"...น่าสังเกตว่า คดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นเรื่องการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ส่วนคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นควรให้ยุติการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้อง เรื่องการถอดถอนจากตำแหน่ง เป็นการพิจารณาคดีคนละส่วนกัน..."
กรณีปรากฏข่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิด นายศุภชัย โพธิ์สุ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม กรณีบุกรุกหรือถือครองและเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส.2 หรือใบจองในโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่แปลงป่าดงพะทาย ท้องที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยการซื้อที่ดินและไม่มีหลักฐานใบจองที่ดินจนถึงปัจจุบัน จำนวน 40 แปลง เนื้อที่ 220 ไร่ ซึ่งถือเป็นการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 พร้อมให้ส่งสำนวนยืนฟ้องศาลฎีกาตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เกี่ยวกับคดีนี้ นายศุภชัย เคยชี้แจงต่อสาธารณชนว่า ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2531 ถึง 2532 ทำการเกษตร จำนวนประมาณ 200ไร่ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนบ้านท่าหนามแก้ว ต.พะทาย อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ก่อนมาเป็น สส. เมื่อปี 2544 แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ความเป็น สส. เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินเหล่านั้นแต่อย่างใด
นายศุภชัย ยังระบุด้วยว่า ในช่วงปี 2518-2519 รัฐบาลได้ทำการจัดสรรที่ดินป่าดงพะทายให้ชาวบ้านทำกิน โดยแบ่งเป็นล็อก ล็อกละ 10 ไร่เพื่อทำการเกษตร และยังให้เป็นที่อยู่อาศัยอีกคนละ 1 ไร่ และต่อมาเกิดปัญหาชาวบ้านไม่เข้าทำประโยชน์ หรือซื้อขายเปลี่ยนมือไปทำให้ผิดเงื่อนไข นำไปสู่การจำหน่ายใบจองในพื้นที่ป่าดงพะทายจำนวน ทั้งหมดประมาณ 20,000 ไร่ โดยมีผู้ที่ครอบครองที่ดินและทำกินอยู่ไม่ตรงชื่อตามใบจอง รวมทั้งสิ้นถึง 880 แปลง จากนั้นคนที่ครอบครองที่ดินดังกล่าวจึงสามารถไปดำเนินการขอออกเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายที่ดิน ซึ่งที่ดินของตนครอบครองมา 30 ปี ไม่มีใครยึดได้ และพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่ป่า เป็นเพียงชื่อเรียกเท่านั้น เพราะเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า
พร้อมย้ำว่า เรื่องดังกล่าวในสมัยเป็นรมช.เกษตรฯ ในปี 2553 ก็เคยถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องดังกล่าวอีกทางหนึ่งก็ส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแต่ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้มีการตัดสินอะไรออกมา ย่อมสันนิษฐานได้ว่าไม่มีความผิดอะไร
น่าสนใจว่า ข้อเท็จจริงการสอบสวนคดีส่วนนี้ เป็นไปตามที่นายศุภชัย กล่าวอ้างหรือไม่?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า ในช่วงปลายปี 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยมีมติเสียงข้างมากให้ยุติการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคําร้องขอให้ถอดถอนนายศุภชัยโพธิ์สุ เมื่อครั้งดำรงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกจากตําแหน่ง กรณีบุกรุกที่ดินของรัฐและที่ดินทำกินของราษฎร พื้นที่บริเวณป่าดงพะทาย ในท้องที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ไปแล้ว
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายศุภชัยโพธิ์สุ ตามคำร้องขอให้ถอดถอนจากตำแหน่งว่า นายศุภชัย โพธิ์สุ ผู้ถูกร้องขอให้ถอดถอนได้ถูกร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครพนมว่าบุกรุกที่ดินของรัฐและที่ดินทำกินของราษฎรในพื้นที่บริเวณป่าดงพะทาย ในท้องที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งบริเวณป่าดงพะทาย มีสภาพเป็นพื้นที่ดินรกร้างว่างเปล่า กรมที่ดินจึงได้นำไปจัดที่ดินแปลงใหญ่ให้ราษฎรจับจองเข้าทำกินส่วนหนึ่งประมาณ 21,500 ไร่ และทางราชการได้ออกใบจองให้แก่ราษฎรตามแผนการจัดสรรที่ดินแปลงใหญ่
โดยนายศุภชัย โพธิ์สุ ผู้ถูกร้องขอให้ถอดถอน เป็นผู้หนึ่งที่เข้าไปครอบครองที่ดินกว่า 700 ไร่ ซึ่งนายศุภชัย โพธิ์สุ มีพฤติการณ์เข้าไปแย่งที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว ทั้งที่นายศุภชัย โพธิ์สุ ไม่มีคุณสมบัติที่จะถือครอบครองที่ดินดังกล่าว
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า จากข้อเท็จจริงพยานหลักฐานและข้อกฎหมาย ที่ประชุมพิจารณาแล้ว ฝ่ายเสียงข้างมาก ประกอบด้วย กรรมการ ป.ป.ช. จํานวน 7 เสียง เห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอํานาจไต่สวนและวินิจฉัยคําร้องขอให้ถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองออกจากตําแหน่งอีกต่อไป ด้วยเหตุว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ไม่มีบทบัญญัติใดที่กําหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจดําเนินการไต่สวนและวินิจฉัยคําร้องขอให้ถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองออกจากตําแหน่ง
อีกทั้งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 273 วรรคสองกําหนดให้การดําเนินการของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
กล่าวคือ เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ. 2561 มิได้กําหนดกลไกในการถอดถอนบุคคลออกจากตําแหน่งไว้ย่อมมีผลให้การดําเนินการกรณีถอดถอนออกจากตําแหน่งไม่สามารถจะกระทําได้อีกต่อไป เพราะถือเป็นการขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ฝ่ายเสียงข้างน้อยจำนวน 1 เสียง เห็นว่า เมื่อคําร้องขอให้ถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองออกจากตําแหน่งเป็นคําร้องที่เข้าสู่กระบวนการโดยชอบและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ยังคงมีหลักการถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองออกจากตําแหน่งอยู่ เพียงแต่ได้เปลี่ยนกระบวนการถอดถอนจากเดิมที่กําหนดให้ส่งเรื่องไปยังวุฒิสภาเปลี่ยนเป็นเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยเท่านั้น
อีกทั้งตามบทบัญญัติมาตรา 191 กําหนดให้การถอดถอนจากตําแหน่งที่ได้ดําเนินการตามหมวด 5 การถอดถอนจากตําแหน่งแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังคงมีผลอยู่ต่อไป
ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงยังมีอํานาจไต่สวนและวินิจฉัยคําร้องขอให้ถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองออกจากตําแหน่งต่อไป โดยดําเนินการให้เป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกําหนด
ที่ประชุมจึงมีมติตามความเห็นของเสียงข้างมากให้ยุติการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคําร้องขอให้ถอดถอนนายศุภชัยโพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกจากตําแหน่งและให้จําหน่ายคดีออกจากสารบบ
น่าสังเกตว่า คดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นเรื่องการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561
ส่วนคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นควรให้ยุติการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้อง เรื่องการถอดถอนจากตำแหน่ง เป็นการพิจารณาคดีคนละส่วนกัน
ศุภชัย โพธิ์สุ
ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมา มีนักการเมืองหลายราย ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีความผิดจริยธรรมไปแล้ว อาทิ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีตสส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น
บทลงโทษที่นักการเมืองเหล่านี้ได้รับส่วนใหญ่ คือ ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกตลอดชีวิต และห้ามไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ไม่ต่างอะไรกับการประหารชีวิตทางการเมือง
ส่วนบทสรุปสุดท้ายในการต่อสู้คดีผิดจริยธรรม เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลของ นายศุภชัย โพธิ์สุ จะออกมาเป็นอย่างไร
ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง