"...ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ที่แสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว เพียงเพื่อต้องการแสดงออกถึงการต่อต้านการรัฐประหารและโจมตีการทำงานของรัฐบาลเท่านั้น มิได้มีความมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่เกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด และมิได้มีการกระทำอื่นใดที่แสดงให้เห็นถึงการไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสนับสนุนข้อเรียกร้องอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายของแกนนำกลุ่มผู้ชมนุม.."
กรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 มีมติให้ตีตกข้อกล่าวหา นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรคไทยศรีวิไลย์ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรคไทรักธรรม และ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรคก้าวไกล กระทำการอันเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธธรรมนูญและฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 -20 กันยายน 2563 ที่บริเวณท้องสนามหลวง และได้แสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว อันเป็นการสนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข้อมูลเชิงลึกไปแล้วว่า คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 3 ต่อ 3 เสียง เห็นว่าไม่ผิดจริยธรรม และผิดจริยธรรมเท่ากัน
โดยกรรมการ 3 เสียง ที่เห็นว่าไม่ผิดจริยธรรม คือ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง , นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และ นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ส่วนกรรมการ อีก 3 เสียง ที่เห็นว่า ผิดจริยธรรม คือ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. , นายวิทยา อาคมพิทักษ์ และนายประภาศ คงเอียด ขณะที่ นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ ลาการประชุม
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกำรป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ข้อ 23 ระบุว่า การลงมติของที่ประชุมเพื่อมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
เมื่อคะแนนเสียงเท่ากันถือว่าข้อกล่าวหาตกไป
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันข้อมูลพบว่า จุดเริ่มต้นคดีนี้ เกิดขึ้นในการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ณ บริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งปรากฎข้อเท็จจริงว่าก่อนที่จะมีการนัดชุมนุมในวันดังกล่าว มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ ได้รวมตัวกันชุมนุม เช่น กลุ่มมอกระเสด (KU Daily) มีการจัดกิจกรรมปราศรัย เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในนามกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมหรือพรรคโดมปฏิวัติ มีการจัดกิจกรรม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่บริเวณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยข้อเรียกร้อง 10 ประการ
นอกจากนี้ มีการโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasat and demonstration เพจเฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา และเพจเฟซบุ๊ก เพนกวิน - พริษฐ์ ชีวารักษ์ Part Chiwarak ประกาศจัดการชุมนุมครั้งใหญ่ วันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2563 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ และมีการจัดแถลงข่าวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับการชุมนุมดังกล่าว โดยมีการใช้ชื่อการชุมนุมว่า "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร"
ต่อมาเมื่อถึงกำหนดนัดหมายวันชุมนุม (วันที่ 19 กันยายน 2563 ) ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทยอยมารวมตัวกันบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งทางด้านสนามหลวง
จากนั้น นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และนายภาณุพงศ์ จาดนอก กับพวก ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่ม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีกล่าวโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร ความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้งได้มีการกล่าวโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นระยะ ๆ สลับกับการร้องเพลงปลุกใจและทำกิจกรรม เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านการทำรัฐประหาร
กิจกรรมการชุมนุมได้ดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเย็น จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. ปรากฎหลักฐานว่า นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยศรีวิไลย์ , นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักธรรม และนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลในขณะนั้น ได้ไปปรากฏตัวเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวด้วย
โดยระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน อยู่ร่วมในการชุมนุม นั้น กิจกรรมบนเวทีส่วนใหญ่จะเป็นการปราศรัยกล่าวโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล มีการร้องเพลง 1 2 3 4 5 6 ไอ้ HERE TOO เพื่อด่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันชู 3 นิ้ว เพื่อเป็นสัญสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐบาลและการทำรัฐประหาร โดยไม่มีการอ่านแถลงการณ์หรือกล่าวถึง ข้อเรียกร้อง 10 ประการ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
เมื่อถึงเวลาประมาณ 20.00 น. ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ได้เดินทางออกจากที่ชุมนุม
จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 22.50 น. แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ได้มีการกล่าวยืนยันถึงข้อเรียกร้อง 10 ประการ รวมทั้งกล่าวโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการชุมนุมนุมดังกล่าวได้ดำเนินต่อไปจนถึงช่วงเช้าของวันที่ 20 กันยายน 2563
โดยเมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมนุมก็ได้ประกาศยุติการชุมนุม จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุม ก็ได้พากันเดินทางกลับบ้าน
ทั้งนี้ ในการสอบสวนคดีนี้ ป.ป.ช. มีการตรวจสอบข้อมูลการโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย มาใช้ประกอบการสอบสวนคดีนี้ด้วย
มีรายละเอียดดังนี้
1.นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์
โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 เวลา 17.15 น. โดยมีใจความสำคัญว่าไปให้กำลังใจน้อง ๆ ประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง
-โพสต์กลุ่มรูปภาพเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 เวลา 20.38 น. บรรยากาศในภาพมีลักษณะเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนจำนวนมาก และมีสถานที่สำคัญคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีคำอธิบายว่า ตนเอง พร้อม นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ มาร่วมกันสังเกตการณ์ชุมนุม โดยรูปภาพหนึ่งจากกลุ่มรูปภาพดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน ได้ชูสัญลักษณ์สามนิ้วท่ามกลางกลุ่มคนจำนวนมาก
-โพสต์รูปภาพเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 เวลา 18.15 น. พร้อมอธิบายว่าผู้ถูกกล่าวหาเห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝันกายใต้กรอบของกฎหมาย ของคณะประชาชนปลดแอก แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของกลุ่มนักศึกษาบางส่วน
-โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 เวลา 15.12 น. โดยมีใจความสำคัญว่าหากการชู 3 นิ้วของผู้ถูกล่าวหาผิดกฎหมายและมีการลงโทษ ผู้ถูกกล่าวหา พร้อมสู้เต็มที่
-โพสต์รูปภาพเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 เวลา 20.12 น. เป็นภาพของผู้ถูกกล่าวหา ทั้ง 3 คน ชูสัญลักษณ์สามนิ้วท่ามกลางกลุ่มคนจำนวนมาก และอีกรูปภาพหนึ่งเป็นรูปภาพของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชูสัญลักษณ์สามนิ้วในการแสดงความเคารพของลูกเสือสามัญ เพื่อเปรียบเทียบว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการชูสัญลักษณ์สามนิ้วเช่นเดียวกัน ควรถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกัน
2. นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค
-โพสต์กลุ่มรูปภาพเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 เวลา 12.63 น. มีลักษณะ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนจำนวนมาก และมีสถานที่สำคัญคือคือนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมอธิบายว่าการชุมนุมเป็นความเห็นต่างเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในการนี้นายพีระวิทย์ และนายมงคลกิตติ์ พร้อมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย
-โพสต์กลุ่มรูปภาพเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 เวลา 13.57 น. เป็นภาพที่เกี่ยวกับสนามหลวงพร้อมระบุข้อความโดยมีใจความสำคัญว่าการชุมนุมสามารถกระทำได้ แต่ไม่ควรล่วงละเมิดทั้งโบราณสถาน และจาบจ้วงสถาบัน ท่านเห็นด้วยกับสิ่งที่สมเหตุผล และในเห็นด้วยกับสิ่งที่ไม่สมคาร
-นอกจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกล่าวหาได้เข้าร่วมชุมนุม และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่านายพีระวิทย์ นายมงคลกิตติ์ และนายณัฐชา ได้ชูสัญลักษณ์สามนิ้วท่ามกลาง กลุ่มคนจำนวนมากในการชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 - 20 กันยายน 2563 ด้วย
3. นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์
-โพสต์กลุ่มรูปภาพและข้อความเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 เวลา 22.34 น. มีลักษณะเป็นการประมวลภาพการชุมนุมตลอดวัน พร้อมระบุข้อความมีใจความสำคัญว่า วันที่ 19 กันยายน 2563 มีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก และจากการพูดคุยกับประชาชนพบว่าส่วนใหญ่ประสบปัญหาจากการบริหารของรัฐบาล โดยมีหนึ่งในรูปภาพจากกลุ่มรูปภาพดังกล่าวเป็นภาพของนายณัฐชา และนายนายพีระวิทย์ ชูสัญลักษณ์สามนิ้วท่ามกลางกลุ่มคนจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมามีการดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุม โดยพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ได้สรุปรายงานการสอบสวนและมีความเห็นควรฟ้องแกนนำผู้ชุมนุม ในความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อมาพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้ยื่นฟ้องแกนนำผู้ชุมนุมต่อศาลอาญาในฐานความผิดดังกล่าว ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล
ขณะที่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยคำร้องของของ นายณฐพร โตประยูร ที่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญญวินิจฉัยตามรัฐธธรรมนูญมาตรา 49 (เป็นเรื่องพิจารณาที่ 19/2563) โดยนำข้อเท็จจริงจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 มาประกอบการพิจารณาว่าการกระทำของแกนนำผู้ชุมนุมในการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ประการ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสรุปได้ว่าข้อเรียกร้อง 10 ประการ ของกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะเป็นข้อเรียกร้อง ที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยืดถือปฏิบัติกันตลอดมา ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่อง
จากการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 (นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำผู้ชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 2563) แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องที่ 1 , ที่ 2 และ ที่ 3 ว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสาม มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ใช่การปฏิรูป
ขณะที่ในการสรุปสำนวนไต่สวนคดีนี้ ของคณะกรรมการไต่สวน มีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย
โดยฝ่ายแรกเสียงข้างมาก เห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ที่แสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว เพียงเพื่อต้องการแสดงออกถึงการต่อต้านการรัฐประหารและโจมตีการทำงานของรัฐบาลเท่านั้น มิได้มีความมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่เกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด และมิได้มีการกระทำอื่นใดที่แสดงให้เห็นถึงการไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสนับสนุนข้อเรียกร้องอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายของแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรม เจตนา และความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการกระทำแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ามีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรม
ขณะที่อีกฝ่ายเสียงข้างน้อยเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 2563 เป็นการชุมนุมที่ประชาชนโดยทั่วไปทราบดีว่าเป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์หลักในเรื่องข้อเรียกร้อง 10 ประการ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวในช่วงเวลานั้นเป็นที่รับทราบของประชาชนโดยทั่วไปว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก
การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระทำโดยเจตนาโพสต์ภาพของตนขณะเข้าร่วมชุมนุมและแสดงสัญลักษณ์ ชู 3 นิ้ว ในแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กอันเป็นการเผยแพร่สู่สาธารณะ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ย่อมคาดหมายได้ว่าการโพสต์ภาพดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนที่ติดตามผู้ถูกกล่าวหา ผ่านแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก เข้าใจว่าผู้ถูกกล่าวหา เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง 10 ประการ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเข้าใจว่าผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้ไม่เคารพศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างร้ายแรง จึงเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการผ้าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ
เบื้องต้น คณะกรรมการไต่สวน ถือตามเสียงข้างมาก ว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ามีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯข้อกล่าวหาไม่มีมูล จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
ก่อนที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติ 3 ต่อ 3 เสียง เห็นว่าไม่ผิดจริยธรรม และผิดจริยธรรมเท่ากัน ให้ถือว่าข้อกล่าวหาตกไป ตามที่ปรากฏเป็นข่าวข้างต้น ซึ่งข้อเท็จจริงทั้งหมด พอจะไขเหตุผลได้ว่า ทำไม 3 สส. ถึงรอดคดีนี้ไปได้อย่างหวุดหวิด
ขณะที่แกนนำผู้ชุนนุมถึงถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 112