‘สุริยะ’ แจงสี่เบี้ยแนวคิดซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ปักธงกลางปี 68 ชัดแน่ ผ่าไอเดียให้ ‘คลัง’ เป็นเจ้าภาพทั้งทำกฎหมายและจัดตั้งกองทุน คาดใช้เงิน 200,000 ล้าน ส่วนสายสีเขียวไม่ห่วงเข้าร่วมยาก ชี้ถ้า พ.ร.บ.รางผ่านคุมได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการในประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (15 ต.ค. 2567) ถึงการดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย กระทรวงคมนาคมยืนยันว่า จะทำนโยบายนี้ โดยรถไฟฟ้าทุกสายทางจะต้องมีราคา 20 บาทให้ได้ภายในเดือน ก.ย. 2568 โดยเงินที่จะเอามาใช้ จะมาจากกองทุนในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …แหล่งที่มาส่วนหนึ่งจะมาจากส่วนแบ่งรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ปันมาจากรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงช่องทางในการของบประมาณรายจ่ายปกติด้วย โดยปัจจุบันร่างพ.ร.บ.นี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ในช่วงเดือน ธ.ค.นี้
ส่วนนโยบาย 20 บาทในรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ - รังสิต - ตลิ่งชัน และรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงคลองบางไผ่ - เตาปูน คาดว่าจะเสนอ ครม.ต่ออายุมาตรการได้ทัน 30 พ.ย. 2567 นี้
@ผ่าไอเดียเก็บค่ารถติด ใช้เงินซื้อคืน 2 แสนล.
อย่างไรก็ตาม นายสุริยะกล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลมีแนวนโยบายในการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากผู้ประกอบการทั้งหมด ตรงนี้ก็จะมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อมีภารกิจในการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายทางโดยเฉพาะ ซึ่งต้องใช้เงินประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินจะมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง (Congestion Fee) บริเวณถนนที่มีการศึกษาไว้ เช่น สีสม รัชดาภิเษก สุขุมวิท เป็นต้น ซึ่งมีการประมาณการณ์คร่าวๆว่ามีปริมาณรถสัญจรไปมารวม 700,000 คัน/วัน คิดเป็นรายได้เข้ากองทุนต่อปีประมาณ 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ อายุของกองทุนน่าจะมีอายุประมาณ 30 ปี
@’คลัง’ เจ้าภาพ ทำกฎหมาย-การจัดตั้งกองทุน
นายสุริยะกล่าวต่อว่า โดยแนวคิดนี้ จะต้องมีการจ้างที่ปรึกษาศึกษาในรายละเอียดกัน โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ว่าจ้าง ซึ่งจากการหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็มีท่าทีตอบรับโจทย์นี้ไปดำเนินการ
และในอีกด้านหนึ่ง การดำเนินการข้างต้น จะต้องมีการออกระเบียบกฎหมายมาบังคับใช้ด้วย ดังนั้้น ก็คาดว่าจะต้องมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยว่า การจัดเก็บดังกล่าวจะทำอย่างไร แม้ว่าที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีกฎหมายบังคับจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่งมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่เคยบังคับใช้เลย ถ้ากระทรวงคมนาคมทำเอง จะทำอย่างไร จึงต้องปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน
นายสุริยะกล่าวต่อว่า เมื่อมีการจัดตั้งกองทุนในการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าแล้ว กองทุนนี้จะสามารถระดมทุนได้ทันที โดยอาจจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาซื้อได้ด้วย แต่คงไม่รอให้ระดมทุนให้ได้ 200,000 ล้านบาท แล้วค่อยไปซื้อระบบสัมปทานรถไฟฟ้าต่างๆในทีเดียว อาจจะออกหนังสือชี้ชวนให้นักลงทุนเข้ามาซื้อกองทุนและออกแบบให้เป็นกองทุนปันผล หากระดมทุนได้ดี ก็อาจจะไปทำเรื่องขอกูเงินจากสถาบันการเงิน เพื่อมาซื้อคืนระบบสัมปทานรถไฟฟ้าสายต่างๆก่อน แล้วค่อยทยอยชำระคืนภายหลังก็ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องให้มีการศึกษาก่อน จึงจะรู้ได้ว่ากระบวนการซื้อคืนต้องทำอย่างไร แต่คงต้องมีการเจรจากับผู้ประกอบการที่รับสัมปทานต่างๆด้วย
@ไม่ห่วง สายสีเขียว เชื่อกม.รางผ่านเมื่อไหร่ คุมได้
ส่วนการซื้อคืนระบบรถไฟฟ้าจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่กำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นเอกชนผู้รับสัมปทานนั้น นายสุริยะกล่าวว่า ต้องไปดูว่าแต่ะปี BTSC มีผลประกอบการเท่าไหร่ แล้วเอาผลประกอบการนั้นมาคำนวณต้นทุนที่จะต้องซื้อ ถ้าผลประกอบการรายปีออกมาว่า BTSC ได้กำไรจากรถไฟฟ้าปีละ 10,000 ล้านบาท ก็เจรจากันว่า อาจจะจ่ายล่วงหน้าไปก่อนส่วนหนึ่ง แล้วอีกส่วนหนึ่งค่อยจ่ายทีหลัง
ทั้งนี้ กทม.และ BTSC ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการซื้อคืนสัมปทานได้ เพราะถ้าร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …ผ่านการพิจารณา จะเป็นให้อำนาจรัฐและหน่วยงานที่ระบุตามกฎหมายเป็นผู้กำกับดูแลระบบขนส่งทางรางทั้งประเทศไว้มาก อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.นี้ไม่ได้รังแกเอกชน แต่อาจจะปรับเปลี่ยนวิธีทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนมากกว่า
เมื่อถามว่า ในช่วงช่องว่างระหว่างที่รอกฎหมายอนุมัติ หากทาง กทม.และ BTSC บรรลุข้อตกลงต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ก่อน จะทำอย่างไร นายสุริยะตอบว่า เชื่อว่าเมื่อมีกฎหมายบังคับใช้ ก็ยังสามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ ส่วนเมื่อซื้อคืนมาแล้วจะไปอยู่หน่วยงานไหนนั้น ขอให้รอผลการศึกษาที่กระทรวงการคลังจะต้องทำก่อน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวย้ำว่า ทั้งหมดนี้คาดว่าไม่เกินกลางปี 2568 จะชัดเจน