เผยมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา 'ต่อศักดิ์ โชติมงคล' อดีตผู้อำนวยการยาสูบ-พวก เอื้อประโยชน์เอกชนจัดจ้างเข้าเป็นคู่สัญญาพิมพ์ซองบุหรี่ 2 คดีรวด หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงพยานหลักฐานฟังได้ว่ากระทำความผิด ไม่มีมูล ให้ตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา นายต่อศักดิ์ โชติมงคล อดีตผู้อำนวยการยาสูบ เอื้อประโยชน์เอกชนเข้าเป็นคู่สัญญา พิมพ์ซองบุหรี่ 2 คดี คือ
1. กรณีดำเนินการจัดจ้างบริษัท วิสม่า เอเชีย จำกัด พิมพ์ซองบุหรี่ตรา SMS สีแดงและสีเขียวที่มีฉลากรูปภาพและข้อความเตือนชนิดม้วน ALFA ชนิดม้วน G.D. และชนิดแผ่น ตามสัญญาเลขที่ 117/2555 โดยใช้วิธีพิเศษ
2. กรณี ดำเนินการจัดจ้างพิมพ์ซองบุหรี่ SMS สีแดงและสีเขียว ที่มีระบบ Security Features โดยมิชอบ และเอื้อประโยชน์ให้บริษัท สุขสวัสดิ์ คอนเวิร์ทติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ คดีแรก กรณีดำเนินการจัดจ้างบริษัท วิสม่า เอเชีย จำกัด พิมพ์ซองบุหรี่ตรา SMS สีแดงและสีเขียวที่มีฉลากรูปภาพและข้อความเตือนชนิดม้วน ALFA ชนิดม้วน G.D. และชนิดแผ่น ตามสัญญาเลขที่ 117/2555 โดยใช้วิธีพิเศษ
คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหา 7 ราย ได้แก่
1. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการยาสูบ
2. นายอำนาจ เพิ่มชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการยาสูบด้านใบยา
3. นายอลงกต เจริญภักดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการยาสูบด้านการผลิต
4. นายมนัส กณิกนันต์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายจัดหาและรักษาพัสดุ
5. นางพิมพ์พรรณ การะโชติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายจัดหาและรักษาพัสดุ
6. นางสาวแน่งน้อย เนตรสีทอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนการพิมพ์
7. นายบรรยง กันจุไร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองวางแผน ฝ่ายผลิต
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์กล่าวหาโดยสรุป ว่า นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวก ดำเนินการจัดจ้างบริษัท วิสม่า เอเชีย จำกัด พิมพ์ซองบุหรี่ตรา SMS สีแดงและสีเขียวที่มีฉลากรูปภาพและข้อความเตือนชนิดม้วน ALFA ชนิดม้วน G.D. และชนิดแผ่น เป็นเงิน 28,487,000 บาท ตามสัญญาเลขที่ 117/2555 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2555 ด้วยวิธีพิเศษ โดยอ้างเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษว่า เพื่อให้มีซองบุหรี่ตรา SMS เพียงพอใช้งานอย่างต่อเนื่อง และให้ส่วนการพิมพ์สามารถจัดทำปริมาณคงคลังสิ่งพิมพ์รูปแบบใหม่ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขสำหรับบุหรี่ทุกตราได้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2485 กำหนดให้กิจการโรงงานยาสูบเป็นอุตสาหกรรมผู้ขาดของรัฐ โรงงานยาสูบ (ปัจจุบัน คือ การยาสูบแห่งประเทศไทย) จึงเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการผลิตมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งจะสามารถทราบถึงปริมาณความต้องการในการซื้อยาสูบและทราบถึงอัตรากำลังการผลิตของโรงงานยาสูบได้เป็นอย่างดี จึงไม่ใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องจ้างบริษัทภายนอกเพื่อดำเนินการโดยการจัดจ้างให้พิมพ์ซองบุหรี่ตรา SMS ด้วยวิธีพิเศษดังกล่าว อีกทั้ง โรงงานยาสูบมีโรงพิมพ์เป็นของตนเองซึ่งสามารถปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นพร้อมที่จะปฏิบัติงานตามความต้องการได้แต่กลับจ้างบริษัทภายนอกพิมพ์ซองบุหรี่ อันมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งได้เป็นผู้เข้าทำสัญญากับโรงงานยาสูบ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 115/2567 วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 พิจารณาว่ามีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายอำนาจ เพิ่มชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายอลงกต เจริญภักดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายมนัส กณิกนันต์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นางพิมพ์พรรณ การะโชติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นางสาวแน่งน้อย เนตรสีทอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 และนายบรรยง กันจุไร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ ต่อศักดิ์ โชติมงคล
@ คดีที่สอง กรณี ดำเนินการจัดจ้างพิมพ์ซองบุหรี่ SMS สีแดงและสีเขียว ที่มีระบบ Security Features โดยมิชอบ และเอื้อประโยชน์ให้บริษัท สุขสวัสดิ์ คอนเวิร์ทติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด
คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหา 7 ราย ได้แก่
1. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการยาสูบ
2. นายปัญญา ทองเจริญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการยาสูบด้านตลาด
3. นายเชาว์ วัฒนะประเสริฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและพัฒนา
4. นายชำนาญ อ่ำสะอาด เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายผลิต
5. นายธีรนนท์ ชโยวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าส่วนการพิมพ์
6. นางอังคณา ลีเชวงวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากองจัดการผลิตภัณฑ์ ฝ่ายตลาด
7. นางอุษณีย์ ศรีศุกร์เจริญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยหัวหน้ากองบริหารทั่วไป ฝ่ายจัดหาและรักษาพัสดุ
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์กล่าวหาโดยสรุป ว่า โรงงานยาสูบ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น การยาสูบแห่งประเทศไทย) ดำเนินการจัดจ้างบริษัท สุขสวัสดิ์ คอนเวิร์ทติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด พิมพ์ซองบุหรี่ตรา SMS สีแดงและสีเขียวที่มีระบบ Security Features จำนวน 80,000,000 ซอง โดยวิธีพิเศษ โดยมิชอบ เนื่องจากระบบ Security Features เป็นระบบการป้องกันการปลอมแปลงที่มีจำนวนหลายรูปแบบเกินกว่าความจำเป็น จัดจ้างจำนวนมากเกินกว่ากำลังการผลิตและยอดจำหน่าย ทำให้เหลือซองบุหรี่ตกค้างจำนวนมาก และรูปแบบซองบุหรี่และภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้การยาสูบแห่งประเทศไทยได้รับความเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า สืบเนื่องจากบุหรี่ ตรา SMS ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณการจำหน่ายมากกว่าที่ประมาณการไว้เรื่อยมา ประกอบกับโรงงานยาสูบมีเครื่องพิมพ์ Photogravure Chambon 2 (5 หน่วยพิมพ์) เพียงเครื่องเดียวที่สามารถใช้พิมพ์ซองบุหรี่ได้ และในช่วงเดือนสิงหาคม 2557 เครื่องพิมพ์ต้องหยุดการผลิตเพื่อติดตั้งเครื่องตรวจสอบคุณภาพงานพิมพ์ประจำปี ทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการของฝ่ายผลิตได้เพียงพอ ดังนั้น การจัดจ้างงบริษัท สุขสวัสดิ์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จัดพิมพ์ซองบุหรี่ดังกล่าว จำนวน 80 ล้านซอง ในช่วงเดือนมิถุนายน 2557 จึงเป็นการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเบิกใช้งานของฝ่ายผลิตอย่างต่อเนื่อง และลดความเสี่ยงจากการที่จะส่งมอบสิ่งพิมพ์ให้ฝ่ายผลิตไม่ทัน เนื่องจากหากไม่มีซองบุหรี่จะส่งผลให้ต้องหยุดกระบวนการผลิต ตรา SMS ทั้งหมด ทำให้โรงงานยาสูบได้รับความเสียหายสูญเสียยอดจำหน่ายและส่วนแบ่งตลาด ดังนั้น แม้จะเป็นการพิมพ์ซองที่เกินกว่ากำลังการผลิต แต่ไม่เป็นการจ้างพิมพ์ในจำนวนที่เกินกว่ายอดจำหน่าย ทั้งไม่ปรากฏพฤติการณ์ในการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท สุขสวัสดิ์ คอนเวิร์ทติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด กรณีจึงไม่เป็นไปตามที่มีการกล่าวหา
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึง ที่ 7 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ เปิดธุรกิจ‘ต่อศักดิ์ โชติมงคล’ ปธ.ที่ปรึกษา‘ชัชชาติ’ ถือหุ้น-กก. 24 บริษัท - รับเหมาด้วย
ก่อนหน้านี้ ในช่วงปี 2565 นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานที่ปรึกษา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นศิษย์เก่าคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาฯรุ่น 18 (วศ. 18) รุ่นพี่ของนายชัชชาติ มีชื่อเป็นกรรมการ 21 บริษัท ในจำนวนนี้เปิดดำเนินการในปัจจุบันประมาณ 10 บริษัท