฯในปี 2565 ส่วนตัวคิดว่าคงช้าไป ยกเว้นว่าเราจะจัดหาวัคซีนอื่นได้มากพอ สถานการณ์ตอนนี้ไม่แน่นอน หลักการคือเราต้องใช้ทุกช่องทาง และทุกช่องทางควรจะเร็วที่สุด การเจรจาในบางครั้งเขาบอกว่าจะช่วยได้ แต่เราไม่รู้ว่าจะได้เมื่อใด ได้เท่าไร เพราะฉะนั้นทำให้มีหลากหลายช่องทาง เปิดทุกช่องทาง น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุด…"
…………………………………………………
โครงการโคแวกซ์ (Covid-19 Vaccines Global Access: COVAX) เป็นโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิดระดับโลก โดยมีองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้นำร่วมกับองค์กรพันธมิตร เพื่อให้ทุกประเทศได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียม ซึ่งเปิดรับสมัครประเทศที่พึ่งตนเองได้ทางการเงินให้เข้าร่วมโครงการเมื่อช่วงเดือน ก.ย.2563 ที่ผ่านมา แต่ไทยยังไม่ได้ลงนามเข้าร่วม
ต่อมา นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกมาขอโทษประชาชนเรื่องการจัดหาวัคซีนไม่ทัน ผ่านการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2564 พร้อมประกาศความพร้อมพิจารณากลับเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์อีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลเคยตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ
ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2564 ว่า การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ที่ นพ.นคร กล่าวไว้นั้น ไม่ได้หมายความว่าปีนี้เราตัดสินใจผิด โดยปีนี้เราไม่ได้เข้าร่วม ส่วนปีหน้านั้นยังไม่รู้ เนื่องจากสิ่งที่ นพ.นคร ได้พูดออกไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากได้ทราบข่าวว่าผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ๆ ของโลกอาจถูกนานาชาติบังคับไม่ให้ขายแต่ละประเทศโดยตรง แต่ให้ขายผ่านโครงการโคแวกซ์ ซึ่งถ้าหากสถานการณ์เป็นเช่นนั้น เราก็ต้องเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์
ต่อมาวันที่ 25 ก.ค.2564 นายอนุทิน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อนุทิน ชาญวีรกูล ระบุตอนหนึ่งว่า "ย้อนกลับไป ตอนที่ไทย มีแผนวัคซีน เราไม่ได้เลือกโคแวกซ์ เป็นแผนหลัก เพราะตอนนั้น เราไม่อยากวางเงินซื้อ ซึ่งเรารู้ดีว่า หลังจากนั้น เราจะกำหนดอะไรไม่ได้ ทางไทย จึงกันงบ ไว้จัดซื้อ จัดหากับผู้ผลิตโดยตรง ที่การพูดคุยหารือ ยังเป็นไปได้มากกว่า อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบันของโครงการโคแวกซ์ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไทยและโคแวกซ์ได้หารือกันมาตลอด มีคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ พบว่า ในปี 2565 การกักตุนวัคซีนจะน้อยลง โคแวกซ์ จะมีวัคซีนเข้ามามากขึ้น บริหารจัดการง่ายขึ้น ชาติสมาชิก จะมีความชัดเจน เรื่องการได้รับวัคซีน ไทยจึงเข้าร่วม เราตัดสินใจบนสถานการณ์จริง"
นี่คือสาเหตุที่ไทยยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ดังนั้นแล้วการตัดสินใจจะเข้าร่วมครั้งนี้จะสายไปหรือไม่ ภาพในอนาคตหลังประเทศไทยหลังเข้าร่วมโคแวกซ์จะเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สัมภาษณ์นักวิชาการ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ในครั้งนี้นับว่าช้าแต่ยังดีกว่าไม่ทำ เนื่องจากหากเราไปดูแผนการบริหารจัดการวัคซีนตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่มีอยู่ใน มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือน ม.ค.2564 ซึ่งในนั้นระบุว่า เราตั้งเป้าจัดหาวัคซีนให้ได้ 33 ล้านคน คิดเป็น 50% ของประชากรทั้งประเทศ แบ่งเป็น การจัดหาวัคซีนจากการตกลงแบบทวิภาคีร่วมกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส คิดเป็น 20% การจัดหาวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์ 20% และการจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เจรจากับบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด 2 ล้านโดส คิดเป็น 10%
“จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีความสนใจจะเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่ต้นปี 2564 อยู่แล้ว แต่เปลี่ยนใจว่าไม่เข้า เป็นที่มาให้เราได้เห็นเหตุผลต่างๆ ว่า ทำไมประเทศไทยถึงไม่ได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ในช่วงประมาณเดือน ก.พ. หรือ มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหลายเหตุผลดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าใด อาทิ การตีกรอบว่าประเทศไทยว่าไม่ได้เป็นประเทศยากจน การเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์เราจะต้องจ่ายแพง และเราไม่สามารถเลือกวัคซีนได้” น.ส.สฤณี กล่าว
(มติคณะรัฐมนตรี 5 ม.ค.2564)
@ เชื่อไม่ต้องจ่ายแพง-เลือกวัคซีนได้
สำหรับการให้เหตุผลที่ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลนั้น น.ส.สฤณี กล่าวว่า การตีกรอบว่าประเทศไทยว่าไม่ได้เป็นประเทศยากจน เป็นการตีกรอบว่าเราต้องการวัคซีนฟรีจากโครงการโคแวกซ์ ซึ่งในความรู้สึกส่วนตัวมองว่าการตีกรอบแบบนั้นไม่ถูกต้อง ทั้งที่จริงๆ แล้ว เรารู้อยู่แล้วว่า เราเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง เราควรจะมองว่าการได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์เป็นตัวช่วยทำให้เราเข้าถึงสิทธิ์การซื้อวัคซีน เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง เพิ่มช่องทางการจัดหาวัคซีนเข้ามาภายในประเทศ ทั้งนี้ในข่าวเปิดจดหมายลับแอสตร้าเซนเนก้าที่ทางสำนักอิศรานำมาเปิดเผยด้วยนั้น ทางบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเอง ยังระบุข้อความตอนหนึ่งที่เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า แนะนำให้ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีน ตั้งแต่ ก.ย.ปี 2563 อีกด้วย
(ข่าวประกอบ : เปิดจม.ลับ 'แอสตร้า’ อ้าง สธ.ไทยเคยแจ้งต้องการแค่เดือนละ3 ล.โดส เพิ่มให้เกือบ 2 เท่าแล้ว)
ส่วนการเข้าร่วมโคแวกซ์ เราจะต้องจ่ายแพง และไม่สามารถเลือกวัคซีนได้นั้น น.ส.สฤณี กล่าวอีกว่า เงื่อนไขการเข้าร่วมโคแวกซ์ของประเทศที่สามารถพึ่งตนเองได้ทางการเงิน ผ่านเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. สัญญาซื้อขายแบบผูกมัด (Committed Purchase Arrangement) ประเทศที่ยื่นขอจะต้องจ่ายค่ามัดจำในการซื้อวัคซีนล่วงหน้า 1.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส และต้องวางหนังสือค้ำประกันในวงเงิน 8.95 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ซึ่งข้อตกลงนี้มีข้อผูกมัดที่น่าสนใจว่า ประเทศที่เข้าร่วมสามารถถอนตัวได้ถ้าราคาของวัคซีนสูงเกินกว่า 2 เท่าที่วางไว้
และ 2. สัญญาซื้อขายแบบมีทางเลือก (Optional Purchase Arrangement) สัญญานี้ประเทศที่ยื่นขอสามารถเลือกรับวัคซีนตัวใดก็ได้ แต่ต้องจ่ายค่ามัดจำในการซื้อวัคซีนล่วงหน้า 3.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส โดยไม่ต้องวางหนังสือค้ำประกันอีก เนื่องจากค่ามัดจำดังกล่าวครอบคลุมต้นทุนแล้ว ซึ่งหลายประเทศส่วนใหญ่เลือกตกลงขายซื้อขายแบบดังกล่าว อย่างประเทศมาเลเซียเองก็ทำด้วยเช่นกัน
“จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นได้ว่าจริงๆแล้ว เราสามารถการเลือกวัคซีนได้ ส่วนคำกล่าวที่ว่าวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์ราคาแพงนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการระดับโลก ที่เขารวบรวมกำลังซื้อกว่า 100 ประเทศ และประกาศว่าจะซื้อวัคซีนถึง 2,000 ล้านโดส ซึ่งเขาไม่น่าจะได้ราคาวัคซีนที่แพงจากผู้ผลิต” น.ส.สฤณี กล่าว
(เงื่อนไขการเข้าร่วมโคแวกซ์สำหรับประเทศที่สามารถพึ่งตนเองได้ทางการเงินจาก WHO)
@ เข้าร่วมเพื่อเพิ่มโอกาส-ช่องทางหาวัคซีน
การเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ มีทั้งข้อดีและข้อควรระวัง โดยข้อดีนั้น คือ ประเทศไทยเรารู้อยู่แล้วว่าโครงการนี้คืออะไร และเราศึกษามาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพียงแต่เรายังไม่ได้ลงนามเข้าร่วม หากเราขอเข้าร่วมอีกครั้ง ทางโคแวกซ์น่าจะให้เข้าร่วมได้เร็ว ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เพิ่มช่องทางการจัดหาวัคซีน เพื่อกระจายความเสี่ยงออกไป
“การกระจายความเสี่ยง ก็เหมือนกับการทำธุรกิจ จะต้องซื้อวัตถุดิบจากลายๆเจ้า ไม่มีบริษัทใหญ่ที่ไหนที่จะซื้อวัตถุดิบจากแหล่งเดียว เพราะหากมีปัญหา เขาจะผลิตของไม่ได้เลย ทั้งนี้เราก็ได้เห็นด้วยแล้วว่า การที่ไทยจัดหาแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก เราก็มีปัญหา” น.ส.สฤณี กล่าว
ส่วนข้อควรระวังนั้น คือ ความคาดหวัง เนื่องจากโคแวกซ์ไม่เคยประกาศว่าจะจัดหาวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรทั้งหมด จุดยืนของโคแวกซ์คือการแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงวัคซีนของประเทศยากจนหรือประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น ดังนั้นตัวเลขที่เขาตั้งเป้าออกมาว่าจะซื้อวัคซีน 2,000 ล้านโดส คิดเป็น 20% ของจำนวนประชากรเท่านั้น หากให้เข้าใจโดยง่าย ให้ลองคำนวณว่า ถ้าประเทศไทยมีประชากรเข้าร่วม 60 ล้านคน จำนวน 20% ของประชากร จะได้เพียง 12 ล้านโดสเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องปรับความเข้าใจความคาดหวังของเราก่อนว่า เมื่อเข้าโครงการโคแวกซ์แล้ว เราต้องได้ 50 ล้านโดส หากเราไม่ได้ 50 ล้านโดสตามที่ต้องการ ไม่ได้แปลว่าการเข้าร่วมโคแวกซ์นั้นไม่ดี แต่ต้องเข้าใจว่าโครงการเขาเป็นแบบนี้
“เราไม่สามารถจัดหาวัคซีนจากโคแวกซ์ได้เยอะ เพราะโดยเป้าหมาย เขาไม่ใช่โครงการที่จะจัดหากันได้เยอะๆ แต่เขาจะจัดหาให้ทุกประเทศ” น.ส.สฤณี กล่าว
(น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาอิสระด้านเศรษฐศาสตร์)
น.ส.สฤณี กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับด้วยว่า โครงการโคแวกซ์เอง ก็มีความท้าทายในเรื่องปริมาณที่สามารถจัดส่งได้จริง โดยตอนนี้เขาส่งได้เพียงกว่า 138 ล้านโดส ใน 136 ประเทศ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่เขาตั้งเอาไว้ที่ 2,000 ล้านโดสเยอะมาก เนื่องจากอินเดีย ผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหลักให้กับโครงการโคแวกซ์ เจอการระบาดหนักเมื่อต้นปี 2564 ทำให้ต้องหยุดการผลิตออกไปช่วงหนึ่งราว 3 เดือน โครงการนี้จึงขาดวัคซีนไปเยอะมาก ขณะเดียวกันบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ก็มีปัญหาในการทำห่วงโซ่อุปทานระดับโลก คือ บริษัทไปทำสัญญากับประเทศต่างๆ และโครงการโคแวกซ์เกินกำลังของตนเอง ทำให้เกิดปัญหาผลิตไม่ทัน
อย่างไรก็ตามโครงการโคแวกซ์ไม่ถือว่าส่งวัคซีนให้กับประเทศสมาชิกช้า เนื่องจากหากคำนวณว่า มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสามารถในการพึ่งตนเองได้ทางการเงิน สั่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับประเทศไทยและโคแวกซ์ ในจำนวน 6.4 ล้านโดสเท่ากัน แต่ไทยเพิ่งส่งได้ในเดือน ก.ค.นี้ 8 แสนโดส ส่วนโคแวกซ์ส่งวัคซีนให้ได้แล้ว 1.4 ล้าน คิดเป็น 22% ซึ่งเกินมากกว่าเป้าหมายของโครงการโคแวกซ์ 20% ของประชากรด้วยซ้ำ ขณะที่ไทยตั้งเป้าได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้าน ขณะนี้เราได้วัคซีนเพียง 9 ล้านโดส คิดเป็น 15% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเราได้รับสัดส่วนของวัคซีนน้อยกว่ามาเลเซียที่เข้าร่วมโคแวกซ์อีก
น.ส.สฤณี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ถือเป็นข่าวดีที่ไทยจะเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ แต่อีกใจก็คิดว่าควรจะเข้าร่วมโคแวกซ์ทันที โดยไม่ต้องรอจนถึงปี 2565 เนื่องจากเราได้ศึกษาโครงการนี้มานานแล้ว และเมื่อพิจารณาเรามีโอกาสในการเข้าร่วมสูง โดยส่วนตัวคิดว่าหากเจรจากัน จะใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ อาจตกลงทำสัญญาซื้อได้เลย ซึ่งเป็นไปได้สูงที่โคแวกซ์จะส่งวัคซีนให้เราได้ภายในปีนี้
(สถานการณ์การกระจายวัคซีนในโครงการโคแวกซ์จาก GAVI)
@ เข้าร่วมได้เร็วยิ่งดี ปี 65 คงช้าไป
ขณะที่ นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หากไทยสามารถเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ได้เร็วเท่าใด ยิ่งดีเท่านั้น แต่หากได้เข้าร่วมโครงการฯในปี 2565 ส่วนตัวคิดว่าคงช้าไป ยกเว้นว่าเราจะจัดหาวัคซีนอื่นได้มากพอ ซื่งเคยเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า อยากให้จัดหาวัคซีนรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากวัคซีนที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้หากเจรจาสำเร็จ การเข้าร่วมโคแวกซ์หรือไม่ อาจลดความสำคัญลง เนื่องจากอย่างไรก็ตามวัคซีนที่ได้ผ่านโคแวกซ์ น่าจะได้รับน้อยกว่าวัคซีนที่จะได้มาจากการเจรจาอยู่ดี
“สถานการณ์ตอนนี้ไม่แน่นอน หลักการคือเราต้องใช้ทุกช่องทาง และทุกช่องทางควรจะเร็วที่สุด การเจรจาในบางครั้งเขาบอกว่าจะช่วยได้ แต่เราไม่รู้ว่าจะได้เมื่อใด ได้เท่าไร เพราะฉะนั้นทำให้มีหลากหลายช่องทาง เปิดทุกช่องทาง น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุด” ดร.สมชัย กล่าว
(ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ)
ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ การเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์คงมีแต่ข้อดี เดิมเราอาจกังวลเรื่องเงือนไขต่างๆ อาทิ เราจะต้องจ่ายแพง ไม่สามารถเลือกวัคซีนได้ หรือเข้าร่วมไม่ได้ด้วยปัญหา พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง แต่ในช่วงวิกฤตแบบนี้ อะไรเราก็คงต้องยอมรับ อย่างไรก็ตามขณะนี้หลายประเทศได้บริจาคเข้าโครการโคแวกซ์ ตนเองมองว่าหากเราคว้าโอกาสตรงนี้ รีบเข้า อาจจะได้รับวัคซีนบริจาคมาบ้าง แต่อาจได้ในสัดส่วนที่ไม่สูง เนื่องจากเราเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง แต่หากไม่ได้รับ ในส่วนนี้อาจยกให้เป็นหน้าที่ของทีมเจรจา ที่จะต้องไปเจรจารับบริจาคโดยตรงโดยไม่ผ่านโครงการโคแวกซ์ต่อไป
ทั้งหมดนี้เป็นทัศนะของนักวิชาการที่มีต่อการเข้าร่วมโคแวกซ์ของประเทศไทย ส่วนประเทศไทยจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯได้ก่อนสิ้นปีนี้ หรือจะสามารถจัดหาวัคซีนอื่นเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อฉีดให้ประชาชนชาวไทยได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงหรือไม่นั้น จะต้องติดตามกันต่อไป
อ่านข่าวประกอบ:
(คลิป) ISRA TALK อนุทิน : ทำไมกีดกัน'วัคซีนทางเลือก'?-ปีหน้ารัฐนำเข้า'โมเดอร์นา'เอง
ขออภัย ปชช.วัคซีนไม่พอรับสถานการณ์ ยันโปร่งใส-ตรวจสอบได้ เผยพร้อมร่วมโคแวกซ์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/