แกะผลการศึกษาเดิมของ สนข. ส่อง 6 ย่านสำคัญในกทม.เหมาะเก็บค่ารถติด ผอ.สนข.เตรียมจับมืออังกฤษศึกษาเพิ่มเติม คาดเสร็จกลางปี 68
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 ตุลาคม 2567 จากกรณีที่กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เตรียมศึกษาแนวทางการดำเนินการนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชน คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยการซื้อคืนนี้ เพื่อทำให้ภาครัฐ สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง และเป็นธรรม เข้าถึงได้ง่ายนั้น
โดยแนวทางเบื้องต้นกองทุนฯ จะกำหนดระยะเวลา 30 ปี แหล่งเงินของกองทุนฯ ส่วนหนึ่งเป็นการระดมทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือเงินปันผล เป็นต้น อีกส่วนจะเป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด(Congestion charge) เป็นรูปแบบที่ได้ดำเนินการในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประสบผลสำเร็จ เช่น ประเทศอังกฤษซึ่งกระทรวงการคลังจะไปศึกษารูปแบบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยให้สัมภาษณ์ว่า การจัดตั้งกองทุน เพื่อเดินหน้านโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสาย และการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคม นั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการศึกษาเบื้องต้น กรณีการเก็บจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง หรือพื้นที่รถติด (Congestion charge) โดยสนข.ความร่วมมือกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งมีสำรวจ ถนนอยู่ที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น คาดว่าจะมีการจัดเก็บ Congestion charge พบว่า มีปริมาณจราจรรวมกันประมาณ 700,000 คัน/วัน ดังนั้นยกตัวอย่าง หากจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯคันละ 50 บาท ประเมินเบื้องต้น จะมีรายได้ประมาณ 35 ล้านบาทต่อวัน หรือ 12,000 ล้านบาทต่อปี ที่สามารถสนับสนุนกองทุนฯซื้อคืนสัมปทานได้
- ‘สุริยะ’ ปักธงกลางปี 68 ไอเดียซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจะชัดเจน
- 'สุริยะ' แย้มดันเก็บค่ารถติดถนนสายหลัก เติมเงินทำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บ.
@เปิดผลศึกษาเดิม 6 ย่านกทม.เหมาะเก็บค่ารถติด
ล่าสุด นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า จากที่สนข.ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีเป้าหมายเรื่องภาคขนส่งเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมีการศึกษาสำรวจปริมาณจราจรของโครงข่ายถนนที่คาดว่าจะมีการดำเนินการมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่
1.ทางแยก เพชรบุรี-ทองหล่อ (ช่วงถนนเพชรบุรี และ ทองหล่อ) มีปริมาณจราจร 60,112 คัน/วัน
2.ทางแยก สีลม-นคราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสีสม) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน
3.ทางแยก สาทร-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสาธร) มีปริมาณจราจร 83,368 คัน/วัน
4.ทางแยก ปทุมวัน (ช่วงถนนพญาไทและ ถนนพระรามที่ 1 ) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน
5.ทางแยก ราชประสงค์ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต) มีปริมาณจราจร 56,235 คัน/วัน
6.ทางแยกประตูน้ำ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนราชปรารถ และถนนเพชรบุรี) มีปริมาณจราจร 68,473 คัน/วัน)
ทั้งนี้ ตัวเลขปริมาณจราจรดังกล่าว เป็นการเก็บสถิติการจราจร ในปี 2566 ซึ่งเก็บสถิติ ช่วงเวลา 07.00-19.00 น. โดยหากมีการจัดเก็บ Congestion charge คาดว่าปริมาณจราจรที่เข้าสู่ถนนดังกล่าว จะลดลงไปจากตัวเลขที่มีการสำรวจ
นายปัญญากล่าวว่า ขณะนี้ สนข.เตรียมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม โดยได้มีความร่วมมือกับ UKPact กองทุนจากประเทศอังกฤษ โดยจะเริ่มการศึกษา ในเดือนธ.ค.2567 โดยสนข.จะหารือเพื่อให้เร่งสรุปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Congestion charge ภายในกลางปี 2568 เพื่อให้ทันกับนโยบายขยายมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรือง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข.