"...มีข้อมูลแจ้งว่า หลังการเริ่มงานก่อสร้าง ทางเอกชนได้ทำเรื่องขอขยายระยะเวลางานก่อสร้างเพิ่ม เนื่องจากมีการขุดพื้นดินไปเจอสายไฟฟ้า แต่ปัจจุบันงานก่อสร้างก็ยังมีปัญหาล่าช้าประมาณ 200 กว่าวัน ค่าปรับน่าจะอยู่ประมาณหลักร้อยล้านบาท ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่า กกท.ได้มีการเรียกเงินค่าปรับจากเอกชนแล้วหรือไม่? ..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบงานก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกกีฬามวลมาตรฐานระดับสากล วงเงิน 608 ล้านบาท ที่อยู่ในความรับผิดชอบชองการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หลังเกิดเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่สวนจตุจักรมูลค่า 2 พันล้านบาท พังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว เนื่องจากปรากฏชื่อ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างเหมือนกัน
โดยได้รับการยืนยันข้อมูลว่า แม้งานก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกกีฬามวยฯ จะไม่ได้มีปัญหาพังถล่มลงมาเหมือนกรณีอาคาร สตง. หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว แต่มีปัญหาการส่งมอบงานล่าช้าเหมือนกับตึกสตง. เพราะตามสัญญาจ้างงาน กำหนดให้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 สิ้นสุดตามสัญญาจ้าง 16 ก.พ.2567 ซึ่งปัจจุบันระยะเวลาล่วงเลยมานานเป็นปีแล้ว แต่การก่อสร้างอาคารก็ยังไม่แล้วเสร็จ ส่งมอบงานไม่ได้
ปัจจุบันผู้บริหารบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10ฯ ถูกแจ้งความดำเนินคดีกรณีตึก สตง. ถล่ม หลายคน ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้ จะมีผลกระทบต่องานก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกกีฬามวย ให้ล่าช้าออกไปอีกหรือไม่
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันข้อมูลสัญญาว่าจ้างงานก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกกีฬามวลมาตรฐานระดับสากล วงเงิน 608 ล้านบาท พบว่า มีจำนวน 17 หน้า ลงนามเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ระหว่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะผู้ว่าจ้าง กับ กิจการร่วมค้า ซีไอเอส (ประกอบไปด้วย บริษัท ไอเอสโอ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
รายชื่อผู้มีอำนาจ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรากฏชื่อในสัญญา มี 2 ราย คือ นายชวนหลิง จาง และ นายโสภณ มีชัย ซึ่งบุคคลทั้งสอง อยู่ระหว่างถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนกรณีกิจการร่วมค้าเข้าประมูลโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน อาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายการเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และอาจมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐ อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
ส่วนข้อกำหนดระยะเวลางานก่อสร้าง ระบุเริ่มทำงานวันที่ 30 กันยายน 2564 และจะต้องทำงานให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 กำหนดค่าปรับเป็นจำนวนเงินวันละ 608,400 บาท
หากนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงปัจจุบัน ณ 20 พฤษภาคม 2568 รวมระยะเวลาประมาณ 459 วัน คิดเป็นวงเงินค่าปรับกว่า 279,255,600 บาท (ดูสัญญาท้ายเรื่อง)
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลแจ้งว่า หลังการเริ่มงานก่อสร้าง ทางเอกชนได้ทำเรื่องขอขยายระยะเวลางานก่อสร้างเพิ่ม เนื่องจากมีการขุดพื้นดินไปเจอสายไฟฟ้า แต่ปัจจุบันงานก่อสร้างก็ยังมีปัญหาล่าช้าประมาณ 200 กว่าวัน ค่าปรับน่าจะอยู่ประมาณหลักร้อยล้านบาท ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่า กกท.ได้มีการเรียกเงินค่าปรับจากเอกชนแล้วหรือไม่?
หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอต่อไป
อ่านข่าวประกอบ :
- DSI โชว์ข้อมูลไชน่าฯ10 จับมือ12 กิจการร่วมค้า คว้างาน 2.2 หมื่นล.-มีแนวโน้มเป็นนอมินี?
- ตามรอย 'มานัส ศรีอนันท์' ผู้ถือหุ้นไชน่าฯ 10 พบคนหน้าเหมือนในเฟซแต่งกายคล้ายคนงานบริษัท
- ซูมชัดเลย! 'มานัส' ในเฟซคนเดียวกัน DSIสอบถือหุ้นไชน่าฯ10 โชว์เซ็นเอกสารปริศนากรมพัฒน์ฯปี 60
- ถึงคิว!ขุด'ประจวบ' ผู้ถือหุ้นไชน่าฯ10 ล็อกโพรไฟล์เฟซ - ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์เสริมยี่ห้อดัง ?
- ขุดเจออีกเฟซ! โพรไฟล์ 'มานัส' ผู้ถือหุ้นไชน่าฯ10 โพสต์เริ่มต้นทำงาน บ.ขายยาง ปี 61
- ‘ทวี’ แถลง จับกุมตัว ‘ชวนหลิง จาง’ กก.บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ - ผู้ต้องหา ‘คดีนอมินี’
- เจาะลึกฐานธุรกิจ ไชน่าเรลเวย์ 10 ในมือ ดีเอสไอ ก่อนรวบ กก.จีน ล่าตัว 3 ผู้ถือหุ้นไทย