สธ.แจงจัดหาวัคซีนโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เผยเปิดมีกลไกทำงานตามขั้นตอน พร้อมขออภัยประชาชน จัดหาวัคซีนไม่พอรับสถานการณ์ เผยพร้อมเข้าร่วมโคแวกซ์ ด้านหญิงผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนสลับ ยังไม่สรุปสาเหตุ รอผลสอบสวน-ชันสูตร
------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็นวัคซีนโควิดว่า เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำงานเกี่ยวกับวัคซีน เราเข้าใจ เพียงแต่ข้อมูลบางอย่างที่พูดกัน ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น ไม่มีระบบกลไกจัดหาวัคซีน ทำงานไม่มีระบบ อยากเอาวัคซีนอะไรก็เอามา วัคซีนมีคุณภาพ ไม่มีคุณภาพ จึงอยากขออธิบายชี้แจงว่า กลไกการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างไร เพื่อให้เข้าใจตรงกัน เพราะสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์โดยมีข้อมูลน้อย ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้คนในสังคมเข้าใจคลาดเคลื่อน และหลายเรื่องไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้ทำงาน เมื่อสิ่งที่ดำเนินการไม่เป็นสิ่งที่ท่านคาดหมาย หรือประสงค์ให้เป็น จะมีการโยงข้อหาเรื่องการทุจริต การมีเงินทอน ถือว่าไม่เป็นธรรม พร้อมขอยืนยันว่าภายใต้การกำกับดูแลของท่านรองนายกรัฐมนตรี การทำงานของ สธ.ตรวจสอบได้ ไม่มีการทุจริตเด็ดขาด
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายบอกว่า เมื่อมีการเจรจา ทำไมไม่เปิดผลเจรจาทุกนัด ว่า การเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนใดก็ตาม จะมีสิ่งที่ต้องตกลง คือ เป็นสัญญาที่จะไม่เอาข้อความที่เจรจาไปเปิดเผย เนื่องจากมีผลมากมาย หากเอาข้อมูลที่ได้จากเจรจาไปเปิดเผยทุกนัด จะเกิดผลเสีย และจะเลิกเจรจา หลายคนในแวดวงจะเข้าใจ ที่สำคัญการเปิดเผยผลเจรจาที่ว่าออกไป หลายกรณีเกิดผลร้าย ยกตัวอย่าง การมีเคสระบาด โดยขอให้ทางแอสตร้าฯ ไปจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นมาให้ก่อน ตอนนั้นทุกคนคงจำได้ว่าไม่สามารถรอได้ ในเดือน พ.ย. และเดือนธ.ค. มีการระบาดรอบสอง ทางบริษัทฯ ได้ไปตัดยอดให้จากยุโรป เมื่อมีข่าวนี้ออกไป ทางยุโรป ก็สั่งห้ามโรงงานไม่ให้ส่ง ทำให้ประเทศไทยก็ไม่ได้วัคซีนในล็อตนั้น นี่คือตัวอย่างอย่างเป็นธรรม ถึงสาเหตที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุด
@ ขอให้เชื่อมั่น ชี้ทำงานบนหลักวิชาการ
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า กลไกของกระทรวงสาธารณสุขใช้ดำเนินการมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ กลไกตามกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.วัคซีนฯ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ภายใต้กลไกต่างๆ ก็เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนทั้งทางตรงและทางอ้อม การจะดำเนินการ จะต้องมีการพิจารณาตามคณะกรรมการที่ว่า
ขณะเดียวกันยังมีกลไกส่วนที่ 2 คือ กลไกในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยท่านรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการฯ ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีกรรมการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม(อภ.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และมีคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการชุดนั้นอีก 2 คณะ โดยคณะหนึ่งเจรจาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และอีกคณะเจรจาวัคซีนในส่วนของโคแวกซ์ (COVAX)
"ขณะนี้ โคแวกซ์ยังไม่ได้ทิ้ง ยังเจรจาต่อมา นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการของอาจารย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร พิจารณาเรื่องวัคซีนทางเลือกด้วย" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า วัคซีนไม่ใช่ของทั่วไป ไม่ใช่สินค้าหาได้โดยง่าย และปัจจุบันตลาด ยังเป็นของผู้ขาย ผู้ขายมีสิทธิกำหนดต่างๆ การผลิตไม่เพียงพอ แม้กระทั่งโคแวกซ์ ที่มีคนบอกว่าทำไมไม่เข้า วันนี้ก็ยังซัพพลายด์วัคซีนไม่มากเท่าที่วางแผน พลาดเป้าไปค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการกลายพันธุ์ ทำให้สิ่งที่วางแผนต้องมีการปรับเปลี่ยน และเจรจาหลายฝ่ายตลอดเวลา ดังนั้น กลไกที่มีมีความเข้มแข็งมากพอในการดำเนินการ เพื่อให้ได้วัคซีนมาถึงคนไทยมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
“ขอให้เชื่อมั่นในทีมที่ทำงาน เราทำงานบนหลักฐานข้อมูลวิชาการ ข้อแนะนำใดๆก็ตาม ที่ท่านมีให้ในทางที่เป็นประโยชน์เราน้อมรับ แต่ข้อแนะนำบางอย่างที่แบบเปิดถ้วยแทง คือ เห็นแล้วว่าเกิดอะไรแล้วมาวิจารณ์ อาจไม่เป็นธรรม จึงต้องนึกถึงวันที่ตัดสินใจล่วงหน้า หลายเรื่องไม่อาจคาดการณ์ได้ในบางเรื่อง ยกตัวอย่าง เช่น การโจมตีวัคซีนซิโนแวค หากเดือน ก.พ. มี.ค.ไม่มีวัคซีนฉีดให้ประชาชนจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้วว่า ซิโนแวค 2 เข็มลดอาการรุนแรง ไม่เสียชีวิต จึงขอให้ทุกท่านพิจารณาอย่างถ้วนถี่ พวกเราพร้อมทำงานหนักเพื่อให้ได้วัคซีนเข้ามาเท่าที่เป็นไปได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว
@ ขอโทษที่ไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอ
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในส่วนของสถาบันวัคซีนฯ ทำหน้าที่เจรจาจัดหา พยายามติดต่อประสานงานผู้ผลิตวัคซีนทั้งที่มีวัคซีนแล้วและอยู่ระหว่างวิจัย ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.2563 และพยายามหาช่องทางจองซื้อล่วงหน้า แม้ว่าวัคซีนจะอยู่ระหว่างการวิจัย จนได้มีการออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ตามพรบ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ มาตรา 18(4) ที่จะเปิดให้สถาบันฯทำหน้าที่ในการจองวัคซีนช่วงหน้าที่อยู่ระหว่างการวิจัย เป็นที่มาที่สามารถจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่เป็นการจองตั้งแต่เริ่มต้น และจำนวนวัคซีนที่ได้จำนวน 61 ล้านโดส เป็นการจองล่วงหน้าที่มีการเจรจาตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย. และจองวัคซีนเสร็จสิ้นเดือน พ.ย.2563 และจองซื้อเพิ่มเติมครบ 61 ล้านโดสในต้นปี 2564
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า ในการเสนอจัดหาวัคซีนในแต่ละครั้ง เมื่อมีข้อมูลจากการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีน จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานและคณะกรรมการจัดหาวัคซีนที่มีปลัดสธ.เป็นประธาน เป็นกลไกด้านการบริหารที่มีอยู่ให้เกิดการตัดสินใจในเชิงบริหาร เพราะว่าไม่สามารถดำเนินการได้ โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องปรึกษาทั้งผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานที่รับผิดชอบ เป็นการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ ถึงแม้ว่ากรมควบคุมโรค และสถาบันฯ จะเป็นผู้จัดหาวัคซีนร่วมกัน แต่การตัดสินใจต้องนำเข้าสู่การประชุมคณะทำงานและคณะกรรมการแต่ละชุดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะมีความเกี่ยวพันทั้งเรื่องภาระงบประมาณ และความผูกพันด้านสัญญาที่ไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการได้ตามลำพัง การดำเนินการทุกส่วน ก่อนการลงนามส่วนใดจะส่งปรึกษาหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศเพื่อพิจารณาก่อน ในการดำเนินการของภาครัฐที่จำเป็นต้องมีระบบระเบียบที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เป็นที่มาที่เกิดความรับรู้ว่าการดำเนินการจัดหาวัคซีน อาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้อจำกัดที่มี
“แต่ก็ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชน ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แม้จะพยายามเต็มที่แล้ว ก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด การระบาดของโรคโควิดที่ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน รวมทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัส ไม่ใช่เรื่องที่จะคาดหมายได้ล่วงหน้า เกิดขึ้นแล้วทำให้การระบาดของโรครวดเร็วและรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาก่อนในช่วงปีที่แล้ว ทำให้การจัดหาวัคซีนไม่ทันกับสถานการณ์ ต้องกราบขอภัยพี่น้องประชาชน” นพ.นครกล่าว
@ พร้อมเข้าโควแวกซ์
นพ.นคร กล่าวถึงการดำเนินการข้างหน้า ว่า สถาบันฯดำเนินการต่อในความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย คือ การจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ทั้งปีนี้และปีหน้า โดยปี 2565 พิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตรุ่นที่ 2 หรือวัคซีนที่สามารถตอบสนองกับไวรัสกลายพันธุ์ได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ส่งมอบได้ตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2565 เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ จำเป็นต้องจองวัคซีนล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังอยู่ในการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ เพียงแต่ยังไม่ได้มีการลงนามในการจัดหาวัคซีนร่วมกันผ่านโครงการโคแวกซ์ ส่วนนี้สถาบันได้เริ่มเจรจาและส่งข้อความประสานงานไปยังองค์กรกาวีในการที่จะขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับโครงการโคแวกซ์มีเป้าหมายของการได้รับวัคซีนของปี 2565 เพิ่มเติมจากการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนลำพัง จะดำเนินการผ่านโครงการโคแวกซ์ และเมื่อได้ข้อสรุปเบื้องต้นชัดเจนก็นำเสนอผ่านคณะกรรมการ คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า ส่วนอื่นๆ การสนับสนุนวิจัยพัฒนาในประเทศ ทั้งรูปแบบการหาเทคโนโลยีมาทำความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีก็จะมีการแสวงหาความร่วมมือกับผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศ ที่มีความประสงค์จะขยายกำลังการผลิต ในการผลิตวัคซีนด้วยแพลตฟอร์มหรือรูปแบบอื่น ทั้งเชื้อตาย mRNA หรือซับยูนิตโปรตีน ก็อยู่ในช่วงของการดำเนินการเร่งนัดแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งส่วนนี้กระทรวงการต่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมดำเนินการประสานที่จะดูการทำงานร่วมมือกับต่างประเทศ ขณะที่การวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศ ทั้ง mRNA วัคซีนของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม วัคซีนของไบโอเนทเอเชีย วัคซีนของบริษัทใบยาฯ ทั้ง 4 บริษัทที่มีความก้าวหน้าในการวิจัยพัฒนา ก็มีการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ รวมถึง วิจัยพัฒนาข้อความรู้อื่นๆ ที่จะนำมาใช้สนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดของประเทศต่อไปข้างหน้า
@ สัญญามีข้อผูกมัด จะต้องตรวจสอบเอกสารก่อน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการดำเนินงานในระดับกรมควบคุมโรคว่า จะมีทีมเจรจากับบริษัทวัคซีนในเรื่องของข้อมูลผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของวัคซีน พิจารณาราคา ความเหมาะสมในประเทศไทย อย่างเช่น การขนส่งและจัดเก็บ โดยเมื่อเริ่มมีการใช้ในต่างประเทศแล้วก็จะมีการพิจารณาผลข้างเคียงของวัคซีนด้วย โดยทำงานร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คณะผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เรื่องของวัคซีน ทั้งนี้ ในส่วนการลงนามไม่เปิดเผยข้อมูลในเอกสาร ต้องมีการพิจารณาเอกสารอย่างรอบคอบ โดยส่งไปให้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบร่วมด้วยก่อนลงนาม
“ส่วนหลักฐานเอกสารการจอง จะมีข้อความที่สะท้อนถึงข้อผูกมัดที่ต้องดำเนินการร่วมกัน จะต้องมีการตรวจสอบเอกสารก่อนลงนาม และครั้งสุดท้ายคือ สัญญาการสั่งซื้อ เช่นกรณีของวัคซีนบริษัทไฟเซอร์ ที่มีการลงนามไปเมื่อวานนี้ (20 ก.ค) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยสูงสุด ทั้งเงื่อนไข การส่งมอบวัคซีน ราคา และการตรวจสอบคุณภาพวัคซีน” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวถึงส่วนเรื่องการเจรจาเงื่อนไขของวัคซีนว่า ก็จะไม่ล่าช้ากว่ากำหนดการส่งมอบ เพราะในการเจรจา จะรู้แล้วว่าวัคซีนที่มี จะส่งมอบได้เมื่อไหร่ เช่น บริษัทไฟเซอร์ ตั้งแต่เริ่มต้นพูดคุยกันก็ทราบว่ามีคนจองวัคซีนเข้ามาเยอะ ส่วนของประเทศไทยในวันที่เราตัดสินใจสั่งซื้อเป็นกำหนดการส่งมอบวัคซีนในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หากว่าอยากได้เร็วขึ้นก็ต้องมีการเจรจา บางครั้งไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการทั้งหมด แปลว่าทางบริษัทฯ ให้คำตอบว่ามีความพยายามที่จะจัดส่งให้เร็วขึ้น
@ ยังไม่สรุปปมหญิงเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนสลับ
นพ.โสภณ กล่าวถึงกรณีพบผู้เสียชีวิตภายหลังรับวัคซีนโควิดเข็มที่ 2 ว่า ในประเทศไทย เริ่มการฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือน มี.ค.จนถึงขณะนี้ ฉีดไปแล้วประมาณ 14.8 ล้านโดส มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้รับวัคซีน และต่อมามีรายงานเสียชีวิตประมาณ 229 ราย หรือคิดเป็น 16 ต่อ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนอยู่ในระยะ 1 เดือน คือ หลังจากรับวัคซีนและมีการเสียชีวิต ทั้งนี้ ได้ติดตามสาเหตุจากคณะผู้เชี่ยวชาญ ส่วนใหญ่เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาข้อมูลโดยละเอียด ทั้งข้อมูลการฉีดวัคซีน อาการที่เกิดขึ้น ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลชันสูตร ไม่พบเหตุจากวัคซีนโดยตรง แต่มีโรคร่วม พบบ่อยคือ หลอดเลือดหัวใจ และบางครั้งมีหลอดเลือดสมอง และมีอีกส่วนยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
นพ.โสภณ กล่าวว่า ในกรณีหญิงอายุ 39 ปี อาชีพรับราชการครู เสียชีวิต ว่า ผู้เสียชีวิตมีโรคความดันโลหิตสูงอยู่เดิม มีค่า BMI 31 และรายนี้มีประวัติฉีดวัคซีน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการฉีดวัคซีนซิโนแวค ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2564 และครั้งที่ 2 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ สธ. โดยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้พิจารณาข้อมูลผลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันที่ให้มีการฉีดชนิดเชื้อตาย และไวรัล เวคเตอร์ พบว่า จะสร้างภูมิคุ้มกันเร็วภายใน 2 สัปดาห์ในเข็มที่สอง จนถึงวันนี้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิดมากกว่า 84,000 คน โดยกรณีครูอายุ 39 ปี เป็นเป็นรายแรกที่มีการเสียชีวิต คิดเป็นอัตรา 1 ในแสนของผู้ฉีดวัคซีน ยังต้องหาสาเหตุต่อไป อย่างไรก็ตาม แพทย์ได้มีการตรวจเบื้องต้นและมีการชันสูตรที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจะทราบผลในเร็ววันนี้
“ขณะนี้จึงยังไม่สรุปว่ามีความเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนจะได้นำข้อมูลที่ตรวจสอบแล้ว และมีข้อมูลเพียงพอมานำเสนอ แต่ที่จะสรุปเรื่องต้นคือวัคซีนทั้ง 2 ตัวที่ฉีดในประเทศไทยนั้น เป็นวัคซีนที่ได้พิสูจน์แล้วว่ามีความปลอดภัยสูงจากการที่เราฉีดมาก 10 กว่าล้านโดส เพียงแต่รายนี้เป็นการฉีดวัคซีนสลับชนิดและเกิดเหตุการณ์เสียชีวิตก็ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวอีกครั้ง ส่วนผลการสรุปจะมีการเรียนให้ทราบต่อไป”นพ.โสภณ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage