"...บริษัท การบินไทยฯ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2503 ประกอบธุรกิจ สายการบินมาเกือบ 50 ปี ไม่เคยประสบปัญหาขาดทุน จนมาถึงปี 2551 เป็นปีแรกที่บริษัท การบินไทยฯ มีผลการขาดทุนมากที่สุดถึง 21,450 ล้านบาท อันสืบเนื่องมาจากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 (คาดการณ์ 223 ที่นั่ง ได้ที่นั่งจริง 215 ที่นั่ง) และ A340-600 (คาดการณ์ 315 ที่นั่ง ได้ที่นั่งจริง 270 ที่นั่ง) จํานวน 10 ลํา พิสัยไกลมาก ขนาด 4 เครื่องยนต์ มูลค่าตามบัญชี 53,043.04 ล้านบาท ภายใต้ แผนรัฐวิสาหกิจและโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ช่วงปี พ.ศ. 2546-2547..."
.......................................
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เปิดประเด็นกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 5 ราย ประกอบไปด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรมว.คมนาคม นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม นายทนง พิทยะ อดีตประธานกรรมการบริษัทการบินไทย นายกนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ในคดีที่เกี่ยวกับการอนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ไม่คุ้มค่า ทำให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีหนี้สิ้นเพิ่มขึ้น
- ทักษิณ คดีที่ 8! ป.ป.ช.ตั้งคณะใหญ่ไต่สวน อนุมัติซื้อเครื่องบิน 'การบินไทย' ไม่คุ้มค่า
- มี 5 คน ป.ป.ช.ตั้งคณะใหญ่ไต่สวนอนุมัติซื้อเครื่องบิน 'ทักษิณ-สุริยะ-พิเชษฐ-ทนง-กนก'
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า กรณีการจัดซื้อเครื่องบินของบริษัทการบินไทยถูกระบุว่าเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การบินไทยต้องประสบปัญหาการขาดทุนอย่างมาก ในรายงานผลการตรวจสอบของกระทรวงคมนาคม ในช่วงที่นายถาวร เสนเนียม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องไปตรวจสอบ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
โดยระบุข้อมูลชัดเจนว่า บริษัท การบินไทยฯ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2503 ประกอบธุรกิจ สายการบินมาเกือบ 50 ปี ไม่เคยประสบปัญหาขาดทุน จนมาถึงปี 2551 เป็นปีแรกที่บริษัท การบินไทยฯ มีผลการขาดทุนมากที่สุดถึง 21,450 ล้านบาท อันสืบเนื่องมาจากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 (คาดการณ์ 223 ที่นั่ง ได้ที่นั่งจริง 215 ที่นั่ง) และ A340-600 (คาดการณ์ 315 ที่นั่ง ได้ที่นั่งจริง 270 ที่นั่ง) จํานวน 10 ลํา พิสัยไกลมาก ขนาด 4 เครื่องยนต์ มูลค่าตามบัญชี 53,043.04 ล้านบาท ภายใต้ แผนรัฐวิสาหกิจและโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ช่วงปี พ.ศ. 2546-2547
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการจ่ายเงินสินบนไม่ต่ำกว่า 5% หรือประมาณ 2,652 ล้านบาท ของวงเงินรวม 53,043.04 ล้านบาท ผ่านนายหน้าคนกลางให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานบริษัท การบินไทยฯ แลกกับการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จํานวน 10 ลำด้วย รวมไปถึงผลประกอบการและการดําเนินธุรกิจของบริษัท การบินไทยฯ ช่วงปี 2560-2562 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดหาเครื่องบินรุ่น Am40 ทําให้ บริษัท การบินไทยฯ ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่าง ต่อเนื่อง โดยพบสาเหตุของปัญหาขาดทุนที่สําคัญคือนับตั้งแต่ปี 2546 (อนุมัติจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340) ถึงปัจจุบัน บริษัท การบินไทยฯ ออกหุ้นกู้ ไปแล้วรวม 5 ครั้ง วงเงินกว่า 154,778 ล้านบาท จัดหาเครื่องยนต์และสัญญาซ่อมบํารุงเครื่องยนต์ แบบเหมาจ่ายของบริษัทโรลส์-รอยซ์ มาโดยตลอด
ปรากฏรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 ให้ นายถาวร เสนเนียม เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้รับมอบอํานาจให้สั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการสั่ง การอนุญาต การออกใบอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ และการดําเนินการอื่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะพึงปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ คําสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีสําหรับงานของส่วนราชการ และ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมี บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้ากํากับดูแลตามอํานาจ หน้าที่และกฎหมาย และพบว่า ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทยฯ ประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง 3 ปี ติดต่อกัน (ปี พ.ศ. 2560-2562) มีจํานวนไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท
โดยตรวจพบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ของการขาดทุนทั้งปัญหาการจัดหาเครื่องบิน การบํารุงรักษาเครื่องยนต์การบริหารจัดการกิจการของบริษัท การบินไทยฯ อาทิ ปัญหาการจําหน่ายตั๋วโดยสารผ่านตัวแทน (Agent) ปัญหาการส่อทุจริตในบริษัท การบินไทยฯ
ดังนั้น เพื่อความชัดเจนในการกําหนดนโยบาย การแก้ไขปัญหา และการกํากับดูแลให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ บริษัท การบินไทยฯ จึงมีคําสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 302/2563 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 เรื่อง แต่งตั้ง คณะทํางานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัทและปัญหาการทุจริตบริษัท การบินไทยฯ ที่ทําให้ ประสบภาวะขาดทุนขึ้น โดยมี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตํารวจนครบาล เป็น หัวหน้าคณะทํางานฯ
ต่อมาหัวหน้าคณะทํางานฯ ได้แต่งตั้งคณะทํางานชุดย่อยอีก 6 คณะ เพื่อตรวจสอบเรื่อง 1) การเงินและบัญชี 2) การขายตั๋วโดยสาร 3) ฝ่ายช่าง 4) คลังสินค้า 5) ครัวการบินไทย และ 6) การบริหาร กิจการของบริษัท การบินไทยฯ ซึ่งคณะทํางานฯ มีระยะเวลาทํางานได้เพียง 43 วัน บริษัท การบินไทยฯ ก็พ้น สภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ประกอบกับ สํานักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกา ได้มีความเห็นเรื่องเสร็จที่ 1035/2563 เดือน สิงหาคม 2563 เรื่อง อํานาจของคณะกรรมการ และคณะทํางานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ภายหลังจากการพ้นสภาพ การเป็นรัฐวิสาหกิจ ว่า เมื่อคณะทํางานตามคําสั่งที่ 302/2563 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ได้ดําเนินการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงการดําเนินงานของ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) แล้ว คณะทํางานดังกล่าวจึงไม่มีอํานาจดําเนินการตามกฎหมายได้ต่อไป
เป็นเหตุให้คณะทํางานฯ ต้องสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในการบริหารกิจการและปัญหาการทุจริตของบริษัท การบินไทยฯ ที่ประสบภาวะขาดทุน โดยสรุปสาระสําคัญ
1. จุดเริ่มต้นที่มาของการขาดทุน บริษัท การบินไทยฯ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2503 ประกอบธุรกิจ สายการบินมาเกือบ 50 ปี ไม่เคยประสบปัญหาขาดทุน จนมาถึงปี 2551 เป็นปีแรกที่บริษัท การบินไทยฯ มีผลการขาดทุนมากที่สุดถึง 21,450 ล้านบาท อันสืบเนื่องมาจากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 (คาดการณ์ 223 ที่นั่ง ได้ที่นั่งจริง 215 ที่นั่ง) และ A340-600 (คาดการณ์ 315 ที่นั่ง ได้ที่นั่งจริง 270 ที่นั่ง) จํานวน 10 ลํา พิสัยไกลมาก ขนาด 4 เครื่องยนต์ มูลค่าตามบัญชี 53,043.04 ล้านบาท ภายใต้ แผนรัฐวิสาหกิจและโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ช่วงปี พ.ศ. 2546-2547
เครื่องบินรุ่นดังกล่าวเริ่มทําการบินตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2548 เส้นทางบินตรง กรุงเทพฯนิวยอร์ก ต่อมาเพิ่มเส้นทางบินตรง กรุงเทพฯ-ลอสแองเจลิส ทําการบินได้เพียง 3 ปีเศษก็ต้องหยุดบิน เพราะขาดทุนทุกเที่ยวบินถึง 12,496.55 ล้านบาท และบริษัท การบินไทยฯ ได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางบินไปยังเส้นทาง อื่นรวมแล้ว 51 เส้นทางบิน เช่น มิลาน สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ เชียงราย ภูเก็ต เชียงใหม่ ซึ่งประสบปัญหาขาดทุน ทุกเส้นทาง ทุกเที่ยวบินที่ทําการบินเช่นกัน ทําให้บริษัท การบินไทยฯ ประสบปัญหาขาดทุนจากผล การดําเนินงานไม่น้อยกว่า 39,859.52 ล้านบาท และต้องปลดระวางเครื่องบินก่อนกําหนด ลำสุดท้าย ปลดระวางในปี 2556 โดยใช้เวลาในการเข้าประจําฝูงบินเพียง 6-10 ปี (การใช้งานของเครื่องบินโดยทั่วไป กําหนดไว้ 20 ปี) ระหว่างจอดรอการจําหน่าย/ขาย บริษัท การบินไทยฯ ต้องประสบปัญหาขาดทุนจาก การด้อยค่าของเครื่องบินรุ่น A340 จํานวน 10 ลํา ไม่ต่ำกว่า 22,943.57 ล้านบาท รวมที่บริษัท การบินไทยฯ ประสบปัญหาการขาดทุนจากผลการดําเนินงานและการด้อยค่าของเครื่องบินรุ่น A340 จํานวน 10 ลำ ทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาท
และพบปัจจัยสําคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดซื้อเครื่องบิน A340 จํานวน 10 ลำ ทําให้บริษัท การบินไทยฯประสบปัญหาขาดทุนอยู่ 3 ประการ คือ
1) บริษัท การบินไทยฯ ไม่ให้ความสําคัญต่อการดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี อย่างเคร่งครัด จริงจัง และไม่นําความเห็นของสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการคลังไปประกอบการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จํานวน 10 ลำนี้
2) ปัญหาการจ่ายสินบน (6.5%) ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ผ่านนายหน้าคนกลางให้กับ เจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานของบริษัท การบินไทยฯ วงเงินจํานวน 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 254 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องยนต์อะไหล่รุ่น Trent-500 จํานวน 7 เครื่องยนต์ วงเงินรวมประมาณ 3,523.17 ล้านบาท รวมถึงการทําข้อตกลงในการดูแลซ่อมบํารุงเครื่องยนต์ (Total Care Agreement : TCA) มูลค่าประมาณ 1,129.60 ล้านบาท
3) ข้อมูลการจ่ายเงินสินบนไม่ต่ำกว่า 5% หรือประมาณ 2,652 ล้านบาท ของวงเงินรวม 53,043.04 ล้านบาท ผ่านนายหน้าคนกลางให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานบริษัท การบินไทยฯ แลกกับการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จํานวน 10 ลำ
2. ผลประกอบการและการดําเนินธุรกิจของบริษัท การบินไทยฯ ช่วงปี 2560-2562 ซึ่งเป็น ผลสืบเนื่องมาจากการจัดหาเครื่องบินรุ่น A340 ทําให้ บริษัท การบินไทยฯ ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่าง ต่อเนื่อง โดยพบสาเหตุของปัญหาขาดทุนที่สําคัญคือนับตั้งแต่ปี 2546 (อนุมัติจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340) ถึงปัจจุบัน บริษัท การบินไทยฯ ออกหุ้นกู้ ไปแล้วรวม 5 ครั้ง วงเงินกว่า 154,778 ล้านบาท จัดหาเครื่องยนต์และสัญญาซ่อมบํารุงเครื่องยนต์ แบบเหมาจ่ายของบริษัทโรลส์-รอยซ์ มาโดยตลอด
โดยตรวจพบว่า บริษัท การบินไทยฯ มีการจัดหาเครื่องบิน แบบเช่าดําเนินงาน รุ่น B787 จํานวน 8 ลํา ทําให้ได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3,927.67 ล้านบาท จากสัญญาซ่อมบํารุงแบบเหมาจ่ายเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ จํานวน 19 เครื่องยนต์ และการวางแผนการจัดหา เครื่องบินที่ไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับผลจากการทําสัญญาซ่อมบํารุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่าย ทําให้ใน ช่วงปี 2560 – 2562 บริษัท การบินไทยฯ เสียหายไม่ต่ำกว่า 12,792 ล้านบาท เช่น การทําสัญญาการบิน แบบ Stage Length ไม่เป็นไปตามชั่วโมงบิน (สัญญาเฉลี่ย 8 ชั่วโมง บินได้จริง 5.5 ชั่วโมง) การไม่ต่อสัญญา ซ่อมบํารุงเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ Trent800 ความเสียหายจากการส่งซ่อมเครื่องยนต์ GE90 ที่ประเทศจีน และกรณีเครื่องยนต์ Trent900 และ Trent1000 เกิดชํารุดบกพร่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการเรียกร้องความเสียหาย กับบริษัทโรลส์-รอยซ์
ประกอบกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.2560-พ.ศ.2562) บริษัท การบินไทยฯ มีจํานวน พนักงานลดลง ทั้งฝ่ายช่าง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่บริษัท การบินไทยฯ กลับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในเกือบทุกด้าน เช่น หนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น 13,173 ล้านบาท ค่าล่วงเวลานักบินและลูกเรือเพิ่มขึ้น 638 ล้านบาท ค่าล่วงเวลาฝ่ายช่างเพิ่มขึ้น 530.66 ล้านบาท ค่าตอบแทนเฉลี่ยพนักงานที่เป็นตัวเงินต่อคนต่อเดือนสูงถึง 129,134 บาท มีภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ยปีละ 4,555 ล้านบาท แต่มีรายได้จากตั๋วโดยสารเฉลี่ยเพียง 6,361 บาท/ใบ เฉพาะปี 2562 ตรวจพบมีค่าล่วงเวลา (OT) ฝ่ายช่างสูงถึง 2,022.56 ล้านบาท ซึ่งมีข้อมูล พนักงาน 1 คนทํา OT สูงสุดได้ถึง 3,354 ชั่วโมงได้รับเงินเป็นค่า OT ถึงปีละ 2,958,035 บาทหรือเดือนละ 246,503 บาท/เดือน ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวมีรายได้ต่อปีเพียง 878,436 บาทหรือเดือนละ 73,203 บาท แต่ได้รับค่า OT มากกว่าเงินเดือนถึง 3 เท่ากว่า (หากนําชั่วโมง OT ซึ่งกําหนดไว้วันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง หารด้วย 3,354 ชั่วโมงจะได้วันทํา OT ถึง 419 วันใน 1 ปี) โดยเกณฑ์มาตรฐาน พนักงาน 1 คน ไม่ควรทํา OT เกิน 1,500 ชั่วโมง ในปี 2562 ฝ่ายช่างมีพนักงานทํา OT เกิน 1,500 ชั่วโมง ถึง 567 คน มีวงเงินค่าใช้จ่าย มากถึง 603.123 ล้านบาท
สําหรับสายการพาณิชย์ของบริษัท การบินไทยฯ ซึ่งรับผิดชอบการจําหน่ายตั๋วโดยสารและ มีรายได้เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท หรือประมาณ 80% ของรายได้ทั้งหมด นั้น พบว่า ไม่มี การจัดทํางบประมาณประมาณการในแต่ละปีแต่อย่างใด แต่ใช้วิธีการกําหนดเปลี่ยนแปลงงบประมาณเองโดย ผ่านคณะกรรมการบริหารนโยบายของบริษัทเท่านั้น และมีการขายตั๋วโดยสารในราคาที่ต่ำมาก โดยในปี 2562 มีราคาเฉลี่ยใบละ 6,081 บาทเท่านั้น แต่บริษัทฯ มี Cabin Factor เกือบ 80% และมีผู้โดยสารถึง 24.51 ล้านคน มีรายได้ค่าตั๋วโดยสารฯ 149,000 ล้านบาท ในปีดังกล่าว สาเหตุสําคัญที่ได้จากผลการสอบสวน มีการ เอื้อประโยชน์ให้กับตัวแทนจําหน่ายตั๋วโดยสาร (Agent) ทั้งในรูปของค่าคอมมิชชั่น ค่า Tier และค่า Incentive และมีการกําหนดราคา Flash Sale (ราคาต่ำสุด) ทําให้ Agent เพียง 3-4 รายได้รับประโยชน์
กอปรกับ ผู้บริหารในสายการพาณิชย์ได้แต่งตั้ง โยกย้ายบุคคลใกล้ชิดให้ไปดํารงตําแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป (AA) ใน ต่างประเทศ และกําหนดเป้าหมายรายได้จากการขายเพื่อให้ได้ค่า Incentive ตามที่ต้องการ เพื่อให้ AA จัดส่ง รายได้ จํานวน 10% ของค่า Incentive เข้าบัญชีกองทุนของผู้บริหารสายการพาณิชย์ บัญชีธนาคารกรุงไทย บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 079-0-06918-0 และเลขที่บัญชี 074-0-10307-9 โดยมีการนําเงินในกองทุน ดังกล่าวไปจัดสรรและแบ่งปันกันเอง ซึ่งกองทุนดังกล่าวไม่มีระเบียบ ประกาศ หรือกฎหมายของบริษัทฯ รองรับ
คณะทํางานฯ ยังตรวจพบการบริหารงานบุคคลที่ล้มเหลว ไม่มีประสิทธิภาพ ส่อเอื้อประโยชน์ ให้กับตนเองและพวกพ้อง เช่น ตําแหน่ง รักษาการกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ ได้รับค่าตอบแทนพิเศษเดือนละ 600,000 บาท โดยมิชอบ และการกําหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการสรรหารองกรรมการผู้อํานวยการใหญ่แบบ สัญญาจ้างมีกําหนดเวลาแน่นอนที่ส่อเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง คนใกล้ชิด ทําให้ผู้ได้รับการสรรหาเป็น รองกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ ส่อได้รับประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งเงินชดเชย (Early Retire) จํานวน 30 เดือน ผลตอบแทนเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างอีก 5 เดือน ทําให้บริษัท การบินไทยฯได้รับความเสียหายทั้งในรูปของ งบประมาณและการบริหารงานในบริษัท การบินไทยฯ รวมถึงความล้มเหลวในการเข้าควบคุม กํากับการบริหาร กิจการของบริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ จํากัดของผู้บริหารบริษัท การบินไทยๆ ที่ทําให้สายการบินไทยสมายล์ฯ ขาดทุนต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท นับแต่จัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ฯ ซึ่งเป็นเหตุสําคัญทําให้บริษัท การบินไทยฯ ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน
เนื่องจากคณะทํางานฯ ไม่มีอํานาจตามกฎหมายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป และยังมีประเด็นสําคัญที่อาจเป็นเหตุให้บริษัท การบินไทยฯ ประสบปัญหาขาดทุน เช่น ผู้บริหารการบินไทยบางคน ส่อร่ำรวยผิดปกติ การส่อทุจริตในการทําสัญญาจัดหาเครื่องบิน เครื่องยนต์ การเปลี่ยนผู้ให้เช่าเครื่องบิน สัญญาจัดหาและซ่อมบํารุงแบบเหมาจ่าย เครื่องยนต์อะไหล่ และอะไหล่สํารอง วงเงินไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท การจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท การจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ ครัวการบินไทย ปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท การจัดหาวัสดุ อุปกรณ์บนเครื่องบิน ปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท การจัดซื้อ/จัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ฝ่ายภาคพื้น ฝ่ายช่าง การสรรหา แต่งตั้ง โยกย้าย และการคัดเลือก พนักงานในบริษัท การบินไทยฯ ที่ส่อเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง คนใกล้ชิดผิดกฎหมาย ระเบียบ ประกาศคําสั่ง ของบริษัทการบินไทยฯ ทําให้การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพและอาจเป็นประเด็นสําคัญที่ทําให้ ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง
กระทรวงคมนาคม พิจารณาแล้ว เพื่อประโยชน์ในการดําเนินงานป้องกันและปราบปราม การทุจริตตามอํานาจหน้าที่ของสํานักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทั้งในทางแห่ง ทางอาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงขอจัดส่งเอกสารและรายงานสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุให้การบินไทย ประสบปัญหาขาดทุน (ดูหนังสือฉบับเต็มท้ายเรื่อง)
อย่างไรก็ดี ในหนังสือสรุปสำนวนการสอบสวนปัญหาการขาดทุนของบริษัทการบินไทย ดังกล่าว มิได้มีการระบุชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรมว.คมนาคม นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม นายทนง พิทยะ อดีตประธานกรรมการบริษัทการบินไทย นายกนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการทุจริตไว้แต่อย่างใด
ข้อกล่าวหาที่ปรากฏชัดเจนในขณะนี้ มีเพียงแค่การอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ไม่คุ้มค่า ทำให้การบินไทยมีหนี้สิ้นเพิ่มขึ้น เท่านั้น
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างชั้นไต่สวนเท่านั้น ป.ป.ช. ยังไม่ได้มีการชี้มูลความผิดแต่อย่างใด ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/