"...บัดนี้ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้ตรวจพิจารณาสำนวนและมีคำสั่งคดีนี้เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 โดยสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, มาตรา 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ต.ค.2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 (3) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ..."
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญหน้าการต่อสู้คดีความในชั้นศาลอีกครั้ง
เมื่อในช่วงสาย วันที่ 29 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดแถลงข่าวเป็นทางการว่า นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, มาตรา 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ต.ค.2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 (3) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 เป็นทางการแล้ว
อย่างไรก็ดี นายทักษิณ ไม่ได้มาพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัดในวันที่ 29 พ.ค.67 เนื่องจากมีอาการป่วยเพราะติดโควิด พร้อมแนบใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าป่วยจริง โดยแพทย์ ให้หยุดพักงานและสังเกตอาการเป็นเวลา 7 วัน ขณะที่ นายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ได้พิจารณาคำร้องขอเลื่อนฟังคำสั่งของนายทักษิณแล้ว จึงอนุญาตให้เลื่อนฟังคำสั่งฯไปเป็นวันที่ 18 มิ.ย.2567 เวลา 9.00 น. เพื่อนัดให้นายทักษิณ มาพบพนักงานอัยการ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป
ทั้งนี้ เกี่ยวกับเส้นทางคดีมาตรา 112 พ่วงข้อกล่าวหา พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ของ นายทักษิณ ชินวัตร ก่อนหน้าที่จะเดินทางมาถึงจุดนี้นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกไปแล้วว่า ภายหลังจาก นายทักษิณ ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษเหลือจำคุกต่อไป อีก 1 ปี จากโทษจำคุก 8 ปี อันเป็นผลมาจากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี คือ
1. คดีที่ 1. คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี (คดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4 พันล้านบาท )
2. คดีที่ 2. คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 10/2552 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี (คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน) ซึ่งคดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี
3. คดีที่ 3. คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 5/2551 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมกำหนดโทษจำคุก 5 ปี (คดีให้นอมินีถือหุ้น‘ชินคอร์ปฯ’-เข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม )
สำนักข่าวอิศรา ได้สืบค้นข้อมูลเชิงลึกคดีความของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่เหลือค้างอาจเป็นมูลเหตุให้ต้องได้รับโทษจำคุกเหลืออยู่นอกจาก 3 คดี อีกหรือไม่
พบว่า คดีความในสารบบ ป.ป.ช. ไม่มีคดีค้างที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องฟ้องร้องศาลอีกแล้ว
แต่ยังมีคดีกล่าวหาที่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.อีก 2 คดี ได้แก่ 1. คดี นายทักษิณ ถูกร้องเรียนกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รอง ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามแร่เถื่อน โดยถูกร้องเรียนกล่าวหาพร้อมกับพวก กรณีลงพื้นที่ตรวจสอบลักลอบการทำเหมืองแร่ดีบุก จ.พังงา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ยังไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน 2. คดีกล่าวหา นายทักษิณ กับพวก อนุมัติให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.สนับสนุนบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด (มหาชน) เมื่อครั้งกลุ่มชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ 51% เข้ามาทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ และมีการแก้ไขข้อบังคับหลายกรณี ซึ่งในบอร์ด ทอท.ขณะนั้นมี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยนายทักษิณ เป็นบอร์ดรวมอยู่ด้วย ปัจจุบัน ป.ป.ช.มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้แล้ว อยู่ระหว่างสรุปข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการ แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
ส่วน คดีความในสารบบอัยการและศาล นั้น เมื่อสืบค้นข้อมูลในฐานข้อมูลคดีของอัยการและศาลต่างๆ เกี่ยวกับการกระทำความผิดของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่หน่วยงานตรวจสอบต่าง ๆ มีการส่งสำนวนเข้ามาเพื่อให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาสำนวนฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
พบว่า ตั้งแต่ปี 2549 ถึง ปัจจุบัน มีอยู่จำนวน 31 คดี (ดูรายละเอียดในตารางท้ายเรื่อง)
โดยในจำนวน 31 คดี นี้ ส่วนใหญ่เป็นข้อหาหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รองลงมาเป็นข้อหาเกี่ยวกับทุจริตประพฤติมิชอบ ร่ำรวยผิดปกติ (หลายคดีนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสอบสวนของ ป.ป.ช.ตามที่ระบุไว้ข้างต้นแล้ว) แต่มี 1 คดีเป็นเรื่อง ขับขี่จักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด คาดว่าเป็นกรณีขับขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่ใส่หมวกกันน็อกเยี่ยมชาวบ้านในพื้นที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อปี 2549
ภาพจาก https://mgronline.com
สำหรับสถานะทางคดีนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ในจำนวนนี้ 31 คดีนี้ มี 21 คดี ที่ถูกระบุว่าเป็นสำนวนที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหา และ มีจำนวน 9 คดี ที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ส่วนคดีที่เหลือมีทั้งส่งสำนวนกลับคืน และศาลมีคำพิพากษาตัดสินคดีไปแล้ว
ในสำนวนคดีที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหานั้น มีอยู่ 1 คดี ที่อัยการสูงสุด (อสส.) สั่งฟ้องไปแล้ว คือ การกระทำความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 และเป็นความผิดนอกราชอาญาจักร ซึ่งเป็นกรณีในช่วงปี 2558 ที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สั่งให้เจ้าหน้าที่กรมพระธรรมนูญ ไปแจ้งความเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประเทศเกาหลีใต้ และพูดพาดพิงสถาบันฯ และได้มีการออกหมายจับนายทักษิณไปแล้ว
ตามขั้นตอนทางกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะต้องไปอายัดตัวนายทักษิณ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความควบคุมตัวของกรมราชทัณฑ์ และแจ้งข้อกล่าวให้ทราบ จากนั้นทำการสอบปาก และส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุด (อสส.) อีกครั้ง ซึ่งถ้าอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องจะทำสำนวนส่งให้ศาลพิจารณา ถ้าศาลรับฟ้อง ก็จะต้องมีการเบิกตัวนายทักษิณ มาขึ้นศาลอีกครั้ง
ทั้งนี้ ภายหลังจากสำนักข่าวอิศรานำเสนอรายงานข่าวเรื่องนี้ไป เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2567 ทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกมาแถลงข่าวคดีนายทักษิณ ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามมาตรา 112 เป็นทางการ
นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า นายทักษิณ ตกเป็นผู้ต้องหา ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พ.ค.58 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศไทยเกี่ยวพันกันอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคณะทำงานพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยจึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ซึ่ง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริการ อัยการสูงสุดในขณะนั้น ได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 59 ตรวจพิจารณาสำนวนแล้ว ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ตามข้อกล่าวหา แต่เนื่องจากขณะนั้นผู้ต้องหาหลบหนี อัยการสูงสุดจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกหมายจับและพนักงานสอบสวนได้มีคำขอต่อศาลอาญาและออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 นายทักษิณ ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและถูกควบคุมเพื่อรับโทษในคดีอาญาเรื่องอื่น พนักงานสอบสวนได้นำหมายจับไปแจ้งอายัดผู้ต้องหาไว้กับกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว
จากนั้นวันที่ 17 ม.ค. 67 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมกับพฤติการณ์และข้อเท็จจริงทางคดีให้กับนายทักษิณ ทราบแล้ว ปรากฏว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธพร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ซึ่งอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน และหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ประกอบสำนวนเพื่อส่งให้กับอัยการสูงสุดพิจารณา ขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด ตรวจพิจารณาและทำความเห็นเบื้องต้นเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา มีความเห็นและคำสั่งทางคดีต่อไป ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัว นายทักษิณ ไว้กับทางกรมราชทัณฑ์ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว
ต่อมา ภายหลังจากนายทักษิณ ชินวัตร ภายหลังได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากเข้าเกณฑ์เป็นผู้ต้องขังอาวุโสและเจ็บป่วยเรื้อรัง ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ กลับไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 ในช่วงเช้าวันที่ 19 ก.พ.2567 เวลา 09.00 น. ชั้น 3 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) สำนักงานอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา นายทักษิณ ได้เดินทางมารายงานตัวเพื่อรับทราบคำสั่งในคดีที่โดนกล่าวหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีนายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีอาญา 8 รอรับตัว
ส่วนความกังวลสำหรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของนายทักษิณจะทำให้คดียืดเยื้อเหมือนกรณีของนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ที่มีการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง
นายประยุทธ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันว่า "จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นแน่นอน เนื่องจากสำนักอัยการสูงสุดได้ถอดบทเรียนจากกรณีของบอส อยู่วิทยา พร้อมปรับแก้ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดในกรณีการร้องขอความเป็นธรรมโดย ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเป็นผู้มายื่นคำร้องด้วยตัวเองไม่สามารถให้ทนายความหรือบุคคลอื่นที่รับมอบอำนาจมายื่นให้โดยเด็ดขาด และหากเห็นว่าเป็นการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม กระทำไปเพื่อประวิงเวลา อัยการสูงสุดก็มีอำนาจในการยุติการร้องขอความเป็นธรรมได้เช่นกัน พร้อมขอให้สังคมเชื่อมั่นการทำงานของอัยการสูงสุดว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย"
หลังจากนั้น ในวันที่ 10 เม.ย.2567 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้มีการแถลงข่าวความคืบหน้าคดีนายทักษิณ ซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เเละ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศที่เกาหลีใต้เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2558 อีกครั้ง ระบุว่า อสส.ยังมิได้มีความเห็นและคำสั่งทางคดี เนื่องจากพนักงานสอบสวนส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม ตามที่ อสส.มีคำสั่งยังไม่ครบถ้วน สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 จึงให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งไปในวันที่ 29 พ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. โดยมีผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ ชินวัตร มารับทราบการเลื่อนคดีเพื่อไปฟังคำสั่งตามวันเวลาดังกล่าวแล้ว
ขณะที่ นายประยุทธ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุด้วยว่า “ก่อนหน้านี้นายทักษิณ ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ผ่านพนักงานสอบสวนไปตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. ทำให้อัยการต้องพิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและเห็นว่ามีประเด็นที่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม โดยพนักงานสอบสวนได้ส่งผลการสอบสวนมาเพียงบางประเด็น ทำให้ยังไม่มีความเห็นทางคดี และนัดมาฟังอีกครั้ง ในวันที่ 29 พ.ค. เวลา 09.00 น.ขณะที่วันนี้นายทักษิณไม่ได้เดินทางมา แต่ส่งนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความในฐานะผู้รับมอบอำนาจและนายประกันเป็นผู้มารับฟังคำสั่งเลื่อนแทนตัวผู้ถูกกล่าวหา”
จนกระทั่งในที่สุด เมื่อวันที่ 29 พ.ค. นายประยุทธ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เปิดแถลงข่าวเป็นทางการว่า นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, มาตรา 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ต.ค.2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 (3) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8
โดยมีการระบุพฤติการณ์การกระทำความความผิดเป็นทางการว่า สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2559 สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับสำนวนการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรจากพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมี พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม เป็นผู้กล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ต้องหา ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับมั่นคง
พร้อมระบุรายละเอียดพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเป็นทางการ ว่า เหตุคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2558 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร จึงเป็นคดีอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีตั้งแต่แรกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ในชั้นแรก นายทักษิณ หลบหนี ยังไม่ได้ตัวมาทำการสอบสวน ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ในขณะนั้น พิจารณาสำนวนโดยตลอดแล้ว มีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2559 เห็นควรสั่งฟ้อง นายทักษิณ ตามข้อกล่าวหา
ต่อมานายทักษิณ ผู้ต้องหา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย และถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีอื่น ต่อมาวันที่ 17 ม.ค.2567 อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าแจ้งข้อหา พร้อมแจ้งพฤติการณ์และข้อเท็จจริงทางคดีนี้ให้กับนายทักษิณ ได้ทราบแล้ว ปรากฎว่า นายทักษิณ ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด
ต่อมานายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสดสอบสวน ได้มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมทุกประเด็นที่ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม และพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมครบถ้วนแล้ว พร้อมได้ส่งบันทึกคำให้การสอบสวนเพิ่มเติมให้กับอัยการสูงสุดประกอบการพิจารณา
อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์
บัดนี้ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้ตรวจพิจารณาสำนวนและมีคำสั่งคดีนี้เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 โดยสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, มาตรา 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ต.ค.2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 (3) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8
พร้อมอนุมัติให้ นายทักษิณ เลื่อนฟังคำสั่งฟ้อง ไปเป็นวันที่ 18 มิ.ย.2567 เวลา 9.00 น. และนัดให้นายทักษิณ มาพบพนักงานอัยการ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ส่วน นายทักษิณ จะเดินทางมาตามนัดหมายวันที่ 18 มิ.ย.2567 เวลา 9.00 น. หรือไม่?
บทสรุปสุดท้ายการต่อสู้คดีเป็นอย่างไร? จะโดนคดีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่? ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป?
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับความผิดในคดีมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ อสส.มีคำสั่งฟ้องล่าสุด นั้น ศาลฯ ยังไม่ได้มีคำพิพากษาชี้ขาด นายทักษิณ จึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และมีสิทธิต่อสู้คดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
@ ตารางแสดงคดีความในสารบบอัยการและศาล เกี่ยวกับการกระทำความผิดของ นายทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2549 ถึง ปัจจุบัน จำนวน 31 คดี
อ่านประกอบ :
- คดี ม.112! 'ทักษิณ' ให้การปฏิเสธ-ขอความเป็นธรรม รอความเห็น อสส. - โดนแจ้งอายัดตัวไว้แล้ว
- ขุดคดีค้าง 'ทักษิณ' ขี่มอไซค์ไม่สวมหมวก-หมิ่นสถาบันฯเพียบ อสส.สั่งฟ้อง ม.112 แล้ว 1 คดี