"...ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อวิเคราะห์และประเมินการใช้งานระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ให้เหมาะสมต่อไป..."
กำลังเป็นประเด็นร้อนในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ต่อกรณีเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ทำบันทึกข้อความแจ้งเวียนให้ผู้บริหารฯ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับทราบประกาศ เรื่องการยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริหารอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้งาน ส่งผลให้สัดส่วนผู้ใช้บริการเมื่อเปรียบเทียบกับการจำหน่ายบัตรค่าบริการ ณ จุดจัดเก็บเงินของอุทยานแห่งชาติน้อยกว่าเป้าหมายที่กำหนด จึงให้ยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ ไว้เป็นการชั่วคราว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป
ทั้งที่เก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวเป็นเงินสด เคยถูกเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบพบปัญหาอุทยานแห่งชาติบางแห่ง เก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยว โดยไม่ผ่านระบบ e-ticket จนอาจกลายเป็นช่องโหว่ของการทุจริต และอาจโยงขบวนการซื้อขายตำแหน่ง พร้อมแจ้งข้อเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาต่อกรมฯ มาแล้ว
ทั้งนี้ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริหารอิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ อ้างว่า มีข้อจำกัดในการใช้งานนั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลพบว่า ในช่วงเดือนก.พ.2565 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ว่าจ้าง บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่สัญญา จ้างพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ
ในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ เว็บภาษีไปไหน ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2565 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่สัญญารับงานโครงการฯ นี้ วงเงิน 4,952,456.00 บาท สิ้นสุดสัญญา 4 พ.ค. 2565 (เท่าที่ตรวจสอบพบ)
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า กรณีทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ออกเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนไปแล้วว่า การ เตรียมยุติจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ไว้เป็นการชั่วคราว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป
เป็นผลสืบเนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ โดยได้เปิดให้บริการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ใช้บริการสามารถซื้อบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ ในอุทยานแห่งชาติ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 และได้สิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาดังกล่าวแล้วในเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะกรรมการเงินอุทยานแห่งชาติ ได้อนุมัติเงินอุทยานแห่งชาติ จำนวน 1.9 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจ้างดูแลระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ เป็นระยะเวลา 1 ปี
กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยสำนักอุทยานแห่งชาติได้หารือร่วมกับ ป.ป.ช.เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจอง การรับเงิน ระบบการสื่อสาร และแก้ไขปัญหาการตัดเงินผ่านระบบไม่ตรงกับวันที่เข้าใช้บริการจริง ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและสถิติเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติในวันดังกล่าวไม่สอดคล้องกัน โดยการจองและชำระเงินจะเกิดขึ้นก่อนวันที่เข้าใช้บริการจริง เช่น นักท่องเที่ยวจองและชำระเงินในวันที่ 1 แต่เข้าใช้บริการในวันที่ 7 ทำให้สถิติเงินรายได้เกิดขึ้นในวันที่ 1 แต่สถิตินักท่องเที่ยวเกิดขึ้นในวันที่ 7
ประกอบกับพบข้อบกพร่องจากการใช้งานระบบในส่วนอื่น ๆ จึงต้องมีการพัฒนาและจัดทำระบบใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของ ป.ป.ช. โดยจะมีการพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) เพิ่มเติมอีกจำนวน 31 แห่ง
แต่เนื่องจากตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการประกวดอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ใหม่ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับบริษัทรายอื่น ๆ เนื่องจากมีบริษัทเข้ามานำเสนอระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก
จึงมีความจำเป็นต้องปิดระบบการจองและชำระเงินผ่านระบบ E-ticket เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยจะได้เร่งดำเนินการตามกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุฯ โดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามข้อเสนอของสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของอุทยานแห่งชาติ อีก 96 แห่ง ให้ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศ
สำหรับการดำเนินการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบ e-ticket ที่ผ่านมา พบข้อจำกัด เนื่องจากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบางแห่ง ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต จึงไม่สามารถรองรับระบบดังกล่าวได้ และการกรอกข้อมูลส่วนตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ บางส่วนไม่พร้อมในการให้ข้อมูลส่วนตัว เนื่องจากการจองผ่านระบบ e-ticker ต้องมีการกรอกข้อมูลรายบุคคลประกอบการจอง
โดยปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อวิเคราะห์และประเมินการใช้งานระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ให้เหมาะสมต่อไป
นี่คือ คำชี้แจงเป็นทางการของ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต่อกรณีนี้
จากข้อมูลที่ได้รับสามารถสรุปได้ว่า
1. ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ใช้งบประมาณ ในการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ วงเงิน 4,952,456.00 บาท และว่าจ้างดูแลระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ 1,900,000 บาท (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเอกชนรายใดเป็นผู้รับเงิน) รวมวงเงินทั้งสิ้น 6,852,456 บาท (ตามตัวเลขที่ตรวจสอบและคำชี้แจง)
2. การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา พบปัญหาสำคัญหลายประการ จึงต้องมีการพัฒนาและจัดทำระบบใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของ ป.ป.ช. และจะมีการพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) เพิ่มเติมอีกจำนวน 31 แห่ง นอกเหนือจากอุทยานแห่งชาติ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ด้วย
แต่เนื่องจากตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการประกวดอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ใหม่ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับบริษัทรายอื่น ๆ เนื่องจากมีบริษัทเข้ามานำเสนอระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก นั้นจึงเห็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องปิดระบบการจองและชำระเงินผ่านระบบ E-ticket เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป ดังกล่าว และจะเร่งดำเนินการทำของใหม่ ตามกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุฯ โดยเร็วต่อไป
คำถามที่น่าสนใจ ต่อข้อมูลเหล่านี้ คือ
1. ก่อนหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะทุ่มงบประมาณจำนวนหลายล้านบาท ในการพัฒนาระบบครั้งแรก เมื่อปี 2565 ได้มีการศึกษาวางแผนงานไว้ครบถ้วนดีแล้วหรือไม่? ทำไมระบบงานถึงมีปัญหาเกิดขึ้นแบบนี้? ฝ่ายเอกชนคู่สัญญาชี้แจงอย่างไร? บริการหลังการขายมีหรือไม่?
2. ระบบที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นตามคำแนะนำของ ป.ป.ช. ได้เลยหรือ? มันมีปัญหาร้ายแรงจนถึงขนาด ต้องโละทิ้ง และทำใหม่หมดเลยหรือ? งบประมาณกว่า 6.8 ล้านบาท ที่สูญไปใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
3. นี่ยังไม่นับรวมผลการตรวจสอบสำคัญ 2 ชุด คือ
3.1 ในช่วงเดือนก.พ.2566 สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ป.ป.ช.ส่วนกลาง ลงพื้นที่ติดตามสังเกตการณ์และเฝ้าระวัง ณ อ่าวมาหยา ตั้งอยู่บนเกาะพีพีเล อุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะ พีพี พบว่ามีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคน ซึ่งเป็นอุทยานนำร่อง 6 แห่ง ในการดำเนินการจัดทำระบบการจัดเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (E -Ticket) พบข้อสังเกตว่ารายได้ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีการจัดเก็บรายได้และเก็บรักษาเป็นเงินสด จำนวน 7 แสนกว่าบาท และมิได้เก็บในตู้นิรภัยตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ข้อ 11
ขณะที่จุดจัดเก็บ เกาะไผ่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ซึ่งได้มีการดำเนินการตามระบบการจัดเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (E -Ticket) ซึ่งหน่วยจัดเก็บเกาะไผ่ มีประกาศแนบท้ายอุทยานฯ อัตราค่าบริการชาวต่างชาติ 400 บาท/คน แต่กรมอุทยานฯ กลับกำหนดราคาในระบบ E-ticket ในอัตรา 200 บาท ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องมาเก็บอัตราค่าบริการในรูปแบบเงินสดจากนักท่องเที่ยวเพิ่มอีกคนละ 200 บาท ทั้งที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ในพื้นที่ได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ได้ทำหนังสือทักท้วง แจ้ง/ประสานงาน ไปหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆจากกรมอุทยานฯ
กรมอุทยานแห่งชาติฯ รับฟังข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช.แล้วจริงหรือ?
3.2 ข้อมูลของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่นำทีมชุดพญาเสือลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจพื้นที่เกาะกระดานเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง โดยเข้าสุ่มตรวจบริเวณหน้าถ้ำมรกต ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ จ.ตรัง ทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย พบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯหาดเจ้าไหมเข้ามาจัดเก็บค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด พร้อมข้อสังเกตสำคัญที่ว่า ผู้ประกอบการอาจมีการจ่ายตรงกับเจ้าหน้าที่ โดยไม่ผ่านตั๋วเข้าชม? ด้วย
เหล่านี้ คือ คำถามสำคัญที่ ผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะต้องให้คำตอบที่ชัดเจนต่อสาธารณชน ว่าปัญหาอยู่ที่ระบบ E-ticket? หรือคน? หรือ ใครต้องการทำอะไรกันแน่?
อย่างไรก็ดี ภายหลังมีข่าวเรื่องนี้ปรากฎต่อสาธารณชน ล่าสุด มีรายงานข่าว นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สั่งการให้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการแล้ว
รายละเอียดผลการชี้แจงเป็นอย่างไร ต้องคอยฟังกันต่อไป