"...โดยการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับพะยูน ชุมชนชายฝั่งจะต้องเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ฝูงพะยูนเคลื่อนย้ายที่อยู่ เราจึงต้องไปทำงานที่ลันตา สร้างกระบวนการ สร้างความร่วมมืออนุรักษ์กันร่วมกับชุมชนและอีกจำนวนหลายพื้นที่ ซึ่งในส่วนนี้หน่วยงานราชการจะต้องเข้ามาร่วมมือ โดยได้มีการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานอำเภอและจังหวัดแล้ว..."
เป็นเวลา 5 ปีแล้วที่ 'มาเรียม' พะยูนน้อยจากไป เพื่อเป็นการรำลึกถึง ตระหนักถึงความสำคัญของพะยูน และะรณรงค์การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล จึงมีการกำหนดให้ 17 - 23 สิงหาคมของทุกปี เป็นสัปดาห์พะยูนแห่งชาติ
'พะยูน' สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่อ่อนโยนซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘วัวทะเล’ หรือ 'หมูน้ำ' เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
ปัจจุบัน ไทยมีพะยูนอยู่ประมาณไม่ถึง 300 ตัวเท่านั้น และมีแนวโน้มที่จะลดลง จากการประเมินของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) พบว่า 'พะยูนถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์' ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยจากมนุษย์
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาสู่การตั้งกระทู้ถามเรื่อง สถานการณ์พะยูนในอันดามัน ของ นายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
ข้อมูลจากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า มีพะยูนแพร่กระจายอยู่ในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของประเทศ โดยพื้นที่จังหวัดตรังเป็นแหล่งประชากรพะยูนที่ใหญ่ที่สุด ในปี 2566 ได้สำรวจพบพะยูน 282 ตัว แบ่งเป็น พบในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย 32 ตัว และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 250 ตัว
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีต พบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรพะยูน เป็น 2 ช่วง
-
ช่วงที่ 1 ช่วงปี 2550 - 2557 พะยูนมีแนวโน้มลดลดลง โดยปี 2557 ในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน จำนวนพะยูนจาก 250 ตัว ลดลงเป็น 200 ตัว
-
ช่วงที่ 2 ช่วงปี 2559 - 2560 พะยูนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวน 221 ตัว และเพิ่มขึ้นในปี 2562 เป็น 261 ตัว จากการสำรวจในปี 2563 พบจำนวนพะยูนลดลงเป็น 255 ตัว และในปี 2564 พบจำนวนพะยูนประมาณ 261 ตัว
ในขณะที่ปี 2565 พะยูนเพิ่มขึ้นเป็น 273 ตัว โดยแบ่งเป็นพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยประมาณ 31 ตัว และพื้นที่ฝังทะเลอันดามันประมาณ 242 ตัว โดยมีอัตราการเกิดร้อยละ 7
มาเรียม ลูกพะยูนที่เกยตื้นเมื่อปี 2562
หญ้าทะเลเสื่อมโทรม แหล่งอาหารพะยูนหาย
นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง หนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า สถานการณ์พะยูนในทะเลไทยในปี 2566 มีอัตราการตายเพิ่มขึ้นสูงมากขึ้นอย่างน่าตกใจจนใจหาย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารหลักเพียงอย่างเดียวของพะยูนเสื่อมโทรมอีก ทำให้กระทบกับวิถีชีวิตของพะยูนโดยตรง
นายภาคภูมิ เล่าถึงปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เมื่อประมาณปี 2562 มีตะกอนทรายถมทับแนวหญ้าทะเลบริเวณดังกล่าวสูงถึง 10 - 15 เซนติเมตร ส่งผลให้หญ้าทะเลแปลงใหญ่ที่สุดของเกาะลิบงเสียหายเป็นวงกว้างถึง 1 หมื่นไร่
อีกทั้ง ยังมีการเปลี่ยนแปลงของสันฐานชายฝั่งทะเลที่มีการกัดเซาะ ทำให้เกิดตะกอนทรายมาทับถมแนวหญ้าทะเลในบริเวรอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงเกาะลิงบง เช่น หาดบ้านมดตะนอย บ้านเจ้าไหม ต่อเนื่องไปถึงหาดหยงหลำ จังหวัดตรัง ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่มีหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์มากถึง 14,000 ไร่
"ขณะนี้หญ้าทะเลก็ยังอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมอยู่ เมื่อหญ้าทะเลเป็นอาหารหลักอย่างเดียวของพะยูน ส่งผลกระทบทำให้พะยูนขาดอาหาร ตอนนี้คิดว่าพะยูนได้มีการเคลื่อนย้าย ไปอยู่ในแหล่งหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่อ่าวพังงา กระบี่ จังหวัดพังงาตอนใน และต่อเนื่องไปถึงจังหวัดภูเก็ต" นายภาคภูมิ กล่าว
การลดลงของจำนวนพะยูน ยังมีสาเหตุหลักมาจากปรากฏการณ์สิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าเอลนีโญ รูปแบบสภาพอากาศที่ซับซ้อนนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมหาสมุทรในแถบเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาพอากาศและระบบนิเวศทั่วโลก สถานการณ์ในจังหวัดตรังเป็นตัวอย่างของการเชื่อมโยงที่ซับซ้อนภายในสภาพแวดล้อมของเราและผลกระทบที่กว้างขวางของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล
แปลงเพาะหญ้าทะเล
ชุมชนชายฝั่ง ทีมสำคัญในการอนุรักษ์พะยูน
นายภาคภูมิ กล่าวว่า ในส่วนของการอนุรักษ์พะยูน สิ่งสำคัญที่จะต้องทำในขณะนี้ คือการฟื้นฟูหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูน โดยจะต้องเริ่มต้นในพื้นที่ที่มีความพร้อมที่จะสามารถฟื้นฟูได้ ที่ผ่านมามูลนิธิอันดามันร่วมกับชุมชนในพื้นที่ได้มีการทดลองทำแปลงเพาะปลูกต้นพันธุ์ต้นหญ้าทะเลในแหล่งธรรมชาติ ประมาณ 4 เดือนแล้ว และได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ ซึ่งปัจจุบันหญ้าทะเลในแปลงมีความสูงมากประมาณ 1 เมตร ทั้งนี้จะต้องมีการดูแลจนสามารถออกดอกจนแพร่พันธุ์ได้ ก่อนจะนำกลับสู่แปลงธรรมชาติต่อไป
"ตอนนี้ไม่กล้าพูดว่าจะเพิ่มประชากรพะยูนเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เอาแค่ดูแลอนุรักษ์ประชากรพะยูนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ได้ก่อน เพราะว่า ตอนนี้ฝูงพะยูนมีการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ ซึ่งพื้นที่ที่พะยูนเคลื่อนไปย้ายไปนั้น ชาวบ้านในพื้นที่อาจจะตั้งรับไม่ทัน เนื่องจากเดิมไม่มีความคุ้นเคยกับพะยูนจำนวนมากที่เข้าไปในพื้นที่ อาจจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ซึ่งไม่ใช่ความผิดของทั้งสองฝ่าย การกระทบกระทั่งกัน เช่น พะยูนถูกเรือชน ติดเรื่องมือประมง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตหลายตัวแล้วในรอบปีนี้" นายภาคภูมิ กล่าว
นายภาคภูมิ เล่าถึงความประสบความสำเร็จในกระบวนการอนุรักษ์พะยูนที่ผ่านมา คือ กระบวนการทำงานร่วมกับชุมชน เพราะกลไกที่สำคัญ จะต้องให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เป็นหน่วยอนุรักษ์ โดยคณะทำงานฯ จะมีหน้าที่ทำให้พะยูนและชุมชนเป็นมิตร และอยู่ร่วมกันได้ เพราะชุมชนคือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับพะยูน ไม่ใช่อนุรักษ์พะยูน โดนไม่สนใจชาวบ้าน
นอกจากนี้ ยังต้องให้ความรู้ในการช่วยเหลือพะยูนที่ถูกต้องกับชุมชน เพราะจะเป็นการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตพะยูนอีกด้วย เนื่องจากการช่วยเหลือที่ไม่ถูกต้องอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของพะยูน
"โดยการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับพะยูน ชุมชนชายฝั่งจะต้องเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ฝูงพะยูนเคลื่อนย้ายที่อยู่ เราจึงต้องไปทำงานที่ลันตา สร้างกระบวนการ สร้างความร่วมมืออนุรักษ์กันร่วมกับชุมชน อีกจำนวนหลายพื้นที่ ซึ่งในส่วนนี้หน่วยงานราชการจะต้องเข้ามาร่วมมือ โดยได้มีการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานอำเภอและจังหวัดแล้ว" นายภาคภูมิกล่าว
นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง
จากสถิติการเกยตื้นของพะยูนในปี 2566 พบการเกยตื้นฝั่งทะเลอันดามัน 36 ตัว ส่วนใหญ่เป็นการเกยตื้นแบบเสียชีวิต 32 ตัว และมีชีวิต 4 ตัว และสามารถช่วยเหลือโดยปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ 3 ตัว โดยมีการเกยตื้นของพะยูนที่ไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากสภาพซากเน่า 11 ตัว และที่สามารถระบุสาเหตุการเกยตื้นได้ 25 ตัว โดยแบ่งสาเหตุได้ ดังนี้
-
มีอาการป่วย 8 ตัว
-
อุบัติเหตุทางทะเล 5 ตัว
-
มีอาการป่วยร่วมกับการกินขยะทะเล 5 ตัว
-
พลัดหลง 2 ตัว
-
สาเหตุอื่น ๆ 5 ตัว
โดยอัตราการเกยตื้นจากสาเหตุการเจ็บป่วย มีแนวโน้มไม่เพิ่มขึ้นจากปี 2565
ข้อมูลล่าสุด ระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน 2567 พบพะยูนตาย รวม 15 ตัว เป็นพะยูนในจังหวัดตรัง 13 ตัว และในจังหวัดอื่น 2 ตัว ซึ่งผลการชันสูตรพะยูนในจังหวัดตรังพบมีแนวโน้มสภาพร่างกายที่ผอมมากกว่าระดับปกติ จำนวน 4 ตัว
ทั้งนี้ ระหว่างปี 2560 - 2566 บริเวณพื้นที่ทะเลอันดามันพบพะยูนเกยตื้น ทั้งหมด 141 ตัว ส่วนใหญ่เป็นจากเกยตื้น 126 ตัว และมีชีวิต 15 ตัว สามารถปล่อยกลับทะเล สำเร็จ 35 ตัว โดยมีการเกยตื้นของพะยูนที่ไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากสภาพซากเน่า 56 ตัว และสามารถระบุสาเหตุการเกยตื้นได้ 85 ตัว โดยส่วนใหญ่เกิดจากการป่วย และเกิดจากมนุษย์ อุบัติเหตุทางทะเลขยะทะเล และการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ
แผนพะยูนแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีแผนการสำรวจพะยูนตามแผนพะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1 (2563 - 2565) และระยะที่ 2 (2566 - 2564) ครอบคลุมพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลทั้ง 13 แหล่งในประเทศไทย
สาระสำคัญของแผนพะยูน คือการเพิ่มจำนวน อนุรักษ์และลดภัยคุกคามพะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของชุมชน
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ อาหิ คณะอาจารย์มหาวิทยาลัย มูลนิธิ และผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ ตลอดจนเครือข่ายประมงพื้นบ้าน โดยมี 8 แผนงานโครงการ ที่ครอบคลุมการศึกษาทั้งด้านสัตว์ทะเลหายาก หญ้าทะเล และสมุทรศาสตร์กายภาพ โดยมีใครงการบินสำรวจพะยูนด้วย Fixed- wing UAVs, Drone และอากาศยานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะพื้นที่อันดามันตอนล่าง
ทั้งหมดนี้ คือ สถานการณ์พะยูนในประเทศไทย ที่กำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ เนื่องจากเผชิญวิกฤติหญ้าทะเลเสื่อมโทรม และปัญหาขยะทะเล ฉะนั้นก่อนที่จะถึงหมุดหมายสำคัญในการเพิ่มจำนวนพะยูน คือการอนุรักษ์ประชากรพะยูนที่มีอยู่ในปัจจุบันก่อน โดยจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน จนถึงภาครัฐ ร่วมกันปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง และระบบนิเวศหญ้าทะเล เพื่อให้สัตว์ทะเลอยู่คู่กับทะเลไทยไปอีกนานแสนนาน