“...ยังไม่ได้มีข้อสั่งการใดเป็นพิเศษถึงการบินไทย เพียงแต่รับทราบความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการเท่านั้น ซึ่งยังอยู่ในแนวโน้มที่ดี และน่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ตามแผนที่วางไว้ ...”
กว่า 63 ปีแล้วที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นมาจากจุดประสงค์ที่ต้องการให้ประเทศไทยมี ‘สายการบินแห่งชาติ’
ที่ให้บริการในระดับสากล โดยได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 2 ล้านบาท มีบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 70 และสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ ซิสเต็ม ถือหุ้นร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียน ก่อนที่ภายหลังเพิ่มทุนโดยมีกระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้ถือหุ้น และควบรวมกับบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ส่งผลให้เงินทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ เพิ่มขึ้น เป็น 2,230 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงคมนาคมมาโดยตลอด
จนกระทั่งช่วงปี 2563 รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจพาการบินไทยเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการจากภาวะขาดทุนสะสมหลายแสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องปลดล็อกการบินไทยออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจไปในที่สุด
“ที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาการฟื้นฟูไม่ได้ประสิทธิภาพมากนัก เพราะมีข้อกฎหมายอยู่หลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.แรงงาน และ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้นวันนี้เราจำเป็นที่จะต้องหามาตรการที่เหมาะสม และเราได้มีการพิจารณาร่วมกันใน คนร. และ ครม. แล้ว พวกเราทุกคนตัดสินใจว่า เราจะเลือกหนทางแบบที่ 3 (เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาล) ซึ่งเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และจะต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการอีกหลายขั้นตอนต่อไป เพื่อจะแก้ปัญหาภายในขององค์กร และในเรื่องของการประกอบการเพื่อให้ฟื้นฟูขึ้นมาอย่างที่พวกเราทุกคนวาดหวังไว้”
“การบินไทย เราถือว่าเป็นทูตที่ดีทางวัฒนธรรมที่ช่วยโปรโมทประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน 60 ปี ผ่านการทุ่มเททำงานของคนจำนวนมาก จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน นักบิน วิศวกร ช่าง พนักงานภาคพื้น รวมทั้งพนักงานในส่วนงานอื่นๆ ของการบินไทย ผมเองก็หวังเช่นเดียวกับคนไทยทุกคนว่า การช่วยเหลือให้การบินไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล จะช่วยให้การบินไทยสามารถกลับมาเป็นสายการบินที่มีความแข็งแกร่งได้อีกครั้ง นี่คือการตัดสินใจของผมและคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (19 พ.ค. 63)” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวไว้เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563
(อ้างอิงไทยพับลิก้า : “บิ๊กตู่” หลับตา กลั้นใจ พาการบินไทยสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ – เตรียมลดหุ้นคลัง ถอดสภาพ “รัฐวิสาหกิจ” )
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นองคมนตรี
จากยุค ‘ประยุทธ์’ เข้าสู่ยุค ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จึงเป็นที่น่าจับตาอีกครั้ง เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ต.ค. 2566 มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 285/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการมีจำนวน 13 คน ประธานนำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
กรรมการชุดนี้มีหน้าที่ 6 ประการ ได้แก่
1.เป็นตัวแทนภาครัฐในการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาล และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง
2. ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ แก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของภาครัฐโดยไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาของศาล
3. กลั่นกรอง ตรวจสอบ และประสานงานผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่กระบวนการพื้นฟูกิจการ และการดำเนินกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่มีการร้องขอ และไม่ขัดต่อกฎหมาย
4. เชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้แทนหน่วยงานเอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการ
5. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
และ 6. รายงานการปฏิบัติงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ
(อ่านประกอบ: ‘เศรษฐา’ เซ็นตั้งบอร์ดติดตาม ‘แผนฟื้นฟูการบินไทย’ ‘สุริยะ’ นั่งประธาน)
จึงเป็นที่น่าจับตามองอีกครั้ง หลังรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นำ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ มานั่งหัวโต๊ะในการกำกับและติดตามการฟื้นฟูกิจการการบินไทยอีกครั้ง เพราะต้องไม่ลืมว่า ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยุค ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เคยมีข้อครหาเกี่ยวกับการบินไทยมาก่อน
และน่าติดตามว่า การบินไทยที่ยังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ อาจจะล้มลุกคลุกคลานอีกครั้ง จากการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองหรือไม่? เพราะถ้าจำกันได้มีอย่างน้อย 2 กรณีที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลสะเทือนต่อลมหายใจของการบินไทยอย่างรุนแรง นั่นคือ การอนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ และกรณีศาลสหราชอาณาจักรสั่งปรับ โรลส์-รอยซ์ บริษัทเครื่องยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติอังกฤษ 671 ล้านปอนด์ หรือ ราว 3 หมื่นล้านบาท หลัง สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ของประเทศ พบว่า บริษัทสมรู้ร่วมคิดกับการทุจริต หรือ ละเลยต่อการป้องกันการติดสินบนในไทย จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไนจีเรีย ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ถูกระบุว่าเป็นกรณีการจัดซื้อเครื่องยนต์ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งในผลการสอบสวนของสำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ของอังกฤษระบุว่า บ.โรลส์รอยส์ จ่ายสินบนให้จนท.ไทยและการบินไทยรวม3ครั้ง มูลค่า 36.38 ล้านดอลล่าร์(1,300 ล้านบาท)
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง (ยืนพนมมือ) และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม (ยืนเสื้อแจ็กเก็ตดำขวา)
@ย้อนบาปซื้อเครื่องบินแอร์บัส 10 ลำ
1.การอนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ไม่คุ้มค่า ทำให้การบินไทยมีหนี้สิ้นเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท และปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในยุคนายถาวร เสนเนียม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อปี 2563 เรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายงานพิเศษ 4 ชิ้น ได้แก่
-มรดกเก่า ‘การบินไทย’! แอร์บัส A340 ‘ซื้อแพง-จอดทิ้งขายไม่ออก-ด้อยค่าแล้ว 1.5 หมื่นล.’
-จัดซื้อยุค ‘สุริยะ’! แอร์บัส 10 ลำ ก่อน ‘ถาวร’ ชี้ต้นเหตุ ‘การบินไทย’ เจ๊ง 6.2 หมื่นล้าน
-ย้อนปมซื้อเครื่องบิน! ก่อน ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวนฯ พบแอร์บัส A340 ส่วนต่าง 700 ล้าน
-เปิดสำนวนคมนาคม ชง ป.ป.ช. สอบบินไทยเจ๊ง 2.5 หมื่นล.-ยอดสินบน นักการเมือง-จนท. 2.6 พันล.
โดยสรุปจากทั้ง 4 รายงานพิเศษ จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มาจากการสอบสวนหาข้อเท็จจริงของนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคมเมื่อปี 2562-2563 ที่สืบสวนจนพบว่า สาเหตุที่ทำให้บริษัท การบินไทย ประสบปัญหาขาดทุน ส่วนหนึ่งมาจากการจัดซื้อเครื่องบินแบบพิสัยไกลพิเศษ รุ่นแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ มูลค่าตามบัญชี ณ วันส่งมอบ 53,043.04 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจในช่วงปี 2546-2547
เครื่องบินแอร์บัสทั้ง 2 รุ่นเริ่มทำการบินตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ถึง 7 ม.ค.2556 ในเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก ,กรุงเทพ-ลอสแองเจลิส และเส้นทางอื่นๆ รวม 51 เส้นทาง แต่ประสบปัญหาขาดทุนในทุกเส้นทางที่ทำการบินไม่น้อยกว่า 39,859.52 ล้านบาท เฉพาะเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก และกรุงเทพ-ลอสแองเจลิส ขาดทุนรวมเป็นเงินถึง 12,496.55 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 เป็นเครื่องบินแบบพิสัยไกลพิเศษ ใช้เครื่องยนต์ 4 เครื่องยนต์ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานสูง แต่มีจำนวนที่นั่งน้อย
ขณะเดียวกัน เครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 ดังกล่าว มีการใช้งานไม่คุ้มค่า โดยใช้งานได้เพียง 6-10 ปี ซึ่งต่ำกว่าอายุการใช้งานเครื่องบินโดยทั่วไปที่กำหนดไว้ 20 ปี ปัจจุบันเครื่องบินดังกล่าวได้ปลดระวางแล้ว อยู่ระหว่างการจอดรอจำหน่าย ทำให้บริษัท การบินไทย ขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินไม่ต่ำกว่า 22,943.97 ล้านบาท
นำมาสู่ผลสรุปว่า เมื่อนำผลขาดทุนจากการจัดซื้อและการบริหารจัดการเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ มารวมกัน ทำให้บริษัท การบินไทย ประสบภาวะการขาดทุนรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาท
โดยการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าว จากการตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พบว่า ในช่วงปี 2546-47 จัดซื้อในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร โดยมี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.นั่นเอง
แต่ในท้ายที่สุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ชุดใหญ่ มีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้องคดีทุจริตจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A 340-500 ของการบินไทย ทำให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล อดีตรมช.คมนาคม, นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตประธานบอร์ดการบินไทย และ นายกนก อภิรดี อดีต ดีดี การบินไทย พ้นข้อกล่าวหา
ส่วนนายสุริยะ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาไว้ตั้งแต่แรก โดยให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานไม่พอ
@ย้อนบาปสินบน ‘โรลส์-รอยซ์’
2.กรณีศาลสหราชอาณาจักรสั่งปรับ โรลส์-รอยซ์ บริษัทเครื่องยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติอังกฤษ 671 ล้านปอนด์ หรือ ราว 3 หมื่นล้านบาท หลัง สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ของประเทศ พบว่า บริษัทสมรู้ร่วมคิดกับการทุจริต หรือ ละเลยต่อการป้องกันการติดสินบนในไทย จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไนจีเรีย ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ถูกระบุว่าเป็นกรณีการจัดซื้อเครื่องยนต์ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งในผลการสอบสวนของสำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ของอังกฤษระบุว่า บ.โรลส์รอยส์ จ่ายสินบนให้จนท.ไทยและการบินไทยรวม3ครั้ง มูลค่า 36.38 ล้านดอลล่าร์(1,300 ล้านบาท)
ครั้งแรกปี 2534 -2535 จ่ายให้จนท.รัฐและพนง.การบินไทย ผ่านนายหน้าจำนวน18.8ล้านUSD ให้เลือกซื้อเครื่องไอพ่นT800 สำหรับโบอิ้ง777 ของการบินไทย
ครั้งที่2 ปี2535 -2540 จ่ายสินบนให้พนง.การบินไทย 10.38 ล้านUSD เพื่อซื้อไอพ่น T800 ล็อต2 โดยเบิกล่วงหน้า2ล้านUSD เพื่อ"จัดการขั้นตอนทางการเมือง"
ครั้งที่3 ปี 2547-2548 จ่ายจนท.รัฐ/พนง. การบินไทย 7.2ล้านUSD เพื่อซื้อไอพ่น T800ล็อต3 โดยได้ไปคุยและกินข้าวกับรัฐมนตรีเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสัญญา
แต่ในช่วงที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งองค์คณะไต่สวนฯ กรณีดังกล่าว มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ถูกกล่าวหารวม 26 ราย โดยมีนักการเมืองระดับชาติ ได้แก่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม (ระหว่างปี 2547-2548) รวมอยู่ด้วย แต่ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้แต่อย่างใด
โดยความคืบหน้าล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 65 มีมติ 6 ต่อ 2 เสียง เห็นว่า นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ และ นายกวีพันธ์ เรืองผกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายบริหารงานนโยบายบริษัทฯ และอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ มีความผิดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 จำนวน 2 มาตรา คือ มาตรา 8 ระบุว่า ผู้ใดเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัดห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท และ มาตรา 11 ระบุผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับไป
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือ อาทิ นายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย ฝ่ายบริหารงานนโยบายบริษัทฯ และรองประธานอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ มีความผิดทางวินัยร้ายแรง แต่เกษียณอายุราชการไปนานแล้ว ส่วนคนอื่นๆ มีทั้งผิดวินัยไม่ร้ายแรง และพ้นข้อกล่าวหาไป
แม้ทั้ง 2 กรณีข้างต้น จะไม่สามารถชี้มูลความผิดไปถึงระดับฝ่ายการเมืองได้ แต่ในกรณีการจัดซื้อเครื่องบิน การเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าวพิจารณา หลายๆหน่วยงาน อาทิ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณ ต่างก็มีความคิดเห็นประกอบในทำนองเดียวกัน นั่นคือ การจัดซื้อเครื่องบินชุดดังกล่าว มีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นไปได้ทั้งในด้านผลตอบแทนและฐานะทางการเงินของการบินไทยเอง จึงควรมีแผนสำรองและเพิ่มความระมัดระวังในหลายๆด้านไว้ด้วย
และตามผลสรุปของ คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัทและปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีพล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช เป็นประธานคณะทำงาน ก็ระบุชัดเจนว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้การบินไทยขาดทุน เป็นผลมาจากไม่นำความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลังไปประกอบการจัดซื้อเครื่องบิน
@ยังไม่มีข้อสั่งการใดเป็นพิเศษ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สอบถามไปยังนายสุริยะเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยนายสุริยะเปิดเผยว่า ได้นัดประชุมคณะกรรมการครั้งแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา เบื้องต้น ยังไม่ได้มีข้อสั่งการใดเป็นพิเศษถึงการบินไทย เพียงแต่รับทราบความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการเท่านั้น ซึ่งยังอยู่ในแนวโน้มที่ดี และน่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ตามแผนที่วางไว้
เมื่อถามว่า ในรัฐบาลของนายเศรษฐา จะดึงการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ นายสุริยะตอบว่า ตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดแบบนั้น ยังต้องการให้การบินไทยสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองเหมือนสายการบินอื่นๆ ต่อไป
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวเสริมกับสำนักข่าวอิศราว่า การประชุมนัดแรกยังไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรนัก เพราะเป็นการเรียกมารายงานข้อมูลเบื้องต้นก่อน ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลจะสนับสนุนให้การบินไทยพ้นจากแผนฟื้นฟูให้เร็วที่สุด
ส่วนทิศทางของการบินไทยในรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเป็นอย่างไรต่อไป แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมตอบว่า ภารกิจหลักตอนนี้คือ ต้องการให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูเร็วที่สุด ส่วนแผนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ ยังไม่ได้พูดคุยกัน และตามที่นายสุริยะกล่าว ยังไม่มีแนวคิดที่จะดึงกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจแน่นอน ขณะที่การฟื้นสถานะความเป็นสายการบินแห่งชาติ จะมีการพูดคุยกันในการประชุมครั้งถัดไป
มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
@มานะ: แผนฟื้นฟูต้องเปิดเผย โปร่งใส
ขณะที่นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ต้องยอมรับความจริงว่า การถดถอยและภาวะขาดทุนจนล้มละลายของรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก เกิดจากการคอร์รัปชั่นในองค์กรและการใช้อำนาจของนักการเมืองแต่ละยุคสมัยมาหาผลประโยชน์ จึงเป็นเหตุสมควรที่จะต้องวางแผนเอาไว้ในเบื้องต้น ซึ่งหลายประเทศถือว่าเป็นการป้องกันความเสี่ยงขององค์กรในระยะยาว
ส่วนการที่การบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสหากิจแล้ว มีสถานะเป็นเอกชนรายหนึ่งนั้น นายมานะให้ทัศนะว่า การที่เป็นองค์กรเอกชนและมีความโปร่งใสมากกว่าก็ถูกต้องส่วนหนึ่ง เพราะภายใต้กติกาของ กลต. การบินไทยจะต้องทำหลายๆอย่างให้ได้มาตรฐาน ไม่อย่างนั้นจะสูญเสียความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม การบินไทยยังมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 47% ดังนั้น นอกจากการปฏิบัติตามมาตรฐานของ กลต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว กฎกติกาของภาครัฐก็ควรใส่ใจด้วย
ขณะที่การตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยรัฐบาลนั้น นายมานะระบุว่า ตอนนี้ยังไม่มีหลักประกันว่า การบินไทยจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลอีกหรือไม่ รวมทั้งกลุ่มทุนเบื้องหลังนักการเมือง สิ่งเหล่านี้ ยังเป็นสิ่งที่น่าห่วงของการบินไทยอยู่ ดังนั้น ในแผนฟื้นฟูจะทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อวางรากฐานความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลของการบินไทยไว้ตั้งแต่แรก ให้เป็นเงื่อนไขในการบริหารจัดการก็จะช่วยได้มาก จึงอยู่ที่คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูว่าจะทำหรือไม่ และถ้าทำไว้ก็ไม่เสียหาย เป็นการป้องกันความเสี่ยงด้วยซ้ำ
@ย้อนดูสาระสำคัญ แผนฟื้นฟูบินไทย ล่าสุด
สำหรับแผนฟื้นฟูการบินไทยที่ได้รับการปรับปรุงล่าสุด ตามที่ศาลล้มละลายกลางมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 มีรายงานตามรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 สาระสำคัญ เกี่ยวข้องกับการบริหารต้นทุนทางการเงินเป็นหลัก เช่น แผนเกี่ยวกับการก่อหนี้และการระดมเงินทุน รวมถึงแหล่งของเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุน, แผนเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทุน การลดทุน และการเพิ่มทุน และแผนการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กลุ่ม Export Credit Agency (ECA) เป็นหลัก
@ลุ้นออกจากแผนฟื้นฟูปลายปี 67
ก่อนหน้านี้นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของการบินไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อเดือน ส.ค. 2566 ว่า จากที่ดำเนินการตามแผนที่ผ่านมา มั่นใจว่าการบินไทยมีความพร้อมที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการภายในไตรมาส 3 ปี 2567 ขณะเดียวกันก็จะนำบริษัทกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ได้ภายในต้นปี 2568 และจะทยอยชำระหนี้ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 120,000 ล้านบาท ให้กับลูกหนี้ให้ครบทั้งหมดภายในประมาณ 8 ปี ซึ่งการบินไทยตั้งเป้าหมายในการจัดทำแผนระหว่างปี 2566-2570
จากที่รายงานมาทั้งหมดยังไม่พบว่า การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้อุดช่องโหว่ในการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองไว้อย่างไร?
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ‘เจ้าจำปี’ หลังจากนี้จะโบยบินสูงไปได้ หรือจะต้องกลับมาล้มลุกคลุกคลานจากมรสุมการเมืองอีกครั้งกันแน่?