สแกนงบก้อนใหญ่กองทัพ ก่อน ครม.อุ๊งอิ๊ง 15 ต.ค.67 เห็นชอบ สำนักนายกฯ-ทอ. ช็อปฯ เฮลิคอปเตอร์-ฝูงบินขับไล่ 36,760 ล. ก่อนหน้า ปี 2564 ทัพบก จัดซื้อ แบล็ค ฮอว์ก 4 ลำ 4.2 พัน ล. จากสหรัฐ ไม่รู้ใครอนุมัติ ไม่รวม AW กว่าสิบลำ ขณะที่ ทร. เรือดำน้ำ ยังไม่จบ
“ยังไม่ทราบเลย ต้องไปถามกองทัพอากาศ อย่ามาถามผม”
เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบความมั่นคง นายภูมิธรรมไม่ตอบคำถาม พร้อมกับเดินเข้าตึกบัญชาการ 1 สถานที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันที
นั่นคือคำตอบสั้นๆของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ต่อคำถามกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2567 มีมติเห็นชอบก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ สำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยเป็นรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี งบประมาณรายการใหม่ฯ จำนวน 1,612 รายการ เป็นวงเงินภาระผูกพัน 352,583 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นการขออนุมัติของกองทัพอากาศ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกำลังกองทัพ โครงการใหม่ผูกพัน โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ระยะที่ 1 ปีงบ 2568-2572 ภาระวงเงินผูกพัน 20,475 ล้านบาท (งบประมาณ 19,500 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 975 ล้านบาท)
ประเด็นดังกล่าวสืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ที่ประชุมครม.นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2567 เห็นชอบก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ สำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยเป็นรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี งบประมาณรายการใหม่ฯ จำนวน 1,612 รายการ เป็นวงเงินภาระผูกพัน 352,583 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นรายการที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 33 รายการ วงเงิน 114,666.6 ล้านบาท
3 รายการที่เป็นไฮไลท์
สำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ได้แก่
1.เฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางรับ-ส่ง บุคคลสำคัญ จำนวน 2 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ ระบบสนับสนุนการฝึก การฝึกอบรม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ปีงบ 2568-2571 ภาระวงเงินผูกพัน 3,506.7 ล้านบาท (งบประมาณ 3,339.7 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 167 ล้านบาท)
2.เครื่องบินรับ-ส่ง บุคคลสำคัญ ทดแทนเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 (บ.ล.19) จำนวน 1 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และสิ่งอานวยความสะดวกอื่นๆที่จำเป็น ปีงบ 2568-2571 ภาระวงเงินผูกพัน 12,778.5 ล้านบาท (งบประมาณ 12,170 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 608.5 ล้านบาท)
กองทัพอากาศ
โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ระยะที่ 1 ปีงบ 2568-2572 ภาระวงเงินผูกพัน 20,475 ล้านบาท (งบประมาณ 19,500 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 975 ล้านบาท)
รวมงบประมาณ 2 หน่วยงาน 36,760.2 ล้านบาท
@พลิก กม. กำหนด กองทัพ จัดซื้อได้ 2 รูปแบบ G to G / FMS
ต่อมาสำนักข่าวอิศราสืบค้นข้อมูลกฎหมายเกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (2) วรรคสอง และวรรคสี่ และ ประกาศคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ยุคนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ลงนามประกาศ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 มีผลบังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจาฯ สาระสำคัญ การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ กำหนดให้ดำเนินการเพียง 2 รูปแบบ
(1.) การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government to Government to : G to G )
(2.) การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติโดยวิธี Foreign Military Sales (FMS) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกรอบความช่วยเหลือทางทหาร ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหารกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (เป็นกรณีซื้อจากรัฐบาลสหรัฐ)
ไม่มีข้อมูลว่าการจัดซื้อทั้ง 3 รายการดังกล่าวใช้รูปแบบใด?
@ยังไม่มีคำตอบกรณี เฮลิคอปเตอร์รุ่น AW 139 และ AW 149
ขณะเดียวกันตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การจัดซื้อก่อนครม.ยุครัฐบาลนี้ อาทิ กรณีจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์รุ่น AW 139 และ AW 149 ในราคาลำละ 600-700 ล้านบาทของกองทัพบก หลังปี 2560 เป็นต้นมาดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร ปัจจุบันเฮลิคอปเตอร์รุ่นดังกล่าวยังใช้งานอยู่หรือไม่ อย่างไร ?
@ แบล็กฮอว์ก 4 ลำ 4.2 พันล.มาได้อย่างไร?
ก่อนครม.อนุมัติใช้วงประมาณ 36,760 ล้านบาท จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 เครื่องและเครื่องบิน 1 เครื่องและ เครื่องบินขับไล่ ดังกล่าว ในส่วนของกองทัพบกนอกจากเฮลิคอปเตอร์รุ่น AW 139 และ AW 149 กว่าสิบลำที่มีการจัดซื้อก่อนหน้านี้มีอีกอย่างน้อย 1 รายการที่กองทัพบกจัดซื้อในช่วงปี 2564 คือ เฮลิคอปเตอร์แบบใช้งานทั่วไป แบบ 60 รุ่น M หรือ แบล็ค ฮอว์ก ( BLACK HAWK) จำนวน 4 ลำ ราคาประมาณ 4.2 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 โดยวิธี FMS
ทั้งนี้มีข้อมูลว่า วันที่ 8 ธ.ค.2563 กองทัพบกโดยกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ทำหนังสือถึง ผู้บัญชาการทหารบก ผ่าน ผช.ผบ.ทบ. (2) ขออนุมัติแผนจัดหา กลุ่มงบงานโครงการเสริมสร้างหน่วยและยุทโธปกรณ์ โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์แบบใช้งานทั่วไป (ระยะที่ 1 ห้วงที่ 4) ประจำปีงบประมาณ 2564 ที่ดำเนินการในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ (เริ่มใหม่) ปีงบประมาณ 2564-2566 วงเงินรวมทั้งโครงการ 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,226.1 ล้านบาท มีการอนุมัติแผนในระดับของกองทัพบกเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2563 โดยผู้ช่วย ผบ.ทบ. สินค้าเคลื่อนย้ายจากบริษัทผู้ผลิตเมือง West Palm Beach รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงท่าเรือเมือง Houston ประเทศสหรัฐฯในช่วงเดือนตุลาคม 2565 มาถึงท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังเมื่อเดือนธันวาคม 2565
อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อ แบล็ค ฮอว์ก 4 ลำ ดังกล่าวไม่มีข้อมูลการอนุมัติในระดับกระทรวงกลาโหม และหรือ ผ่านที่ประชุม ครม. ในการใช้งบฯหรือแปลงงบฯหรือไม่
ทั้งหมดเป็นข้อมูลการจัดซื้อโดยใช้งบประมาณก้อนใหญ่ของกองทัพที่สำนักข่าวอิศรารวบรวมมารายงานต่อสาธารณะ ไม่รวมเรือดำน้ำ 2 ลำ กองทัพเรือ วงเงินรวม 22,500 ล้านบาท ที่ยังเป็นปัญหาไม่จบ จ่ายเงินไปส่วนหนึ่งแล้ว
ถ้ามีความคืบหน้าจะรายงานเพิ่มต่อไป
อ่านประกอบ :
- ช็อปปิ้ง เฮลิคอปเตอร์-เครื่องบิน-ฝูงบิน 36,760 ล. กองทัพยุค‘บิ๊กอ้วน’ใช้รูปแบบใด?
- 33 บิ๊กโปรเจกต์ก่อหนี้ฯปีงบ 68 เช่า'อุปกรณ์เรียนฯ-รถเมล์ EV'-ทอ.ซื้อ'บ.ขับไล่' 2 หมื่นล.
- ครม.อนุมัติก่อหนี้ผูกพันฯ‘รายการใหม่’ปีงบ 68 กว่า 1.6 พันโครงการ วงเงิน 3.52 แสนล้าน
- ภูมิธรรม รมว.กลาโหม ปัดตอบ กองทัพอากาศ ซื้อเครื่องบินขับไล่ 2 หมื่นล้าน วิธีใด