'สุริยะ' แย้มเตรียมผลักดันนโยบายเก็บค่ารถติดถนนสายหลักในกทม. เช่น สุขุมวิท, เพชรบุรี, สีลม, รัชดาภิเษก เพื่อเติมเงินทำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ด้าน 'พิชัย' เผย 'นายกฯ' สั่งการให้ คลัง-คมนาคม ไปศึกษามา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 15 ตุลาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการถึงกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง ให้ศึกษาประเด็นการทำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท โดยต้องไปดูผลการศึกษาเดิม เสร็จแล้วก็ต้องไปคุยกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่า หากค่าโดยสารถูกลง จะทำให้มีคนมาใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่
โดยโมเดลที่มีการพูดคุยกัน ซึ่งอ้างอิงจากที่ สนข. เคยศึกษาไว้ร่วมกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย คือการเก็บจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง (Congestion charge) ซึ่งตอนนี้กำลังพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องอยู่ แต่คาดว่าจะมีการเก็บในถนนเส้นที่มีรถไฟฟ้าพาดผ่าน ซึ่งเบื้องต้นพบว่า ตามผลการศึกษาเดิมที่ทำไว้ ศึกษาถนนทั้ง 6 เส้นมีปริมาณจราจรรวมกันประมาณ 700,000 คัน/วัน หากเก็บคันละ 50 บาท
เมื่อถามว่า ถนนที่จะมีการเก็บค่าธรรมเนียม จะเน้นที่ถนนที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ เช่น สุขุมวิท เพชรบุรี สีลม รัชดาภิเษก เป็นหลักใช่หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ใช่
ทั้งนี้ สนข.เตรียมศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจราจรคับคั่งอีกครั้ง
@ตั้งเป้า 20 บาททุกสาย ก.ย.68
ทั้งนี้ นายสุริยะกล่าวว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดง และสายสีม่วง ได้เริ่มดำเนินการในราคา 20 บาทมาแล้ว ซึ่งทั้งสองสายเป็นการดำเนินงานของรัฐบาล จึงสามารถทำได้ทันที และทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 โดยจะช่วยให้มลภาวะดีขึ้น และ ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนโดยนายกรัฐมนตรีต้องการที่จะให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และในทุกสาย ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือให้สัมปทานกับเอกชน ซึ่งแนวทางดำเนินการกระทรวงการคลัง จะไปศึกษาในเรื่องของการตั้งกองทุนเพื่อไปซื้อรถไฟฟ้าคืน ซึ่งเข้าใจว่ากระทรวงการคลังจะจ้างที่ปรึกษา เพื่อดูรายละเอียดทั้งหมด และแหล่งเงินเพิ่มเติมที่จะนำมาใช้
แต่ในส่วนของกระทรวงคมนาคมตนเองได้เคยพูดไปแล้วว่า อยากให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้าในราคา 20 บาทได้ในเดือนกันยายน 2568 โดยตนเองได้ศึกษาแหล่งเงินที่จะมาชดเชยแล้ว ส่วนหนึ่งจะส่วนแบ่งที่ได้รับมาจากที่ รฟม.สายสายสีน้ำเงิน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที แต่หากกระบวนการศึกษาระหว่างคลังกับคมนาคมเสร็จก่อนก็จะใช้กระบวนการตรงนั้น
ส่วนจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติการเงินและนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายสุริยะกล่าวว่า การตั้งกองทุนจะต้องมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จำเป็นจะต้องศึกษาให้ดีเพราะจะต้องมีแหล่งเงินที่จะต้องจัดเก็บรายได้ และนำเงินไปซื้อรถไฟฟ้าคืน แต่ทั้งนี้ก็ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อไปดำเนินการซึ่งเรื่องนี้พรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นด้วยซึ่ง เป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งเชื่อว่าพรรคร่วมจะไม่มีปัญหา เพราะถือว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงร่วมกัน
ขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง ไปร่วมกันศึกษาในเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และถือเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเป็นการลดการใช้รถบนถนน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องไปศึกษาว่าจะต้องใช้วิธีการอย่างไร มีความคุ้มค่าทางการเงินอย่างไร และแหล่งเงินจะมาจากที่ใด โดยกระทรวงจะรีบดำเนินการเรื่องนี้