เผยมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา 'ต่อศักดิ์ โชติมงคล' อดีตผู้อำนวยการยาสูบ-พวก คดีที่ 3 ดำเนินโครงการสร้างเอกลักษณ์ร้านขายส่งยาสูบตามแนวคิด "Heritage Shop" วิธีพิเศษ โดยมิชอบ หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงพยานหลักฐานฟังได้ว่ากระทำความผิด ไม่มีมูล ให้ตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา นายต่อศักดิ์ โชติมงคล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการยาสูบ โรงงานยาสูบ และพวก กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีดำเนินโครงการสร้างเอกลักษณ์ร้านขายส่งยาสูบตามแนวคิด "Heritage Shop" วิธีพิเศษ โดยมิชอบ และขัดกับพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจรงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา 7 ราย ได้แก่
1. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้อำนวยการยาสูบ โรงงานยาสูบ
2. นางสาวพูนทรัพย์ เจียรณัย ประธานกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ
3. นายณรงค์ฤทธิ์ พารักษา กรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ
4. นายพิรุณ บัณฑิต กรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ
5. นายไสว แย้มบรรจง กรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ
6. บริษัท สมิต แอสโซซิเอทส์ จำกัด
7. นายสมิต วัชรานันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สมิต แอสโซซิเอทส์ จำกัด
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า ผู้ถูกกล่าวหา กับพวก ดำเนินการจัดจ้างปรับปรุงอาคารสำนักงานสมาคมสโมสรพนักงานยาสูบกรุงเทพมหานคร โดยวิธีพิเศษ เพื่อดำเนินการโครงการสร้างเอกลักษณ์ร้านขายส่งยาสูบตามแนวคิด "Heritage Shop" ทั้งที่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบดังกล่าวมีลักษณะเป็นสินค้าผูกขาดโดยไม่มีเหตุผลสมควร อันเป็นการขัดกับพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ประกอบกับการยาสูบแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะดำเนินการย้ายโรงงานไปยังที่แห่งอื่น กรณีจึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินโครงการฯ และดำเนินการจัดจ้างงานดังกล่าวโดยวิธีพิเศษ อันมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งได้เป็นผู้เข้าทำสัญญากับการยาสูบแห่งประเทศไทย เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2538
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 115/2567 วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจรงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นางสาวพูนทรัพย์ เจียรณัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายณรงค์ฤทธิ์ พารักษา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายพิรุณ บัณฑิต ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายไสว แย้มบรรจง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 บริษัท สมิต แอสโซซิเอทส์ จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 และนายสมิต วัชรานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา นายต่อศักดิ์ โชติมงคล อดีตผู้อำนวยการยาสูบ และพวก เอื้อประโยชน์เอกชนเข้าเป็นคู่สัญญา พิมพ์ซองบุหรี่ ไปแล้ว 2 คดี คือ
1. กรณีดำเนินการจัดจ้างบริษัท วิสม่า เอเชีย จำกัด พิมพ์ซองบุหรี่ตรา SMS สีแดงและสีเขียวที่มีฉลากรูปภาพและข้อความเตือนชนิดม้วน ALFA ชนิดม้วน G.D. และชนิดแผ่น ตามสัญญาเลขที่ 117/2555 โดยใช้วิธีพิเศษ
2. กรณี ดำเนินการจัดจ้างพิมพ์ซองบุหรี่ SMS สีแดงและสีเขียว ที่มีระบบ Security Features โดยมิชอบ และเอื้อประโยชน์ให้บริษัท สุขสวัสดิ์ คอนเวิร์ทติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด
เท่ากับว่า คดีกล่าวหา นายต่อศักดิ์ โชติมงคล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการยาสูบ โรงงานยาสูบ และพวก ในชั้นไต่สวน ป.ป.ช. 3 คดี ถูกตีตกทั้งหมด
@ เปิดธุรกิจ‘ต่อศักดิ์ โชติมงคล’ ปธ.ที่ปรึกษา‘ชัชชาติ’ ถือหุ้น-กก. 24 บริษัท - รับเหมาด้วย
สำหรับข้อมูลนายต่อศักดิ์ โชติมงคล นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ในช่วงปี 2565 ได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานที่ปรึกษา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นศิษย์เก่าคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาฯรุ่น 18 (วศ. 18) รุ่นพี่ของนายชัชชาติ มีชื่อเป็นกรรมการ 21 บริษัท ในจำนวนนี้เปิดดำเนินการในปัจจุบันประมาณ 10 บริษัท