สตง.นัดประชุมด่วนปัญหาตึกอาคารสนง.แห่งใหม่ 2 พันล้าน พังถล่ม เผยมีถกข้อมูลสำคัญเทคนิคก่อสร้างสมัยใหม่แบบพื้นไร้คาน-อาศัยเสาค้ำพื้นของบริษัทจีน คู่สัญญา มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในจีนชี้ต้านทานต่อแผ่นดินไหวไม่พอ
จากกรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ริกเตอร์ ส่งผลทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมายังประเทศไทย ทำให้ อาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 30 ชั้น งบประมาณ 2,136 ล้านบาท ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ 11 ไร่ ใจกลางย่านการค้าตลาดนัดจตุจักร ใกล้ MRT กำแพงเพชร ติดสถานีกลางบางซื่อ ตรงข้าม JJ MALL พังถล่มลงมาทั้งหมด
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในช่วงเวลา 08.00 น. วันที่ 29 มีนาคม 2568 นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. มีนัดหมายประชุมกับผู้บริหาร สตง. และทีมงานนายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสรุปสถานการณ์ปัญหาอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ พังถล่มเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไว้ ก่อนนำข้อมูลไปเสนอต่อที่ประชุมแก้ไขปัญหาแผ่นดินไว้ ที่มีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในช่วงเวลา 09.30 น.
ส่วนกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับบริษัทจีน ที่เข้ามาก่อสร้างอาคาร นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้รับเหมางานก่อสร้างอาคาร ดำเนินงานโดยกิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของจีน โดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ รับผิดชอบงานโครงสร้างอาคาร ปัจจุบันดำเนินการไปได้ประมาณ 30กว่า% ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะมีปัญหาความล่าช้าในการดำเนินงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้งานมาความล่าช้า
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการก่อสร้างอาคารสูงแบบพื้นไร้คาน อาศัยเสาค้ำพื้น ว่าอาจเป็นต้นต่อปัญหาตึกพังถล่ม แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื่องต้นมีคำชี้แจงว่า ก่อสร้างอาคารสูงแบบพื้นไร้คาน เป็นเทคนิคการก่อสร้างอาคารแบบสมัยใหม่ ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ สตง.ต้องถกรายละเอียดว่า เทคนิคการก่อสร้างอาคารแบบสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่
เมื่อถามว่า การตรวจรับงานที่ผ่านมา มีความเข้มงวดมากน้อยเพียงใด แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบัน สตง.ตรวจรับงานประมาณ 20 กว่า% มีความเข้มงวดมาก มีตัวแทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วม
เมื่อถามถึงการประมาณความเสียหายเบื้องต้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ ต้องรอประชุมก่อน แต่ในส่วนของสัญญาว่าจ้างงาน สตง.บังคับให้เอกชนทำประกันไว้อยู่แล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไร กรณีนี้ สตง. ถือว่าได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ดังกล่าว เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2563 แต่หยุดชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดย สตง. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคาร ที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยได้เสนอขออนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท จากนั้นได้ดำเนินการจัดหาผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยวิธีคัดเลือกผู้ให้บริการควบคุมงานจ้างก่อสร้าง โดยกิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด) เป็นผู้ชนะการยื่นข้อเสนองานจ้างควบคุมงาน ด้วยวงเงิน 74.65 ล้านบาท
ในระหว่างการก่อสร้าง สตง.มีความจําเป็นต้องขยายระยะเวลาดังกล่าวทําให้ครบกําหนดสัญญาในวันที่ 3 มิถุนายน 2567 ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
ครั้งที่ 1 เนื่องจากงานรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมในพื้นที่ การหยุดงานก่อสร้างตาม ประกาศของทางราชการอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมีงานพิธีวางศิลาฤกษ์ รวมเป็น ระยะเวลา 58 วัน
ครั้งที่ 2 เนื่องจากการแก้ไขแบบก่อสร้าง กรณี Load Factor, Core Wall และการสัญจรของรถบรรทุกในชั้นใต้ดิน รวมเป็นระยะเวลา 97 วัน
ขณะที่ภายหลังเกิดเหตุ อาคารที่ทำการสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ พังถล่มหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในประเทศจีนได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงเทคนิคการก่อสร้างอาคารสูงแบบพื้นไร้คาน อาศัยเสาค้ำพื้น เป็นอย่างมาก ว่ามีความต้านทานต่อแผ่นดินไหวไม่พอ