จิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม สภาผู้แทนราษฎร โวย ททบ.5 เรียกเอกสาร-ขอคำตอบ ปม เงินกู้ 1.4 พันล้าน บริษัท อาร์ทีเอฯ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 67 ไม่เคยได้-ตอบไม่ได้เลย โอด โดยหักดาบสมัยปฏิวัติ กระทุ้ง ฝ่ายนิติบัญญัติ คืน-ฟื้น อำนาจเรียกกมธ. เผย นัด ถก กมธ.วิสามัญฯธุรกิจกองทัพฯ 15 มกราคม 68 สรุปรายงานฉบับเต็ม ก่อนส่งประธานสภา-ครม.ดำเนินการต่อ
สืบเรื่องจากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานมาอย่างต่อเนื่องกรณีปัญหาข้อพิพากเงินกู้ยืมจำนวน 1,453 ล้านบาท ตามสัญญากู้ลงวันที่ 19 มกราคม 2541 ที่ปรากฏข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ช่อง 5 ได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวคืนมาเป็นระยะๆ แต่ยังไม่ได้รับเงินกู้คืนครบถ้วนตามจำนวนนั้น
อ่านประกอบ : Top Secret : ข้อมูลลับ ช่อง 5 จากสัมปทานคลื่นทหาร สู่ ปมเงินกู้ 1.4 พันล. บ.อาร์ทีเอฯ
ล่าสุด คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้นัดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในวันพุธที่ 15 มกราคม 2568 โดยมีระเบียบวาระ เรื่องพิจารณา พิจารณาเรื่อง กำหนดกรอบระยะเวลาในการจัดทำรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อสรุปเป็นรายงานพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพฯ เพื่อส่งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร บรรจุเป็นวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อรับรองร่างรายงานพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพฯ และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
นายจิรายุ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราถึงกรณีเงินกู้ 1.4 พันล้านบาทของช่อง 5 ให้กับบริษัทอาร์ทีเอฯ ว่า เป็นเรื่องหนึ่งที่จะเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในวันที่ 15 มกราคมนี้ เนื่องจากมีกรรมาธิการวิสามัญ ฯ สัดส่วนพรรคฝ่ายค้าน ได้เสนอเรื่องเข้ามา ซึ่งเรื่องหนี้สิน ตั้งแต่บริษัทอาร์ทีเอฯ เป็นบริษัทลูกเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีตัวแดงค้างชำระหนี้ให้กับ ททบ.5 ประมาณ 1,400 ล้านบาท
@ เรียกเอกสารไม่เคยได้-ตอบไม่ชัดเจน
“กรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เรียกเอกสารจาก ททบ.5 ไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับเอกสารและคำชี้แจงอย่างชัดเจนในเรื่องนี้”นายจิรายุกล่าว
นายจิรายุกล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ตนได้นำคณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ เข้าไปพบกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถึงที่กระทรวงกลาโหม เพื่อสอบถามในประเด็นดังกล่าว ซึ่งนายภูมิธรรมได้รับทราบแล้ว
นายจิรายุกล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีหนี้เงินกู้ดังกล่าวนี้ แก้ไขปัญหาแบบไหนอย่างไร ทาง ททบ.5 ก็ยังไม่ได้ตอบ เมื่อยังไม่ตอบ มันก็ยังเป็นตัวเลขตัวแดง คาอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ในวันที่ 15 มกราคม 2568 คณะกรรมาธิการฯ จะมีการประชุมเพื่อสรุปและแยกหมวดหมู่ของการชี้แจงเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องของสนามกอล์ฟ สนามงู โรงแรม สนามมวย สนามม้า เพื่อสรุปเป็นรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ในแต่ละเรื่องว่า หน่วยงานใดเรียกเอกสารไปแล้วครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 เพราะถ้าขืนต้องรอ ไม่รู้ว่าจะได้ชาตินี้หรือเปล่า
“คณะกรรมาธิการวิสามัญฯมีกรอบของเวลา ถ้า ททบ.5 ไม่ชี้แจง ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ แต่หลัง ๆ กรรมาธิการรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเรียกแล้วก็ไม่ให้เอกสาร อาจจะเป็นเพราะไม่มีกฎหมายบังคับ”นายจิรายุกล่าว
นายจิรายุกล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เรียก ททบ.5 มาชี้แจงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เช่น เรื่องคลื่นวิทยุ เรื่องสถานี การเช่าช่องสัญญาณ ชี้แจงมาหมดแล้ว
“แต่สิ่งที่ ททบ.5 ตอบไม่ได้เลย คือ เรื่องของเงินกู้ 1,400 ล้านบาทของบริษัทอาร์ทีเอฯ เขาก็ให้ไปถามกองทัพบก ให้ไปถามในคดีเก่าก่อนหน้านี้ว่าเป็นอย่างไร”นายจิรายุกล่าว
@ โอด กมธ.ไม่มีอำนาจเรียก
นายจิรายุกล่าว่า ที่ผ่านมา เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯเรียกแล้ว 3 ครั้ง ไม่มา มีบทลงโทษ ซึ่งในที่ประชุมสภาก็มีการพูดถึงอำนาจของการเรียกเอกสารเพื่อมาชี้แจง ซึ่งสมัยก่อนถ้ากรรมาธิการเรียกเอกสารแล้วไม่ให้ มีโทษทั้งจำคุกและปรับ แต่ภายหลังมีการยกเลิกบทลงโทษ ทำให้หน่วยงานราชการไม่ให้ความร่วมมือ
“กรรมาธิการถูกหักดาบไปสมัยปฏิวัติ เมื่อก่อนกรรมาธิการขอเอกสารครั้งที่ 1 ไม่มา ครั้งที่ 2 ไม่มา ครั้งที่ 3 ไม่มา สามารถแจ้งความได้เลย แต่ตอนนี้ ทำยังไงได้ นอกจากทำใจ อยากเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติลองใช้กฎหมายที่มีอำนาจมากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน”นายจิรายุกล่าว
นายจิรายุกล่าวว่า ฝ่ายบริหารอย่างเช่น ตำรวจ ออกหมายเรียกไม่มา 1 2 3 4 5 ก็ออกหมายจับได้ แต่พอกรรมาธิการซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ขอเอกสาร หรือหมายเรียกเอกสารมา เขาอาจจะแกล้งไม่ส่ง หรือว่า ดึงเช้ง ก็เป็นปัญหา อยากฝากไปถึงฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อติดดาบ ติดอาวุธให้องค์กรที่ถ่วงดุลทั้งยุติธรรม บริหาร นิติบัญญัติให้สมดุลกัน กลายเป็นว่า นิติบัญญัติอ่อนแอ ตรวจสอบอะไรก็แล้วแต่ แล้วเขาดื้อแพ่ง ไม่อยากส่ง เราก็ตรวจสอบไม่ได้เหมือนกัน
“อยากเสนอให้ที่ประชุสภาฯ ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็แล้วแต่ แก้ไขพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกฯ เพื่อที่อย่างน้อยก็มีอำนาจ อย่าไปมองว่า สส.พอมาเป็นกรรมาธิการแล้วต้องมีอำนาจมาก ตำรวจยังมีหมายเรียก ศาลก็มีหมายจับ เพราะฉะนั้น กระบวนการถ่วงดุลซึ่งกันและกันควรมีอำนาจที่จะแก้ไขปัญหา”นายจิรายุกล่าว
รายงานระบุว่า ปัจจุบันที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ… ในวาระแรกแล้ว เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาวาระที่สองและสามในลำดับต่อไป
อ่านประกอบ :
- เปิดร่าง ‘พ.ร.บ.อำนาจเรียก’ ติดเขี้ยวเล็บ นิติบัญญัติ-ฟันวินัย ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’
- มติเอกฉันท์! ศาล รธน.ชี้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียก กมธ.สภาฯขัดรัฐธรรมนูญ
@ ชง คืน-เพิ่มอำนาจเรียก
นายจิรายุกล่าวว่า ตามหลักการแล้ว เมื่อคณะกรรมาธิการเรียกแล้วต้องให้ อย่างน้อยแก้กฎหมายกลับไปเหมือนเดิม หรือเพิ่มอำนาจให้ เพราะต้องดูเจตนาของคณะกรรมาธิการในบ้างเรื่องด้วย บ้างเรื่องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติ
“ในการแก้ไขกฎหมาย ขอให้ยึดหลักของฝ่ายบริหารและตุลาการเป็นที่ตั้ง เมื่อตุลาการสามารถออกหมายศาลได้ ฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือฝ่ายปกครองออกหมายเรียก จับกุม ซึ่งหน้าได้ ฝ่ายนิติบัญญัติได้แต่เรียกมาศึกษา คำว่าศึกษาภายใต้บริบทปัจจุบันไม่เหมาะสมแล้ว”นายจิรายุกล่าว
นายจิรายุกล่าวว่า สมัยก่อนกรรมาธิการมีหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ เขียนคำร้องฟ้องทุกข์ได้ ควรจะมีอำนาจตรงนี้ไว้ เพราะองค์กรนิติบัญญัติรู้เรื่องกฎหมาย ตรวจสอบเฉพาะทาง
นายจิรายุกล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นประธานกรรมาธิการศาล อัยการ องค์กรอิสระ หรือเคยเป็นประธานกรรมาธิการรัฐวิสาหกิจ บางครั้งเชิงนโยบายทุจริต เราก็แค่นำกระดาษมาปึกหนึ่ง ส่งให้รัฐบาล
“ถ้ารัฐบาลพวกเดียวกัน ผมเจอถึงขนาดนายกรัฐมนตรีตั้งรองนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธานตรวจสอบรัฐมนตรีในพรรคเดียวกันก็ยังเคยมาแล้ว เพราะพูดในสภาคอแหบคอแห้งก็ไม่มีผลอะไร ดังนั้นควรจะต้องให้คณะกรรมาธิการมีอำนาจเพิ่มขึ้น”นายจิรายุกล่าว