พลิกระเบียบจัดซื้อฯ ก.กลาโหม กรณีครม.แพทองธาร เห็นชอบ สำนักนายกฯ กองทัพอากาศ ช็อปฯ เฮลิคอปเตอร์ - เครื่องบินรับส่งวีไอพี - ฝูงบินขับไล่ รวม 36,760 ล้าน ทำได้ 2 รูปแบบ FMS หรือ G to G จับตาเลือกแบบใด ที่ผ่านมาทำครบขั้นตอนหรือไม่? ปม ฮ. AW ทบ.ด้วย
สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2567 เห็นชอบก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ สำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยเป็นรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี งบประมาณรายการใหม่ฯ จำนวน 1,612 รายการ เป็นวงเงินภาระผูกพัน 352,583 ล้านบาท
ในจำนวนนี้ เป็นรายการที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 33 รายการ วงเงิน 114,666.6 ล้านบาท ที่น่าสนใจ
สำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ได้แก่
1.เฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางรับ-ส่ง บุคคลสำคัญ จำนวน 2 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ ระบบสนับสนุนการฝึก การฝึกอบรม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ปีงบ 2568-2571 ภาระวงเงินผูกพัน 3,506.7 ล้านบาท (งบประมาณ 3,339.7 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 167 ล้านบาท)
2.เครื่องบินรับ-ส่ง บุคคลสำคัญ ทดแทนเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 (บ.ล.19) จำนวน 1 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และสิ่งอานวยความสะดวกอื่นๆที่จำเป็น แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ปีงบ 2568-2571 ภาระวงเงินผูกพัน 12,778.5 ล้านบาท (งบประมาณ 12,170 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 608.5 ล้านบาท)
กองทัพอากาศ
ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกำลังกองทัพ โครงการใหม่ผูกพัน โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ระยะที่ 1 ปีงบ 2568-2572 ภาระวงเงินผูกพัน 20,475 ล้านบาท (งบประมาณ 19,500 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 975 ล้านบาท)
- 33 บิ๊กโปรเจกต์ก่อหนี้ฯปีงบ 68 เช่า'อุปกรณ์เรียนฯ-รถเมล์ EV'-ทอ.ซื้อ'บ.ขับไล่' 2 หมื่นล.
- ครม.อนุมัติก่อหนี้ผูกพันฯ‘รายการใหม่’ปีงบ 68 กว่า 1.6 พันโครงการ วงเงิน 3.52 แสนล้าน
รวมเม็ดเงิน 2 หน่วยงาน 36,760.2 ล้านบาท
ไม่มีข้อมูลว่าการจัดซื้อ 3 รายการดังกล่าวดำเนินการจัดซื้อโดยใช้รูปแบบใด?
จากการสืบค้นของสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) หากยึดโยง
1.พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (2) วรรคสอง และวรรคสี่
2.ประกาศคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ยุคนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ลงนามประกาศ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 มีผลบังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจาฯ สาระสำคัญการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ กำหนดให้ดำเนินการเพียง 2 รูปแบบ
(1.) การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government to Government to : G to G )
(2.) การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติโดยวิธี Foreign Military Sales (FMS) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกรอบความช่วยเหลือทางทหาร ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหารกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐนตรี
ขณะที่ระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติโดยวิธี Foreign Military Sales (FMS) และ โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government to Government to : G to G ) ซึ่งออกในยุค พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 มีผลใช้บังคับทันที ทั้งหมด 8 ข้อ กำหนดรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
กรณีจัดซื้อโดยวิธี Foreign Military Sales (FMS) ปรากฎใน ข้อ 5 มี 11 ข้อย่อย (หยิบยกบางข้อ)
ข้อ 5 ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติโดยวิธี Foreign Military Sales (FMS)
5.1 หน่วยงานของรัฐขออนุมัติแผนการจัดซื้อจัดจ้าง/แผนจัดหา/แผนส่งกำลังและซ่อมบำรุง โดยวัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างต้องมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ในการใช้งานของหน่วยงานของรัฐมีราคาที่เหมาะสม การระบุรายละเอียดเป็นไปตามที่แต่ละหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ กำหนด
5.2 ผู้มีอำนาจอนุมัติแผนการจัดซื้อซื้อจัดจ้าง/แผนจัดหา/แผนส่งกำลังและซ่อมบำรุง
5.3 หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและจัดทำหนังสือคำร้องขอเพื่อจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ (Letter of Request : LOR)
5.4 หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนของเนื้อหาใน LOR แล้วเสนอหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลสหรัฐอุเมริกาในประเทศไทยดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
5.5 หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาดำเนินการจัดทำร่างหนังสือข้อเสนอและการตอบรับ Letter of Offer and Acceptance (LOA) ซึ่งถือเป็นสัญญาซื้อขายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2522 เรื่อง ขออนุมัติจัดหาสิ่งอุปกรณ์โดยวิธี FMS จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นกรณีพิเศษ แล้วจัดส่งให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของรัฐบาลสหรัฐเมริกาในประเทศไทยเสนอหน่วยงานของรัฐ
5.8 ผู้มีอำนาจอนอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้าง อนุมัติให้ซื้อหรือจ้าง และลงนาม หรือมอบอำนาจให้ผู้แทนลงนามใน LOA
5.9 หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาดำเนินการส่งมอบ
5.10 หน่วยงานของรัฐดำเนินการตรวจรับ
5.11 หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดขอบทั้งสองฝ่ายดำเนินการปิดสัญญา
กรณีจัดซื้อฯ โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ปรากฎในข้อ 6 มี 16 ข้อย่อย ดังนี้
6. ขั้นตอนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G)
6.1 หน่วยงานของรัฐขออนุมัติแผนการจัดซื้อจัดจ้าง/แผนจัดหา/แผนส่งกำลังและซ่อมบำรุง โดยพัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างต้องมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ในการใช้งานของหน่วยงานของรัฐและมีราคาที่เหมาะสม การระบุรายละเอียดเป็นไปตามที่แต่ละหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ กำหนด
6.2 ผู้มีอำนาจอนุมัติแผนการจัดซื้อจัดจ้าง/แผนจัดหา/แผนส่งกำลังและซ่อมบำรุง
6.3 เจ้าหน้าที่จัดทำรายงานขออนุมัติดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง (ขออนุมัติหลักการ) โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G)
6.4 หัวหน้าหน่วยงานของรัฐอนุมัติหลักการตามข้อ 6.3 พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการซื้อหรือจ้าง โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุขึ้นดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวให้ประกอบด้วย ประธานกรรมการ จำนวน 1 คน และกรรมการ อย่างน้อยจำนวน 2 คน
6.5 คณะกรรมการซื้อหรือจ้าง โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G)/หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ มีหนังสือเชิญชวนถึงหน่วยงานที่เป็นผู้แทนของรัฐบาลของประเทศผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เช่น สถานทูต สถานกงสุล เป็นต้น ให้มาเสนอรายละเอียด เงื่อนไข และราคา และเจรจา ในร่างสัญญา/ร่างข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
6.6 ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศเสนอรายละเอียด เงื่อนไข และราคา
6.7 คณะกรรมการซื้อหรือจ้าง โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) พิจารณารายละเอียดเงื่อนไขและราคาที่ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศเสนอ พร้อมทั้งเจรจาต่อรองจนได้ข้อยุติ คณะกรรมการซื้อหรือจ้าง ร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศจัดทำร่างสัญญา/ร่างข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
6.8 คณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) รายงานผลการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมความเห็นต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ
6.9 หน่วยงานของรัฐ/หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เสนอร่างสัญญา/ร่างข้อตกลง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ โดยให้คำนึงถึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ และอยู่บบพื้นฐานของความเท่าเทียมกันของทั้งสองฝ่าย แล้วเสนอให้กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นนำข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ หรือผลการพิจารณาตรวจสอบของหน่วยงานข้างต้นไปปฏิบัติให้ถูกต้อง ครบถ้วน ก่อนรายงานขออนุมัติซื้อหรือจ้าง ต่อผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้าง
6.10 หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านงบประมาณพิจารณาตรวจสอบงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง และดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
6.11 กระทรวงกลาโหมมีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือผู้แทน มีอำนาจลงนามในสัญญา/ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลต่างประเทศในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย รวมถึงการแก้ไขสัญญา/ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลต่างประเทศดังกล่าวในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญโดยไม่เพิ่มวงเงินจากที่ได้รับอนุมัติไว้ในภายหลัง
6.12 คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอในข้อ 6.11
6.13 ผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้าง อนุมัติให้ซื้อหรือจ้าง
6.14 ผู้แทนรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลต่างประเทศ ลงนามในสัญญาข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราขอาณาจักรไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
6.15 รัฐบาลต่างประเทศดำเนินการส่งมอบยุทโรปกรณ์และะการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ
6.16 คณะกรรมการตรวรจรับพัสดุรับมอบยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ
ข้อ 7 ผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้าง ในการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติโดยวิธี Foreign Military Sales (FMS) และโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government to Government to : G to G ) ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างได้โดยไม่จำกัดวงเงินแต่ไม่เกินวงเงินงบประมาณ
ทั้งหมดเป็นขั้นตอนการจัดซื้อฯทั้งสองแบบตามกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้อง ต้องรอดูว่ารัฐบาลยุคแพทองธาร นายกฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะดำเนินการจัดซื้อฯในรูปแบบใด ?
และข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ฯของกองทัพภายหลังประกาศคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติบังคับใช้เมื่อ 20 ตุลาคม 2560 อาทิ กองทัพบก จัดซื้อ เฮลิคอปเตอร์รุ่น AW 139 และ AW 149 กว่าสิบลำ ราคาลำละ 600-700 ล้านบาท ดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร ปัจจุบันยังใช้งานอยู่หรือไม่ อย่างไร ?
น่าจะแถลงข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบ